Skip to main content

นายยืนยง 

 

ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...

\\/--break--\>

ผลงานของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นดั่งภาพอันคมชัดของวรรณกรรมในอุดมคติ เป็นเนื้อหาของชีวิตอันเข้มข้น มีร่องรอยของย่างก้าวที่พยายามจะก้าวไปข้างหน้าอยู่ทุกตัวอักษร ผลงานของเขาบ่งบอกเสมอว่า วรรณกรรมของเขามีความปรารถนาอย่างรุนแรงที่จะก้าวไปให้พ้นจากพรมแดนทางวรรณกรรม จากกรอบเกณฑ์ใดใด จากพันธะที่นักเขียนมีต่อรูปแบบการเล่าเรื่อง จากพันธะที่นักเขียนมีต่อเทคนิคการจัดวางองค์ประกอบของเรื่อง


ผลงานของเขาปราศจากเทคนิคใดใดที่แสดงให้เห็นว่า
"รูปแบบ" สำคัญกว่า  "เนื้อหา"
ผลงานของเขาปฏิเสธการอ่านอย่างฉาบฉวย
ผลงานของเขาเรียกร้องเวลาอันเงียบสงบ เรียกร้องความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการจากคนอ่าน เสมือนว่าเขาได้จัดสรรห้วงยามแห่งวรรณกรรมชั้นดีไว้สำหรับคนอ่านในอุดมคติของเขา
ผลงานที่เคี่ยวกรำมาอย่างหนัก เคี่ยวเค้นมาจนเต็มพลังของนักเขียน
เป็นภาพในอุดมคติที่ชัดเจนเหลือเกิน ทั้งตัวตนของนักเขียนและผลงานของเขา 

กนกพงศ์กับซัลมาน
ซัลมาน คือ ภาพชัดเจนที่แสดงถึงตัวตนของนักเขียนที่บรรจุอยู่ในตัวละครของเขา
"โลกใบเล็ก ซึ่งใกล้จะพังทลายของตน..."
เมื่อซัลมานเกรี้ยวกราดเอากับเมียและลูกทุกครั้งที่เขารู้สึกถูกรุกราน กนกพงศ์ก็จะยิ่งเคี่ยวเค้นเอากับผลงานของตัวเอง ดั้นด้นสัญจรหาแรงบันดาลใจอันสดใหม่ เพื่อจะก้าวพ้นไปจากเดิม เมื่อเขารับรู้ว่าคนอ่านในอุดมคติของเขาลดจำนวนลง
 

กนกพงศ์ทิ้งซัลมานเอาไว้กับโลกใบเล็กของเขาด้วยมุมมองแบบนักวิชาการเมื่อปัญหากัดกินตัวเองจนเกินจะเยียวยาได้ กนกพงศ์เพียงแต่สะท้อนภาพด้วยสายตาของนักเขียนที่พยายามทำความเข้าใจต่อโลกเท่านั้น เขาไม่เข้าไปก้าวก่าย ไม่เข้าไปกำหนดชะตากรรมของตัวละครเพื่อสร้างโศกนาฏกรรมเรียกน้ำตาจากคนอ่าน เป็นไปได้ไหมว่า กนกพงศ์ไม่ศรัทธาน้ำตาแห่งความเศร้าโศกอีกต่อไปแล้ว วิธีการจบเรื่องของเขาจึงไม่สรุปชะตากรรมของตัวละครให้ชัดเจนลงไป โลกใบเล็กของซัลมานจึงมีตอนจบเรื่องที่ต่างออกไปจาก สะพานขาด

กนกพงศ์กับพื้นที่ของความไร้เหตุผล

ผลงานของกนกพงศ์หลายเรื่อง โดยเฉพาะในยุคแรกมาถึงยุคแผ่นดินอื่น ชะตากรรมของตัวละครของเขาล้วนอยู่ในเงื้อมมือของนักเขียนแทบทั้งสิ้น นักเขียนเป็นดั่งสัพพัญญู ผู้รู้แจ้งแทงตลอด แต่หลังจากนั้น ก้าวย่างในผลงานของเขาได้บ่งบอกชัดเจนว่า เขาไม่อาจแบกรับสภาวะของผู้รู้แจ้งแทงตลอดต่อไปได้อีกแล้ว ดังนั้น ในยุคนี้ตัวละครของเขาจึงมีพื้นที่ของความไร้เหตุผลเพิ่มเข้ามา ตัวนักเขียนจึงไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวละครได้ทั้งหมด และจุดหักเหสำคัญของเรื่องจึงเกี่ยวพันเข้ากับพื้นที่และภาวะของความไร้เหตุผล เป็นสภาวะที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผล
(Absurd) ราวกับตัวกนกพงศ์เองกำลังเผชิญหน้าอยู่กับสภาวะดังกล่าวด้วยเช่นกัน

จุดนี้เองที่ฉันเชื่อว่า กนกพงศ์ได้ก้าวข้ามพรมแดนความคร่ำครึของนักเขียนไปได้ (ความคร่ำครึของนักเขียนที่ว่านั้น คือความเชื่อที่ความเข้าใจว่านักเขียนเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดต่อสรรพสิ่งและความเป็นไปของโลก ราวกับนักเขียนได้รับสมญาของพระเจ้า) และเขาได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของวรรณกรรมไทย

กนกพงศ์กับผลงานที่ปรากฎออกมาหลังจากที่เขาได้ตายไปแล้ว

มีแต่นักเขียนที่ตายไปแล้วเท่านั้น ที่จะสร้างสรรค์ผลงานอันทรงพลังได้ คำกล่าวนี้มีนัยยะให้ตีความหลายด้าน ด้านหนึ่งอาจเป็นการปลุกกระตุ้นให้นักเขียนมีพลังสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง และเป็นการตั้งเป้าหมายของผลงานเอาไว้จนสูงส่ง ขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นว่า ภายหลังจากที่นักเขียนตายลง ผลงานของเขาเหล่านั้นก็ได้โอกาสทยอยตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ในปริมาณความถี่ที่มากกว่าเมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตเสียอีก กรณีของกนกพงศ์ก็ไม่ต่างกัน

หลังจากกนกพงศ์ตายลง ผลงานของเขาทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และกวีนิพนธ์ ต่างทยอยตีพิมพ์ออกมาในนามของสำนักพิมพ์นาคร รวมถึงในนิตยสารเรื่องสั้น "ราหูอมจันทร์" ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยแรงบันดาลใจของกนกพงศ์เอง รวมพลังกับกลุ่มนาคร  ราหูอมจันทร์ Vol.6 (กรกฎาคม-กันยายน 2552) มีเรื่องสั้น "มูลค่า" ของกนกพงศ์ตีพิมพ์อยู่ด้วย

 
 

กนกพงศ์กับมูลค่าทางสังคม

ในเรื่องสั้น "มูลค่า" นี้ นับว่าเป็นเรื่องสั้นที่กนกพงศ์ได้ทอดอารมณ์อ้อยอิ่งอยู่ในสภาวะอารมณ์เพียงหนึ่งเดียว เป็นเรื่องสั้นที่เขาได้โยกย้ายมุมมองออกจากเรื่องสั้นอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์มาก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด 

กนกพงศ์มีมุมมองเฉพาะตัวที่มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวที่ฝังลึกอยู่ในสังคม ผ่านสายตาที่กลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี อย่างคนที่พยายามจะเข้าใจโลกทุกแง่มุม ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานทางความคิดที่นักเขียนต้องเคี่ยวกรำอย่างหนัก ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการลงมือเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกนกพงศ์

เพราะเขามีความปรารถนาอย่างไม่ลดราวาศอก ที่จะเขียนเรื่องสั้นให้ได้สมบูรณ์แบบมากที่สุด ครบถ้วนทุกใจ เพื่อขับเน้นประเด็นของเนื้อหาให้แจ่มชัดขึ้น โดยที่ไม่ด่วนสรุปให้เป็นประเด็นของแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ฉะนั้น หลายครั้งหลายคนที่เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นของกนกพงศ์ พวกเขามักจะพบว่า ข้อมูลจากหลายแง่มุมได้ทบท่วมเข้ามา เพื่อนำพาเราไปสู่ใจกลางของประเด็นอันใหญ่หลวงที่กนกพงศ์นำเสนอนั้น ขณะเดียวกัน พวกเขากลับรู้สึกราวกับถูกเทศนาจากศาสดาแห่งโลกวรรณกรรม เป็นความรู้สึกราวกับถูกยัดเยียดให้มองโลกด้วยสายตาคนอื่น นั่นคือสายตาของกนกพงศ์นั่นเอง

หากจะกล่าวว่า กระบวนการสื่อสารเช่นนี้ เป็นการสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์คงไม่ผิดนัก
เนื่องจากมันไม่ได้ก่อให้เกิดกระบวนการ "คิดต่อ" มากกว่า "คิดตาม"
ถ้าเป็นเช่นนั้น ย่อมต้องถือว่า กนกพงศ์ล้มเหลวในแง่ของการสื่อสาร
 

สภาวะเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานอันเคร่งครัดของกนกพงศ์เอง...เป็นไปได้ไหมก็ไม่อาจทราบได้ เพียงแต่คาดเดาเท่านั้น เนื่องจากฉันไม่รู้จักกับกนกพงศ์เป็นการส่วนตัว และฉันคิดว่าจุดนี้ต่างหากที่กนกพงศ์พยายามจะมองไม่เห็น

และเป็นไปได้ไหมว่า คนรอบข้างเขาเองต่างก็มองไม่เห็นว่าจุดนี้เป็นจุดที่จะหักเหก้าวย่างของเขาได้ชัดเจนที่สุด รวมไปถึงมีส่วนให้ผลงานของกนกพงศ์สลัดคราบของสัพพัญญูไปสู่พรมแดนใหม่ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และเต็มไปด้วยชีวิตชีวาอย่างใหม่

ในจุดนั้นเอง สภาวะของการยัดเยียดก็จะหมดไป และผลงานของเขาจะถูกอ่านอย่างกว้างขวางมากขึ้น  
เหมือนกับเรื่องสั้น "มูลค่า" ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้

เรื่องสั้นนี้ (แม้จะเป็นเรื่องแต่ง) ฉันอ่านด้วยความรู้สึกเศร้าลึกและเต็มตื้นไปด้วยความเสียดาย เนื่องจากหากเรื่องสั้น "มูลค่า" เรื่องนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาก่อนที่เขาจะตาย ฉันเชื่อว่าบางทีกนกพงศ์อาจจะยังมีชีวิตอยู่มาถึงทุกวันนี้ และผลงานของเขาจะสามารถก้าวพ้นออกมาจากพรมแดนของความเป็นกนกพงศ์อย่างแท้จริง

มูลค่า เป็นเรื่องสั้นที่กล่าวถึง "มูลค่า" ของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเพียงส่วนเสี้ยวเดียว การทำตัวให้เป็นบุคคลสำคัญ กับการทำตัวให้เป็นบุคคลไร้ความสำคัญ นั้น ถือเป็นกระบวนการสร้างความเหนือชั้นให้แก่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้อยู่เหนือกว่าสิ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในโลกธุรกิจ

ในเรื่องนี้ กนกพงศ์ได้แสดงให้เห็นถึงการแปรสภาพของอุดมคติเรื่องมูลค่ากับคุณค่า การย้ายมูลค่าออกจากสิ่งที่มีคุณค่า หรือเรียกว่า การย้ายอุดมคติเรื่องของคุณค่า

โดยเปลี่ยนจาก
สิ่งหนึ่งจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันได้มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง หาได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของมูลค่า
มาเป็น
สิ่งหนึ่งจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันมีมูลค่า โดยมูลค่านั้นถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ

ยกตัวอย่าง ภาพปกหนังสือรวมเรื่องสั้นของ "ผม" ที่เมื่อก่อนเคยว่าไหว้วานเพื่อนผู้มีฝีมือด้านศิลปะออกแบบภาพปกให้ ในราคาไม่เกินห้าพันบาท แต่เมื่อ "ผม" ได้ตัดสินใจว่าจ้างให้ "เขา" นักเขียนหนุ่มเจ้าของรางวัลวรรณกรรมระดับประเทศที่หนุ่มที่สุด เป็นลูกชายเจ้าพ่อสื่อสิ่งพิมพ์และมัลติมีเดีย เป็นคนที่มีชื่อเสียงกว้างขวางในวงการบันเทิง "เขา" ตกลงรับออกแบบปกหนังสือให้ผม ในราคาหลักหมื่นบาท ซึ่งผลงานที่เขาส่งมาให้นั้น เป็นเพียงวงกลมง่าย ๆ กับเส้นสายไม่กี่เส้น ผิดกันลิบลับกับผลงานศิลปะของเพื่อนผม ที่ใช้สีสันและสายเส้นอย่างงดงาม 

แต่ในเมื่อ "เขา" คนนั้น เป็นบุคคลที่มีมูลค่าทางสังคม ทุกสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป มันช่างดูน่าชื่นชมไปทั้งหมด แม้แต่เสียงที่เขาใช้คุยโทรศัพท์ กติกาการรับเงินค่าจ้าง ท่วงท่ากิริยาในร้านน้ำชาที่เขาและผมได้พบกัน มันช่างสง่างามอย่างล้นเหลือ นอกจากนั้น ผมที่ได้ปฏิสัมพันธ์กันเขา ยังรู้สึกหัวใจพองคับอก เมื่อได้รู้จักกับเขาเป็นการส่วนตัว และเมื่อได้นึกถึงห้วงยามของการพบปะครั้งนั้น

"ดูมันจะเป็นมูลค่าที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง" เหมือนกนกพงศ์จะมีน้ำเสียงเยาะหยันอยู่ในที แต่เป็นน้ำเสียงแบบทีเล่นทีจริงมากกว่าจะจริงจัง นอกเสียจากคนอ่านจะรู้สึกต่อไปได้เอง

นอกจากนี้เรื่องสั้น "เด็กหญิงทั้งสาม" ของกนกพงศ์ที่ลงพิมพ์ในราหูอมจันทร์ Vol.7 (มกราคม-เมษายน 2553) ยังเป็นเรื่องสั้นที่ส่งสัญญาณบอกว่า กนกพงศ์ได้ก้าวมาสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างยิ่งจุดหนี่งในชีวิตนักเขียนของเขา เนื่องจากเรื่องสั้นนี้ ได้กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายอุดมคติของคนที่ต่อต้านวัตถุนิยมออกมาด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรมากกว่าจะเยาะหยัน ดูราวกับเขาเองสามารถเปิดใจยอมรับสิ่งที่เป็นปราการอันหนึ่งในสังคมได้

 


 

แม้ว่าเรื่องสั้น "เด็กหญิงทั้งสาม" นี้จะเขียนไม่จบ และฉันก็ไม่อาจจะคาดเดาตอนจบเรื่องได้ แต่ฉันก็ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้อ่านเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เนื่องจากมันเป็นเรื่องสั้นที่ได้ก้าวพ้นไปจากพรมแดนของความล้มเหลวในตัวตนของเขา

มูลค่าที่เขาสร้างขึ้นมันเป็นสิ่งเดียวกับคณค่าที่เขาเข้าใจ. 

 

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…