Skip to main content

นายยืนยง

25_7_01

ชื่อหนังสือ
: ผู้คนใกล้สูญพันธุ์

ผู้เขียน : องอาจ เดชา

ประเภท : สารคดี

จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา ..2548


ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย


กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ...

สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ เนื่องจากตัวคนต้นเรื่องไม่ได้ลงมือเขียนเอง หากแต่มีนักเขียนเข้ามาสำรวจ พินิจพิเคราะห์แง่มุมชีวิต เก็บเนื้อหารายละเอียดแล้วสังเคราะห์อย่างพิถีพิถัน เพื่อถ่ายทอดในมุมมองของนักเขียน เหมือนเป็นการส่งผ่านแง่มุมชีวิตของคนคนหนึ่ง ไปถึงผู้อ่านให้ร่วมรู้สึกกับไปสายธารชีวิต

จากเชื้อเจ้าล้านนา...สู่ขบถสามัญชน ฝีมือของ องอาจ เดชา ถ่ายทอดผ่านมุมมองที่ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาจะยกยอปอปั้นราวเชิดชูวีรบุรุษ ที่เราอาจได้ผ่านพบมาจนเคยชินแล้ว หากแต่เป็นมุมมองที่เป็นศิลปะมากกว่า แม้นแวบแรกเราจะเห็นพลังของงานเขียนเชิงโศกนาฏกรรมอยู่ในเนื้องานด้วย


หากชีวิตคือโศกนาฏกรรม เราคงต้องเพิ่มเติมลงไปด้วยว่า โศกนาฏกรรมคือความงามได้ด้วยเช่นกัน

แต่ความเศร้าโศกจะเป็นความงดงามได้อย่างไร ผู้อ่านเท่านั้นจะรู้สึกได้


ในสารคดีขนาดสั้นเรื่องนี้ องอาจ เดชา เลือกใช้ภาษาละเอียดละไมเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของ

อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ตัวเขาเอง และเสียงจากสังคมคนแวดล้อม


ค่ำนี้, อากาศขมุกขมัว แหงนเงยหน้ามองฟ้า...ฟ้าช่างดูหมองหม่นด้วยฝุ่นเมือง พลอยทำให้ความรู้สึกของเขานั้นเศร้าลึก ยิ่งยามลมหนาวฤดูพัดโชยผ่านเข้ามาเย็นยะเยียบ คล้ายเสียดแทงหัวใจให้ปวดแปลบ สีหน้าของเขายามนี้ดูกระวนกระวาย เหมือนกำลังครุ่นคิดลอยไปไกลแสนไกล...

(จากหน้า 61 )


ตัวละคร เขา คือ อ้ายแสงดาว ที่องอาจ เดชา เข้าไปร่วมผสานตัวตนแล้วกลั่นกรองออกมาเป็น

มโนภาพที่สามารถสะท้อนตัวตนของอ้ายแสงดาวออกมาอีกทีหนึ่ง เป็นกลวิธีการเขียนที่เสมือนได้ก้าวออกมาจากกฎเกณฑ์ของงานเขียนแบบสารคดี หากแต่ยังคงสุ้มเสียงของข้อเท็จจริงไว้ นักเขียนสารคดีที่ใช้วิธีการเขียนแบบนี้ ย่อมต้องอาศัยพลังและแรงบันดาลใจอย่างสูงสุด มิเช่นนั้น ผู้อ่านเองจะสัมผัสได้ถึงความขัดเขินบางอย่างที่ปรากฏอยู่ในงานนั้น


นอกจากนั้น องอาจ เดชา ยังใช้วิธีการแบ่งเนื้องานเป็นบทตอนสั้น ๆ เพื่อตรึงและหยุดผู้อ่านไว้ด้วยจังหวะของชีวิต มีการเปิดภาพตัวตนของอ้ายแสงดาวในตอนแรก เพื่อนำพาผู้อ่านก้าวไปสู่บทต่อไป


บทแรก
..ย้อนรอยอดีต เชื้อสายเจ้าล้านนา ที่เสริมข้อมูลของต้นตระกูลเจ้าศักดินาทางถิ่นภาคเหนือที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งยังมีการเปรียบเปรยภาพธรรมชาติผสานเข้ามาเป็นระยะตลอดทั้งเรื่อง


เช่น หน้า
65

ไม่ว่าใบไม้ชราที่ร่วงซบผืนดิน หรือว่าใบไม้อ่อน ย่อมมีคุณค่าอยู่ตามห้วงจังหวะแห่งกาลเวลามิใช่หรือ

หรือตอน ห้วงฝันวัยเยาว์ ตอนวัยเรียน วัยมันกับความคึกคะนอง ตอน ชีวิต อุดมการณ์ และความรัก

ข้อดีของการแบ่งเนื้อหาเป็นบทตอนนั้น ทำให้งานเขียนชวนอ่านมากขึ้น มีจังหวะจะโคนที่ลงตัวเป็นทำนองเดียวกับช่วงชีวิต


นอกจากแง่มุมงดงามที่องอาจ เดชา เรียบเรียงไว้อย่างลงตัวแล้ว ภาษาของเขายิ่งชวนให้เนื้องานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หากใครได้อ่านคงต้องลงความเห็นไว้คล้ายกันว่า เป็นภาษาที่ประณีตนุ่มนวลยิ่ง งามดั่งบทกวี เช่นนั้นทีเดียว โดยเฉพาะการบรรยายความรู้สึก นึก คิด แล้วด้วย


สารคดีเรื่องนี้ องอาจ เดชาได้นำแง่มุม และรายละเอียดเล็ก ๆ เข้ามาเชื่อมโยงอย่างมีต้นสายปลายเหตุเพื่อนำเสนอภาพชีวิตที่เป็นเสมือนบทกวีของเขา ทั้งงดงามและเศร้า หม่นหมองในตัวเองแต่กลับจุดประกายให้ผู้คน

อย่างนี้นี่เอง ใครต่อใครจึงพากัน รัก เขา อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น กวีเพื่อมวลประชา


ว่ากันว่า เฉพาะช่วงปี 2523 2528 เขาเขียนจดหมายวันละ 7 8 ฉบับ ประมาณ 200 กว่าฉบับต่อเดือน ทำไม แสงดาว ศรัทธามั่น ถึงต้องเขียนจดหมาย และทุกครั้ง ที่เขากำลังขีดเขียนถึงใครอยู่นั้น เขามีความรู้สึกเช่นไร...ผมมิอาจล่วงรู้ได้

(จากหน้า 106 )


แดดลับดอยสุเทพไปนานแล้วทางทิศตะวันตก (หน้า 61)

โลกค่อยทยอยหม่นมืดเป็นละอองกลางคืนคล้ายกำลังซุกหน้าพักผ่อน ฉันคิดถึงวันเวลาที่กำลังเคลื่อนไหวในเรา


อ้ายแสงดาวที่นับถือ


ที่นี่ลมฝนฤดูเข้าพรรษาเย็นชื่นใจเหลือเกิน หยาดน้ำจากฟ้าช่างละเอียดอ่อนเหมือนเจ้าพัดมาจากที่แสนไกล สูงขึ้นไปนั่น หรือเจ้ามาจากสรวงสวรรค์กันหนอ


ฉันคงคิดไกลเกินไปแล้ว เพราะต่อให้สรวงสรรค์ชั้นฟ้าบันดาลฝนวิเศษให้เราได้ทุกฤดู เราก็ยังไม่รักกันอยู่นั่นเอง และถ้าเราไม่รักกันแล้ว ความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้อีกหรือ แม้แผ่นดินจะแบ่งแยกเป็นกี่ล้านเสี่ยง

เราก็ไม่อาจเคารพกันได้ ประเทศนี้เป็นอะไรไป ใครกันที่พัดพาตะกอนความโกรธแค้นมาขังนิ่งอยู่ที่นี่

นายคนนั้นที่นั่งบื้อเป็นนายกแห่งชาติ บรรดาผู้ปกครองผู้เสพเลือดเนื้อของประชาชนเป็นภักษาหาร

นายนักวิชาการผู้สวมวิญญาณเทพยดาแห่งสากลโลก หรือบรรดาประชาชนผู้ยินยอมถูกบงการและบังคับให้เง่า ง่อยและหมดสิ้นชีวิต ใครกันหนอ


อ้ายแสงดาว กวีของประชาชนอยู่ที่ไหน เขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เปล่าเลย เราไม่ต้องการฟังบทกวีที่พวกเขาอ่านบนเวที เราไม่ต้องการอ่านบทกวีของเขาที่บรรยายชีวิตพวกเราอย่างกล้องดิจิตอลถ่ายภาพทิวทัศน์ เราไม่ต้องการให้พวกเขาขับกล่อม ปลอบประโลมเหมือนอย่างเราเป็นคนบ้องตื้น เราไม่ต้องการ..

จะมีก็แต่กวีของประชาชนที่แท้เท่านั้นจะรู้ว่า เราและพวกเขาก็คือประชาชนโดยเท่าเทียม


ที่นี่..และที่ไหนในประเทศนี้ เราต่างย่ำอยู่ ย่ำอาศัยด้วยความอาดูรสูญสิ้นแล้ว

แม้เราจะเศร้าลึกเพียงไร แม้เราจะหดหู่อ้างว้างเช่นดั่งไม้ประดับในกระถางพลาสติกที่วางอยู่... เพียงไร

เราก็ไม่อาจหลงลืมซึ่งกันและกัน เราไม่อาจแสร้งเผลอลืมไปได้ว่า ลมหายใจของพวกเราล้วนซึมซาบอยู่หลอมรวมอยู่ระหว่างกัน เป็นดั่งพืชพันธุ์ไม้ที่ต่างเติบกล้าขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ ขณะที่ไฟป่ากำลังไหม้ลาม ค่อยลุกโพลงขึ้นในม่านแดน ยามย่ำค่ำคืนนั้น มันก็ซาลงด้วยลมหายใจของเรา และเช้าวันใหม่กับดวงอาทิตย์ฤดูหมุนเปลี่ยน ไฟก็ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง อ้ายแสงดาว เราต่างเป็นพันธุ์ไม้ในป่าที่กำลังจะถูกเปลวเพลิงหักโค่นลงใช่หรือไม่...


รากเหง้าของเรากำลังถูกขุดขึ้นมา ดึงออกมาจากใต้ดิน ถูกชะล้าง ขัดสีเก่าออก แล้วค่อยนำมาอวดขาย

ความสงบเสงี่ยม ความรักสงบของเรากำลังถูกราดด้วยน้ำมันและเปลวเพลิงจากไม้ขีดก้านเดียวในมือเหล่าเด็ก ๆ ที่เล่นขายของในสภา

ศักดิ์ศรีของเราที่วางอยู่บนหน้าผาก ถูกคนรักชาติที่หน้าผากถ่มน้ำลายรด

เราไม่สามารถจะบำเพ็ญกรณียะกิจแห่งชีวิตปกติของเราได้เลย

ถ้าหากว่า เราจะปล่อยทุกอย่างให้ไหลสู่กระแสธารมฤตยูนั้น

เราจะคลางแคลงใจไหมว่า เรายังคงเป็นสิ่งมีชีวิต


อ้ายแสงดาว ที่นับถือ

โปรดทักทายเราด้วยคำว่า บุญฮักษา เถิด

ยังจำได้ไหมว่า โอลิเวอร์ ทวิสต์ ผู้กำพร้าในโรงเลี้ยงเด็กรู้สึกเช่นไรจึงกล้าพูดออกไปว่า

I want some more… ”

………………........…………….


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม