Skip to main content

  

และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล

ที่ว่านักเขียน "อย่างอุทิศ" นั้นก็เพราะ เขามีลักษณะพิเศษบางอย่าง โดยเฉพาะความจริงใจในคำพูด เขาไม่อ้อมค้อมหรือติดนิสัยพูดเอาดีเข้าตัวอย่างนักเขียนบางคน ตอนที่อ่านหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ที่รายงานข่าวซีไรต์ อุทิศ

ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจ และปลอดโปร่งที่รู้ว่าตัวเองได้รับรางวัลนี้ เพราะตั้งแต่เข้ารอบก็ลุ้นอยู่เหมือนกัน สิ่งแรกที่อยากทำคือโทรศัพท์ไปหาแม่ เพื่อจะบอกข่าวดี นั่นแสดงให้เห็นถึง ความนับถือตัวเองของอุทิศ ขณะที่เขาก็ให้เกียรติรางวัลซีไรต์ (ดูจากคำว่า "ลุ้น" ) ขณะที่เคยมีนักเขียนหลายคนที่ "ลุ้น" เหมือนกัน แต่กลับให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้ลุ้นอะไร หรือมองข้ามช็อตซีไรต์ไปแล้ว หรือไม่ก็พูดว่าซีไรต์ก็เป็นเรื่องของซีไรต์ เราเป็นเพียงนักเขียนตัวเล็ก ๆ ถ้อยคำเหล่านี้จากหลายนักเขียน จากหลายครั้งปีที่เคยได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง ทำให้รู้สึกว่า ไอ้คำพูดดูดี ฟังเท่เหล่านี้ ไม่รู้ทำไมมันจึงได้ระคายหูเหลือเกินนะ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าจะหาความจริงใจจากนักเขียน จงอย่าฟังที่เขาพูด แต่ให้ "อ่าน" ผลงานของเขา

 

นี่เป็นเพียงฉากหนึ่งในหลากหลายพฤติกรรมนักเขียนบ้านเรา ที่ผู้อ่านอย่างเรา ๆ จะเรียกร้องหาความจริงใจจากนักเขียนแทบไม่ได้เลย ฉันจึงลงความเห็นว่า เราควรอ่านวรรณกรรม โดยละเลยที่จะไม่กล่าวถึงตัวนักเขียน ต้องให้ความสำคัญกับ "ตัวบทวรรณกรรม" เป็นสำคัญ เพราะนักเขียนก็หาใช่เทวดาชั้นฟ้าที่ไหน เขาเป็นคนประเภทที่มีความสามารถด้านภาษา มีจินตนาการสร้างสรรค์ แต่ไม่ได้หมายความว่า เขาจะวิเศษกว่ามนุษย์ปุถุชนอย่างเราไปเสียหมด ไม่ใช่หรือ

 

เช่นเดียวกับรางวัลซีไรต์ ที่อายุอานามก็ปาเข้าไปสามสิบกว่า ๆ ถ้านับเป็นคนก็ยังหนุ่นแน่น สาวเซียะ แต่รางวัลซีไรต์ไม่ใช่คนนะจ๊ะ เขาดำรงตนเยี่ยงสถาบัน หรืออย่างน้อยก็ดำรงสถานภาพของตนของเป็นสถาบัน มันจึงไม่หนุ่ม หรือไม่มีวันหนุ่ม ตรงกันข้ามคือ แก่ตั้งแต่เกิด หรือเกิดมาก็เป็นอัมพาตไปเสีย ไม่ต่างจากยักษ์ปักหลั่น ที่ดีแต่ทำตัวใหญ่โข

ดูคล้ายมีอำนาจอิทธิพล หรือขนานหนักก็ทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง

 

ลองมาดูองค์ประกอบรางวัลซีไรต์แบบผิวเผินกันสักหน่อย

1.ผู้ก่อตั้ง ผู้สนับสนุน (สปอนเซอร์)

2.คณะกรรมการดำเนินงาน รวมถึงสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

3.นักเขียน ผู้ส่งผลงานร่วมประกวด

4.นักอ่าน

5.สำนักพิมพ์

6.สถาบันการศึกษา

 

เราจะเห็นได้ว่า ผู้ก่อตั้งและคณะกรรมการดำเนินงานได้พยายามยกระดับซีไรต์ให้เป็นสถาบันเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งอันทรงพลัง จะแตะต้องได้หรือแตะต้องไม่ได้ไม่ทราบ แต่มีตราสัญลักษณ์ของอำนาจอันสูงสุดเป็นผู้ส่งมองรางวัล เพราะพิธีมอบรางวัลจะต้องมีบุคคลในราชวงศ์ระดับสูงเป็นผู้ส่งมอบ ถือเป็นพิธีกรรมที่ส่งไม้ต่อความศักดิ์สิทธิ์ไปในตัว

 

อีกอย่างหนึ่งคือ คณะกรรมการดำเนินงาน ซึ่งส่วนใหญ่มีตรานักวิชาการนำหน้า อันแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางปัญญา ทำให้เกิดทัศนะคติประเภท ใครอ่านหนังสือซีไรต์จะดูเป็นคนฉลาด มีภูมิกว่าอ่านหนังสือแฉดารา หนังสือนิยายเกาหลี นี่เป็นเพียงภาพลักษณ์ของซีไรต์ แต่อย่าลืมว่าภาพลักษณ์เหล่านี้ดำรงอยู่เพียงฉาบฉวยเท่านั้น เพราะนับวันยอดขายหนังสือรางวัลซีไรต์ก็ดิ่งลงต่ำเรื่อย ๆ คล้ายกับภาพลักษณ์ฉาบฉวยเหล่านี้กำลังจุดระเบิดตัวเองทีละจุด

 

จากยอดขายที่ไม่กระเตื้องขึ้นเลย ทำให้พอจะสรุปได้ว่า รางวัลซีไรต์ไม่ใช่แรงจูงใจสำคัญสำหรับนักอ่านอีกต่อไปแล้ว ความมีปัญญา ความทรงภูมิ ไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือซีไรต์อย่างเดียว นอกจากกรณีของครูที่บังคับให้นักเรียน นักศึกษาที่สอบตกวิชาภาษาไทย ไปซื้อหนังสือรางวัลซีไรต์ เล่มใดก็ได้มาส่งครู หรือในกรณีที่นักเรียน นักศึกษาซื้อมาอ่านเพื่อการศึกษา ทำรายงาน แต่ตรงนี้วงเล็บไว้ว่า สื่อความรู้ไม่ได้อยู่ในหนังสืออย่างเดียวเท่านั้น เรามีอินเตอร์เน็ตให้ใช้อย่างกว้างขวางในวงการศึกษา ดังนั้นการอ่านหนังสือจึงไม่ต้องพึ่ง "หนังสือเล่ม" แต่อย่างเดียว เพราะบทความที่กล่าวถึงหนังสือต่างโพสต์กันในเว็บไซต์ต่าง ๆ ให้เลือกเสาะหาตามสะดวก นี่มันคลื่นลูกที่สามนะจ๊ะ ไม่ใช่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

ฉะนั้น หากซีไรต์ยังคงทนุถนอมความศักดิ์สิทธิ์แบบเดิม ๆ โดยไม่เคลื่อนไหวใด ๆ ไปพร้อมกับกระบวนการเคลื่อนไหวในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมแล้ว ซีไรต์จะยืนเป็นยักษ์ปักหลั่นหน้าทู่มองตาปริบ ๆ ขณะที่ภาคส่วนอื่นเคลื่อนที่กันขนานใหญ่ ตอนนั้นซีไรต์อาจได้รับฉายาเป็นจระเข้ขวางคลองไปอีกชื่อหนึ่ง

 

ยิ่งหากอ่านผลงานที่ได้รางวัลซีไรต์ เราจะเห็นเลยว่า ผลงานไม่ว่าจะเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกวีนิพนธ์ เป็นอันต้องมีเค้าโครงหรือมีกลิ่นอายของงานสกุลเพื่อสังคม หรือเพื่อชีวิต หรือประเภทเหมือนจริง อยู่นั่นเอง เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นวรรณกรรมสกุลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็กซ์ เรื่องความวิปริตทางเพศ เรื่องสุนทรีย์ เรื่องผีสาง เรื่องวิทยาศาสตร์ หรือสกุลอื่น ๆ เลย เพราะอะไรหรือ หรือเพราะซีไรต์ซึ่งยึดถือตัวเองเป็นสถาบันอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องรักนวลสงวนตัว หรือเพราะต้องดำรงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ของสถาบันสูงสุด

 

ที่ผ่านมา ซีไรต์เคยลืมหูลืมตาสนทนากับความเปลี่ยนแปลงที่สังคมทุกภาคส่วนกำลังเคลื่อนไหวอยู่หรือเปล่า ไม่ต้องพูดถึงภาคเอกชนหรือธุรกิจเลย ไม่มีวันตามเขาทัน หรือถึงจะตามทันก็ทำเป็นสงวนตัว ไม่อยากข้องแวะกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อันนี้ไม่ทราบว่าทำไมบรรดานักเขียนเขาจึงกลัวคำว่า "เงิน" กันมากแท้ พอมีการได้รับรางวัลที่เป็นตัวเงินเมื่อไหร่ ไม่กล้ายอมรับความจริงกัน แล้วทำไมนักเขียนจึงไม่อาจยอมรับได้ว่า ผลงานของตัวเองนั้นก็ถือเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ตัวนักเขียนก็เป็นผู้ผลิตคนหนึ่งในตลาดบริโภค

 

แต่เราก็ไม่ลืมว่า การบริโภคหนังสือนั้นไม่ใช่ยุติอยู่ที่ขั้นตอนของการซื้อขายจ่ายเงิน แต่หนังสือซื้อมาแล้วต้องใช้เวลาอ่านด้วย ดังกิจกรรมการบริโภคหนังสือจึงไม่ได้หยุดอยู่กับที่ มันก่อให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวในทางความคิดได้

และเราต้องรู้ด้วยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคหนังสือได้เปลี่ยนไปพร้อมกับภาคสังคมอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นซีไรต์จะรอให้ครบรอบตัดสินในแต่ละปี โดยที่ไม่ริเริ่มทำกิจกรรมใดเลย ก็เท่ากับว่าซีไรต์ได้วางระเบิดตัวเองอย่างที่บอก

 

หากรางวัลนี้มีเจตนาในการสร้างสรรค์จริง ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะสร้างสรรค์เสียบ้าง จะยืนสวมชฎารอความตายหรือไงไม่ทราบ ถ้าซีไรต์ตาย กลุ่มที่หวังเกาะกระแสซีไรต์คงสิ้นหวังไปตามกัน หรือหากฉันจะเขียนผิดพลาด ก็คงผิดเพราะเข้าใจผิดว่าซีไรต์ยังไม่ตาย เพราะแท้จริงแล้ว ซีไรต์ได้ตายไปตั้งนานแล้ว

 

หรือเพราะแท้จริงแล้ว ซีไรต์ไม่เคยเป็นที่ให้ยึดเกาะอันมั่นคงของทั้งสำนักพิมพ์ และนักเขียนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะซีไรต์เป็นแต่เพียงหน้ากากสวมชฎาของสำนักพิมพ์ที่พิมพ์วรรณกรรมเพื่อเอาหน้า เพราะเขามีรายได้จากยอดพิมพ์ยอดขายหนังสือแนวอื่นเป็นพื้นฐานอันมั่นคงอยู่แล้ว หรือจะเป็นเพียงหน้ากากสวมชฎาให้นักเขียนเปี่ยมความหวังบางคนแปะไว้ข้างคอมพ์ ไว้เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเอง หวังว่าสักวันตัวเองจะมีโอกาสขึ้นเวทีซีไรต์

ซีไรต์เป็นได้แค่นี้จริง ๆ หรือ

 

ทั้งนี้ในฐานะรางวัลซีไรต์สามารถดำรงตัวอย่างสง่างาม สมภาคภูมิมาได้จนอายุปูนนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียทีเดียว

มันย่อมมีข้อดีอยู่บ้าง

 

โลกเคลื่อนที่อยู่ทุกขณะ ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมก็เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา วิทยาศาสตร์ได้สร้างปรากฎการณ์แห่งความเคลือบแคลงใจอันเต็มไปด้วยข้อกังขา ขณะที่ข้อเท็จจริงมีอายุสั้นลงเรื่อย ๆ แต่ซีไรต์ยังมัวนุ่งผ้าโจงกระเบน เคี้ยวหมากหยับ ๆ ทำตัวเป็นสถาบันส่งเสบียงให้กองทัพผู้โหยหาอดีต เห็นทีจะต้องเอาตัวใครตัวมันแล้วล่ะ

 

ถึงตอนนั้น คำว่า "คุณค่าวรรณกรรม" ที่คงมีอรรถประโยชน์อยู่บ้าง อาจเป็นเพียงป้ายโฆษณาชวนเชื่อที่ไร้น้ำยาในวงการตลาด หมดโอกาสจะสานต่อคุณค่าอันแท้จริง ซึ่งทุกวันนี้ก็ได้เลือนเลอะไปแล้ว.

หมายเหตุ แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม