Skip to main content

นายยืนยง


สวัสดีปี 2552

ขอสรรพสิ่งแห่งสุนทรียะจงจรรโลงหัวใจท่านผู้อ่านประดุจลมเช้าอันอ่อนหวานที่เชยผ่านเข้ามา


คำพรคงไม่ล่าเกินไปใช่ไหม


ตลอดเวลาที่เขียนบทความใน สวนหนังสือ แห่ง ประชาไท นี้ ความตื่นรู้ ตื่นต่อผัสสะทางวรรณกรรม

ปลุกเร้าให้ฉันออกเสาะหาหนังสือที่มีแรงดึงดูดมาอ่าน และเขียนถึง ขณะเดียวกันหนังสืออันท้าทายเหล่านั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้วาวโรจน์ขึ้นกับหัวใจอันมักจะห่อเหี่ยวของฉัน


คุณเคยไหม...ที่บางครั้ง

ก็หมดแรง หมดจิตหมดใจกับชีวิตเอาดื้อ ๆ ขอให้ไอ้ความรู้สึกทดถ้อเช่นนี้ อย่าได้เกิดขึ้นกับคุณหรือ

ใครเลย เนื่องจากมันจะเกาะติด ซ่อนตัวอย่างเงียบงันอยู่เพื่อรอคอย สบโอกาสมันจะแผลงฤทธิ์เข้าใส่ทันที เป็นเรื่องทรมานทรกรรมอันแสนว้าเหว่อย่างหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว


เช่นนั้นแล้ว การอ่านหนังสือ เป็นอิริยาบถอันทรงพลัง สำหรับฉันเป็นเครื่องเยียวยาตัวเองอย่างหนึ่ง

สำหรับบางคน เคยเฝ้าสังเกตว่าเขาใช้ผืนดินและกล้าพันธุ์ไม้เพื่อรักษาชีวิตอันอ่อนปวกเปียกของเขา

เขาปลูกกอกุหลาบที่เลื้อยพันกิ่งข่อยผลัดใบเขียวสล้าง วันหนึ่งกุหลาบออกดอกแดงเข้มลึกลับ ระบายกลิ่นหอมเย้ายวนผัสสะ บรรดาไม้ออกดอกของเขาอาจเป็นเครื่องชูเสน่ห์ในชีวิตก็เป็นได้

ไม่รู้ซี ตอนนี้ฉันกำลังคิดถึงอนาคตของวรรณกรรมไทย

วงการหนังสือบ้านเราที่ยังคลานต้วมเตี้ยมเป็นสุกรแห่งโบราณกาล


..2552 คืบหน้าเข้ามาอย่างเฉยชา ไม่ยี่หระต่อวิกฤตใด ๆ ในพันธะทั้งภายนอกและภายใน

หนังสือของนักเขียนไทยประเภทวรรณกรรมมียี่ห้อรางวัลสัพเพเหระจารึกบนปกอย่างโอ่อ่า ขณะเดียวกันมันก็เย้ายวนชวนให้ซื้อไปเก็บไว้ในชั้นหนังสือของหอสมุดประจำเมือง ฉันเคยใช้บริการหอสมุดประชาชนที่มีหนังสือปกรางวัลเรียงเต็มชั้นแน่นเอี้ยดราวกับเป็นหน้ากากแห่งวีรบุรุษที่เพิ่งผ่านสมรภูมิแห่งสงครามการแข่งขัน ใครเล่าจะเป็นผู้ทรยศเพื่อจะกระชากหน้ากากนั้นออกมา


เอาล่ะ เชิญกรอกใบสมัครผู้ทรยศ

ถ้าคุณเต็มใจจะเจ็บปวดกับลูกศรอาบยาพิษที่บรรดาองครักษ์พิทักษ์ความศักดิ์สิทธิ์ของรางวัลจะโจมตีคุณอย่างไม่ยั้ง ฉันคนหนึ่งล่ะ ที่ทำได้แค่กรอกข้อมูลในใบสมัครบ้าบิ่นอันนั้น แล้วก็แสร้งทำเป็นนิ่งเสียแม้ไม่ได้ตำลึงทอง แกล้งทำเป็นไม่อินังขังขอบเสีย ทำตัวราวกับทารกน้อยในอุทรผู้ไม่รู้ร้อนหนาวกับโลกเพื่อปกป้องตัวเองจากภยันตรายของบาดแผล ลืม ๆ มันไปซะ แกล้งลืมก็ได้ และไม่ต้องพูดถึงมันอีก


และมันก็เกิดขึ้นในขอบข่ายแห่งการเสแสร้งแกล้งไม่เห็นของฉัน

ด้วยการจุดคบเพลิงในดวงตาผู้ทรยศขึ้นท่ามกลางเมฆหมองหม่นมัวในกรงล้อมวรรณกรรมไทย

เมฆหมอกคงค้างเติ่งอยู่เช่นนั้น ยากที่จะกลั่นตัวเป็นหยาดฝนรดรินลงมา


ดังเช่นการออกแถลงการณ์ของประชาคมวรรณกรรมที่ออกมาเรียกร้องให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาคมอื่นที่เกี่ยวพันกับกรณีการตัดสินรางวัลซีไรต์ประจำปี 2550 ออกมาแสดงจิตวิญญาณอันอาจหาญทระนง ซึ่งปีนั้น เราได้กวีซีไรต์ชื่อมนตรี ศรียงค์ จากผลงานกวีนิพนธ์ โลกในดวงตาข้าพเจ้า สำนักพิมพ์สามัญชนเป็นผู้จัดพิมพ์ โดยบรรณาธิการ เวียง – วชิระ บัวสนธ์


เรื่องมันก็นานมาแล้ว มีใครอยากฟื้นฝอยหาตะเข็บมั่งไหม


ฉันคนหนึ่งล่ะ

อาจเป็นเพราะฉันตกเป็นทาสความบันเทิงที่เกิดจากเจตนาจะถลกหนังซึ่งกันและกันระหว่างตัวแปรค่าความเบี่ยงเบนในวงการวรรณกรรม เป็นไปได้ไหมว่า งานนี้มีขั้วพันธะที่จ้องจะจองล้างจองผลาญกันระหว่าง กลุ่มเพื่อชีวิตกับกลุ่มใหม่ ซึ่งไม่อาจเรียกได้ว่าโมเดริ์นเต็มปากเต็มคำ มีความพยายามจะลดทอนคุณค่าของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตอันน่าเบื่อหน่ายอิ่มเอียนสุดทนในรสนิยมของบางคน ที่ถ้าลองมีใครเผลอพูดว่า นักเขียนต้องมีบทบาทรับผิดชอบต่อสังคม คงมีการอ้วกอยู่ภายในจิตสำนึกรู้สึกอย่างลับ ๆ บางคนอาจเผลอเหยียดริมฝีปากอย่างหยามหยัน ก่อนกระดกเบียร์ไฮเนเก้นด้วยเจตนาจะค่อนขอดประโยคเร่อร่าและเจ้าของของมัน


แหม ให้ตายเถอะ ท่านนักเขียนวรรณกรรมผู้ทรงเกียรติ ท่านทั้งหลายล้วนเคยประสบพบพานกับประสบการณ์เฉลิมฉลองความระยำตำบอน ความฉ้อฉลของนักการเมืองถ่อย ความโลภโมโทสันต์ของนายทุนหน้าเปี่ยมโลหิต ความร้ายกาจอย่างลึกซึ้งของบรรดาชนชั้นศักดินาผู้กุมกำ.. เพื่อเป็นสันทนาการ เพื่อเป็นต้นทุนในงานเขียนอันพิเลิศพิไลของท่าน แต่เมื่อถึงคราวที่สวะในใจของท่านนักเขียนวรรณกรรมผู้ทรงไว้ซึ่งอุดมคติปลิ้นออกมาซึ่ง ๆ หน้าผู้อ่านที่รักของท่าน ท่านกลับเกิดอาการง่อยรับประทานไปเสียอย่างที่จะตีหน้าซื่อคงไม่ทันการณ์ ใครล่ะจะกล้าควักไส้เน่าของตัวเองเพื่อเป็นทานแก่หนอนคลั่งอาหารเปี่ยมจุลินทรีย์


เรื่องมันก็ผ่านมานานแล้ว และวรรณกรรมไทยยังคงยืนหยัดอย่างสง่าผึ่งเผยเป็นภาพของหมู่เมฆหมอกอันหม่นหมองร้าวรานใจ แต่อา... เขาว่า มันเป็นศิลปะ! ศิลปะจงเจริญ

เป็นเพียวอาร์ต

โย่ ๆ เย่ ๆ

กริ๊กกริ๊วน่าดูชม


จะมีใครอยากลองกรอกใบสมัครผู้ทรยศบ้างไหม?


.. 2552 ช่างเป็นปีแห่งความหวั่นกลัวที่กะทันหัน คนงานกลัวถูกตัดหางปล่อยวัดจนประสาทรับประทานสามเวลา ธุรกิจเอสเอ็มอี ขวัญหนีดีฝ่อเมื่อนักประกอบการรายใหม่วาดโครงการจะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด คอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์เศรษฐศาสตร์ประจำวันข่มขู่ว่า เราจะจนลงถ้วนหน้า


นี่เราต้องทนความเจ็บปวดอย่างเฉียบพลันเหล่านี้ไปจนกว่าความสดชื่นแห่งชีวิตจะฟื้นคืนชีพเช่นนั้นหรือ แล้วสำนักพิมพ์ผู้ผลิตหนังสือวรรณกรรมเล่า อะไรจะเกิดขึ้นกับธุรกิจในกลิ่นหมึกเจือคาร์บอนเหล่านั้น

งานเขียนที่เกร็งกำไรได้เท่านั้นกระมังที่จะมีโอกาสเฉิดฉายเนื่องจากมันมีราคาค่างวดเขียนตัวเล็กจิ๋วอยู่แถว ๆ บาร์โคด ต่างอย่างสิ้นเชิงจากต้นฉบับที่ถูกปฏิเสธอย่างทรงภูมิและเจือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาของบรรณาธิการ


แล้วคนอ่านจะคาดหวังอะไรได้ ทางที่ดีอย่างง่ายดายคือ อย่าไปคาดหวังมันเลย


แต่อะไร ๆ ก็พลิกผันได้ไม่ใช่หรือ แม้นในงานศพของคนที่เรารักจะแสนเศร้ารันทดเพียงใด หยาดน้ำตาที่สะท้อนแสงไฟในเพลงสวดศพก็ทำให้เรามองเห็นแสงสว่างได้


เพราะคุณค่าของหนังสืออยู่ที่มีคนอ่าน ไม่ใช่อยู่ที่ราคาขายบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม

ใครบ้างจะมีโอกาสอ่านหนังสือได้ทุกเล่มที่โหยหา แน่นอน หนังสือในสต๊อกตัณหาของเรา บางเล่มอาจมีอายุยืนยาวเป็นสิบปี บางเล่มเกือบถูกโละไปเสียแล้ว ถ้าไม่บังเอิญไปเจอมันเสียก่อน

ฉันเองก็เพิ่งกำโชคลาภแห่งปีไว้แน่น เนื่องจากได้ประสบพบเจอกับ หนังสือแปลเก่าแก่ สำนวนแปลของ

แคน สังคีต เป็นผลงานของนักเขียนโนเบล ปี ค.. 1988 นาม นากิบ มาห์ฟูซ


นากิบ มาห์ฟูซ เป็นนักประพันธ์ชั้นนำของอาหรับและของโลก เขาเป็นนักเขียนอียิปต์ที่ผลงานได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุดคนหนึ่ง เทียบได้กับทอฟิก เอล ฮากิม การแปลงานของเขาถือเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะภาษาอาหรับโดยทั่วไปจะยากเท่านั้น แต่วิธีการเขียนของมาห์ฟูซยังมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่ท้าทายนักแปล นั่นคือ นักแปลอาจประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ได้


นี่คือ ส่วนหนึ่งของบทนำ จากนวนิยายเรื่อง เพลงกล่อมผี ที่เขียนโดย เมอซี ซาอัด เอล ดิน

แต่เชื่อไหมว่า แคน สังคีต ผู้แปลเป็นภาษาไทย ได้ทลายปราการแห่งความล้มเหลวลงอย่างไม่แยแส เขาแปลเป็นภาษาไทยเพื่อสื่อสารโลกในห้วงอันเดือดคลั่งเป็นคลื่นมนุษย์ของนากิบ มาห์ฟูซ ออกมาให้สั่นสะเทือนในกล่องดวงใจของจินตนาการแห่งเราให้สว่างไสวขึ้นอีกครั้ง


นั่นล่ะทางออกของความหวัง ฉันอ่าน เพลงกล่อมผี ของ มาห์ฟูซ จนดึกดื่น ขณะลมฤดูหนาวได้รัดรึงความหวังจนสั่นเทิ้มไปด้วย คุณคิดว่าฉันเป็นผู้ทรยศประเภทไหน.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…