Skip to main content



ชื่อหนังสือ
:
คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway)

ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ

ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง

ประเภท : นวนิยายแปล

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550

\\/--break--\>

 

งานเขียนแนวกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นงานเขียนแนวอ่านยาก ต้องอาศัยความอดทนของผู้อ่านเป็นพิเศษ แต่งานเขียนแนวนี้ก็ไม่เคยพ้นไปจากความสนใจของทั้งนักเขียนและนักอ่าน ใครลองได้ดื่มด่ำไปกับโลกแห่งกระแสสำนึกของตัวละครแล้วไซร้ ย่อมถอนตัวได้ยากยิ่ง

 

คำนำจากผู้แปล เขียนไว้ว่า เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เป็นนักเขียนหญิงชาวอังกฤษ ร่วมสมัยเดียวกันกับ เจมส์ จอยซ์ นักเขียนชาวไอริช ซึ่งมีผลงาน A portrait of an Artist as a Young Man และ The Dubliners แปลเป็นภาษาไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งคู่นี้ต่างเกิดในปี 1882 และเสียชีวิตในปี 1941 ด้วยกัน

 

หากจะกล่าวถึงงานเขียนแนวกระแสสำนึก ต้องนึกถึง Franz Kafka นักเขียนที่มีผลงานซึ่งได้ส่งแสงสะท้อนมาถึงนักเขียนในยุคหลังอย่างไม่วางเว้น เจ้าของผลงานสั่นประสาทไปทั่วแคว้นแห่งจิตสำนึก อย่างรวมเรื่องสั้นชื่อ “ในความนิ่งนึก” แปลโดย ดลสิทธิ์ บางคมบาง

 

นอกเหนือจากความล้ำลึกและมหัศจรรย์ของงานเขียนแนวกระแสสำนึกที่นักอ่านหลายคนได้รู้จักมาบ้างแล้ว นักอ่านอย่างฉันยังได้ค้นพบว่า งานเขียนแนวกระแสสำนึกนี้เป็นงานเขียนที่บรรยายความละเอียดอ่อนของความรู้สึกแห่งมนุษย์ ขุดค้นออกมา ขณะเดียวกันก็รื้อถอนบางสิ่งขึ้นมาด้วย เป็นการเปิดโลกแห่งทัศนียภาพภายในของความเป็นมนุษย์ซึ่งเราต่างเคยรู้สึก เคยรับรู้ หากแต่ไม่เคยได้กล่าวออกมาเป็นภาษา เพื่อใช้ในการสื่อสาร

 

จุดนี้เองที่ทำให้ฉันกล้าพูดได้ว่า งานเขียนแนวกระแสสำนึกเป็นดั่งบทกวีร้อยแก้ว เนื่องจากมันได้สัญจรผ่านผิวชั้นอันละเอียดลออของความรู้สึก นึก คิด เพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่า ในโลกแห่งความรู้สึก นึก คิดนั้น หาใช่มีแต่รัก โลภ โกรธ หลง แต่มันได้บรรจุไว้ด้วยบรรดาความรู้สึกอันเป็นดั่งอณูของความรู้สึกที่เราเคยรู้จัก มันช่างยิบย่อยเกินกว่าที่เราจะรับความรู้สึกได้ แม้เราจะเคยรู้สึกเช่นนั้นในบางขณะ

 

ฉะนั้น งานเขียนแนวกระแสสำนึกจึงจำเป็นต้องถ่ายทอดผ่านภาษาที่มีลักษณะเฉพาะ ผ่านสัญลักษณ์ ผ่านกรรมวิธีของการเล่า เพื่อจะแสดงให้ผู้อ่านรับรู้ได้ถึงความละเอียดอ่อนที่แม้แต่ภาษาก็ยังมีขีดจำกัดที่จะสื่อสารออกมาได้อย่างหมดจด นักเขียนต้องอาศัยเครื่องมืออื่นอย่างเช่น การเปรียบเทียบอันผิดปกติ การเลือกใช้สัญลักษณ์อันบิดเบี้ยวไปจากความรับรู้สามัญธรรมดาที่ผู้อ่านได้เคยรับรู้มาแล้ว นอกเหนือจากข้อมูลอันถึงพร้อมในเชิงจิตวิเคราะห์ที่ตำราจิตวิทยาได้อธิบายไว้ ยกตัวอย่างการเปรียบเทียบจากนวนิยายเรื่องนี้มาให้อ่านกันสักเล็กน้อย

 

จำที่ ทะเลสาบได้ไหมคะ” เธอ(คลาริสซา)กล่าวขึ้น ด้วยเสียงแบบปุบปับก็นึกขึ้นได้ ใต้แรงกดดันอันหนึ่งของอารมณ์ซึ่งจับเอาหัวใจของเธอไว้ ทำให้กล้ามเนื้อลำคอของเธอติดขัด และริมฝีปากของเธอนั้นเหมือนพรวดออกมาขณะเธอพูด “ทะเลสาบ” เพราะเธอคือเด็กน้อยคนหนึ่ง กำลังโยนขนมปังให้พวกเป็ด ตรงกลางระหว่างคุณพ่อคุณแม่ของเธอ และเวลาเดียวกันนั้นก็เป็นด้วย ผู้หญิงผู้โตแล้วคนหนึ่ง กำลังเข้ามาหาคุณพ่อคุณแม่ของเธอซึ่งยืนอยู่ริมทะเลสาบกำลังอุ้มชีวิตของเธอมาในอ้อมแขน ซึ่ง ขณะเธอเข้าไปใกล้พวกท่านนั้นก็กลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และใหญ่ขึ้น ในอ้อมแขนของเธอ จนกระทั่งมันกลายเป็นชีวิตทั้งชีวิต ชีวิตที่เต็มสมบูรณ์ ซึ่งเธอวางลงข้าง ๆ พวกท่านและกล่าว “นี่คือสิ่งซึ่งฉันทำขึ้นมาจาก! สิ่งนี้แหละ!” แล้วอะไรหรือที่เธอทำขึ้นมาจาก อะไรกันหรือ จริง ๆ แล้ว กำลังนั่งเย็บผ้าอยู่ตรงนั้น เช้านี้ กับพีเทอร์ วอลซ์

 

การบรรยายที่ยืดยาวชวนให้นึกถึงความรู้สึกอันหนึ่งในอดีตที่ผุดขึ้นราวกับมีชีวิตและมีชีวิตเป็นของตัวเองอีกครั้งในความรู้สึกของคลาริสซาในปัจจุบัน เป็นลักษณะสำคัญที่เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ใช้ในการเล่าเรื่องของเธอ เพื่อบอกเล่าถึงความรู้สึกอันแท้จริงที่เผยขึ้นในแต่ละสถานการณ์

 

หรือในการบรรยายถึงปฏิกิริยาของตัวละครที่มีต่อสถานการณ์ตรงหน้า ที่อาศัยการเปรียบเทียบความรู้สึกกับอากัปกิริยาอย่างนกเกาะกิ่งไม้ เช่น

 

เธอมองไปที่พีเทอร์ วอลซ์ การมองของเธอ กำลังทะลุผ่านทั้งหมดของเวลาอันนั้น และสภาพอารมณ์อันนั้น ไปถึงที่เขาอย่างข้องใจสงสัย จับลงที่เขาอย่างเต็มน้ำตา แล้วโผขึ้น และโบกบินออกไป เช่นนกที่แตะลงบนกิ่งไม้แล้วโผขึ้น และโบกบินออกไป อย่างง่าย ๆ เลย เธอปาดเช็ดนัยน์ตา

 

จำได้” พีเทอร์กล่าวขึ้น “จำได้ ใช่ ใช่” เขากล่าว ราวกับเธอดึงขึ้นมาสู่พื้นผิว อะไรสักอย่างที่แน่ ๆ ว่าทำร้ายเขาขณะมันพรวดพ้นขึ้นมา หยุดนะ! หยุด! เขาอยากร้องไห้ เพราะเขายังไม่แก่ ชีวิตของเขายังไม่สิ้น..

เหล่านี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของการบรรยายถึงความรู้สึกที่ผิดแผกแตกต่างไปจากความรู้สึกแบบธรรมดาสามัญที่เราได้รู้จักกันมาแล้ว เป็นความอย่างใหม่ที่ไม่ได้บัญญัติเป็นถ้อยคำหรือวลีใด ๆ หากแต่นักเขียนเลือกใช้การเปรียบเทียบอันแปลกตาเข้ามาแทนถ้อยคำ ทั้งนี้ถือเป็นการกระตุ้นผู้อ่านให้เกิดจินตภาพอันเข้มข้นดุจเดียวกับเป็นตัวละครตัวนั้น ๆ เสียเองอีกด้วย

 

เนื่องจากกระแสสำนึกของมนุษย์ เป็นสภาวะการทำงานของจิต ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว “จิต” ไม่เคยอยู่นิ่ง มันคอยจะวอกแวกคิดสะระตะโน่นนั่นนี่อยู่เป็นเนืองนิตย์ นักเขียนจึงจำเป็นต้องสังเกต “จิต” ของตัวละคร (ซึ่งอาจมีที่มาที่มาจากตัวของนักเขียนเอง) ที่เดินทางอย่างไม่หยุดหย่อน เป็นผู้เฝ้ามอง “จิต” โดยไม่ก้าวเข้าไปบังคับขู่เข็ญให้มันอยู่นิ่ง ปล่อยมันให้เป็นไปตามสิ่งเร้า แรงปรารถนาอันควบคุมไม่ได้ แต่เมื่อ “จิต” ถูกเฝ้ามอง เฝ้าสังเกตอยู่ตลอดเวลา “จิต” อาจจะทำการเสแสร้งไปต่าง ๆ นานาก็เป็นได้

 

ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่า งานเขียนแนวกระแสสำนึก เป็นงานเขียนที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของ “จิต” หรือกระแสสำนึกของมนุษย์อย่างรอบคอบ หากแต่มันได้จำลองสภาวการณ์ของกระแสสำนึก โดยผ่านการปรุงแต่งตามกรรมวิธีอย่างวรรณกรรม เพื่อถ่ายทอด “แก่น” ที่แท้จริงของชีวิต ในมุมมองของนักเขียน

 

เช่นเดียวกับที่เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เขียนนวนิยายเรื่อง คุณนายดัลโลเวย์ เล่มนี้

 

คุณนายดัลโลเวย์ เล่าเรื่องผ่านกระแสสำนึกของตัวละครแต่ละตัว โดยไม่ได้ผูกขาดไว้กับตัวละครเอกของเรืองอย่าง “คุณนายดัลโลเวย์” เพียงคนเดียวเท่านั้น หากแต่สร้างให้ตัวละครอย่างพีเทอร์ วอลซ์ ใช้กระแสสำนึกของตัวเอง เล่าเรื่องที่เป็นเหตุการณ์เดียวกันในมุมมองแตกต่างเฉพาะตัว ยกตัวอย่างฉากของเช้าวันที่คลาริสซากำลังเตรียมจัดงานเลี้ยง เธอกำลังง่วนอยู่กับการซ่อมชุดที่จะสวมในงานเย็นนี้ แต่เมื่อแขกผู้ไม่ได้รับเชิญ, พีเทอร์ วอลซ์ อดีตคนรักของเธอได้มาเยือนอย่างฉุกละหุก กระแสคิดทั้งของเธอและของพีเทอร์ วอลซ์ ที่มีต่อกันในการพบปะครั้งนี้ ก็ลื่นไหลออกมาจากคนทั้งสอง


(หน้า
55)

เหมือนเดิมไม่มีผิด คลาริสซาคิด ดูประหลาดคนแบบเดิม สูทตาหมากรุกแบบเดิม ใบหน้าออกเอียง ๆ แบบเดิม ผอมลงนิดหน่อย แห้งลงกระมัง บางที แต่เขาดูสบายดีอย่างล้นเหลือ และ เหมือนเดิมเลย

ช่างดั่งสวรรค์ ที่ได้พบคุณอีก!” เธอร้องขึ้น เขาดึงเอาใบมีดของเขาออก สิ่งนั้นช่างเหมือนเขาเสียเหลือเกิน เธอคิด

 

เขามาถึงในเมืองเพิ่งเมื่อคืนนี้เอง เขาบอก อาจต้องลงไปชนบททันทีเลยด้วย แล้ว ทุกอย่างเป็นยังไงบ้าง ทุกคนเป็นยังไงกันบ้าง ริเชอร์ดเป็นไง เอลิซาเบ็ธล่ะ

แล้วอะไรรึ ทั้งหมดนี่น่ะ” เขากล่าว กระดกปลายมีดไปทางชุดสีเขียวของเธอ

 

เขาแต่งตัวดีมาก คลาริสซาคิด ถึงอย่างนั้นเขาก็วิจารณ์ตำหนิฉันตลอด

เธอกำลังซ่อมชุดของเธออยู่ที่นี่ ซ่อมชุดของเธออย่างเคย เขาคิด เธอนั่งอยู่ที่นี่ตลอดเวลาที่ฉันไปอยู่ในอินเดีย ซ่อมอยู่แต่กับชุดเสื้อผ้าของเธอ เล่นอยู่แต่กับการไปตามงานเลี้ยง วิ่งไปวิ่งมาอยู่กับสภา ฯลฯ

 

กรรมวิธีการเล่าแบบที่สร้างให้ตัวละครแต่ละตัวใช้กระแสสำนึกของตัวเองถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและผู้อื่นเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นความพยายามจำลองสภาวการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด กล่าวคือในโลกของเรานี้ ความรู้สึก นึก คิด หรือเรียกว่า กระแสสำนึกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในมนุษย์ทุกคน ทุกเวลา และเป็นความรู้สึกที่ไร้ขีดจำกัด มีเสรีภาพเต็มที่ เราสามารถคิด และรู้สึกได้ตามใจปรารถนา ไม่ว่าจะคิดดีหรือคิดร้าย ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น ฉะนั้นตัวละครทุกตัวในเรื่องล้วนสมควรที่จะได้รับเสรีภาพอันนี้อย่างเต็มที่จากผู้เขียน ขณะเดียวกัน งานวรรณกรรมก็มีขีดจำกัดที่จะบรรจุเรื่องราวของกระแสสำนึกของตัวละครทุกตัวเอาไว้ได้อย่างครบครัน เนื่องจากจุดมุ่งหมายของวรรณกรรมนั้นหาใช่ต้องการจะถ่ายทอดความเป็นจริงในลักษณะดังกล่าว เพราะวรรณกรรมมีจุดมุ่งหมายเฉพาะตัวซึ่งขึ้นอยู่กับเจตจำนงของนักเขียนเป็นสำคัญ

 

นอกจากกรรมวิธีการเล่าผ่านกระแสสำนึกของตัวละครแต่ละตัวแล้ว เวอร์จิเนีย วูล์ฟยังได้สร้างให้ตัวละครแต่ละตัวซึ่งล้วนอยู่ในวัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่ มีความผูกพันอยู่กับเรื่องราวในอดีต เช่นในเรื่องความรัก ระหว่างคลาริสซา กับ พีเทอร์ วอลซ์ ซึ่งเป็นคู่ที่ผิดหวัง คลาริสซาไปแต่งงานกับ ริเชอร์ด สามีของเธอ ส่วนพีเทอร์ วอลซ์ผู้ผิดหวังได้หนีไปอยู่อินเดีย แต่งงานกับผู้หญิงของเขา และการผูกความรู้สึกติดกับเรื่องราวในอดีตนี้เอง ที่เมื่อได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยอื่น ก็เท่ากับเป็นการปลุกกระแสสำนึกให้โลดแล่นไปอย่างอิสระ ดูที่ตอนเปิดเรื่อง...

 

คุณนายดัลโลเวย์บอกว่าเธอจะซื้อดอกไม้เอง

เพราะลูซีมีงานที่จัดให้ไว้แล้ว พวกประตู ต้องเอาบานพับออก คนของร้านรัมเพลเมเยอร์กำลังมา แล้วจากนั้น คลาริสซา ดัลโลเวย์ คิด เป็นเช้าอะไรเช่นนี้ สดชื่นราวกับรวยรินมาสู่เด็ก ๆ บนชายหาด

เริงร่าอะไรเช่นนี้ โถมถาอะไรเช่นนี้ เพราะมันเหมือนเป็นอย่างนั้นกับเธอเสมอมาเมื่อ-ด้วยเสียงเอี๊ยดเล็ก ๆ ของพวกบานพับที่เธอได้ยินอยู่ขณะนี้- เธอเปิดหน้าต่างแบบฝรั่งเศสออกไป แล้วโถมถา-ที่บูร์ทัน-เข้าไปในอากาศโล่ง ๆ สดชื่นอะไรปานนั้น สงบอะไรปานนั้น นิ่งยิ่งกว่านี้อีก แน่นอน ที่อากาศมันเป็นในตอนเช้าตรู่ ฯลฯ

 

เสียงเอี๊ยดเล็ก ๆ ของบานพับหน้าต่างนั่นเองที่เป็นแรงกระตุ้นให้เธอนึกถึง บูร์ทัน สถานที่แห่งความทรงจำระหว่างเธอกับพีเทอร์ วอลซ์ และเธอก็นึกถึงเขา นึกถึงจดหมายของเขา รวมถึงเรื่องราวในอดีตที่ได้เคลื่อนไหวราวกับมีชีวิตอีกครั้ง

 

นอกจากเรื่องราวความรักแล้ว เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ยังใช้บรรยากาศของลอนดอนในเดือนมิถุนายนที่สงครามเพิ่งจบสิ้นลง ช่วงเวลาที่ผู้คนยังคงระลึกถึงพวกทหารที่ไปตายในสนามรบ แม่ระลึกถึงลูกชายแสนดีถูกฆ่า ภรรยานึกถึงสามี และหญิงสาวนึกถึงคนรัก รวมถึงสัญญาณ “บิกเบ็น” ที่ลั่นขึ้นทุกชั่วโมงและครึ่งชั่วโมง ราวกับเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้คนในรัศมีแห่งเสียงกระหึ่มนั้นระลึกถึงสงครามและความสูญเสียทุกห้วงยาม

ซึ่งบิกเบ็นนั้นก็ส่งสัญญาณเตือนเป็นระยะอยู่ตลอดเรื่อง และราวกับตัวละครทุกตัวได้ส่งผ่านสัญญาณแห่งชีวิตอันล้ำลึกไปถึงกันและกัน แม้กระทั่งการฆ่าตัวตายของ เซพทิมุส ทหารผู้ผ่านสมรภูมิมาด้วยจิตใจที่บอบช้ำ ตัวละครซึ่งแทบจะไม่มีวันได้ปฏิสัมพันธ์กับคลาริสซาเลย แต่ความตายของเขายังก้าวล่วงเข้ามาสร้างปฏิกิริยาแก่คลาริสซาถึงในงานเลี้ยงของเธอ

 

ดูเหมือนว่าวรรณกรรมแนวกระแสสำนึกจะใช้องค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ผสมผสานรวมกันเข้ามาเป็นผืนภาพขนาดใหญ่ ที่สะท้อนโลกภายในจิตใจออกมาสู่โลกภายนอก ขณะเดียวกันโลกภายนอกนั้นก็ได้สัญจรเข้าไปถึงโลกภายใน ว่าย-วนเป็นพลังที่รี่ไหลซึ่งบ่งบอกถึงชีวิตอันไร้จุดจบอย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้วรรณกรรมแนวกระแสสำนึกมักไม่ใช้การดำเนินเรื่องตามเค้าโครงที่เป็นลำดับขึ้นตอนที่เคยชินกัน หากแต่พยายามปล่อยให้กระแสความรู้สึก นึก คิดของตัวละครดำเนินไปแรงกระตุ้นต่าง ๆ ทั้งสิ้น ต่างแต่ว่าผู้อ่านจะสามารถปล่อยความรู้สึก นึก คิดของตัวเองไปกับตัวละครได้มากเพียงไร จะปล่อยให้นักเขียนเป็นผู้นำพาเราไปหรือให้ตัวละครนำพาเราไปนั้น บางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องท้าทายอะไรนัก แต่บางทีตัวตนของเราต่างหากที่จะยังแข็งขืนอยู่.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม