นายยืนยง
ชื่อหนังสือ : ชะบน
ผู้เขียน : ธีระยุทธ ดาวจันทึก
ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537
จัดพิมพ์โดย : อาศรมวรรณกรรม
เรามักนิยามคำว่า "อุดมคติ" เอาไว้อย่างสวยหรู เปรียบว่าเป็นดั่งหอคอยสูงส่ง สง่างาม ซึ่งแสดงออกอยู่ในทีว่า หนทางอันจะนำไปสู่จุดสุดยอดของอุดมคตินั้น เป็นหนทางอันยากเย็นแสนเข็ญ เต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ จนกระทั่งเราเกือบจะเคยชินไปเสียแล้วกับโศกนาฏกรรมของมนุษย์ผู้เทิดทูนอุดมคติ เราเจนตาไปเสียแล้วกับเศษซากของผู้พ่ายแพ้ในนามของผู้ยึดมั่นในอุดมคติ โดยเฉพาะในภาคของวรรณกรรม ให้ชัดเจนลงไปอีกเห็นจะเป็นวรรณกรรมที่สร้างขึ้นเมื่อราว ๆ ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว
\\/--break--\>
ขณะซากของผู้พ่ายแพ้แก่อุดมคติเป็นดั่งทัศนียภาพของยุคสมัยที่ผ่านมา ก็ใช่ว่าในยุคสมัยของเรานี้จะปราศจากเศษซากเหล่านั้นด้วย แม้นว่า.. แม้นกระทั่งว่า อุดมคติในยุคสมัยของเราจะไม่ได้สูงส่ง สง่างามแต่เพียงปลายทางดั่งเช่นอุดมคติในยุคที่ผ่านมา เนื่องจากเราได้ให้ความสำคัญกับ "วิถีทาง" อันจะนำไปสู่จุดสุดยอด ให้ความสำคัญกับระยะทางที่จะนำเราไปสู่จุดสุดยอดของอุดมคติมากกว่า ฉะนั้นคำว่า "คุณค่า" จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลสัมฤทธิ์ หากแต่ในยุคของเรา "คุณค่า" คือ "มรรคา" ต่างหาก
นั่นคือความเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งที่ยุคสมัยได้คลี่คลายลง ณ จุดหนึ่ง อุดมคติจึงเป็นสิ่งที่จับต้องได้ กินได้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพื่อรอให้ใครบางคนมาติดกับ และพ่ายแพ้แก่มันในที่สุด
แต่ก็ใช่ว่าในยุคสมัยของเรานี้จะปราศจากเศษซากของผู้พ่ายแพ้เหล่านั้นด้วย ไม่ใช่หรือ
และ...แต่ก็ใช่ว่าผู้เป็นดั่งเศษซากเหล่านั้นจะสำคัญผิด คิดไปว่า คุณค่า คือ ผลสัมฤทธิ์ เพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน เศษซาก ก็หาใช่ ผู้พ่ายแพ้ เพียงอย่างเดียวอีกด้วย
เช่นเดียวกับอุดมคติของพ่อแม่หลายคน ที่ลดความสำคัญเรื่องผลการสอบของลูก ๆ ซึ่งได้แก่เกรดเฉลี่ยอะไรต่าง ๆ ที่ได้จากการสอบวัดผลปลายภาคเรียน แล้วกลับมาให้ความสำคัญในเรื่องของความสุขอันเกิดจากการเรียนรู้ของลูก ๆ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยในด้านวิชาการลง คล้ายกับว่าเราได้คลายทัศนคติชื่นชมบูชาฮีโร่ลงไป และหันมาใส่ใจกับตัวประกอบ เช่น พระรอง หรือนางรอง อะไรพวกนั้น
เช่นเดียวกับตัวละครในวรรณกรรมสมัยนี้ ตัวละครไม่จำเป็นต้องเป็นฮีโร่ อาจเป็น "คนเล็ก ๆ " ที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในตรอกซอกซอย และไม่จำเป็นต้องเผชิญชะตากรรมอันแสนสาหัสเกินกว่ามนุษย์ธรรมดาจะรับได้เหมือนวรรณกรรมในยุคก่อน
ที่กล่าวมาก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า อุดมคติ หาใช่หอคอยต้องคำสาปที่ตั้งตระหง่านรอคอยวิญญาณของผู้พ่ายแพ้มาเซ่นสังเวยอีกต่อไปแล้ว หากมันคือ หอคอยที่มีชีวิต ผู้พ่ายแพ้ ก็คือผู้ที่พ่ายแพ้แก่ตัวเอง หาใช่พ่ายแพ้ต่อความสูงส่งของอุดมคติเช่นในยุคก่อน
เนื่องจากผู้พ่ายแพ้ อาจเป็นผู้แพ้อย่างแท้จริงก็ได้ หากอุดมคติของเขาถูกยึดมั่น ถูกตรึงไว้จนสูงส่ง และไร้ชีวิตจิตใจ ขณะเดียวกัน ผู้พ่ายแพ้ อาจเป็นผู้กำชัยชนะได้ หากอุดมคติของเขาจะกระซิบว่า ผู้รู้จักพ่ายแพ้ย่อมเป็นผู้ชนะในที่สุด นั่นเอง เขาย่อมเป็นผู้ชนะ
นี่คือความเคลื่อนไหวของอุดมคติ ซึ่งชะตากรรมของมันได้ขึ้นอยู่กับผู้ถือครองอยู่นั่นเอง
นอกเหนือจาก "อุดมคติ" แล้ว ในวรรณกรรมหลายเรื่องได้กล่าวถึง "ความเชื่อ" ที่แสดงออกอย่างเชื่อมั่นศรัทธา หรือลุ่มหลงงมงาย ส่วนมากมักจะผูกรวม "อุดมคติ" กับ "ความเชื่อ" เข้าไว้ด้วยกัน ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่ได้จากการอ่านนวนิยายเรื่อง ชะบน ผลงานของธีระยุทธ ดาวจันทึก ที่เคยเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาแล้ว
เนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้ กล่าวถึงชะตากรรมของ เปนสะลา ผู้เฒ่าชาวชะบนคนสุดท้าย ที่พ่ายแพ้ต่ออุดมคติของตัวเองก็เพราะแกยึดมั่นในอุดมคติจนไม่ยอมจะเป็นผู้แพ้
กล่าวถึง "ชะบน" หรือ "ชาวบน" อย่างนอกเรื่องจากนวนิยายนิดหนึ่ง
ฉันเอง มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ในเขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เคยได้ยินได้ฟังอย่างลางเลือนเกี่ยวกับชาวชะบนอยู่บ้าง ว่าชาวชะบนนั้นมีอยู่จริง หากแต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว และบางส่วนได้อพยพลงมาอยู่ในชุมชนชาวบ้านอย่างกลมกลืนไปแล้วด้วย ไม่แน่ว่าฉันอาจมีเศษเสี้ยวของชะบนอยู่ในสายเลือดอยู่บ้างก็เป็นได้ เนื่องจากสถานที่และเงื่อนเวลาในนวนิยายเรื่องนี้สอดคล้องกับโคตรเหง้าบรรพบุรุษของฉัน ทั้งการบุกเบิก หักร้างถางป่าเพื่อทำไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ทั้งสถานการณ์ที่กลุ่มทหารป่าหรือชาวบ้านเรียกคอมมิวนิสต์ได้พยายามลงมวลชนเพื่อสืบสานอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ และอุดมการณ์เหล่านั้นได้ซึมซาบเข้าสู่กระแสคิดของคนในหมู่บ้าน จนนับได้ว่าพื้นที่แถบนี้กลายเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าปกครองยากสำหรับนักปกครองที่มาจาก "หลวง" ทั้งเรื่องการสร้างเขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำแชะ รวมถึงการเอ่ยถึง "ลำเพียก" ซึ่งต่อมาก็ถูกสร้างเป็นเขื่อนลำเพียก เป็นเขื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก หนทางเขาไปแสนจะยากลำบาก หนำซ้ำยังไม่ค่อยถูกทำความรู้จักมากนัก ผืนป่าแถบนี้เป็นป่าดิบชื้น มีสัตว์ป่าอย่างเก้ง (ฟาน) กวาง รวมถึงสมันหรือเนื้อสมัย สัตว์ป่าที่ขึ้นชื่อว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้วอาศัยอยู่ เห็นได้จากที่มีชาวบ้านล่าได้อยู่บ่อยครั้ง
บรรยากาศตามท้องเรื่องเหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุการณ์ สถานที่ ซึ่งมีอยู่จริง ขณะที่ธีระยุทธ ผู้แต่งได้แสดงให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมของอุดมคติ โดยให้ชาวชะบน กลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูง มีภาษาพูด มีบทเพลง มีขนบธรรมเนียมเป็นของตัวเอง นับถือผีป่าและวิญญาณของป่าอย่างเคร่งครัด แม้แต่ข้าวที่ปลูกโดยคนพื้นล่าง ชาวชะบนก็ไม่ยอมกิน เพราะติว่ามีกลิ่นขี้ควายติดอยู่ในข้าวด้วย ชาวชะบนที่แท้จริงจะอยู่ในป่าเขา ไม่ลงมาอาศัยปะปนอยู่กับชาวไทยบ้านหรือชาวพื้นล่างเป็นอันขาด แต่ในยุคของเปนสะลา ชะบนคนสุดท้ายในนวนิยายเรื่องนี้ อุดมคติอันสูงส่งของชาวชะบนก็ถึงกาลล่มสลายลง
เปนสะลาต้องพึ่งข้าวสารที่ซื้อจากหมู่บ้าน ต้องพึ่งถ่านไฟฉาย พึ่งยาแก้ปวด (บวดหายหรือทัมใจ) โดยการล่าสัตว์จากป่าไปขายในหมู่บ้านเพื่อแลกข้าวของที่จำเป็น เปนสะลาเองก็มีอุดมคติที่แกยึดมั่นไว้อีกข้อหนึ่ง นอกเหนือจากอุดมคติของชะบน นั่นคือ เมื่อเมียแกตายจากไปตั้งแต่อายุยังไม่ถึงยี่สิบปี แกประกาศว่าจะไม่มีเมียใหม่ไปจนตาย
อุดมคติเพียงสองข้อนอกเหนือจากข้ออื่น ๆ ที่เปนสะลายึดถือนั้น แกไม่สามารถยึดมั่นไว้ได้แม้แต่ข้อเดียว ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่แกเองไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ข้อแรกที่ว่าแกจะไม่มีเมียใหม่นั้น แกทำได้ครึ่งหนึ่ง เพราะแกได้ช่วยเหลือนางกำรอและลูก ๆ ให้มีที่ซุกหัวนอนด้วยความเวทนาสงสาร แกคิดกับนางกำรอเป็นเพียงลูกหลานเท่านั้น แต่นางกำรอในวัยสามสิบต้น ๆ กลับรุกเร้าเปนสะลาให้แกอยู่กินกับนางฉันผัวเมีย นางถึงขั้นลักหลับแกด้วยซ้ำ แต่เปนสะลาในวัยหกสิบกว่าหักห้ามใจไว้ได้
การที่เปนสะลาเผลอไผลจนเกือบ ๆ จะผิดคำสาบานซึ่งก็คืออุดมคติข้อหนึ่งในชีวิตของแกนั้น กลับทำให้แกต้องเกือบตายเพราะผู้หญิงคนนี้ จากชายชราร่างกำยำแข็งแรง เป็นพรานอันดับหนึ่งต้องกลายเป็นชายชราที่แทบทำอะไรไม่ได้เลย
หนำซ้ำอุดมคติของชาวชะบนที่ว่า ชะบนที่แท้ต้องอยู่บนภูเขา ไม่อยู่ปะปนกับคนพื้นล่างนั้น แกก็ไม่สามารถยึดถือเอาไว้ได้ เพราะป่าเขาอันเป็นที่อยู่อาศัยของแก ถูกทางการสั่งปิดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ห้ามใครเข้าไปอยู่อาศัย เรื่องนี้เกิดจากแผนการแย่งชิงมวลชนและนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์หรือทหารป่าของรัฐบาล เปนสะลาจำเป็นออกจากป่ามาอยู่ปะปนกับคนพื้นล่าง ซึ่งส่งผลให้แกต้องทุกข์ทรมานเหมือนตายแล้วทั้งเป็น สุดท้ายเปนสะลา ชะบนคนสุดท้ายก็เป็นผู้พ่ายแพ้ต่ออุดมคติที่แกยึดถือและเชื่อมั่นศรัทธา ตามแบบฉบับของวรรณกรรมในยุคนั้น
หากเราไม่ก้าวข้ามเงื่อนเวลาและเหตุการณ์ในเรื่องไป ชะบน อาจเป็นนวนิยายที่กล่าวถึงชะตากรรมของอุดมคติในยุคสมัยที่มันได้ถือกำเนิดขึ้นมาเท่านั้นเอง แต่หากเรามองข้ามผ่านบริบทในอดีตดังกล่าว นวนิยายเรื่องยังได้ส่งพลังสั่นสะเทือนมาถึงยุคสมัยของเราอีกด้วย
เนื่องจากชะบน ได้เน้นย้ำถึง "ชะตากรรม" และความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงระหว่างชีวิตกับชีวิต ไม่เฉพาะมนุษย์ต่อมนุษย์เท่านั้น หากแต่ต้นไม้ สัตว์ป่า แม่น้ำ ภูเขา ซึ่งล้วนมีชีวิตที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันและต่างก็มีชะตากรรมร่วมกันทั้งสิ้น เปนสะลาเองยังครุ่นคิดจนได้ข้อสรุปไปว่าเรื่องมันเกิดขึ้นมาก็เพราะเหยี่ยวตัวที่แกดักจับนั่นเอง ทั้งนี้รวมไปถึงนกหนูปูปีกที่อาศัยอยู่ในป่าด้วย นับได้ว่าเป็นชะตากรรมขนาดใหญ่ดังที่เป็นดั่งมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมาสู่รุ่นลูกหลาน ดั่งหน้าปกหนังสือได้โปรยไว้ว่า
ชะตากรรม ก็คือการมีชีวิตอยู่ภายใต้ผลแห่งการกระทำทั้งของตนเองและผู้อื่น
นอกจากจะเป็นบทสรุปที่ชัดเจนในแง่หนึ่งแล้ว ชะบน ยังได้สร้างภาพอันชัดเจนของอุดมคติอันสูงส่งไว้ว่า
อุดมคติ โดยตัวมันเองนั้น ไม่ได้มีความชัดเจนแต่อย่างใด มันเป็นเพียงภาพลางเลือนเฉกเช่นเรื่องราวของชาวชะบน ที่เป็นเพียงตำนานเล่าขานกันสืบต่อกันมา แม้กระทั่งในภาพความทรงจำของเปนสะลา ชายชราชาวชะบนที่พยายามจะรักษาอุดมคติของชาวชะบนเอาไว้ อุดมคติก็ยังไม่ชัดเจนด้วยซ้ำ เปนสะลาเอง ดังเช่นในหน้า 79
ภาพของหมู่บ้านและผืนไร่เขียวขจีด้วยพืชผลอันงามสะพรั่งและพวกเด็ก ๆ ชะบนที่พากันวิ่งเล่น หยอกล้อกันอย่างร่าเริง (ซึ่งในจำนวนเด็กเหล่านั้นแกนึกให้มีตัวแกในวัยเด็กรวมอยู่ด้วย) ภาพของถ้ำลึกลับในลูกเขาที่ไหนสักแห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยหม้อไหถ้วยชามเรียงรายอยู่เต็มไปหมด หม้อไหที่สลักลวดลายสวยงามและมีกำไลบรรจุอยู่ในไหจนเต็ม ชายชรายังคลับคล้ายคลับคลาอีกว่ามีเรื่องราวของงูรวมอยู่ด้วย ...แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นเพียงมโนภาพที่รางเลือนเสียเหลือเกิน ในภวังค์ของความรู้สึกเช่นนั้น ชายชราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามันเป็นเรื่องที่เปนโฮมเล่าให้ฟังจริง ๆ หรือเป็นเพียงเรื่องที่แกได้ฝันไปในคืนใดคืนหนึ่ง ของช่วงชีวิตที่ผ่านเลยมาแล้ว... แกนึกอะไรไม่ออกอีกต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของหมู่บ้าน หรือเรื่องของครอบครัวที่อบอุ่น
หรือในข้อของอุดมคติของเปนสะลาที่ว่า จะไม่มีเมียใหม่นั้น บรรยากาศตอนที่เปนสะลาให้คำสาบานก็เป็นอารมณ์แบบทีเล่นทีจริง คนที่ได้ฟังยังรู้สึกขำ ๆ ด้วยซ้ำ แต่เปนสะลาเองต่างหากที่ยึดถือว่ามันเป็นเรื่องจริงจังที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต
ดังนั้นจะกล่าวได้ไหมว่า อุดมคติ ที่ธีระยุทธ ดาวจันทึก อธิบายไว้อย่างชัดเจนในนวนิยายเรื่องนี้
ว่าแท้จริงแล้ว อุดมคติ มันก็คือความคลุมเครืออย่างภาพในภวังค์ แต่ผู้คนที่ยึดถือมันต่างหากเล่าที่พยายามปลุกปล้ำมันให้แจ่มชัดและเข้มแข็งขึ้นมาได้ และความพยายามเหล่านั้นนั่นเองที่ก่อให้เกิดชะตากรรม เกิดผู้พ่ายแพ้ และเกิดเป็นโศกนาฏกรรมอันซ้ำซ้อน ราวกับจะไม่มีวันสิ้นสุดลง.