Skip to main content



ชื่อหนังสือ : เงาสีขาว

ผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทอง

ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน

 

น้ำเน่าในคลองต่อให้เน่าเหม็นปานใดย่อมระเหยกลายเป็นไออยู่นั่นเอง แต่การระเหิด ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกับการระเหย

 

ระเหย คือ การกลายเป็นไอ จากสถานภาพของของเหลวเปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นก๊าซ

ระเหิด คือ การเปลี่ยนสถานภาพเป็นก๊าซโดยตรงจากของแข็งเป็นก๊าซ โดยไม่ต้องพักเปลี่ยนเป็นสถานภาพของเหลวก่อน ต่างจากการระเหย แต่เหมือนตรงที่ทั้งสองกระบวนการมีปลายทางอยู่ที่สถานภาพของก๊าซ

สอดคล้องกับความน่าเกลียดที่ระเหิดกลายเป็นไอแห่งความงามได้

ฉันเป็นคนประเภทงมงายในวรรณกรรมอย่างฉุดไม่อยู่ ไร้สติ และคลุ้มคลั่ง อย่างที่บอก ถ้าฉันไม่ได้อ่านอสรพิษ หรือ เจ้าการะเกด ฉันมีอันต้องสาปส่ง แดนอรัญ แสงทอง ไปจากรสนิยมของตัวเองเป็นแน่

 

แต่อย่างน้อยฉันต้องสำนึกในบุญคุณของ เงาสีขาว ของ แดนอรัญ แสงสอง เนื่องจากทำให้ฉันหวนนึกถึง เจมส์ จอยซ์ ในคนสำเริงคืนสำราญ (แม้นสำนวนแปลจะประดักประเดิดไปบ้างก็เถอะ) นักเขียนผู้สร้างศตวรรษแห่งวรรณคดีขึ้นใหม่ด้วยเสียงหัวเราะอย่างแสนสุภาพ มันทำให้ฉันรักเจมส์ จอยซ์ และจงใจปวารณาตัวปฏิเสธงานศิลปะที่พยายามจะสร้างนิยามของสุนทรียภาพด้วยมุมมอง ด้วยทัศนะคติเชิงปฏิปักษ์ ด้วยมุมมองที่พยายามจะสำแดงความอุจาด ความโสมม เล่นแร่แปรธาตุให้ลุกโพลงขึ้นด้วยแสงสีแห่งสุนทรียภาพ ฉันจะไม่อ่านหนังสือแนวนี้อีก จนกว่าความคิดของฉันจะเปลี่ยนไปจากตอนนี้ และนอกเสียจากความอ่อนแอในฐานะผู้อ่านวรรณกรรมจะพัฒนาขึ้นได้

 

แม้นว่าการปฏิเสธ เงาสีขาว เป็นเพียงทัศนะคติส่วนบุคคล

หากแต่ในมุมมองของสุนทรียศาสตร์นั้นได้คำอธิบายถึงความงามในความน่าเกลียดได้อย่างซับซ้อนอลังการ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบระหว่างความน่าเกลียดกับความไร้ประโยชน์ ความงามและความน่าเกลียดเป็นคุณค่าเชิงบวกหรือเชิงลบ และอีกหลายข้อเปรียบเทียบซึ่งผ่านการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างละเอียดลออมาเนิ่นนานแล้ว โดยเฉพาะเมื่อยิ่งนำความงาม และความน่าเกลียด ไปพ่วงเข้ากับศีลธรรม มันยิ่งยุ่งยาก ทฤษฎีตะวันตกเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ของมัน และควรศึกษาโดยไม่ด่วนสรุป แต่ฉันจะเลือกหยิบแง่มุมจำเพาะเพื่ออธิบายว่า ความน่าเกลียดในเงาสีขาวจะเหิดไปเป็นความงามได้อย่างไร

 

แม้ตระหนักว่า ความงามเป็นเรื่องของความพึงพอใจและความน่าเกลียดเป็นเรื่องของความเจ็บปวด ซึ่งความเจ็บปวดของมนุษย์มักจะเชื่อมต่อเข้ากับต่อมศีลธรรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะความเจ็บปวดที่แสดงออกในนวนิยาย เงาสีขาว ของ แดนอรัญ แสงทอง เล่มนี้ และความเข้มข้นของศีลธรรมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผู้อ่าน ยิ่งผู้อ่านยึดถือศีลธรรมมากเท่าไหร่ ปรากฏของสุนทรียภาพอาจยิ่งลางเลือน

 

เหตุใดฉันจึงกล่าวว่า เงาสีขาว เป็นการแสดงลักษณาการของความน่าเกลียด

ใครที่อ่านเงาสีขาวคงตอบได้ เนื่องจากมันเป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมของชายผู้หนึ่ง ชายโฉดชั่วที่ถือสถานภาพผู้ทำลาย เขาผู้พรากสาวพรหมจรรย์ไปจากความงดงามหอมหวานของชีวิต เคยบังคับให้เธอไปทำแท้งจนป่วยเรื้อรัง สุดท้ายเธอก็ตายลง ไม่เท่านั้นเขายังอกตัญญู เขาหื่นกระหายจะสังวาสกับสตรีเพศ ระห่ำกับชีวิตของตนเองและผู้อื่น เขาเกือบได้ชื่อว่าเป็นอาชญากร เป็นอาชญากรผู้สำนึกผิดและเรียกหาความตาย ขณะเดียวกันเขาได้สารภาพผิดด้วยสำนึกหมายจะลงทัณฑ์ตัวเอง และความเจ็บปวดจากการสำนึกผิดเหล่านั้นกำลังรุมเร้าจนกระทั่งเขาไม่อาจทนทานกับลมหายใจแห่งชีวิตต่อไปได้


พฤติกรรมไม่เกรงกลัวบาปของตัวละครในเรื่อง ถือเป็นความน่าเกลียด

การสำนึกผิดของเขาด้วยการปรารถนาความตายอย่างอนาถา ถือเป็นโศกนาฏกรรม

ฉันจะหยิบเอาบางส่วนของ เงาสีขาว ที่มันแสดงออกถึงความเจ็บปวด ซึ่งผูกโยงอยู่กับศีลธรรม

 

ในตอน เพลงศพ ซึ่งเป็นตอนแรกของเรื่อง (หน้า 35) ตอนที่ “ฉัน” ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะจบชีวิตตัวเอง

 

ฉันตัดสินใจแล้วกัง กังสดาล ฉันพูดกับเธอในฐานะที่ฉันเป็นคนตาย ฉันจัดงานศพของฉันเงียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีพิธีรีตอง ฉันตายเงียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีพิธีรีตอง มีคนมาในงานศพของฉันเพียงไม่กี่คน เธอเป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น เป็นงานศพที่มีบรรยากาศอ้างว้าง ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา ฉันไม่ควรนอนกับยายขวัญ ฉันรู้ แต่ฉันอยาก ฉันรู้ว่าถ้านอนกับหล่อนแล้วฉันจะเศร้า ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ละอาย ละอายเพราะฉันหลอกลวงหล่อนเพราะฉันไม่ใช่ผู้ชายที่มีค่ามากพอที่หล่อนจะนอนด้วย ละอายเพราะฉันหลอกลวงหล่อน ละอายเพราะจริง ๆ แล้วฉันไม่ได้รักหล่อน แต่ทำราวกับรักหล่อน และเป็นคนดีมากพอที่หล่อนจะยอมนอนด้วยได้


...
หน้า 37 ฉันนอนกับยายขวัญทั้งที่อิตถีเพิ่งตายไปไม่นาน เธอคงอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของอิตถี ภูวดล ... หน้า 39 หล่อนไม่รู้เลยว่าฉันเสื่อมโทรมปานใดเน่าเฟะปานใดทุกข์ทรมานปานใดกักขฬะปานใด หล่อนคิดแต่เพียงว่าฉันเป็นคนแปลก ๆ ที่มีสุขภาพจิตดีเป็นพิเศษ โง่บัดซบ ผู้หญิงเป็นเพศที่ยิ่งใหญ่และโง่บัดซบ

 

นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของความเจ็บปวด ยังมีสิ่งที่เขากระทำอย่างสามานย์กับนาตยา เด็กสาวที่เขาย่ำยีพรหมจรรย์ของเธอแล้วก็เบื่อหน่ายเธอ ขู่เข็ญเธอให้ไปทำแท้ง เมื่อเขาหนีจากเธอได้สำเร็จ และขณะที่เธอกำลังจะลืมเลือนความเจ็บปวดนี้ได้ เขากลับเขียนจดหมายไปหาเธอ เมื่อเธอตอบมาเล่าถึงอาการเจ็บป่วยเรื้อรังอันเกิดจากการทำแท้งคราวนั้น และนัดหมายจะไปพบเขาเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อจะตายไปอย่างสุขสงบ เขากลับปฏิเสธ หน้า 163 เขียนไว้ว่า

 

จดหมายฉบับท้าย ๆ ของเธอเต็มไปด้วยถ้อยคำที่หนักอึ้ง เปียกชื้นด้วยเสียงคร่ำครวญและความวิโยค เธอเขียนจดหมายมาจากบ้านเกิดของเธอ เมืองใหญ่เมืองหนึ่งของภาคใต้ ขณะที่ฉันอ่านมันอยู่ที่ห้องพักในกรุงเทพฯ เธอวิงวอนและขอร้องที่จะได้พบกับฉันเป็นครั้งสุดท้าย อีเดียท มันฟังเสแสร้งเหมือนถ้อยคำที่หล่นจากปากของนางละคร นั่นอาจเป็นเพราะว่าเธอกำลังจะตายจริง ๆ ก็ได้ ฉันอ่านมันไปสาปแช่งมันไป โกรธเกรี้ยวและหวาดแสยง และด้วยความกักขฬะอย่างสัตว์ ฉันเอาไฟจากปลายบุหรี่จี้ลงไปบนบรรทัดที่ฉันอ่านไปแล้ว ...

 

หรือในตอนที่นาตยารู้ตัวว่าตั้งท้องและเขาไม่แยแส ไม่แม้จะกล้าคิดว่าเด็กในท้องเป็นสิ่งมีชีวิต หน้า 292

นิสัยประหลาดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นก็คือหล่อนเอาดินน้ำมันมาจากไหนก็ไม่รู้มาถือไว้ในกำมือแทบตลอดเวลาและบีบมันเล่นอยู่อย่างนั้นราวกับว่านั่นคือหัวใจของหล่อนเอง

 

นี่เป็นเพียงเสี้ยวเศษของความเจ็บปวดที่เขาได้กระทำกับนาตยา ยังมีหญิงสาวคนอื่นที่เขาไม่บันยะบันยังที่จะกระทำอย่างสามานย์ เป็นเพียงเสี้ยวเดียวจริง ๆ เพราะแม้กระทั่งตอนที่นาตยาใกล้ตายเต็มที่แล้ว เขียนจดหมายบอกเขาว่า ต้องการจะใช้ชีวิตร่วมกันอีกสักครั้ง ด้วยเงินเก็บที่มากที่สุดในชีวิต เขายังอุตส่าห์คิดกับคำร้องขอของนาตยาได้ว่า (หน้า 428)

 

เมื่อพ่ายแพ้หล่อนควรจะยอมรับในความพ่ายแพ้เสียแต่โดยดีสิและน่าจะมีจิตใจสูงส่งพอที่จะรู้ว่ามันเป็นการกระทำที่น่าเหยียดหยามถ้าหากว่าหล่อนจะร้องอุทธรณ์ แต่นี่หล่อนกลับติดตามมาหาแกเหมือนวิญญาณพยาบาทและพยายามจะฉุดดึงแกให้จมลงไปสู่ปลักแห่งหายนะเช่นเดียวกันหล่อนด้วย (เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และมีแฟนสาวคนใหม่แล้วล่ะตอนนั้น) เงินจำนวนมากที่สุดในชีวิตหล่อนที่เคยมี เท่าไหร่แน่ กี่พันบาท ถึงหมื่นบาทไหม ... อย่างดีที่สุดก็ไม่เกินสามเดือนหรือสี่เดือนด้วยเอ้าที่เงินของหล่อนจะหมดลง ... นี่หล่อนคิดจะให้แกไปปรนนิบัติรับใช้หล่อนในยามเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนั้นหรือถึงได้ถ่อสังขารขึ้นมาจนถึงกรุงเทพฯ ... หรือว่าหล่อนตามขึ้นมา “ส่งส่วย” คือต้องการให้แกนอนกับหล่นอีกเพราะยังอาลัยอาวรณ์อยู่ในรสสวาท โอ ไม่ล่ะครับ ขอบคุณมาก ไม่ คือ ผมอิ่มแล้วครับ จะให้แกนอนกับหล่อนได้อย่างไร ป่านนี้มดลูกของหล่อนไม่เน่าเฟอะหมดแล้วหรือ ...

 

นี่เป็นเพียงเสี้ยวส่วนเดียวเท่านั้น ที่เป็นความน่าเกลียดอันปวดร้าวในเงาสีขาว ยังมีความน่าเกลียดที่แสดงออกอย่างดื้อด้าน รุนแรงอีกหลายอย่าง ยกตัวอย่างในหน้า 627 ที่เขาแสดงทัศนะเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษทั้งหลายแหล่

 

พวกคนมีศาสนาทั้งหลายต่างภูมิใจเหลือเกินว่าศาสนาของตนมีส่วนในการค้ำจุนโลกและนำสันติสุขมาสู่มนุษย์ ไม่จริง ที่มนุษย์ไม่กล้าทำอะไรเลว ๆ นั่นก็เพราะว่าเขากลัวกฎหมายต่างหาก ไม่ใช่เพราะมโนธรรมของเขา คุกและการยิงเป้าเป็นแส้ที่ดีสำหรับมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องถูกขู่หรือกำหราบด้วยแส้และโซ่ตรวนตลอดกาล นรกเป็นแส้เด็กเล่นและเป็นโซ่ตรวนที่ใช้การไม่ได้ สวรรค์เป็นแต่เพียงขนมหวานที่พยายามเปลี่ยนสูตรบ่อย ๆ เพื่อความทันสมัย

 

ฉันยืนยันว่า หากใครได้อ่าน เงาสีขาว สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ ความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัส จิตวิญญาณของเราเหมือนถูกล้อเล่นอย่างหยาบคาย ความศรัทธาต่อชีวิตของเราจะถูกหัวเราะเยาะด้วยริมฝีปากของคนบาป แต่คำถามก็คือ ทำไมเราจึงพึงพอใจและยกย่องสรรเสริญเรื่องราวที่บรรยายถึงความชั่วช้าสามานย์และความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเหล่านี้


ก่อนจะหาคำตอบ เราควรมาดูกันว่า โศกนาฏกรรมในเงาสีขาว ถือกำเนิดขึ้นเพื่อจะเป็นโศกนาฏกรรมสามัญหรือเพื่อสิ่งอื่น

 

เรื่องโศกนาฏกรรมสามัญ (paradox of tragedy) ทั่วไปล้วนมีเจตนาจะช็อคหรือสร้างความตกอกตกใจต่ออารมณ์เท่านั้น แต่ในเงาสีขาว มันถูกกล่าวถึงเพื่อสิ่งอื่นที่อยู่สูงขึ้นไปจากอารมณ์ดังกล่าว ซึ่งทำให้โศกนาฏกรรมอันปวดร้าวนั้นลอยเหนือไปจากความปวดร้าว ความน่าเกลียดที่มีอยู่


แล้วไอ้สิ่งที่อยู่สูงขึ้นไปจากอารมณ์ช็อคหรือตกอกตกใจนั้นคืออะไร อันนี้เป็นคำถามที่ตั้งหน้าตั้งตารอคำตอบอยู่ในใจผู้อ่านเอง ซึ่งฉันถือว่ามันเป็นกระบวนการทำงานระหว่างสองขั้ว คือจิตสำนึกในด้านดีงามที่มีต่อความชั่ว มันก่อให้เกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วเป็นความดีหรือความชั่วกันแน่ที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ความชั่วถูกกระตุ้นได้โดยสัญชาติญาณ หรือถูกกระตุ้นได้โดยปราการของความดีที่สูงส่ง เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่แตกหน่อขึ้นมาจากโศกนาฏกรรมอันนี้

 

และเนื่องจากมันได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงต่อมวลค่าทางศีลธรรมที่ได้ปูพื้นฐานไว้ก่อนแล้วในจิตใจมนุษย์ มันก่อให้เกิดความอลหม่านถึงขั้ว ด้วยว่ามันได้พูดถึงประวัติศาสตร์แห่งศีลธรรมอย่างดื้อด้าน อย่างหมิ่นเหม่ และความเคลื่อนไหวรุนแรงนั้นทำให้เราเกิดการจำได้หมายรู้ ติดตราตรึงใจอยู่กับมัน และยังกระตุ้นความสนใจทางด้านสติปัญญาด้วยความคำถามเชิงปรัชญาเกี่ยวกับการถือกำเนิดของความดีและความชั่ว ราวกับมันได้บอกเล่าประวัติศาสตร์แห่งความปวดร้าว ความทุกข์ทรมาน และความสุข จุดนี้เองอาจกล่าวได้ว่า เงาสีขาว เป็นวรรณกรรมที่น่ายกย่องก็เพราะมันระเหิดขึ้นมาจากความน่าเกลียดเพื่อจะจรรโลงใจผู้อ่านด้วยมูลค่าเชิงปฏิปักษ์

 

หากเราตั้งคำถามว่า เหตุใดแดนอรัญ แสงทอง จึงเลือกวิธีจรรโลงใจด้วยความน่าเกลียด ความปวดร้าวบรรดามีในเงาสีขาวนั้น ทำไมเขาไม่เขียนถึงความดีงาม สวยงามในแบบดั้งเดิม อันแสดงถึงความพึงพอใจแบบสุขนาฏกรรม คำตอบได้ปรากฏอยู่ในเงาสีขาว ราวกับเขาได้สารภาพกับเราไว้ล่วงหน้า ราวกับเขาคาดเดาความแคลงใจของผุ้อ่านไว้ตั้งแต่ต้น มันปรากฏอยู่ในคำพูดแสดงทัศนะของตัวละคร คือ สิงโตเฒ่าอาจารย์ที่เขานับถือ ในหน้า 341

 

พูดถึงไมเคิลแองเจลโลว่าเป็นคนที่ไม่ใช่โค่นต้นไม้เพื่อทำเก้าอี้เพียงตัวเดียวหรอก เพราะในความเป็นจริงแล้วเขาทำเก้าอี้ไม่ได้เลยด้วยซ้ำแม้แต่ขาสักข้างหนึ่งของมัน ทั้งหมดเท่าที่เขาทำก็คือการล่ามโซ่ศิลปะและจูงมันไปสู่กรงขังของศีลธรรม

 

นี่กระมังที่เราจะเรียกได้ว่า เป็นงานสร้างสรรค์ เพราะหากไม่มีความคิดต่างในสิ่งที่มีอยู่แล้ว ความเบื่อหน่าย ความกบฏในหลักการ เราคงรู้จักแต่ศิลปะในยุคคลาสสิค ไม่มีความงามอย่างอื่นอีกแล้วนอกจากสัดส่วนอันงดงาม ที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์ และวิชาสุนทรียศาสตร์อาจมีใจความเพียงบรรทัดเดียว



 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ ผู้เขียน : องอาจ เดชา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา พ.ศ.2548 ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ... สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน…
สวนหนังสือ
นายยืนยง      ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน ผู้เขียน : วิน วนาดร ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550   ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นกชีวิต ประเภท : กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550 ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์…
สวนหนังสือ
นายยืนยงประเภท          :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharyaผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์
สวนหนังสือ
นายยืนยง"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)ภาพจาก : http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16 ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม
สวนหนังสือ
นายยืนยงบทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
สวนหนังสือ
นายยืนยง  บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์        …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓