Skip to main content
นายยืนยง



ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth
ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler
ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552

\\/--break--\>

สารภาพว่า ฉันเคยเกลียดทุนนิยมเข้าไส้ เคยปฏิเสธทุกอย่างที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยม อย่างเมื่อก่อนที่ใคร  ๆ บางคนพากันปฏิเสธโทรศัพท์มือถือ ต่อต้านระบบอินเตอร์เน็ต  ต่อต้านการเล่นหุ้นเพื่อเกร็งกำไร และอีกสารพัด โดยอธิบายเหตุผลของความเกลียดว่า  มันเป็นรูปแบบของระบบทุนนิยมที่จะทำลายความเป็นมนุษย์ของเรา ใครเคยเป็นอย่างฉัน หรือเอาแค่คล้าย ๆ คงพอรู้ว่า ความเกลียดไม่ได้ช่วยอะไรเลย และการทำเป็นไม่รับรู้ในการมีอยู่ของระบบทุนนิยม ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยเช่นเดียวกัน 

แท้จริงแล้วระบบทุนนิยมเป็นเช่นไรหนอ ฉันขอยกบางส่วนของคำจำกัดความ จากหนังสือ รายงานลูกาโน การอนุรักษ์ระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 เขียนโดยซูซาน ยอร์จ คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ เป็นผู้แปล ภายใต้การจัดพิมพ์ของโครงการจัดพิมพ์คบไฟ (พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2545) มาให้อ่านกันตรงนี้ 

ระบบทุนนิยม (ในที่นี้ขอใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของมัน) ไม่ใช่สภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นผลผลิตของการสั่งสมทางภูมิปัญญาของมนุษย์ เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมและกล่าวได้ว่า น่าจะเป็นการประดิษฐ์คิดค้นของคนหมู่มากที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุดในประวัติศาสตร์

รายงานลูกาโน  เล่มนี้ ก็นับเป็นหนังสือที่น่าอ่านมากที่สุดอีกเล่มหนึ่ง  ในฐานะที่เรายังดั้นด้นอยู่ในระบบทุนนิยมทั้งที่สามานย์และไม่อยากสามานย์ 

ฉะนั้นฉันควรหันมามองมันอย่างเต็มตาสักที ค่อย ๆ ทำความรู้จักกันตามมารยาททั้งที่เคยเสียมารยาทกับมันมาก่อน และแล้วหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์เล่มหนาปึ้กที่เพิ่งอ่านจบไป  ก็ได้นำพาความคิดของคนหัวอนุรักษ์นิยมต่อต้านทุนนิยมอย่างฉันรู้ว่า โดยระบบทุนนิยมนั้นไม่ได้น่ารังเกียจเลย หากเรารู้จักใช้มันอย่างสร้างสรรค์ และรู้เท่าทัน ที่สำคัญมันจะนำพาเราไปสู่ทุนนิยมในฝันได้ (คุณฝันไว้ว่าอย่างไรล่ะ

หนังสือเล่มนั้นคือ ความมั่งคั่งปฏิวัติ 

ดูจากชื่อหนังสือแล้ว  มี 2 คำที่ขัดแย้งกันทางความรู้สึก คือ คำว่า ความมั่งคั่ง และ ปฏิวัติ แต่มาดูอีกที มันเข้าขั้นเป็นหนทางแห่งความฝันร่วมกันของมนุษยชาติเลยทีเดียว แน่นอนว่าถ้าความมั่งคั่งเป็นผู้ปฏิวัติ ความยากจนข้นแค้นย่อมปลาสนาการไปได้กระมัง ไม่แน่ว่าโศกนาฏกรรมแห่งความยากจนจะกลายเป็นเพียงตำนานที่ใช้เล่าขานในยามที่เราหวนนึกถึงอดีตก็เป็นได้

แต่...เพียง 2 คำนี้เท่านั้นหรือ ที่จะเป็นดั่งพระเจ้าองค์ใหม่อันเป็นสากล 

ก่อนอื่น  เราจะปล่อยสัมพันธภาพระหว่างถ้อยคำ 2 คำนี้ไว้เฉย ๆ ไม่นำมาตีความร่วมกัน หากแต่จะให้ความสำคัญในเรื่องของความหมายที่แท้จริง ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายไว้อย่างกว้าง ๆ แต่รัดกุม ดังนี้ 

ความมั่งคั่งมีชื่อเสียงทางฉาวโฉ่ตลอดมา  บริโภคนิยมเป็นคำสาป นักสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้คนอยู่อย่างเรียบง่าย แต่นั่นเป็นชื่อเสียงในด้านลบ  

ทอฟเลอร์  ผู้เขียนอธิบายว่า อย่างไรก็ตาม เราควรตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า จำเลยคือความมั่งคั่งนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริง มันเป็นกลาง 

กาเบรียล  เซค นักเขียนเม็กซิกัน  เคยกล่าวว่า เหนือสิ่งอื่นใด  ความมั่งคั่งคือการสะสมความเป็นไปได้ 

เราอาจนิยามความมั่งคั่งว่าหมายถึง สมบัติอะไรก็ตาม ไม่ว่าเราแบ่งให้คนอื่นใช้หรือไม่แบ่ง, มีสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “อรรถประโยชน์” มันส่งมอบความอยู่ดีมีสุขหรือไม่เราก็สามารถแลกมันกับความมั่งคั่งในรูปแบบอื่น... 

พูดง่าย ๆ ระบบความมั่งคั่งในที่นี้หมายถึง  สิ่งต่าง ๆ นอกเหนือจากเงินที่มนุษย์ให้คุณค่าไว้แล้วนั่นเอง
ขณะที่คำว่าปฏิวัติ ทอฟเลอร์เขียนไว้ว่า
 

การปฏิวัติ  คือ การเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ 
และการปฏิวัติมี 2 หน้าเสมอ วันนี้ก็เหมือนกัน หน้าหนึ่งคือหน้าโกรธแห่งความล่มสลายของเก่า ๆ ฉีกแยกออกจากกันและพังทลายลงมา หน้าที่สองคือหน้ายิ้มแห่งการผสานใหม่ เมื่อทั้งของเก่าและของใหม่เสียบปลั๊กเข้าด้วยกันด้วยวิธีใหม่ ๆ  
วันนี้  ความมั่งคั่งไม่เพียงปฏิวัติไปแล้ว  แต่กำลังจะถูกปฏิวัติไปมากขึ้นเรื่อย  ๆ นี่ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ด้วยมันเป็นเรื่องของการปฏิวัติของจิตใจ 

เชื่อไหมว่าหนังสือเล่มนี้ สองสามีภรรยาผู้แต่งใช้เวลาเขียนและรวบรวมข้อมูลนานถึง 12 ปี แน่นอนว่าข้อมูลหรือแนวคิดบางอย่างอาจล้าหลังไปบ้าง แต่หัวใจของหนังสือเล่มนี้ยังคงถ่ายทอดแนวคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่หยุดนิ่ง 

แท้จริงแล้วการปฏิวัติครั้งนี้ได้เริ่มต้นตั้งแต่มนุษย์สามารถผลิตส่วนเกินทางเศรษฐกิจได้เป็นครั้งแรก ส่วนเกินเหล่านี้ถูกนำมาเสียภาษี สร้างวัดโบสถ์ สร้างวังและสร้างศิลปิน นี่นับเป็นคลื่นลูกแรกของความมั่งคั่ง  ที่เกิดขึ้นยุคเกษตรกรรม ทอฟเลอร์ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปในเรื่องของปัจจัยความมั่งคั่ง อันได้แก่ เวลา สถานที่ และความรู้ 

ขณะที่เราเริ่มสับสนในธรรมชาติของเวลา ที่นักฟิสิกส์ได้ค้นพบทฤษฎีใหม่ ๆ เกี่ยวกับกำเนิดของเอกภพ ซึ่งสั่นคลอนแนวคิดของเวลาที่เราเคยเชื่อ น่าสังเกตว่ากระบวนการของความรู้เริ่มมีอายุขัย คือเมื่อวันหนึ่งมันเคยเป็นความจริง แต่ในอีกวันหนึ่งมันกลับยอกย้อนอยู่ในตัวเอง ชวนให้ฉงนฉงาย เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงที่มีอายุสั้นลงทุกขณะเมื่อเทคโนโลยีหรือการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารถือกำเนิดขึ้น 

ความน่าสนใจของการปฏิวัติอยู่ตรงไหน หลายคนให้ข้อสังเกตว่า การปฏิวัติจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของปัจเจกบุคคลและสังคมในขณะที่เกิดการปะทะกันระหว่างคนในคลื่นลูกเก่ากับคลื่นลูกใหม่ ที่ต่างก็อาศัยปัจจัยเดียวกันในการสร้างความมั่งคั่งในยุคสมัยของตัวเอง ยกตัวอย่าง คลื่นลูกที่สอง ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ได้ใช้เวลา สถานที่ และความรู้ เช่นเดียวกันคลื่นลูกที่สาม  

ระหว่างคลื่นลูกที่หนึ่งซึ่งใช้แรงงานคนเป็นหลักในการผลิต เมื่อเปลี่ยนจากแรงงานคนมาเป็นเครื่องจักรในการผลิต สภาพความคิดจิตใจของคนซึ่งถูกเครื่องจักรมาทดแทนนั้นเป็นเช่นไร วิถีชีวิตซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเป็นเช่นไร จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาศักยภาพของคนให้เป็นได้มากกว่าเครื่องจักร เพื่อนำพาตัวเองไปข้างหน้า สู่คลื่นลูกที่สาม อันเป็นการนำปัจจัยเรื่องเวลา สถานที่และความรู้มาสร้างระบบความมั่งคั่งขึ้นใหม่ ในนามของเทคโนโลยี 

ทุกวันนี้ เราจากที่เคยอยู่ในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ผลิตอย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่การปฏิวัติความมั่งคั่งได้ขยายขอบเขตแห่งความเป็นไปได้ส่งมอบมาสู่เราด้วยอิทธิพลของการโฆษณาแบบตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องบัตร ATM ที่เมื่อก่อนมันได้มาขยายขอบเขตธุรกรรมการเงินให้เกิดขึ้นได้แม้ในช่วงเวลาที่ธนาคารปิดทำการ เราได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ไม่ต้องยืนรอพนักงานธนาคารทำหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินเหมือนในอดีต โดยที่เราต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี เพื่อทำหน้าที่เสมือนลูกจ้างของธนาคาร (เทเลอร์) มีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินเอง ความผิดพลาดอันเกิดขึ้นแก่เราก็ย่อมตกเป็นภาระของเราด้วย หรืออย่างในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ให้เราเลือกหยิบสินค้าได้เองตามสะดวก สามารถเช็คราคาขายสินค้าได้เองอย่างที่เราคุ้นเคยกับมันไปแล้ว  

ในสองกรณีที่ยกตัวอย่างนี้ ถือเป็นการย้ายงานไปยังผู้บริโภค โดยให้ลูกค้าเกิดมายาคติว่ากำลังประหยัดอยู่ ขณะที่บริษัทก็สามารถลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานไปได้ เราเรียกกระบวนการนี้ว่าแปลงผู้บริโภคให้เป็นผู้ผลิต-บริโภคได้ด้วย หรือแม้แต่กรณีที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าประเภททุน เช่น เครื่องมือช่าง เครื่องมือตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องคอมพิวเตอร์ พริ้นเตอร์ กล้อง VDO ซึ่งอำนวยความสะดวกให้เราอย่างที่เรียกว่า ทำเองได้ง่าย สะดวก ประหยัด ซึ่งทางการตลาดเรียกว่าตลาดพึ่งพาตัวเอง  

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการยกตัวอย่าง ที่ทำให้เราได้รู้แจ้งชัดถึงกลไกของการตลาด ที่ผู้ผลิต-บริโภคอย่างเราอาจยังไม่ทันรู้สึก เพราะแม้แต่พนักงานกินเงินเดือนก็สมควรที่จะออกมาเรียกร้องขอรับค่าจ้างในอัตรานาทีต่อนาที จากที่เคยรับค่าจ้างรายเดือนหลังจากทำงานมาหนึ่งเดือนเต็ม (ทำงานก่อนรับเงินทีหลัง) ซึ่งหากเรามีเทคโนโลยีอย่างที่เราใช้ทุกวันนี้ การคำนวณอัตราค่าจ้างเป็นนาทีหรือวินาทีย่อมไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร หากไม่เช่นนั้น เราต้องถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของนายจ้าง โดยที่นายจ้างได้กู้ยืมเงินเดือนของเราแบบไร้ดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนในช่วงที่เราทำงานและยังไม่ได้รับเงินเดือน 

โดยภาพรวมแล้วทอฟเลอร์เห็นว่า การปฏิวัติครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากภาครัฐ เอกชนเป็นสำคัญ หากแต่เกิดจากความเคลื่อนไหวทางความคิดอยู่ตลอดเวลาของปัจเจกชนเป็นสำคัญ หากปัจเจกชนสามารถแปรปัจจัยพื้นฐาน (เวลา สถานที่และความรู้) ให้เป็นความมั่งคั่งได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือเพื่ออนุรักษ์โลกอย่างใด ๆ ย่อมสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นได้ เพราะระเบิดเวลาของการเป็นผู้ผลิต-บริโภคอย่างทุกวันนี้ใกล้มาถึงจุดจบแล้ว  

ถึงตอนนั้นพลังสำคัญที่จะสร้างสรรค์ระบบทุนนิยมก็คือปัจเจกชน หาใช่บริษัทใหญ่ ๆ อย่างเช่นทุกวันนี้ และในนามของปัจเจกชนที่ผนึกกำลังต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบของทุนใหญ่ ก็จะสามารถใช้เครื่องมือที่เคยทิ่มแทงเราตลอดมา นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับที่เอ็นจีโอที่ต่อต้านการใช้เทคโนโลยีแบบไม่ลืมหูลืมตา ก็ใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่อประชาสัมพันธ์แนวคิด เพื่อระดมทุนและระดมพลังเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายของตัวเอง  

ฝากทิ้งท้ายสำหรับผู้สนใจ  ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่ฉันยังไม่ได้อ่าน ซึ่งคุณสฤณี  อาชวานันทกุล ผู้แปลความมั่งคั่งปฏิวัติเล่มนี้ได้แปลไว้ คือ พลังของคนหัวรั้น The Power Of  Unreasonable People ทั้งนี้

ผู้แปลเองได้แสดงความหวังไว้ว่า  เมื่อเราปลูกฝังสำนึกทางสังคมได้สูงเพียงพอ  การดำเนินชีวิตของนักธุรกิจและนักคิดในระบอบทุนนิยมที่มีสำนึกทางสังคมสูงเป็นความหวังที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ ผู้เขียน : องอาจ เดชา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา พ.ศ.2548 ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ... สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน…
สวนหนังสือ
นายยืนยง      ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน ผู้เขียน : วิน วนาดร ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550   ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นกชีวิต ประเภท : กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550 ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์…
สวนหนังสือ
นายยืนยงประเภท          :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharyaผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์
สวนหนังสือ
นายยืนยง"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)ภาพจาก : http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16 ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม
สวนหนังสือ
นายยืนยงบทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
สวนหนังสือ
นายยืนยง  บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์        …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓