นายยืนยง
ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า
ผู้แต่ง : เจน ไรซ์
ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง
พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
เรื่องสั้นชื่อเกลื่อน ๆ อย่าง มนุษย์หมาป่า เล่มนี้ ไม่ใช่เรื่องสั้นธรรมดาเสียแล้วล่ะ ความรู้สึกแรกที่เลือกมาอ่านก็เป็นแค่ความรู้สึกอย่างง่าย ๆ ในการจะอ่านหนังสือเล่มบาง ๆ สักเล่ม คงใช้เวลาไม่เกินสามสิบนาที เป็นอันจบเรื่อง แต่แล้วเรื่องง่าย ๆ สั้น ๆ อย่างนี้กลับไม่ธรรมดาขึ้นมาได้
เริ่มกันตั้งแต่ราคาหนังสือที่น่ารักน่าเอ็นดูมาก คือ หกสิบบาท ประเมินดูขนาดเล่มกับราคานับว่าสมน้ำสมเนื้อ ส่วนพิเศษอื่นนอกเหนือจากเนื้อหาของเรื่องสั้นแล้ว คือ ความเป็นมาของสำนักพิมพ์หนึ่ง สำนักพิมพ์น้องใหม่ที่เขาออกตัวว่า ก่อตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2008 เปรียบตัวเองว่าเป็นสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ที่จนเหมือนโกหก แต่รักวรรณกรรมชั้นเลิศแทบบ้า อีกทั้งยังเชิญชวนผู้มีใจรักป่าวรรณกรรมเข้าหุ้นลงขัน ถือเป็นการลงทุนที่ลืมผลตอบแทนในอนาคตไปได้เลย จะว่าเป็นการกุศลก็หาไม่ เพราะไม่อาจนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย เรียกง่าย ๆ ว่า ถ้าใจถึงก็เชิญ ง่าย ๆ อย่างงี้แหละ
ผลงานที่สำนักพิมพ์หนึ่งได้จัดพิมพ์ออกมาวางจำหน่ายมีหลายประเภท ล้วนแล้วเป็นหลายประเภทที่ขายได้ยากเย็นเข็ญใจที่สุด แม้นว่าจะตั้งราคาขายไว้ต่ำเพื่อเป็นเครื่องล่อลวงเงินในกระเป๋าผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ฉันเป็นคนหนึ่งที่นิยมชมชอบคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดฝัน ใฝ่ฝันและปฏิบัติไปพร้อมกัน ใครสนใจใคร่จะรู้จัก หรืออยากลงทุนร่วมหุ้นกับเขา ก็เชิญสืบถามได้ตามสะดวกใจนะจ๊ะ
มาเข้าเรื่องแม่มิลลีผู้หม่ำมนุษย์หมาป่ากันต่อดีกว่า
มนุษย์หมาป่า เป็นตำนานที่สิงอยู่ในโลกของเรื่องแต่งมานานเนแล้ว โดยมากจะเป็นแนวสยองขวัญ แฟนตาซี ไม่เน้นเกี่ยวข้องกับเรื่องสังคมการเมืองใด ๆ แต่กับมนุษย์หมาป่า ผลงานของนักเขียนชื่อไม่คุ้นหู นามว่า เจน ไรซ์ ผู้นี้ กลับถูกนำไปตีความในเชิงสังคมการเมือง ดังที่ในหนังสือได้แอบอธิบายแก่เราผู้อ่านไว้อย่างกระมิดกระเมี้ยน อันจะกล่าวถึงต่อไป
เนื่องจากมิลลี คุชแมน สาวสวยเปรี้ยวอมหวานจากมลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ลูกสาวพ่อค้าเนื้อรายใหญ่ หล่อนหลงใหลในวิถีชีวิต ผู้คนและงานสังสรรค์อย่างชาวปารีเซียง หล่อนตกอยู่ในห้วงยามอันสลดหดหู่ของภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง สภาพอดอยากแร้นแค้น เป็นอารมณ์ซึมเศร้าพร้อมทั้งระลึกถึงความรื่นเริงของปาร์ตี้เมื่อวันวานของปารีส คิดถึงช่อกุหลาบ คิดถึงน้ำหอม เสื้อผ้าแพรพรรณอันงดงามมีรสนิยมทั้งหลาย อยู่ ๆ การปรากฎกายของหนุ่มน้อยร่างกายกำยำล่ำสันในสวนข้างหน้าต่างของหล่อน ก็ชวนให้หัวใจเริงโลดไป หล่อนคิดถึงหนุ่มน้อยผู้ไร้อาภรณ์ห่อหุ้มร่างกายอยู่ตลอดเวลา คิด ๆ อยู่ว่าเขาจะคิดถึงหล่อนบ้างไหม เขาจะกลับมาไหมนะ เจ้าหนุ่มผู้มีแผงอกอันแข็งแรง ท่อนแขนแข็งแรงคนนั้น
กระทั่งมาเรีย สาวรับใช้มาแจ้งว่า ชายชราเพื่อนบ้านของหล่อนตายเสียแล้ว เขาตายเพราะถูกกิน! และพบเห็นรอยเท้าสัตว์ใหญ่ในสวนบ้านหล่อนด้วย หัวใจของมิลลีสั่นไหว ขณะเดียวกันหล่อนก็คิดถึงหนุ่มน้อยปริศนาคนนั้นแทบทุกลมหาย หล่อนถึงกับวางแผนให้มาเรียกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดชั่วคราว เพื่อจัดการกับอะไรบางอย่างที่ระอุอยู่ในใจของหล่อน
และแล้วหนุ่มน้อยในฝันของหล่อนก็กลับมา หล่อนพบเขานอนหลับใต้ต้นไม้ในสวน หล่อนออกปากเชิญชวนเขาให้เข้ามานอนพักผ่อนในบ้าน ตระเตรียมเสื้อผ้าอาหารให้เขาได้สวมใส่ พยายามปรนเปรอเขาด้วยถ้อยคำหวานหยาดเยิ้ม และรสสัมผัสของสตรีเพศ
ตลอดเวลาที่อ่าน ”มนุษย์หมาป่า” ฉันนึกถึงเรื่องสั้นของนักเขียนอมตะอย่าง กีย์ เดอ โมปาส์ซังต์ บรมครูแห่งการเขียนสไตล์หักมุม จบแบบคาดไม่ถึง ต่อให้มีประสบการณ์ในการอ่านเรื่องสไตล์หักมุมมากแค่ไหน ก็ยังมีภูมิคุ้มกันอาการคอเคล็ดจากการอ่านเรื่องสั้นของ กีย เดอ โมปาส์ซังต์ ไม่ได้ เช่นเดียวกันกรณีของ “มนุษย์หมาป่า” ผลงานของ เจน ไรซ์ เล่มนี้
เพราะฉันเดาว่าท้ายสุดแล้ว ไม่ใช่ก็ใครต้องตายอย่างอนาถ ที่แน่ ๆ น่าจะเป็นแม่นางมิลลี สาวสวยเปรี้ยวอมหวาน นางเอกของเราคนนี้ หล่อนต้องถูกมนุษย์หมาป่าขย้ำคอขณะเริงสวาทกันเป็นแน่ เลือดคงไหลเป็นเส้นสีสดสวยตามศพของหล่อน ถ้าจบอย่างนี้ เหมือนอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น เป็นการแสดงออกถึงอะไรได้บ้าง อย่างแรก ๆ ฉันว่าเป็นการเทศนาอย่างหนึ่ง ที่มุ่งเน้นจะตักเตือนมนุษย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้หญิงทั้งหลายที่ร่านสวาทเสียไม่รู้จักพอ หนำซ้ำยังโง่โข่งบรมเลยทีเดียวที่ยอมให้อารมณ์ฝ่ายต่ำยั่วเย้าให้ตนต้องเดินไปในหนทางอันไม่ถูกไม่ควร เขาสอนให้พึงรู้จักระงับ ระแวดระวังในกามารมณ์ของตนเอง อย่าหลงเพริดเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไม่เช่นนั้น มีภัยแน่ แต่เรื่องนี้ไม่ได้จบอย่างที่เราคุ้นเคยน่ะซี ฉันเดาพลาดไปถนัด...
เพราะมิลลี คุชแมนของเรา เป็นสาวเปรี้ยวอมหวาน ผู้ชาญฉลาด และใช้เสน่ห์เล่ห์พรายแบบสตรีเพศยั่วเย้าให้มนุษย์หมาป่าในตอนที่ยังไม่แปลงร่างเป็นหมาป่าตายใจ เชื่อสนิทว่าหล่อนนั้นเป็นสตรีแบบโง่เง่า ร่านราคะและที่สำคัญมีเนื้ออร่อย เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นอาหารมื้อพิเศษ
เรื่องจบลงตรงที่... มิลลีได้หม่ำเนื้อมนุษย์หมาป่าเสียอิ่มเอมจนเผลอเรอออกมาอย่างเปรมใจ หลังจากอดอยากแร้นแค้นมาเสียนานนมเนื่องจากภาวะสงคราม หนำซ้ำ มาเรีย สาวใช้ยังไม่อยู่คอยแบ่งสันปันส่วนมื้อพิเศษนี้อีกต่างหาก
การจบเรื่องแบบหักมุมอย่างนี้ ทางสำนักพิมพ์เขาบอกไว้ว่า เป็นการใช้สัญลักษณ์ในเชิงสังคมการเมือง ชื่อมนุษย์หมาป่า นั้น เป็นชื่อแผนปฏิบัติการของนาซีเยอรมัน แต่กลับถูกทำลายลงจนสิ้นฤทธิ์โดยอเมริกา เช่นเดียวกันกับ มนุษย์หมาป่า ที่ถูกสาวอเมริกันจัดการเขมือบเสียอิ่มหนำ ทั้งที่ยังไม่ได้แผลงฤทธิ์แปลงร่างเป็นหมาป่าในคืนพระจันทร์เต็มดวงเสียด้วยซ้ำ
งานนี้ใครจะตีความไปอย่างไรก็สุดแล้วแต่ ส่วนฉันเห็นว่า ในฐานะนักเขียน เจน ไรซ์ อาจกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับความซ้ำซากของผลงานที่ดาษดื่นอยู่ในตลาดหนังสือขณะนั้น ความเคยชินที่มากขึ้น ๆ ทุกทีก็กลายเป็นความน่าเบื่อชวนระอาได้เหมือนกัน ฉะนั้น การที่สำนักพิมพ์บอกว่า เจน ไรซ์ ใช้เรื่องสั้นนี้ในการสื่อสัญลักษณ์ในทางสังคมการเมืองหรือสงครามดังกล่าวข้างต้นนั้น ออกจะเป็นเรื่องขำขันไปสักเล็กน้อย เรื่องอย่างนี้มันขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้อ่านมากกว่าแนวคิดตั้งต้นของนักเขียนมากกว่า
เช่นเดียวกันผลงานของ กีย์ เดอ โมปาสซังต์ ที่แปลเป็นภาษาไทยโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ เจ้าของสำนวนชวนติดตราตรึงใจ เหตุที่กีย์ เดอ โมปาสซังต์ โด่งดังขึ้นมาได้นั้น เป็นเพราะผลงานของเขามีความโดดเด่นขึ้นมาจากซากอันซ้ำซากจำเจของตลาดหนังสือในสมัยของเขา นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น และทำให้เราต้องยอมรับว่า ความซ้ำซากก็เป็นบ่อเกิดแห่งการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งด้วย
อาษา ขอจิตต์เมตต์ เขียนเกี่ยวกับประวัติของ กีย์ เดอ โมปาสซังต์ ไว้ว่า แม่ของเขาและลุงทางฝ่ายแม่เป็นเพื่อนสนิทกับ กุสตาฟ โฟล์แบร์ ผู้แต่งนวนิยายเรื่อง มาดาม โบวารี หลังจากกุสตาฟ โฟล์แบร์ ตายลง กีย์ เดอ โมปาสซังต์ก็เริ่มมีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เขาทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันสไตล์ของเขาก็เป็นที่นิยมชมชอบของบรรดานักอ่านทั้งหลายในขณะนั้น รวมถึงขณะนี้ด้วย
สไตล์การเขียนของกีย์ เดอ โมปาสซังต์นั้น ที่จับใจมาจนถึงทุกวันนี้เห็นจะเป็น พลังเร้าใจที่เต็มเปี่ยมในตัวอักษรของเขา อ่านแล้วมีอันต้องเคลิบเคลิ้มตามไปด้วย ทั้งที่เขาเพียงพรรณนาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่สลับซับซ้อนแต่อย่างใด ติดตามด้วยพฤติการณ์อันเร้าใจเข้มข้นที่สุด ก็เท่านั้นเองสไตล์ของเขา แต่ทำมั้ย ทำไม เราจึงเคลิบเคลิ้มนัก ทำไมผลงานของเขาจึงตราตรึงได้ถึงเพียงนี้
เป็นไปได้ไหมว่า พลังเร้าใจที่บรรจุอยู่ในเรื่องสั้นของเขา เป็นพลังที่ซ่อนอยู่ในจิตในของเรา หรือซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ทุกขณะที่เราอ่าน ทุกขณะที่เราถูกกระตุ้นด้วยภาษาอันเป็นเสมือนการถอดรหัสอารมณ์ลึก ๆ นั้น เป็นเสมือนการปลดเปลื้องเราออกทีละน้อย ๆ กระทั่งถึงที่สุดแล้ว ในตอนจบเรื่อง เรากลับไม่เห็นในสิ่งที่เราปรารถนา เพราะมันเป็นการจบเรื่องแบบหักมุมเสมอเลยทีเดียว คล้ายกับการได้ตื่นจากโลกแห่งความไม่จริง กลับมาสู่โลกแห่งความจริงอีกครั้งหนึ่ง
สภาวะดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นได้กับการเสพงานศิลปะแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะวรรณกรรมที่ต้องการสมาธิ และต้องอยู่ในภาวะหนึ่งนี้เพียงลำพัง ดังนั้น วรรณกรรมหรืองานศิลปะที่เราเรียกขานกันว่า “มีพลัง” นั้น น่าจะเกิดการปลุกกระตุ้นสภาวะจิตที่แฝงฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ให้ “สิ่งนั้น” ได้ตื่นขึ้นและเคลิบเคลิ้มไปตามอรรถรสของศิลปะนั้น ๆ สุดท้าย มันจะปลุกให้เราตื่นขึ้นมาพบเจอกับโลกแห่งความจริง หรือมันจะฝังเราให้จมดิ่งอยู่ในโลกแห่งความไม่เป็นจริงหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับการที่มิลลี คุชแมน ได้จัดการวางแผนจะหม่ำเนื้อมนุษย์หมาป่าให้อิ่มเอมในเรื่องมนุษย์หมาป่า ของเจน ไรซ์ นั้น มีกระบวนการปลุกพลังเร้าใจคล้ายคลึงกับสไตล์ของกีย์ เดอ โมปาสซังต์ ก็ว่าได้ แต่เจน ไรซ์ ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการปลดแอกความซ้ำซากจำเจของผลงานแนวหักมุมแบบกีย์ เดอ โมปาสซังต์ไปได้ โดยเขียนให้หญิงสาวที่เคยถูกใช้ให้ตกเป็น “เหยื่อ” มาชั่วนาตาปี กลายเป็นผู้วางแผน “ล่า” เสียบ้าง นับว่าเป็นการใช้วิธีแบบเดียวกันเพื่อหักร้างความซ้ำซากจำเจแบบเดียวกันไปได้ ฉันถือว่าเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่บรรพบุรุษนักประพันธ์ของโลกเมื่อร้อยปีที่แล้วได้เบิกทางไว้อย่างสง่างามทีเดียว.