Skip to main content

นายยืนยง


ชื่อหนังสือ
:
เงาสีขาว

ผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทอง

ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน


ปกติฉันไม่นอนดึกหากไม่จำเป็น และหากจำเป็นก็เนื่องมาจากหนังสือบางเล่มที่อ่านค้างอยู่

มันเป็นเวรกรรมอย่างหนึ่งที่ดุนหลังฉันให้หยิบ เงาสีขาว ขึ้นมาอ่าน เวรกรรมแท้ ๆ เชียว เราไม่น่าพบกันอีกเลย คุณแดนอรัญ แสงทอง ฉันควรรู้จักเขาจาก เรื่องสั้นขนาดยาวนาม อสรพิษ และ นวนิยายสุดโรแมนติกในนามของ เจ้าการะเกด เท่านั้น แต่กับเงาสีขาว มันทำให้ซาบซึ้งว่า กระบือย่อมเป็นกระบืออยู่วันยังค่ำ (เขาชอบประโยคนี้นะ เพราะมันปรากฏอยู่ในหนังสือของเขาตั้งหลายครั้ง) ต่อให้กระบือตัวนั้นจะท่องสูตรคูณแม่ 137 ได้แม่นยำปานใดก็ตาม


หกทุ่มตรงเผงนั่นเองที่ฉันปิดเงาสีขาววางไว้บนโต๊ะ วางอย่างที่หนังสือเล่มหนากว่าแปดร้อยหน้าควรจะถูกวาง วางอย่างไม่อยากตอแยกับมันอีก


อันที่จริงฉันนึกอยากขอโทษมันอยู่หรอกนะ โทษฐานที่เคยเขวี้ยงมันกระเด็นกระดอนอย่างสะใจไปสองครั้งเมื่อตอนที่ยังอ่านมันไม่จบ อยากขอโทษในฐานที่เคยเหยียบมันทั้งอย่างกล้า ๆ กลัว ๆ และเหยียบมันด้วยเต็มแรง บางทีอาจถึงขั้นกระทืบด้วยหลายครั้งเมื่อที่ฉันยังอ่านมันไม่จบเล่มเหมือนอย่างในคืนนี้


มาคิดอีกที ก็สาสมแล้วที่ฉันไม่เอ่ยปากขอโทษมัน ทั้งที่ตามมารยาทฉันควรทำอย่างยิ่ง ที่หมิ่นหยามมันได้เพียงนั้น เพราะชั่วชีวิตฉันไม่เคยกระทำการอันป่าเถื่อน ไร้อารยธรรมกับหนังสือเล่มใดมาก่อน อย่างร้ายสุดก็แค่ฉีกมันเป็นเศษกระดาษ อย่างร้ายกว่านิดก็จัดการฉีกและเผามันทิ้งซะ แต่ฉันไม่เคยเขวี้ยงมันเลย และไม่เคยเหยียบมันจนเต็มฝ่าเท้าเหมือนอย่างที่ทำกับเงาสีขาว


มาคิดอีกทีก็สาสมแล้วล่ะ เพราะมันเป็นหนังสือที่ผ่านการพิสูจน์อักษรอย่างประมาท และแทนที่จะระบุจังหวัดอันเป็นชื่อสถานที่ของเหตุการณ์ในเรื่องอย่างที่มันสมควรจะเป็นอย่างท้าทาย มันกลับถมดอกจันเรียงกันไว้ห้าดอก ซึ่งเป็นการกระทำที่ “ซิ่ง” ชะมัดเลย (ไม่รู้อะไรทำให้ฉันนึกถึงคำนี้ขึ้นมา)


เงาสีขาว เป็นนวนิยายที่มีสมัญญานามในทางโอหังอยู่เยอะ ทั้งชื่นชมบูชา ทั้งวิพากษ์สาดเสียเทเสีย

ถ้าจะชื่นชมบูชากันอย่างสมเหตุสมผล ฉันเห็นว่าเราควรพูดถึงเรื่องของศิลปะในแง่ที่เป็นสากลเสียทีหนึ่ง และพูดกันอย่างใจกว้างที่สุดด้วย แต่หากมันจะถูกดูหมิ่นประณามหยามเหยียดแล้วล่ะก็ เป็นเพราะเรื่องราวในตัวมันนั่นแหละ


อย่างที่เคยเตือนว่า มันไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เส้นศีลธรรมเปราะบาง ถ้าจะดัดจริตหน่อยฉันอาจพูดว่า ช่างเลวทรามต่ำช้าอะไรเช่นนี้ ไอ้บ้ากาม ไอ้สารเลวสุดขั้ว เลวมาแต่ชาติปางก่อน หรืออะไรทำนองนั้น ไม่ผิดเลย เพราะมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งเราผู้อ่านก็มีอำนาจที่จะวางมันลงกลางคัน ไม่ทนอ่านจนจบแปดร้อยกว่าหน้านั่นหรอก ไม่เช่นนั้นอาจใช้วิธีเดียวกับฉันคือ กระทืบมันทิ้งเสียเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉันเปลี่ยนใจกลับมาอ่านมันต่อจนจบคือ วิธีการเขียนของแดนอรัญ ภาษาของเขา และทัศนะที่มีต่อโลก

หาก เงาสีขาว เป็นงานศิลปะ มันก็เป็นงานศิลปะประเภทที่ต้อนให้ผู้เสพต้องจนมุมในสุนทรียรส ดังนั้นเราจะรู้สึกเหมือนถูกอัดยัดทะนานด้วยทัศนะคติเชิงปฏิปักษ์ต่อหลักการทั้งมวล ด้วยพฤติกรรมแบบแอนตี้ฮีโร่ของตัวละคร (ฉัน) สิ่งเดียวที่ประคองอรรถรสของเรื่องราวอันยาวเหยียดล้นหลามคือภาษา เครื่องมืออันแสนวิเศษ แล้วนี่ฉันตกกระไดลัทธิศิลปะเพื่อศิลปะเข้าให้แล้ว


เราควรกล่าวถึงข้อดีงามของเงาสีขาวได้แล้วล่ะ ไม่ว่าฉันจะชิงชังมันปานใด แต่มันก็มีข้อดีงามอยู่ในตัว ฉันจะขอแยกเป็น 2 ด้าน แรกเลยคือเรื่องของภาษาที่แดนอรัญใช้ในการประพันธ์ ส่วนข้อ 2 เป็นทัศนะเชิงสุนทรียภาพ ซึ่งขอใช้หลักการว่าด้วยความน่าเกลียด ใช้ความน่าเกลียดมาบรรยายคุณลักษณะของสุนทรียภาพ ซึ่งไม่ใช่เป็นในฐานะคู่ปฏิปักษ์ แต่เป็นการระเหิดทางอารมณ์ ประมาณว่าเมื่อความน่าเกลียดถูกทำให้สูงส่งขึ้นเป็นสุนทรียภาพ เป็นปฏิกิริยาทางศิลปะ ซึ่งหัวข้อที่ 2 นี้ ขอยกไปเป็นเอกเทศในตอนหน้าดีกว่า


เอาล่ะ มาดูเสียทีว่า ภาษาวรรณศิลป์ของแดนอรัญ แสงทอง เป็นอย่างไรบ้าง (อา..เขียนถึงคุณความดีของเงาสีขาวแล้วฉันยังอดคันในหัวใจไม่ได้)


แดนอรัญเขียนเงาสีขาวอย่างมุ่งหวังเต็มเปี่ยม เขาพยายามเพื่อจะเข้าไปให้ถึง ทะลวงเข้าไปในห้วงลึกล้ำของสภาวะอารมณ์ของมนุษย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่หยาบช้าที่สุด เขาหยาบช้า โฉดยิ่งกว่า ดอสโตเยฟสกี้ เสียอีก โชคดีที่ฉันไม่ได้ทำความรู้จักกับวรรณกรรมแนวนี้มากมายนัก จินตนาการของฉันจึงสะดุดลงที่ ดอสโตเยฟสกี้ แดนอรัญเขียนเงาสีขาวด้วยท่าทีราวกับกำลังควักเอาก้นบึ้งหัวใจมนุษย์ออกมาสำแดงต่อหน้าเหล่ามนุษย์ด้วยกันเอง ให้ประจักษ์กันไปเลยว่า แท้จริงแล้ว หัวใจของเรานั้นมีสีแดงสดเพียงไร มีกลิ่นคาวยิ่งกว่าคาวเลือดสัตว์ใดในโลก อ่อนนุ่มหยุ่นเหลวเพียงไรในอุ้งมือของผู้ที่คว้ามันขึ้นมาพิจารณา โดยเขาใช้ภาษาเป็นตัวขับเคลื่อน และภาษาก็มีวิธีการแสดงออกที่จำเพาะ


รูปประโยคที่ใช้ เป็นประโยคความเดียว บางทีเป็นวลี แต่เขานำมาเรียงต่อกันเพื่อพอกพูนความซับซ้อนของความเข้าไป เพื่อยืดเยื้ออารมณ์เอาไว้ เพื่อดึงดูดเราให้ตามดมกลิ่นความบัดซบนั่นต่อไปราวกับทาสที่ไม่ยอมเป็นอิสระเสียที ทีละนิด ทีละนิด ของประโยคเหมือนลมหายใจชั่วขณะ ที่สืบเนื่องเป็นชีวิต เพื่อสอดคล้องกับเอกภาพของเรื่อง เป็นการเขียนถึงเหตุการณ์ที่ซุกซ่อนอยู่ในความทรงจำ ในบาดแผลของชีวิต ในความตาย ในอดีต ในอนาคต ในความฝัน ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป มาจัดเรียงเสียใหม่ให้บรรลุถึงเจตนารมณ์ของเขา เป็นกระบวนท่าของภาษาที่เร้าอารมณ์อย่างร้ายกาจ เป็นการแสดงให้เห็นว่า นักเขียนใช้ภาษาเป็นเครื่องมือแสดงทัศนะของเขาอย่างแท้จริง


และเขามักมีประโยคเด็ด ๆ ที่กระตุกอารมณ์เราตลอดเวลา บ่อยครั้งมันดูถ่อยระยำ บ่อยครั้งก็โคตรจะ โรแมนติก อ่อนหวานปานบทกวี แต่ขณะเดียวกันก็น่าขยะแขยง บางครั้งก็น่าใช้เท้าผลักกระเด็นเพราะมันช่างแดกดันผิดมนุษย์ บ่อยครั้งมันน่าหมั่นไส้จนคันในหัวยิก ๆ ฉันจะยกตัวอย่างประโยคที่แสนสามัญ ไร้พิษสงมาให้อ่านก่อน เพราะเพื่อจะกล่าวถึงความไม่ธรรมดา เราควรกล่าวถึงความธรรมดาก่อน

มันเป็นเพียงประโยคที่ต้องการกระตุ้นผู้อ่านอย่างตื้น ๆ เขาเขียนไว้ในหน้า 80


ฉันไม่อยากมีความสุขมากนัก มีความสุข ๆ ทีไร แล้วอยากจะฆ่าตัวตาย


หากเราจะกล่าวว่าภาษาของเขาบาดลึกอย่างไม่บันยะบันยังแล้วล่ะก็ ฉันประเมินเอาเองว่า การที่นักเขียนสักคนเลือกใช้ภาษาเฉพาะในแบบของเขานั้น นอกจากเพื่อสนองเจตนารมณ์ส่วนบุคคลแล้ว ยังมีเหตุผลที่มาจากบรรยากาศรอบตัวด้วย ยกตัวอย่าง หากบรรยากาศทางวรรณกรรมในยุคของเขานิยมใช้ถ้อยคำสูงส่งอย่างที่เขารู้สึกว่ามันฉาบฉวย เขาก็จะมุทะลุให้ภาษาของตัวเองเป็นอีกอย่างในทางตรงกันข้าม ถือเป็นปฏิกิริยาแบบคู่ปฏิปักษ์อีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นแล้ว เรื่องของภาษาจึงไม่ใช่เรื่องเชิงปัจเจกแต่อย่างใด เพราะภาษาก็มีสังคมของมันอยู่ ดังนั้นภาษาจึงพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามวิถีทางของสังคม


ในเงาสีขาวนี้ก็เช่นกัน

วิธีการเขียนที่ถือกำเนิดจากความด้านชาของมนุษย์คือการสร้างให้ทุกสิ่งมีชีวิต คือ การมอบชีวิตให้ทุกสิ่งที่ไม่เคยได้ลิ้มรสชาติแห่งชีวิต เราเรียกว่า บุคลาธิษฐาน เพื่อดึงดูดเอาอารมณ์ของผู้อ่านออกมาร่วมกับตัวละครให้ได้มากที่สุด อย่างที่แดนอรัญได้มอบชีวิตให้กับ “ความตาย” นั่นไงล่ะ


ตอนที่ 2 ความตายมาดูละคร

เขาสมมุติเกมหนึ่งขึ้นมาว่า ตัวแกกำลังจะตายในบ้านร้างหลังนี้ และเมื่อความตายมาเยือน แกจะสัมภาษณ์มันสักหน่อย (อันนี้เป็นการแดกดันด้วยเลือดเลยทีเดียว เพราะเรามักคุ้นเคยกับคำว่า ผู้มาเยือน เมื่อความตายมาเยือน หรืออะไรก็แล้วแต่ แดนอรัญก็เลยสวาปามนักเขียนที่นิยมใช้คำอย่างมักง่ายไปเสีย) หน้า 123 เขาเขียนไว้ว่า


และที่มันสนใจมากที่สุดก็คือ การพาแกเดินทางไปสู่ดินแดนของมัน แกในฐานะผู้ต้องหา มันในฐานะผู้ทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหา มันเท่ มันเป็นพระเอก แกไม่เท่ แกเป็นแต่เพียงตัวประกอบกะเลวกะราด อามันนั่งอยู่นั่นแน่ะ ในบรรยากาศเยือกเย็นรายรอบตัว ยิ่งดูก็ยิ่งเหมือนอีแร้งแก่ ๆ ไม่มีผิด เมื่อแกถามมันว่า

ได้สูจิบัตรหรือยัง มันเฉย ดังนั้น ในระหว่างการแสดง แกจะด่าแม่มันบ้างก็ได้ หงายส้นเท้าให้มันบ้างก็ได้ ... แกจะเชือดเฉือนมันเล่นบ้างก็ได้ด้วยคำถามทำนองว่า ตัวมันนั้นเป็นตัวผู้หรือตัวเมียหรือกระเทย (ท้ายประโยคควรจะใส่คำว่า ขอรับ ด้วยหรือเปล่า) และไหนลองถามมันซิถึงสถานภาพทางการสมรสของมันอาชีพของมันรายได้แต่ละเดือนของมัน ฯลฯ


ใครเคยอ่าน เงาสีขาว อาจรู้สึกต่างจากฉันบ้างไปตามสัดส่วนรสนิยม แต่เชื่อแน่ว่า เราอาจรู้สึกไม่ต่างกันตรงที่ แดนอรัญเขียนเงาสีขาวขึ้นราวกับเขากำลัง “สุมสุนทรียภาพ” เพื่อให้มันสำแดงตัวตนออกมาชัดเจนที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้ เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของภาษาอันถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการประพันธ์เท่านั้น หากแต่เป็นความพรั่งพร้อมในแง่ของศิลปะ ซึ่งไม่ใช่ติดอยู่กับแง่ของเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง แม้นว่าเขาจะใช้วิธีการเล่าผ่านกระแสสำนึกของตัวละคร ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 “ฉัน” ทำราวกับว่ากำลังเขียนอัตชีวประวัติของตัวเองอย่างนั้นแหละ และในบางบทเขาใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 “แก” ก็ตามที

การเล่าผ่านกระแสสำนึกนี้มีหลายวิธี เช่น กระแสสำนึกที่ถูกกระตุ้นเมื่อได้เห็นวัตถุในความทรงจำ หรือเล่าโดยไม่ได้ผ่านวัตถุใด ๆ หรือปล่อยให้รินออกมาเป็นสายน้ำ เมื่อนึกถึงตัวเองแล้วย่อมไปเกี่ยวพันกับชีวิตอื่น เหตุการณ์ที่จมอยู่ก็ลอยขึ้นมา ลอยขึ้นมา โดยปกติมันจะมีจังหวะจะโคนของมันเอง แต่สำหรับ แดนอรัญ เขาเล่ามันออกมาโดยที่ไร้ตัวกระตุ้นในเชิงรูปธรรม ราวกับคำสารภาพของปีศาจซึ่งแม้นจะสารภาพผิดมันก็ยังอดร่ายมนตราไม่ได้ แม้นในวาระสุดท้ายของมันก็ตาม เด็ดขาดเลยไหมล่ะ


ท่านผู้อ่านที่นับถือทุกท่าน หากอ่านมาถึงตอนนี้ และยิ่งหากใครได้อ่าน เงาสีขาว เสียแล้ว อาจกำลังหัวเราะหึ ๆ และอาจจับรู้สึกได้ว่า ฉันกำลังตกเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ของ เงาสีขาว เสียแล้ว ก็จะอะไรล่ะ ถ้าไม่ใช่ทาสทางภาษา ดูซี ภาษาของฉัน ล้วนแล้วแต่หยิบยืมมาจากเขาแทบทั้งนั้น ไม่เฉพาะคำหยาบ คำสบถ แดกดันเท่านั้น (คำสบถหยาบคายเป็นไวรัสชนิดที่ไม่ทำให้คนตายอย่างเฉียบพลัน แต่มันจะทำให้เรากลับไปเป็นสุภาพชนดังเดิมไม่ได้ บางทีก็จำแลงเป็นยาเสพติดที่เสพวันละนิดติดไปชั่วลูกชั่วหลาน)

หากแต่เป็นสำนวนโวหารอันคมคาย ให้ภาพพจน์ชัดเจนโจ่งแจ้งเสียจนความชั่วช้าสามานย์ทั้งหลายแหล่ ความรักลุ่มหลงทั้งหลายแหล่กำลังดิ้นเร่าอยู่ตรงหน้า กระทั่งเราผู้อ่านต้องเบือนหน้าหนี ขอยกตัวอย่างสักนิดหน่อย


ฉันผู้เป็นกวีชั้นสวะผู้มีความจริงใจต่อตนเองสูงและเป็นผู้เชี่ยวชาญโยนีกสิณ


หรือในตอนที่ “แก” เพิ่งพรากพรหมจรรย์ของเด็กสาวข้างบ้าน ที่พี่ชายของหล่อนเคยเป็นผู้อุปการะแกในช่วงหนึ่งที่แกเรียนมัธยม ใช่..เขามีบุญคุณกับแก แต่สิ่งที่แกกระทำลงไปนั้นมิใช่เพราะความรักฉันท์หนุ่มสาว หากแต่เป็นเพียงความหื่นระห่ำในมังสาเท่านั้น แกไม่ได้รักนาตยา ผู้หญิงคนนั้น และเมื่อแกได้สังวาสกับเธอแล้ว (แม้เขาจะบรรยายฉากสังวาสอย่างงดงามเพียงไรก็ตาม) แกเขียนไว้ในหน้า 210 ว่า


แกเป็นหนอนที่เจาะไชผลไม้หวงห้ามได้สำเร็จแล้วเป็นแมลงที่ขยี้ดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ได้สำเร็จแล้ว แกยังแทบจะไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่านับจากคืนนั้นเองหล่อนตกอยู่ในอำนาจของแกอย่างสิ้นเชิง และเมื่อแกได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงนี้เข้าในเวลาต่อมาแกก็แทบไม่อยากจะเชื่อว่าจากเด็กสาวผู้ลึกลับและวางตัวสูงด้วยความยะโสประดุจนกยูง หล่อนกลับกลายเป็นสุนัขที่ซื่อสัตย์ไปได้อย่างไร


ฉันยกตัวอย่างมาน้อยนิดเมื่อเทียบกับความมหาศาลของมัน เพราะตระหนักดีว่า หนังสือทุกเล่มมีราคาขายแปะอยู่ไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง แต่หากมันจะมีราคาค่างวดหนักหนา มันจะทำให้เรารู้สึกราวกับว่าราคาของมันดันมาแปะอยู่บนหน้าผากของเรา ฉะนั้นสำนักพิมพ์ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่นักบุญใจเพชร และหนังสือไม่ใช่เป็นการพิมพ์เพื่อเป็นวิทยาทาน ฉันควรรู้จักมารยาทเสียบ้าง หากว่าจะนำเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของหนังสือในนามของสินค้ามาแผ่หลาในเนื้อที่ต่าง ๆ


ทิ้งท้ายบทความตอนนี้ไว้ด้วยคำจั่วหัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่า

แดนอรัญ เป็นนักเขียนที่โดยใช้ภาพของความชั่วช้าสามานย์บรรดามีเพื่อถ่ายทอดและบรรยายแง่มุมของศีลธรรมออกมาอย่างกล้าหาญ


และหากจะกล่าวว่า เงาสีขาว เป็นการฆาตกรรมความดีงามอย่างเลือดเย็นที่สุด

คงไม่ผิด และฉันก็พอขอหยิบยืมหลักการของนักคิดมาอ้างอิงให้เป็นเหตุเป็นผลได้ ให้ตายเถอะ... มันมาอีกแล้ว ไอ้เจ้าเงาสีขาว ฉันสัญญาว่าจะไม่อ่านมันซ้ำเป็นรอบที่สอง มันทำราวกับขู่ตะคอกฉันให้พูดจาภาษาเดียวกับมันอย่างนั้นแหละ


อา..


แดนอรัญ แสงทอง ปีศาจร้ายผู้ฟุ่มเฟือยโวหาร ผู้ประณีตกับความสามานย์ บัดซบ นักเขียนผู้สามารถเป็นเอกบรมเอกอุโฆษที่ชำแหละความนับถือตัวเองของผู้อ่านออกมาเป็นกลิ่นสุดโสมม

เขาจงใจสุดพลังความสามารถอีกเช่นกันที่จะสร้างเรื่องราวอันอัปลักษณ์เพื่อเทิดทูนบูชาความดีงามที่พวกเราเคร่งครัด เขาเป็นมนุษย์ที่ล่อลวงให้ศตวรรษที่ 20 ต้องละล้าละลังและขมขื่น ไม่แน่ว่า หากพระเยซูหรือพระพุทธเจ้าต้องลอบถอนหายใจเมื่อได้อ่าน เงาสีขาว เล่มนี้


หน้า 606 เขาเขียนไว้ว่า ฉันเป็นพจนานุกรมแห่งคำสบถ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นแหละ

ถ้อยคำใหญ่โตโก้หรูบรรดามีถูกนำมาใช้ให้กระจอกงอกง่อยด้วยอารมณ์ชั่ววูบของเขาจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ฉันไม่เป็นพวกนิยมคำสบถจึงรู้สึกได้ถึงอาการของคนที่เรียกรู้มามากแต่ใช้ความรู้ที่มีอย่างฟุ่มเฟื่อยเรื่อยเจื้อย


หนำซ้ำตอนจบเรื่อง เขาก็ทำราวกับเป็นปีศาจวิปริตตนหนึ่ง ที่ถูกศีลธรรมซึ่งซ่อนอยู่ในตัวมันเล่นงานอย่างหนักจนกระอักโลหิตปางตาย แล้วยังมีหน้าร้องหาความตายราวกับนักบุญผู้ไขว่คว้านิพพานอย่างสิ้นหวัง


นี่คือบางส่วนของ เงาสีขาว ในแง่มุมที่เกือบจะเรียกได้ว่ากระจัดกระจาย และหากจะกล่าวถึงทัศนะเชิงสุนทรียภาพซึ่งจะเขียนเป็นตอนจบนั้น ไม่ใช่จะเขียนขึ้นเพื่อยกย่องสรรเสริญนักเขียนแต่อย่างใด แต่มันเป็นเพราะฉันรู้สึกเช่นนั้นอย่างแท้จริง แม้ในขณะที่ความงามกำลังระเหยกลายเป็นไอ ความถ่อยต่ำทรามก็ยังคุกรุ่นอยู่ในใจฉันอย่างหักห้ามไม่ได้เลย.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ ผู้เขียน : องอาจ เดชา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา พ.ศ.2548 ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ... สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน…
สวนหนังสือ
นายยืนยง      ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน ผู้เขียน : วิน วนาดร ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550   ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นกชีวิต ประเภท : กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550 ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์…
สวนหนังสือ
นายยืนยงประเภท          :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharyaผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์
สวนหนังสือ
นายยืนยง"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)ภาพจาก : http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16 ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม
สวนหนังสือ
นายยืนยงบทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
สวนหนังสือ
นายยืนยง  บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์        …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓