ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ
ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
ต่อเนื่องอย่างไม่ต้องเกริ่นนำกับเมจิกคัลเรียลลิสม์ในนิทานประเทศของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ใกล้ปีใหม่แล้ว ใจกระเจิดกระเจิงไปกับวันเวลา สูงวัยไปอีกปีแต่วุฒิภาวะเท่าเดิม รู้สึกแย่เหมือนกัน
จำได้ว่า คุณจรดล เคยแนะนำว่า ยุคสมัยล้ำดิจิตอลของเรานี้น่าจะมีกลิ่นอายแบบเมจิกคัลฯได้เหมือนกัน ซึ่งทำให้ฉันเอะใจ
ว่าไปแล้วยุคสมัยนี้ที่การสื่อสารพัฒนาอย่างรวดเร็ว เราสื่อสารกันว่องไวฉับ ๆ ราวกับส่งผ่านกระแสจิต จะต่างกันตรงที่ กระแสจิตไม่ต้องมีตัวกลางที่เป็นวัตถุเหมือนสื่ออินเทอร์เน็ต ทำให้ประหยัดไฟฟ้า อาจลามไปถึงช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกต่างหาก แต่ยุคอีแบบนี้มันสามารถอธิบายให้แจ่มกระจ่างได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่เมจิกคัลฯนั้น วิทยาศาสตร์ไม่อาจปอกเปลือกมันออกมาได้ทั้งหมด เสน่ห์ของมันอยู่ตรงนี้ อีกอย่าง เพราะมันยังไม่ถูกทำให้เชื่อได้อย่างสนิทใจ ยอมรับได้อย่างสนิทใจ เหมือนที่เราเชื่อแล้วว่าในอินเดียมีระบบวรรณะ และมีกฎเกณฑ์เคร่งครัดตายตัว
ขณะเดียวกันถ้าเมจิกคัลฯ สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ก็ไม่สามารถทำลายมนตร์ขลังของมันลงได้
เนื่องจากเมจิกคัลฯโดยตัวของมันเองยังดำรงอยู่ในสภาพของ “ปุ๋ยคอกในดิน” ที่กำลังย่อยสลายตัวเองเพื่อเอื้อให้ต้นไม้เติบโต ฉะนั้นถ้าจะเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า เมจิกคัลฯ เป็นปุ๋ยคอก เป็นดิน และ
ต้นไม้เป็นเรียลลิสม์ เมจิกคัลฯ ก็เป็นส่วนอุ้มชูหล่อเลี้ยงต้นไม้ ขณะที่ต้นไม้ก็เป็นตัวตนอันมีชีวิตเป็นที่ประจักษ์ และโดยที่ตัวเมจิกคัลฯ เอง ตัวเรียลลิสม์ เอง ต่างก็มีชีวิตของมัน และเมื่อรวมกันแล้วมันก่อให้เกิดชีวิต ซึ่งอาจจะไม่ใหม่ หรือใหม่ก็ได้ เพราะมันไม่ใช่สูตรผสมของการบวก แต่ชีวิตนั้นจะเป็นที่ประจักษ์
สำหรับนิทานประเทศเล่มนี้ ฉันขออนุญาตสรุปซ้ำอีกครั้งว่า มันไม่ได้มีหัวใจแบบเมจิกคัลฯ หากแต่ กนกพงศ์นำเอาหัวใจแบบเมจิกคัลฯ มาใช้เพื่อสำแดงแก่นคิดหรือเนื้อหาในงานวรรณกรรม โดยแก่นคิดนั้นจะเห็นได้ว่า กนกพงศ์พยายามจะชี้ให้เราได้ประจักษ์ถึงกลไกของความขัดแย้ง สภาวะของสงคราม
อันเกิดขึ้นจากสัญชาติญาณของชีวิต การเอาตัวรอด และมันจะนำมาซึ่งความสูญเสียเป็นโศกนาฏกรรม เราอาจพอนึกภาพออกว่า เมื่อชนเผ่าอะบอริจินส์ในออสเตรเลียจุดไฟเผาทุ่งหญ้าเพื่อดักล่าสัตว์มาเป็นอาหาร เขาไม่ได้ตระหนักว่าในอนาคตทุ่งหญ้าในเปลวไฟผืนนี้จะกลายเป็นทะเลทรายร้อนระอุ เช่นเดียวกับสภาวะของสงครามที่กนกพงศ์อธิบายกับเรา เป็นสงครามที่เกิดจากสัญชาติญาณของชีวิต และการเอาตัวรอดของชีวิตในสองโลก ซึ่งเขาจำแนกโลกสองใบนั้นชัดเจน คือ โลกยุคเก่า และโลกยุคใหม่ ที่ถูกเปลี่ยนผ่านโดยสายลมแห่งกาลเวลา โดยที่โลกสองใบนั้นต่างก็มีลักษณะจำเพาะ มีขีดจำกัด กฎเกณฑ์และจริยธรรมเป็นของตัวเอง และเป็นลักษณะที่ต่างกันสุดขั้ว มันจึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง เป็นสงคราม และมีผู้แพ้ ผู้ชนะ
หากถามว่ากนกพงศ์ใช้เมจิกคัลฯเป็นเครื่องมือทางวรรณกรรมได้คุ้มค่าหรือไม่ คำตอบคือ ไม่รู้เหมือนกัน เพราะคำถามกว้างเกินไป แต่หากถามว่ากนกพงศ์ใช้เมจิกคัลฯเป็นเครื่องมือทางวรรณกรรมเพื่อนำพาเราไปสู่จุดมุ่งหมายใด นั่นอาจหาคำตอบได้ง่ายกว่า
ในวรรณกรรมไทยมีผลงานที่พยายามชี้ให้เราได้ซาบซึ้งในวิถีชีวิตของบรรพบุรุษอยู่มากมาย ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ เหล่านักเขียนได้พยายามโน้มน้าวเราอย่างเป็นจริงเป็นจัง บางครั้งก็ไม่ลืมหูลืมตาอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ได้มีลักษณะพิเศษที่อยู่นอกเหนือไปจากเจตนารมณ์ของนักเขียนที่กำลังโหยหาอดีตอันหอมหวานขณะที่ปัจจุบันพวกเขากำลังอกหัก พวกเขาทำราวกับว่าไม่เคยรับรู้ปัญหาของชนบทที่แท้จริง พวกเขายังหลงคิดไปอีกหรือว่า ชนบทหรือบ้านเกิดหรือเหย้าเรือนแห่งความทรงจำแห่งบรรพบุรุษเหล่านั้น กำลังแปรสภาพเป็นสถานรับซื้อของเก่า เป็นแหล่งรวมแฟชั่นหล่นสมัย แล้วคุณค่าในงานเขียนเหล่านั้นจะแทรกตัวเองไว้ตรงไหนในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะพวกเขาได้ทำให้วิถีชีวิตของบรรพบุรุษเป็นเพียงภาพความทรงจำในความฝันเท่านั้นเอง ต่างจากกนกพงศ์ซึ่งพยายามเขียนให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษมีชีวิตชีวาขึ้นมา อย่างสลักสำคัญ และมีนโยบายชัดเจน
ยกตัวอย่างเรื่อง บ้านเมืองของเขา ในเล่มนี้
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อเรื่อง ฉันขอยกตัวอย่างโศกนาฏกรรมเล็ก ๆ ที่เพื่อนครูคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า
เมื่อเธอบอกให้นักเรียนประถมในโรงเรียนเอกชนของมหานครกรุงเทพฯ วาดผลไม้มาส่งครู นักเรียนน่าเอ็นดู สวมเสื้อขาวตัวสะอาดสะอ้าดทั้งหลายส่งผลงานของตัวเองด้วยใบหน้าเปี่ยมรอยยิ้ม สีสันสดใสของผลไม้บรรดามีถูกแต้มแต่งไว้สะดุดตา แต่กว่าครึ่งหนึ่งเธอพบว่ามีแผ่นสีขาวรองผลไม้อยู่ด้วย เช่น สับปะรดเป็นชิ้นสามเหลี่ยมสีเหลืองสดบนถาดโฟม ทั้งที่เธอคาดหวังว่า สับปะรดจะมีผลกลม ๆ รี ๆ มีเส้นลายตารางลากขวางไปมา มีใบแหลม ๆ บนหัวของมัน โชคดีที่นักเรียนของเธอยังวาดกล้วยเป็นหวี เธอว่า
ปรากฎการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นจากสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงกระนั้นหรือ เช่นเดียวกับเรื่องสั้นของ
กนกพงศ์เรื่องนี้ ในหน้า 36 เขียนไว้ว่า บางทีภาพวัวสำหรับแก(ลูกชาย)อาจเป็นแค่ชิ้นเนื้อสเต็กในจานใบใหญ่ จู่ ๆ เขารู้สึกเศร้าขึ้นภายใน
กนกพงศ์จู่โจมเราด้วยความรู้สึกโหยหาอดีตที่ถูกโลกปัจจุบันคุกคามอย่างรุนแรง แต่เขาก็ไม่อาจปฏิเสธความทรงจำเปี่ยมพลังในอดีตได้ แม้กระทั่งเสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้น เขาได้ยินเป็นเสียงเกราะซึ่งดังก้องไปทั้งหมู่บ้าน และนี่ความพยายามกดดันให้ตัวละคร “เขา” เกิดอาการจิตล่องลอยในสไตล์แบบเมจิกคัลฯ เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในภาพกว้างของเรื่อง กลิ่นไอของเรื่องเล่าบรรพบุรุษไม่ได้ “กระทำการ” ใด ๆ อย่างที่ เมจิกคัลฯ ควรทำ แม้นว่าเสียงโทรศัพท์ในปัจจุบันกับเสียงเกราะเคาะไม้ในอดีตจะก่อการเป็นระยะ ๆ ตลอดเรื่องก็ตาม บอกแล้วไงว่า กนกพงศ์ใช้เมจิกคัลฯเป็นเครื่องมือเท่านั้น หาได้ตั้งท่าจะกระโจนลงหลุมพรางของเมจิกคัลฯ ตามสมัยนิยม แม้นว่าเขาจะทำได้ก็ตาม
เพราะหัวใจของกนกพงศ์อยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่
โดยที่เขาได้ชี้ให้เห็นความลึกลับซับซ้อนอันเป็นเสน่ห์ของโลกเก่า อย่างเห็นคุณค่าแท้จริง อย่างยกย่อง ขณะเดียวกัน โลกใหม่ของกนกพงศ์กลับกลายเป็นโลกที่จ้องจะคุกคามทำร้ายโลกเก่าอย่างไม่ยอมรามือ ในหน้า 39 ในความทรงจำของตัวละคร
ถูกแล้วที่เมื่อคิดถึงปู่ เขาย่อมคิดถึงวัว หาใช่เพราะวัวเป็นสัญลักษณ์ของปู่ หรือปู่เป็นเครื่องหมายแห่งวัว แต่เพราะวัวเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในหมู่บ้านเกิดของเขา วัวมีชีวิต เป็นชีวิต และทรงค่าเกินกว่าชีวิต กีบเท้าวัวย่ำไปทุกเนื้อดินของหมู่บ้าน ประทับรอยลงในวิถีชีวิต
ฉันรู้สึกว่า คำว่า ทรงค่า ออกจะล้นไปสำหรับการยกย่อง (อันนี้รู้สึกคนเดียวและหยุมหยิมเกินไป)
วิถีชีวิตของปู่หรือบรรพบุรุษนั้น เป็นวิถีชีวิตที่ยากแก่การเข้าใจได้โดยอาศัยมุมมองของโลกใหม่ แต่มันก็มีเสน่ห์น่าเหลือเชื่อ มีความมหัศจรรย์ แต่มันก็เป็นเพียงความทรงจำ ในหน้า 44-45 เขาเขียนไว้ว่า
ความมหัศจรรย์เช่นนั้นเคยมีอยู่จริง เป็นลมสายหนึ่งซึ่งเคยพัดผ่านเข้ามาในชีวิตเขา จริงสิ, เขาเคยเป็นเด็กมหัศจรรย์ที่เรียกลมได้ นั่นก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ในท้องทุ่ง มือของพวกเขาหว่านเม็ดข้าวลงในดงขี้ไถ เมื่อฝนแรกของเดือนแปดมาเยือน แล้วเฆี่ยนวัวให้ไถกลบ ฝนโปรยสาย... เสียงตะโกนโหวกเหวกสื่อภาษาระหว่างคนกับวัวด้วยศัพท์เฉพาะลั่นระงม คล้อยหลังไม่นาน, ธัญพืชสีเขียวสดก็แทงยอดแหลมราวเข็มขึ้นทั่ว ..แต่ย่ากลับบอกว่ามันร่วงหล่นลงจากฟากฟ้ามากกว่า สวรรค์นั่นหรอกที่ประทานสิ่งนี้มาให้คนเรา
แต่ชีวิตเขาไม่ได้สืบทอดวิถีแห่งบรรพบุรุษในแบบนั้นอีกแล้ว แม้นปู่จะปฏิเสธและแดกดันเมื่อเขาจับดินสอเรียนหนังสือ แทนการจับเล็งปืนและคราดไถ
“ที่นั่นเขาสอนอะไรเอ็งบ้าง?” ปู่ประทับปืนกับไหล่,ทดลองเล็ง
“นับเลข”
ปู่ตวัดสายตากลับมา, จ้องเขาเขม็ง “นับเลข!.. มันจะช่วยชีวิตเอ็งหยั่งไรวะ?”
แล้วเขาก็ได้เรียนมหาวิทยาลัย ก้าวไปสู่โลกใหม่โดยต้องแลกเปลี่ยนกับความสูญเสียของโลกใบเก่าของบรรพบุรุษ ปู่ของเขาซึ่งเปรียบวัวเป็นชีวิตต้องขายวัวเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เขา พ่อแม่ของเขาต้องขายข้าว
การขายวัวหมายถึงชีวิตอับจน แต่การขายข้าวนั้นยิ่งกว่า (หน้า53)
“เงินนี่เป็นชีวิตปู่” ปู่ยัดเงินใส่มือเขา “เอ็งต้องเรียนเพื่อกลับมาดูแลหมู่บ้านเรา ดูแลพวกพ้องเรา”
หากเปรียบว่าปู่เป็นสัญลักษณ์ของโลกเก่า กนกพงศ์ได้เปรียบไว้ว่าเป็นราววัวป่า แม้จะถูกควักเอาอัณฑะของมันออกเพื่อตัดสายสัมพันธ์การเป็นวัวป่า แต่สัญชาติญาณแห่งป่านั้นเข้มแข็ง ดำรงอยู่ในสายเลือดรุ่นแล้วรุ่นเล่า วัวบ้านตัวใดที่ไม่ผ่านการตัดอัณฑะออกเป็นต้องดื้อด้าน วันทั้งวันเอาแต่ขวิดคันนาหรือจอมปลวกอย่างสัญชาตวัวชน เสียงร้องของมันเป็นเสียงแห่งความทระนง เสียงของการไม่ยอมจำนน หาใช่เสียงแห่งความเจ็บปวด กระนั้นยังมีตัวหนึ่งซึ่งดื้อด้าน ลากไถลิ่วหายเข้าขอบป่า คมผาลบาดน่องหลังเสียงเหวอะหวะ มันยังโจนเข้าใส่ด้วยสัญชาติญาณนักสู้ สุดท้ายปู่ยิงมันแล้วคุกเข่านิ่งเงียบเบื้องหน้ามัน ยันพานท้ายปืนลงราวแสดงความคารวะ
เมื่อปู่คือโลกใบเก่า ภรรยาของเขาก็เปรียบเป็นโลกใหม่ เพราะหล่อนชิงชังรังเกียจรากเหง้าของเขายิ่งนัก
หล่อนไม่อยากให้เขามีความเป็นมา ทว่าเขาจะตัดขาดมันลงได้อย่างไร? เขาจะตัดวิญญาณออกจากร่างได้อย่างไร?...
นั่นไง ความชิงชัง การไม่ยอมรับ ระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ และเมื่อมีฝ่ายแพ้ ผู้ชนะก็ย่อมได้ครอบครอง แล้วผู้แพ้จะคงไว้ซึ่งสัญชาติญาณแห่งโลกเก่าหรือสยบยอมแต่โดยดี ปู่ของเขาคนหนึ่งล่ะที่ปฏิเสธ
เมื่อเขาได้ทำงานในกระทรวงเป็นเจ้าคนนายคนแล้วกลับมาเยี่ยมบ้าน พร้อมจะสร้างบ้านใหม่ให้
ปู่ของเขากลับอยากได้มีดโกนคม ๆ สักเล่มหนึ่งเพื่อกรีดอัณฑะลูกวัว
เมื่อปู่เป็นผู้พ่ายที่ไม่ยอมแพ้ สัญชาติญาณของปู่จึงยังดำรงอยู่ ในงานแต่งงานของเขาและภรรยาที่กรุงเทพฯ ในโรงแรมหรูท่ามกลางสงครามการเมืองภายนอกโรงแรม ปู่ตะโกนไม่หยุดเหมือนอย่างที่แกเคยเป็นในงานแต่งงานในโลกเก่าที่ต้องมีการฆ่าวัวว่า ต้อนวัวเข้ามา ๆ ซึ่งทำให้ภรรยาของเขาหมิ่นหยาม แต่ชีวิตปู่ไม่เคยถูกแยกออกจากวัวแม้นในวาระสุดท้าย
วาระสุดท้ายของปู่จบลงด้วยสัญชาติญาณเช่นเดียวกัน ตลอดชีวิตของปู่คือ ปกป้องผู้หญิงและเด็ก ปกป้องคนเฒ่าคนแก่ ปกป้องหมู่บ้าน คืนนั้นปู่ตะโกนบอกว่ามีคนเข้ามาขโมยวัว ชี้ไม้เท้าหวายไปทั่ว ถ้าเป็นตอนหนุ่ม เสียงเคาะเกราะจะดังขึ้น พร้อมเพื่อนบ้านกับปืนในมือ เพื่อตามล่าเอาวัวคืน แต่เมื่อยามชราภาพ ปู่ทำได้เพียงชี้ไม้เท้า หน้า 71 เขียนไว้ว่า
เมื่อพบร่างปู่ฟุบหน้าอยู่ในคูข้างถนน ไกลจากบ้านร่วมกิโล ประตูรั้วเปิดอ้า ไม่มีใครรู้ว่าปู่เดินออกไปตอนไหน ... ไกลไปจากจุดซึ่งปู่ฟุบหน้าลง ที่ซึ่งถนนสายเอเชียพาดผ่านท้องทุ่ง วัวฝูงหนึ่งถูกต้อนขึ้นรถบรรทุกอยู่จริง ๆ เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าปู่รู้ได้อย่างไร? หรือมีสัญชาติญาณลี้ลับบางอย่างกระซิบบอก?
ขณะโลกใหม่ผู้ชนะทุกสิ่งที่โลกเก่าเป็นอยู่ ผู้คนที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของโลกเก่าทยอยพ่ายแพ้ไปแม้นได้พยายามสุดความสามารถ นี่เป็นโศกนาฏกรรมที่กนกพงศ์บอกกล่าวแก่เรา โดยอาศัยเมจิกคัลฯเป็นเครื่องมือนำพาเราไปสู่โลกเก่าอันแสนมหัศจรรย์ และมีเสน่ห์ เผื่อว่าเราจะซาบซึ้ง เข้าอกเข้าใจโลกเก่า โหยหาโลกเก่า และจะแสวงหาความประสานกลมกลืนระหว่างโลกสองใบ แทนที่สงครามซึ่งถือเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า
แต่เมจิกคัลฯที่กนกพงศ์หยิบฉวยมาใช้จะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยแค่ไหน คงคาดการณ์ไม่ถูก สำหรับฉันมีแต่ความรู้สึกเสียดายที่เขาด่วนจากโลกไปเสียก่อน อย่างน้อยก็เชื่อว่ากนกพงศ์ได้ท้าทายตัวเองอยู่เสมอในงานเขียนที่อยู่ความคิดฝันของเขา
หนังสือแต่ละเล่มแม้จะบอกเล่าเรื่องราวของมันในขณะที่เราอ่าน แต่มันก็ยังคิดฝันถึงอนาคตอยู่เสมอ มันฝากความคาดหวังให้เราเสมอ บางครั้งอ่านเล่มนี้แล้วไม่ค่อยชอบ มันก็อยากอ่านเล่มใหม่ บางครั้งอ่านแล้วชอบ ก็อยากอ่านเล่มที่ชอบมากกว่า ฉันเชื่อว่าเราอาจรู้สึกเช่นเดียวกันบ้าง ไม่มากก็น้อย และหากใครมีหนังสือที่อยากแนะนำให้อ่านก็บอกกล่าวมาได้เลย บางครั้งฉันก็เลือกไม่ค่อยถูก มีคนช่วยชี้แนะบ้างตาก็สว่างขึ้น ขอบคุณล่วงหน้า.