Skip to main content

นายยืนยง 

 

ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...

\\/--break--\>

ผลงานของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นดั่งภาพอันคมชัดของวรรณกรรมในอุดมคติ เป็นเนื้อหาของชีวิตอันเข้มข้น มีร่องรอยของย่างก้าวที่พยายามจะก้าวไปข้างหน้าอยู่ทุกตัวอักษร ผลงานของเขาบ่งบอกเสมอว่า วรรณกรรมของเขามีความปรารถนาอย่างรุนแรงที่จะก้าวไปให้พ้นจากพรมแดนทางวรรณกรรม จากกรอบเกณฑ์ใดใด จากพันธะที่นักเขียนมีต่อรูปแบบการเล่าเรื่อง จากพันธะที่นักเขียนมีต่อเทคนิคการจัดวางองค์ประกอบของเรื่อง


ผลงานของเขาปราศจากเทคนิคใดใดที่แสดงให้เห็นว่า
"รูปแบบ" สำคัญกว่า  "เนื้อหา"
ผลงานของเขาปฏิเสธการอ่านอย่างฉาบฉวย
ผลงานของเขาเรียกร้องเวลาอันเงียบสงบ เรียกร้องความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการจากคนอ่าน เสมือนว่าเขาได้จัดสรรห้วงยามแห่งวรรณกรรมชั้นดีไว้สำหรับคนอ่านในอุดมคติของเขา
ผลงานที่เคี่ยวกรำมาอย่างหนัก เคี่ยวเค้นมาจนเต็มพลังของนักเขียน
เป็นภาพในอุดมคติที่ชัดเจนเหลือเกิน ทั้งตัวตนของนักเขียนและผลงานของเขา 

กนกพงศ์กับซัลมาน
ซัลมาน คือ ภาพชัดเจนที่แสดงถึงตัวตนของนักเขียนที่บรรจุอยู่ในตัวละครของเขา
"โลกใบเล็ก ซึ่งใกล้จะพังทลายของตน..."
เมื่อซัลมานเกรี้ยวกราดเอากับเมียและลูกทุกครั้งที่เขารู้สึกถูกรุกราน กนกพงศ์ก็จะยิ่งเคี่ยวเค้นเอากับผลงานของตัวเอง ดั้นด้นสัญจรหาแรงบันดาลใจอันสดใหม่ เพื่อจะก้าวพ้นไปจากเดิม เมื่อเขารับรู้ว่าคนอ่านในอุดมคติของเขาลดจำนวนลง
 

กนกพงศ์ทิ้งซัลมานเอาไว้กับโลกใบเล็กของเขาด้วยมุมมองแบบนักวิชาการเมื่อปัญหากัดกินตัวเองจนเกินจะเยียวยาได้ กนกพงศ์เพียงแต่สะท้อนภาพด้วยสายตาของนักเขียนที่พยายามทำความเข้าใจต่อโลกเท่านั้น เขาไม่เข้าไปก้าวก่าย ไม่เข้าไปกำหนดชะตากรรมของตัวละครเพื่อสร้างโศกนาฏกรรมเรียกน้ำตาจากคนอ่าน เป็นไปได้ไหมว่า กนกพงศ์ไม่ศรัทธาน้ำตาแห่งความเศร้าโศกอีกต่อไปแล้ว วิธีการจบเรื่องของเขาจึงไม่สรุปชะตากรรมของตัวละครให้ชัดเจนลงไป โลกใบเล็กของซัลมานจึงมีตอนจบเรื่องที่ต่างออกไปจาก สะพานขาด

กนกพงศ์กับพื้นที่ของความไร้เหตุผล

ผลงานของกนกพงศ์หลายเรื่อง โดยเฉพาะในยุคแรกมาถึงยุคแผ่นดินอื่น ชะตากรรมของตัวละครของเขาล้วนอยู่ในเงื้อมมือของนักเขียนแทบทั้งสิ้น นักเขียนเป็นดั่งสัพพัญญู ผู้รู้แจ้งแทงตลอด แต่หลังจากนั้น ก้าวย่างในผลงานของเขาได้บ่งบอกชัดเจนว่า เขาไม่อาจแบกรับสภาวะของผู้รู้แจ้งแทงตลอดต่อไปได้อีกแล้ว ดังนั้น ในยุคนี้ตัวละครของเขาจึงมีพื้นที่ของความไร้เหตุผลเพิ่มเข้ามา ตัวนักเขียนจึงไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวละครได้ทั้งหมด และจุดหักเหสำคัญของเรื่องจึงเกี่ยวพันเข้ากับพื้นที่และภาวะของความไร้เหตุผล เป็นสภาวะที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผล
(Absurd) ราวกับตัวกนกพงศ์เองกำลังเผชิญหน้าอยู่กับสภาวะดังกล่าวด้วยเช่นกัน

จุดนี้เองที่ฉันเชื่อว่า กนกพงศ์ได้ก้าวข้ามพรมแดนความคร่ำครึของนักเขียนไปได้ (ความคร่ำครึของนักเขียนที่ว่านั้น คือความเชื่อที่ความเข้าใจว่านักเขียนเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดต่อสรรพสิ่งและความเป็นไปของโลก ราวกับนักเขียนได้รับสมญาของพระเจ้า) และเขาได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของวรรณกรรมไทย

กนกพงศ์กับผลงานที่ปรากฎออกมาหลังจากที่เขาได้ตายไปแล้ว

มีแต่นักเขียนที่ตายไปแล้วเท่านั้น ที่จะสร้างสรรค์ผลงานอันทรงพลังได้ คำกล่าวนี้มีนัยยะให้ตีความหลายด้าน ด้านหนึ่งอาจเป็นการปลุกกระตุ้นให้นักเขียนมีพลังสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง และเป็นการตั้งเป้าหมายของผลงานเอาไว้จนสูงส่ง ขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นว่า ภายหลังจากที่นักเขียนตายลง ผลงานของเขาเหล่านั้นก็ได้โอกาสทยอยตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ในปริมาณความถี่ที่มากกว่าเมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตเสียอีก กรณีของกนกพงศ์ก็ไม่ต่างกัน

หลังจากกนกพงศ์ตายลง ผลงานของเขาทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และกวีนิพนธ์ ต่างทยอยตีพิมพ์ออกมาในนามของสำนักพิมพ์นาคร รวมถึงในนิตยสารเรื่องสั้น "ราหูอมจันทร์" ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยแรงบันดาลใจของกนกพงศ์เอง รวมพลังกับกลุ่มนาคร  ราหูอมจันทร์ Vol.6 (กรกฎาคม-กันยายน 2552) มีเรื่องสั้น "มูลค่า" ของกนกพงศ์ตีพิมพ์อยู่ด้วย

 
 

กนกพงศ์กับมูลค่าทางสังคม

ในเรื่องสั้น "มูลค่า" นี้ นับว่าเป็นเรื่องสั้นที่กนกพงศ์ได้ทอดอารมณ์อ้อยอิ่งอยู่ในสภาวะอารมณ์เพียงหนึ่งเดียว เป็นเรื่องสั้นที่เขาได้โยกย้ายมุมมองออกจากเรื่องสั้นอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์มาก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด 

กนกพงศ์มีมุมมองเฉพาะตัวที่มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวที่ฝังลึกอยู่ในสังคม ผ่านสายตาที่กลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี อย่างคนที่พยายามจะเข้าใจโลกทุกแง่มุม ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานทางความคิดที่นักเขียนต้องเคี่ยวกรำอย่างหนัก ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการลงมือเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกนกพงศ์

เพราะเขามีความปรารถนาอย่างไม่ลดราวาศอก ที่จะเขียนเรื่องสั้นให้ได้สมบูรณ์แบบมากที่สุด ครบถ้วนทุกใจ เพื่อขับเน้นประเด็นของเนื้อหาให้แจ่มชัดขึ้น โดยที่ไม่ด่วนสรุปให้เป็นประเด็นของแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ฉะนั้น หลายครั้งหลายคนที่เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นของกนกพงศ์ พวกเขามักจะพบว่า ข้อมูลจากหลายแง่มุมได้ทบท่วมเข้ามา เพื่อนำพาเราไปสู่ใจกลางของประเด็นอันใหญ่หลวงที่กนกพงศ์นำเสนอนั้น ขณะเดียวกัน พวกเขากลับรู้สึกราวกับถูกเทศนาจากศาสดาแห่งโลกวรรณกรรม เป็นความรู้สึกราวกับถูกยัดเยียดให้มองโลกด้วยสายตาคนอื่น นั่นคือสายตาของกนกพงศ์นั่นเอง

หากจะกล่าวว่า กระบวนการสื่อสารเช่นนี้ เป็นการสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์คงไม่ผิดนัก
เนื่องจากมันไม่ได้ก่อให้เกิดกระบวนการ "คิดต่อ" มากกว่า "คิดตาม"
ถ้าเป็นเช่นนั้น ย่อมต้องถือว่า กนกพงศ์ล้มเหลวในแง่ของการสื่อสาร
 

สภาวะเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานอันเคร่งครัดของกนกพงศ์เอง...เป็นไปได้ไหมก็ไม่อาจทราบได้ เพียงแต่คาดเดาเท่านั้น เนื่องจากฉันไม่รู้จักกับกนกพงศ์เป็นการส่วนตัว และฉันคิดว่าจุดนี้ต่างหากที่กนกพงศ์พยายามจะมองไม่เห็น

และเป็นไปได้ไหมว่า คนรอบข้างเขาเองต่างก็มองไม่เห็นว่าจุดนี้เป็นจุดที่จะหักเหก้าวย่างของเขาได้ชัดเจนที่สุด รวมไปถึงมีส่วนให้ผลงานของกนกพงศ์สลัดคราบของสัพพัญญูไปสู่พรมแดนใหม่ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และเต็มไปด้วยชีวิตชีวาอย่างใหม่

ในจุดนั้นเอง สภาวะของการยัดเยียดก็จะหมดไป และผลงานของเขาจะถูกอ่านอย่างกว้างขวางมากขึ้น  
เหมือนกับเรื่องสั้น "มูลค่า" ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้

เรื่องสั้นนี้ (แม้จะเป็นเรื่องแต่ง) ฉันอ่านด้วยความรู้สึกเศร้าลึกและเต็มตื้นไปด้วยความเสียดาย เนื่องจากหากเรื่องสั้น "มูลค่า" เรื่องนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาก่อนที่เขาจะตาย ฉันเชื่อว่าบางทีกนกพงศ์อาจจะยังมีชีวิตอยู่มาถึงทุกวันนี้ และผลงานของเขาจะสามารถก้าวพ้นออกมาจากพรมแดนของความเป็นกนกพงศ์อย่างแท้จริง

มูลค่า เป็นเรื่องสั้นที่กล่าวถึง "มูลค่า" ของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเพียงส่วนเสี้ยวเดียว การทำตัวให้เป็นบุคคลสำคัญ กับการทำตัวให้เป็นบุคคลไร้ความสำคัญ นั้น ถือเป็นกระบวนการสร้างความเหนือชั้นให้แก่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้อยู่เหนือกว่าสิ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในโลกธุรกิจ

ในเรื่องนี้ กนกพงศ์ได้แสดงให้เห็นถึงการแปรสภาพของอุดมคติเรื่องมูลค่ากับคุณค่า การย้ายมูลค่าออกจากสิ่งที่มีคุณค่า หรือเรียกว่า การย้ายอุดมคติเรื่องของคุณค่า

โดยเปลี่ยนจาก
สิ่งหนึ่งจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันได้มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง หาได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของมูลค่า
มาเป็น
สิ่งหนึ่งจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันมีมูลค่า โดยมูลค่านั้นถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ

ยกตัวอย่าง ภาพปกหนังสือรวมเรื่องสั้นของ "ผม" ที่เมื่อก่อนเคยว่าไหว้วานเพื่อนผู้มีฝีมือด้านศิลปะออกแบบภาพปกให้ ในราคาไม่เกินห้าพันบาท แต่เมื่อ "ผม" ได้ตัดสินใจว่าจ้างให้ "เขา" นักเขียนหนุ่มเจ้าของรางวัลวรรณกรรมระดับประเทศที่หนุ่มที่สุด เป็นลูกชายเจ้าพ่อสื่อสิ่งพิมพ์และมัลติมีเดีย เป็นคนที่มีชื่อเสียงกว้างขวางในวงการบันเทิง "เขา" ตกลงรับออกแบบปกหนังสือให้ผม ในราคาหลักหมื่นบาท ซึ่งผลงานที่เขาส่งมาให้นั้น เป็นเพียงวงกลมง่าย ๆ กับเส้นสายไม่กี่เส้น ผิดกันลิบลับกับผลงานศิลปะของเพื่อนผม ที่ใช้สีสันและสายเส้นอย่างงดงาม 

แต่ในเมื่อ "เขา" คนนั้น เป็นบุคคลที่มีมูลค่าทางสังคม ทุกสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป มันช่างดูน่าชื่นชมไปทั้งหมด แม้แต่เสียงที่เขาใช้คุยโทรศัพท์ กติกาการรับเงินค่าจ้าง ท่วงท่ากิริยาในร้านน้ำชาที่เขาและผมได้พบกัน มันช่างสง่างามอย่างล้นเหลือ นอกจากนั้น ผมที่ได้ปฏิสัมพันธ์กันเขา ยังรู้สึกหัวใจพองคับอก เมื่อได้รู้จักกับเขาเป็นการส่วนตัว และเมื่อได้นึกถึงห้วงยามของการพบปะครั้งนั้น

"ดูมันจะเป็นมูลค่าที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง" เหมือนกนกพงศ์จะมีน้ำเสียงเยาะหยันอยู่ในที แต่เป็นน้ำเสียงแบบทีเล่นทีจริงมากกว่าจะจริงจัง นอกเสียจากคนอ่านจะรู้สึกต่อไปได้เอง

นอกจากนี้เรื่องสั้น "เด็กหญิงทั้งสาม" ของกนกพงศ์ที่ลงพิมพ์ในราหูอมจันทร์ Vol.7 (มกราคม-เมษายน 2553) ยังเป็นเรื่องสั้นที่ส่งสัญญาณบอกว่า กนกพงศ์ได้ก้าวมาสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างยิ่งจุดหนี่งในชีวิตนักเขียนของเขา เนื่องจากเรื่องสั้นนี้ ได้กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายอุดมคติของคนที่ต่อต้านวัตถุนิยมออกมาด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรมากกว่าจะเยาะหยัน ดูราวกับเขาเองสามารถเปิดใจยอมรับสิ่งที่เป็นปราการอันหนึ่งในสังคมได้

 


 

แม้ว่าเรื่องสั้น "เด็กหญิงทั้งสาม" นี้จะเขียนไม่จบ และฉันก็ไม่อาจจะคาดเดาตอนจบเรื่องได้ แต่ฉันก็ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้อ่านเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เนื่องจากมันเป็นเรื่องสั้นที่ได้ก้าวพ้นไปจากพรมแดนของความล้มเหลวในตัวตนของเขา

มูลค่าที่เขาสร้างขึ้นมันเป็นสิ่งเดียวกับคณค่าที่เขาเข้าใจ. 

 

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…