Skip to main content

ภาพปกหนังสือพี่น้องคารามาซอฟ

ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)
ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกี
ประเภท             :      นวนิยายรัสเซีย
ผู้แปล               :      สดใส
จัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓

พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)  หนึ่งในสุดยอดวรรณกรรมคลาสสิค นวนิยายของนักเขียนรัสเซียนามอุโฆษ ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกี  แม้จะเป็นผลงานที่เขียนยังไม่จบ เพราะผู้ประพันธ์ตายไปเสียก่อน แต่พี่น้องคารามาซอสก็เป็นวรรณกรรมที่จะไม่ถูกลืมไปจากโลกแน่นอน

ใครที่เคยลิ้มรสวรรณกรรมรัสเซียย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะเด่นเฉพาะของงานสกุลนี้ มีความลุ่มลึก และอุดมไปด้วยแรงเสียดสีสังคมอยู่ในที ขณะเดียวกันก็ยังทรงพลังอยู่ถึงปัจจุบัน  หากถามว่าลุ่มลึกอย่างไร สำหรับพี่น้องคารามาซอฟเล่มนี้ (หรืออาจรวมถึงเล่มอื่นในสกุลเดียวกัน) ผมต้องบอกว่าความลุ่มลึกนั้นอยู่ที่ตัวละคร ซึ่งผู้ประพันธ์สร้างขึ้นอย่างละเอียดลออ รวมถึงบรรยากาศของเรื่องที่รวมเอาผู้คนในสังคม สภาพแวดล้อม ที่หล่อหลอมกันเป็นสังคมแบบรัสเซีย

แล้วความคลาสสิคที่กล่าวขานกันเล่า... อยู่ที่ตรงไหนกัน?

ผมอยากจะกล่าวอ้างสักนิดด้วยความรู้สึกที่ว่า ทุกวันนี้จะหาผลงานของนักเขียนรุ่นหลังที่พอจะเทียบเท่านักเขียนในยุคก่อน ๆ ได้นั้น เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง (ยาก..ไม่ต่างจากตอนจะลงคะแนนเสียงในคูกาเลือกตั้งเลยก็ว่าได้)  ดังนั้นแล้วความคลาสสิคจึงน่าจะเกี่ยวโยงกับการดำรงอยู่ของวรรณกรรมเล่มนั้น ๆ การที่หนังสือสักเล่มจะสามารถยืนตระหง่านข้ามยุคสมัยได้ยาวนาน บางทีเราก็เรียกว่า ความเป็นอมตะ ทั้งนี้ผมเห็นว่าเป็นการพยายามที่จะสร้างคำมาจำกัดความ จำแนกแยกแยะ แนวทางของวรรณกรรมแต่ละเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก เพราะวรรณกรรมแต่ละเรื่องย่อมมีเป็นส่วนผสมผสานอันหลากหลาย บางเล่มอาจมีจำแนกได้ว่าคลาสสิค ซึ่งในนั้นก็มีส่วนสะท้อนเป็นแนวโรแมนติกอยู่ด้วย มีความเป็นโศกนาฏกรรมอยู่ด้วย ยังไม่นับรวมถึงการใช้คำว่า “คลาสสิค” “โรแมนติก” “เพื่อชีวิต” กันในความหมายอื่น ๆ ผมจึงเห็นว่า  ควรที่จะเลี่ยงการให้คำจำกัดความ หรือจำแนกวรรณกรรมให้เข้าพวกนั้นพวกนี้น่าจะไม่ชวนให้ปวดใจตัวเอง เป็นการดีกว่า

ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกี ถูกกล่าวขานอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากฝ่ายนักวิจารณ์วรรณกรรม นักสังคมนิยม รวมถึงนักประพันธ์ด้วยกัน โดยเฉพาะกับนวนิยายเรื่องนี้  

พี่น้องคารามาซอฟ เป็นเรื่องราวที่โดดเด่นด้วยบุคลิกภาพของตัวละครในเรื่อง ที่ผู้ประพันธ์ถ่ายทอดผ่านมุมมองที่ละเอียด ลุ่มลึก ราวกับดอสโตเยสกีเองเป็นฝ่ายรับบทพระเจ้าที่เข้าอกเข้าใจมนุษย์ รวมถึงตัวของพระเจ้าเองด้วย ว่าไปแล้วตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้รู้สึกรู้สากับรูปแบบของสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าจากหลากหลายกลุ่มคนและปัจเจกชน ราวกับดอสโตเยสกีเองได้สารภาพความรู้สึก- นึก- คิด ความคาดหวังที่เขามีต่อพระเจ้าจนถึงแก่น

ขณะที่เสกสรรค์  ประเสริฐกุล ได้เขียนบทนำเรื่องไว้อย่างน่าสนใจ ในหน้า ( ๘ ) ดังนี้

ดอสโตเยฟสกีแสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่าลำพังเหตุผลและความถูกผิดทางสังคมนั้น  ไม่อาจแก้ไขปัญหาของมนุษย์ได้  แต่ก็อีกนั่นแหละ มาถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าเขาเองก็จนมุม  หากฝากโลกไว้ในมือผู้ทรงศีล คนเหล่านี้ก็มีน้อยเกินไปที่จะรับภาระอันหนักอึ้ง โลกต้องการความรักแต่ความรักมีไม่พอ หลวงพ่อซอสสิมาเป็นคนดีที่สุดเท่าที่มนุษย์จะดีได้  แต่ทันทีที่ท่านตายไป ผู้คนก็พากันซุบซิบนินทาว่าศพท่านเหม็นก่อนเวลาอันควร อโลชายอมให้เด็กมีปัญหากัดนิ้วมือจนเลือดสาดเพื่อเขาจะได้สัมผัสความรักจากเพื่อนมนุษย์ แต่ทถึงที่สุดแล้วเขาก็ไม่อาจช่วยให้เด็กน้อยมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะปัญหาที่เด็กเผชิญนั้นใหญ๋หลวงกว่าความรักของเขาเพียงคนเดียว มนุษย์ส่วนใหญ่ชั่วร้ายเกินไป

แม้พี่น้องคารามาซอฟจะเป็นนวนิยายที่อภิปลายถึงปัญหาของมนุษยชาติ อันประกอบด้วยความทุกข์เป็นใหญ่ ทั้งทุกข์ในส่วนของปัจเจกและในภาพรวมของสังคม หากไขกุญแจปัญหาความทุกข์เชิงปัจเจกได้ ภาพรวมของสังคมจะคลายทุกข์ได้จริงหรือ? ขณะที่ความเป็นจริงแล้ว ปัญหาเชิงปัจเจกที่เกิดขึ้นลำพังโดด ๆ นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะปัจเจกจะเกิดขึ้น และดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวแยกขาดจากสังคมนั้นหาได้ไม่...

ดังนั้นแล้ว จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกันที่ตัวปัจเจกจะแก้ไขปัญหาตัวเองได้โดยไม่คลี่คลายปัญหาของสังคม


ต่อประเด็นนี้ พี่น้องคารามาซอฟ จึงถูกกล่าวขานอย่างยาวนาน... แม้เป็นนวนิยายที่มีความยาวชวนให้ท้อกับเวลาที่มีอยู่ รวมแล้วมีทั้งหมด ๔ ภาค หนาเกือบ ๙๐๐ หน้า

หนำซ้ำอ่านจบแล้วปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้คลี่คลาย ชัดแจ้งอะไร ชี้แจงทางออกให้ แต่กับนวนิยายเล่มนี้ ผมมองมองเห็นคำถามในตัวเองมากขึ้น ดังในตอนท้ายของบทนำ ของเสกสรรค์ ยังเขียนไว้ว่า

ใครก็ตามที่อ่าน The Brothers Karamazov จนจบ จะพบว่าจอร์จ ลูกัชพูดถูก ขณะที่พลิกหนังสือไปตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย เราจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและทุรนทุรายราวกับถูกโบยตี เพราะคำถามทุกข้อที่ดอสโตเยฟสกีตั้งขึ้น เป็นคำถามต่อมนุษย์ทุกคน รวมทั้งตัวผู้อ่านด้วย
คำถามเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไป...

สำหรับผม..เมื่อได้อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้อยคำที่กินใจจากภาค ๒ บทที่ ๕ ตอนตุลาการศาลศาสนา ก็เฝ้าวนเวียนมาเข้ากินลึกอยู่ในใจ เป็นถ้อยคำจากโคลงของอีวาน ระหว่างที่เขาสนทนากับอโลชา น้องชาย
ถ้อยคำที่ว่านั้นอยู่ในหน้า ๒๘๓

วันนี้ ไม่มีสัญญาณรักจากสวรรค์
ที่หัวใจบอกนั้น อย่าสงสัย

ผมอ่านแล้วจุกใจ เหมือนในหัวใจผมนั้นเต็มไปด้วยน้ำตา

เพราะเหตุใดผมจึงรู้สึกมากมายกับประโยคนี้อย่างล้นเหลือ หากจะเล่า..จำเป็นต้องกล่าวถึงอีวาน
ผมจะเล่าถึงเค้าโครงเรื่องพอสังเขปก่อน เผื่อบางคนยังไม่ว่างอ่าน...

พี่น้องตระกูลคารามาซอฟประกอบด้วย มิตยาหรือดมิตรี พี่ชายคนโต เป็นทหารนอกราชการ  รักเกียรติศักดิ์ศรีแบบลูกผู้ชายชาติทหาร รักโลภโกรธหลงนั้นมีเต็มประตูใจ เขาเคยประกาศว่าจะฆ่าพ่อ เพราะปัญหาเรื่องไปตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกัน เขาปักใจว่าพ่อโกงเงินเขาด้วย สุดท้ายเขาตกเป็นจำเลยในฐานะฆ่าพ่อบังเกิดเกล้าตายและขโมยเงินสามพันรูเบิล

ส่วนคารามาซอฟคนพ่อนั้นเป็นไอ้เฒ่าแก่ราคะ ทำทุกวิถีทางให้ได้เงิน เขามีภรรยาสองคน คนแรกมีลูกด้วยกันชื่อมิตยา ภรรยาคนที่สองมีลูกด้วยกันสองคนคือ อีวานและอโลชา ภรรยาทั้งสองล้วนเจ็บปวดใจอย่างยิ่งหลังจากหลงคารมยอมมาเป็นภรรยาเขา และจบชีวิตลง เขาปล่อยลูกชายทั้งสามให้อยู่ในความดูแลของคนอื่น โดยแทบหลงลืมไปเลยว่าเคยมีลูก แท้จริงแล้วเขาไม่รู้ตัวว่ามีลูกชายอีกคนชื่อสเมอร์ดิยาคอฟ ที่เกิดจากหญิงสติไม่สมประกอบกับความถ่อยของเขาในค่ำคืนที่เมามาย ซึ่งลูกชายอาภัพคนนี้ก็ได้เป็นพ่อครัวประจำบ้านเขา

อีวาน พี่ชายคนรองเป็นชายหนุ่มที่ปฏิเสธพระเจ้า เป็นปัญญาชนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ยึดหลักการและเหตุผล เขารังเกียจพ่ออยู่ลึก ๆ รู้สึกอดสูที่มีพ่อแบบคารามาซอฟ  ส่วนอโลชา น้องชายคนสุดท้าย เป็นนวกะหนุ่ม มีจิตใจอ่อนโยน มีเมตตา เอื้ออารี เชื่อในพระเจ้า รักเพื่อนมนุษย์ เขาคอยแก้ปัญหา คลายทุกข์ให้ทุกคน

เรื่องดำเนินไปพร้อมกับฉากชีวิตของตัวละคร ที่มีทั้งอดีต ปัจจุบัน ซับซ้อน ชวนหดหู่ ผู้หญิงที่คารามาซอฟผู้พ่อกับมิตยาลูกชายหลงรัก ก็เป็นผู้หญิงที่เคยเป็นเมียเก็บของเฒ่าเศรษฐีจอมละโมบ
ตัวละครอื่นที่เกี่ยวโยงกัน มีตั้งแต่พระ นวกะ ชาวนา ชาวบ้าน เด็ก ๆ หญิงสาวผู้สูงส่ง อัยการ หมอ ฯลฯ ต่างล้วนรู้เห็นในคดีฆาตกรรมเฒ่าคารามาซอฟ ราวทุกคนก็มีส่วนในฆาตกรรมนั้น เพราะลึก ๆ ทุกคนต่างก็ปรารถนาให้เขาตาย และมองเห็นว่าเขาอาจไม่รอดจากเงื้อมือของมัจจุราชอย่างชัดเจนในอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่เพราะความชราภาพ แต่เป็นเพราะความถ่อยทรามของเขาเอง

ความยาวและยืดเยื้อของเรื่องนี้ผูกพันอยู่กับปูมหลังของตัวละครแต่ละตัว ที่ก่อให้เกิดบุคลิกภาพ ทัศนะคติ ความเปลี่ยนแปลง และความเชื่อของแต่ละคน เรื่องค่อย ๆ ดำเนินไปอย่างช้า ๆ ลึกซึ้ง ในทุกรายละเอียดของตัวละคร กระทั่งในคืนที่เฒ่าคารามาซอฟถูกทุบตัวตาย มิตยาก็ถูกตามจับตัวได้ในสภาพที่ส่อเค้าว่าเขาเป็นฆาตกรแน่แท้และถูกพิพากษา ส่วนในตอนที่ถือว่าเป็นหัวใจของเรื่อง นักวิจารณ์วรรณกรรมเกือบทั้งหมดในโลกตะวันตกมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าคือตอน ตุลาการศาลศาสนา ที่อีวานเล่าถึงโคลงที่เขาเขียนถึงการกลับมาของพระเยซู และถูกตุลาการศาลศาสนาจับตัวไปขังไว้

ดอสโตเยสกีอาศัยปากของอีวานแสดงทัศนะที่มีต่อพระเจ้าและมนุษย์อย่างชัดเจน รุนแรง ดังในหน้า ๒๘๖

ตุลาการศาลศาสนากล่าวว่า
ข้าไม่รู้หรอกว่าเจ้าเป็นใคร พรุ่งนี้เราจะตัดสินโทษ ให้เผาเจ้าที่หลักประหาร ฐานเป็นคนแยกศาสนาต่ำช้าที่สุด ...ฯลฯ ...ไอ้คนทั้งหลายที่จูบตีนเจ้าวันนี้ก็จะรุมกันเอาถ่านหินไปวางไว้ที่หลักประหารเจ้า  

หรือ

เราจะบอกเจ้าตอนนี้เลยก็ได้ว่าคนเหล่านี้เชื่อยิ่งกว่าเวลาไหน ๆ ที่ผ่านมา ว่าเขาเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์แล้ว ใช่ พวกเขานำเสรีภาพของตัวเอง มาสยบวางไว้แทบเท้าเรา เรานี่แหละเป็นคนทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น เจ้าปรารถนาอย่างนี้ไม่ใช่หรือ เสรีภาพอย่างนี้ไม่ใช่รึที่เจ้าต้องการ

หรือ

เจ้าจะไปสู่โลกด้วยมือเปล่า กับสัญญาแห่งเสรีภาพ ที่มนุษย์ผู้เคยชินแต่กับทุกสิ่งที่ง่าย ๆ ไม่มีวินัยมาแต่สันดาน จะไม่อาจเข้าใจได้เลย พวกเขาเอาแต่กลัวและหวาดหวั่น เพราะไม่มีอะไรที่มนุษย์และสังคมมนุษย์จะทนไม่ได้ยิ่งไปกว่าเสรีภาพ! เจ้าเห็นก้อนหินกลางทะเลทรายที่แห้งแล้งอ้างว้างนั่นหรือไม่เล่า ทำให้มันกลายเป็นขนมปังซี แล้วมนุษย์ก็จะวิ่งตามเจ้ายังกะฝูงสัตว์ ... ฯลฯ

จากตอนตุลาการศาลศาสนานี้ ดูเหมือนดอสโตเยสกีเองก็ยังไม่หมดศรัทธาต่อพระเจ้า แต่เขาไม่ยอมสยบยอมต่อพระองค์ แม้จะรักแต่เขาก็ยังชังในพระเจ้า ไม่ว่าพระเจ้าจะสร้างโลก หรือมนุษย์จะสร้างพระเจ้าขึ้นมา เขาก็ยังยืนยันที่จะเรียกร้องให้พระองค์มีเมตตากว่าที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันเขาก็อยากกระตุ้นให้มนุษย์เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของตนเองให้มากกว่านี้ แต่ในโคลงของอีวาน เราจะมองเห็นว่าดอสโตเยสกี “เกือบจะ” สิ้นศรัทธาในพระเจ้าไปแล้ว

ทำไมผมจึงพูดเช่นนี้ และทำไม “วันนี้ ” จึง “ไม่มีสัญญาณรักจากสวรรค์ ”  และใครกันแน่ที่เป็นฆาตกรตัวจริง ผมต้องอาศัยวิธีการเปรียบเปรยอย่างที่ท่านเขมานันทะเคยอธิบายปริศนาธรรมเรื่องไซอิ๋ว ขอยกไปในตอนที่ ๒ บางทีผมเองอาจมีส่วนในการฆาตกรรมครั้งนี้ก็เป็นได้

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม