การปฏิวัติทางจิตวิญญาณ..ณณ!

นายยืนยง

 

ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก

ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์

ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 ..2549

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน

 

หนังสือที่มีเนื้อหาว่าด้วยการค้นพบสิ่งใหม่ทั้งหลายล้วนอ้างถึงข้อมูล ลับบ้างไม่ลับบ้าง คละเคล้ากันไป ในฐานะของผู้อ่าน เราจะรู้ได้อย่างไรว่า บรรดาข้อมูลเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร ขณะที่เรายังคงว่ายเวียนอยู่ในทะเลแห่งข่าวสารข้อเท็จจริง ข้อมูลชนิดใดกันเล่าที่จะใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเราไว้ได้มั่นคง

 

ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง แม้จะเป็นคนละคำ แต่นัยความหมายที่ถูกนำมาใช้มักจะพ้องกันอยู่กลาย ๆ ด้วย และเราทั้งหลายในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่ง่ายสะดวกต่อการเข้าถึงกว่าในยุคก่อนนี้หลายเท่าตัว แต่เรากลับไม่ได้ให้ความเชื่อถือข้อมูลเหล่านั้นในเชิงข้อเท็จจริงอย่างจริงจังมากนัก นอกเสียจากข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้ในการอ้างอิงหรือแอบอ้างเพื่อให้ทัศนคติของเราดูเป็นจริงเป็นจัง น่าเชื่อถือมากขึ้น

 

ข้อมูลใหม่ ๆ ที่ถูกป้อนเข้าสู่คลังความจำของเราในยุคนี้ มักไม่ได้มาเพียงลำพัง หากแต่มันจะพ่วงเอาแนวคิด หนีบเอาทัศนคติมาพร้อมกันด้วย ถ้อยคำใหม่ ๆ วิธีคิดแบบใหม่ ๆ ก็ถูกลำเลียงมาตามสายพานข้อมูลเหล่านั้นพร้อม ๆ กัน ราวกับโลกแห่งการรับรู้ของเราเป็นดั่งสนามประลองทางทัศนคติ ในที่สุดความเรียบเฉยของข้อมูลก็พลิกโฉมหน้าเป็นสงครามแห่งมายาคติไปในที่สุด

 

เช่นเดียวกันหนังสือที่ได้รวบรวมเอาบทความเชิงวิชาการของท่านนักคิด นักเขียน ผู้ขึ้นชื่อในทางสำนักคิดทางจิตวิญญาณ บางท่านได้รับสมญาว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในกลุ่มผู้ให้ความเคารพนับถือ เล่มนี้

จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก

 

ในบรรดาผู้อ่านหรือผู้รับสารทั้งหลาย รวมทั้งฉันด้วย คงมีไม่น้อยที่เกิดข้อกังขาเมื่อได้รับรู้ถึงการกล่าวอ้างข้อมูลอันน่าเชื่อถือขึ้นมาสักข้อหนึ่งหรือหลายข้อระหว่างการอ่าน “ความคิด” ของบทความใด ๆ ในฐานะผู้อ่านอย่างเรา ๆ นั้น ไม่ค่อยได้มีโอกาสโต้แย้งเท่าไรนัก ราวกับผู้อ่านอย่างเรา ๆ นั้น ไม่เคยมีลิขสิทธิ์คุ้มครองความสงสัยในความน่าเชื่อถือเหล่านั้น คงไม่มีสถาบันใดหรอกที่จะรณรงค์คุ้มครองลิขสิทธิ์ผู้อ่าน ให้ห่างไกลจากข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือนเหล่านั้น

 

หรือในยุคของเรา ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง มีค่าเท่ากับข่าวลือ มีน้ำเสียงแบบกึ่งจริงกึ่งฝัน ทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อไปเสียแล้ว

 

มาดูกันว่า จักรวาลผลัดใบเล่มนี้ ใช้ข้อมูลเพื่อนำเราไปสู่อะไร จะเป็นการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ หรือเพื่อ

ประสานโลกใหม่ด้วยความเข้าใจ ก้าวสู่โลกใหม่ด้วยความเข้าถึง” อย่างที่ได้โปรยไว้บนปกหนังสือหรือไม่

 

เล่มนี้ประกอบด้วยบทความจากนักคิดนักเขียนหลายท่าน ดูที่รายการชื่อบทความที่เปี่ยมไปด้วยแรงดึงดูดเหล่านี้ก็ได้

 

กลับมาสู่คุณค่าแท้แห่งชีวิต

หน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์

ดุลยภาพแห่งการเรียนรู้

พ้นวิกฤตด้วยจิตวิวัฒน์

จิตวิวัฒน์กับการดับไฟใต้

ฯลฯ

 

ฉันขออนุญาตยกบางส่วนของบทความมาให้อ่านกันตรงนี้

จากบทความชื่อ หนึ่งนาทีก่อนเที่ยงคืน ของ พระไพศาล วิสาโล

 

ความรุนแรงทั้งมวลของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในช่วง 8,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง

มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกไม่น้อยกว่า 2 ล้านปีมาแล้ว แต่มีเพียง 10,000 ปีสุดท้ายเท่านั้นที่พบหลักฐานการทำสงครามหรือการสู้รบกันเป็นกลุ่มและอย่างเป็นระบบ และเมื่อศึกษาให้ละเอียดจะพบว่า การสู้รบอย่างนองเลือดจนล้มตายกันเป็นเบือนั้นกระจุกตัวอยู่ในช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลเชิงสถิติที่ได้จากบางส่วนของบทความข้างต้น ได้กลายเป็นเส้นแบ่งเพื่อจำแนกความรุนแรงระหว่างมนุษย์ด้วยกันเป็นยุคสมัย ทั้งนี้ได้สัมพันธ์กับความเป็นเหตุเป็นผลระหว่าง พื้นที่กับปริมาณ คือ พื้นที่อันเป็นแหล่งทรัพยากร กับปริมาณมนุษย์ที่ต้องการทรัพยากร ทำให้คิดไปว่า บ่อเกิดของการฆ่ากันเองของมนุษย์ค่อย ๆ พัฒนาการจาก การฆ่าโดยสัญชาตญาณเพื่อป้องกันตัวจากภัยร้ายต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอด รักษาเผ่าพันธุ์ของตน เช่นเดียวกับสัตว์โลกสายพันธุ์อื่น พัฒนามาเป็นการฆ่าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเผ่าพันธุ์ตนเองในอนาคต เพื่อลูกหลาน หรือจะกล่าวว่า ฆ่าเพื่อปัจจุบัน พัฒนามาเป็น ฆ่าเพื่ออนาคต อันนี้กล่าวอย่างหยาบ ๆ เท่านั้นนะ อย่าจริงจัง

 

หรืออีกบทความหนึ่ง ที่แม้แต่ฉันเองก็เคยนำไปกล่าวอ้างเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้บทความของตัวเองมาแล้วในบทความ “มหากาพย์ข้ามกาลเวลาของคนสมัครใจว่างงาน” ทั้งนี้เป็นเพียงการตั้งสมมุติฐานเท่านั้น หาใช่เป็นการประกาศสัจจะแต่อย่างใด

 

มิชิโอะ กากุ นักวิทยาศาสตร์ควอนตัมฟิสิกส์ได้พิสูจน์ว่าจักรวาลมีมากมาย (multiverse) จักรวาลถัดไปอยู่ห่างเพียง 1 มิลลิเมตรจากผิว (brane) แต่รับรู้ไม่ได้ เพราะมันอยู่เหนือมิติ(โลกสี่มิติ) ของเรา เท่าที่พิสูจน์ได้มี 11 มิติ สภาวะนิพพาน (nirvana) ที่มีความถี่ละเอียดอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับโลกสี่มิติของเรา

 

แล้วผู้อ่านอย่างเราหรืออย่างฉันคนเดียวก็ได้ จะไปมีโอกาสรู้ได้อย่างไรว่า มิชิโอะ กากุ เป็นผู้พิสูจน์ได้ว่าจักรวาลมีหลายมิติ เราจะล่วงรู้ได้อย่างไรว่า ข้อพิสูจน์นั้นจะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์

 

ที่ว่ามานี้ ไม่ใช่ฉันเป็นคนประเภทไม่ศรัทธาในชีวิต ไม่เชื่อมั่นในจิตวิญญาณของมนุษย์ หากแต่มันเป็นเพียงข้อสงสัยบางอย่างที่คอยรบกวนอยู่เรื่อยในเวลาที่อ่านบทความเชิงเทศนาทั้งหลาย ฉันอาจสงสัยในสิ่งที่ไม่ควรสงสัยก็เป็นได้ (แต่มันก็สงสัยอยู่ดี)

 

อย่างไรก็ตาม มีคนเคยบอกฉันด้วยท่าทีอย่างหวังดีว่า การจะอ่านหนังสืออะไรก็ตามแต่ ควรดูที่จุดมุ่งหมายของผู้เขียน หาใช่คอยจับผิดในเรื่องเล็กน้อย เพราะฉะนั้น เราควรมาดูกันจะดีกว่าไหมว่าจักรวาลผลัดใบ เล่มนี้ กลุ่มจิตวิวัฒน์ ได้พยายามสื่อถึงอะไร

 

ไม่ยากเลย ก็อย่างเขาได้โปรยไว้แล้ว “ประสานโลกใหม่ด้วยความเข้าใจ ก้าวสู่โลกใหม่ด้วยความเข้าถึง” นั่นแหละ

 

โดยได้กล่าวถึงวิถีทางอันจะนำพาเราไปสู่ชีวิตอย่างใหม่ พาเราวิวัฒน์ไปจากมนุษย์ที่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องจิตวิญญาณ พอมายุคหนึ่งก็ละทิ้งมัน แล้วหันไปบูชาศาสตร์ใหม่อย่างวิทยาศาสตร์ และมาถึงปัจจุบันก็หวนกลับมาสู่สภาพดั้งเดิมคือให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณ ต่างแต่ไม่ใช่อย่างลุ่มหลงงมงาย หากแต่มีหลักการ มีหลักฐานและพิสูจน์ได้เช่นเดียวกับสมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ อย่างเช่นที่ในหนังสือได้สรุปไว้ว่า

 

น่าสนใจคือ จักรวาลวิทยาใหม่กลับมีความสอดคล้องกับจักรวาลวิทยาดึกดำบรรพ์กับตำนานปรัมปราที่อยู่คู่กันมากับความหมาย (Myth) ที่บรรพบุรุษเราเคยเชื่อมั่นและพยายามแสวงหามานับพันปีก่อนจะมีวิทยาศาสตร์

 

แล้ววิถีทางใดกันเล่าที่จะนำพาเราให้อยู่รอดปลอดภัยอย่างเข้าใจและเข้าถึงได้ ฉันขอฝากให้ไปหามาอ่านกันดีกว่า งานนี้ บางคนถึงกับบอกว่า เรื่องนี้มันผูกพันกับความเชื่อส่วนบุคคล (คล้ายกับโปรยหน้าจอทีวีตอนมีรายการเชิงเหนือจริงเลยทีเดียว) ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความรับรู้เฉพาะตัว แต่เหนืออื่นใด จักรวาลผลัดใบ ก็ได้นำเสนอวิถีทางที่สงบร่มเย็น หาใช่วิถีแห่งการทำลายล้างกันเอง เนื่องจากได้ยึดเอาหลักพุทธธรรม ปัญญากับกรุณา เป็นที่ตั้ง และเป็นไปด้วยท่าทีอย่างเป็นมิตรมากกว่าเป็นปฏิปักษ์กับผู้อ่าน

 

และโปรดอย่าลืมไปล่ะว่า “ทุกความคิดเป็นเพียงสมมุติฐาน ไม่ใช่สัจจะ” (ประโยคนี้ได้มาจากหนังสือ)

และทุกวันนี้ ข้อเท็จจริง ข้อมูล บรรดามีทั้งหลาย ก็เป็นส่วนหนึ่งของความลึกลับไปเสียแล้ว สัจจะที่เราต่างแสวงหากันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ อาจมีหรือไม่มีอยู่ เราเองก็ไม่อาจรู้ได้ แต่มันก็มีเสน่ห์เสียยิ่งกว่าชีวิตจริงที่เราต่างย่ำวนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้เสียอีก หรือไม่ก็เราต่างโหยหาสัจจะเสียยิ่งกว่าจะเดินหน้าแสวงหาสัจจะเสียอีกก็เป็นได้ โอ้..สัจจะ ที่รัก.

 

 

 

ความเห็น

Submitted by จรดล on

ชื่อหนังสือเท่นะ
กินไม่ได้แต่เท่
หมายความว่านั่นคือสัจจะหรือข้อเท็จจริง
ความจริงจริง กับความจริงลวง เป็นความลวงหรือความจริง
อันนี้ก็แล้วแต่ญาติโยมเทอญ
ประเด็นปัญหาก็คือ ไม่ใช่ปัญหา
ทำไมเราถึงรู้สึกได้กับคำว่า รัก โลภ โกรธ หลง
สมมุติ ใครสักคนว่าเราดีจัง (แต่แม่..ม มัน..ชิบเป๋ง)
เราจะรู้สึกดีหรือแย่นะ เพราะเรารู้ๆอยู่
ทำไมวรรคทองบางวรรคของบทกวีเล็กๆ ทำให้เรารู้สึกได้
แต่ถ้าใครด่าเราเป็นภาษาแขมร์ หรือภาษาลาวซ่ง เราขำกลิ้ง
แต่ถ้าเขาชมเราด้วยสายตา ยิ่งเป็นสาวๆผิวพม่านัยตาแขกล่ะก็ ทั้งๆที่เค้าแอบนินทาเราอยู่แหละ
ไอ้บ่าวนั้นมันอยู่โบร๊ะเจียงๆ แหม ไอ้เราก็นึกว่าเค้าแอบชอบเราล่ะสิ
ความจริงของผู้หญิงกับผู้ชายบางทีคนละแบบนะ
เค้าถึงว่า ผู้หญิงด่าแปลว่าผู้หญิงรัก
แน่ะ (ผู้หญิงพูดในใจ กรูด่าเมิงนั่นแหละ ฮาฮา จริงๆ)

ความจริงก็คือ...
ผมอ่าน ลับแล,แก่งคอย ไปเรื่อยๆทีละตอนๆ
รู้สึกได้ว่า เป็นความพยายามแต่งนิยาย
เหมือนกับเรารู้สึกเวลาดูละครหลังข่าว
พยายามยัดเยียด ตบแต่ง ประกอบสร้าง
เหมือนเราเล่นยิงปืนสมัยเด็ก เล่นชกต่อย
ดูหนังไทย ละครไทย หรือหนังฝรั่งบางเรื่องก็เป็นเช่นนั้น

Submitted by จรดล on

แต่หนังฝรั่ง ส่วนใหญ่ทำดี สมจริง ส่วนหนังไทย ละครไทย ดูแล้วเสแสร้ง คือยังไม่ถึงชั้น
ทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนดูละคร เล่นละคร แถมหน้าตาเฉย อ้างคนชอบ แล้วเราก็เผลอชอบเวลาดูละครน้ำเน่า มันเป็นความสมดุล ลงตัวของจังหวะองค์ประกอบสร้างอะไรเทือกทำนองนั้นแหละ
หนังไทยที่ผมชอบมี 2 เรื่อง สยิว กับ เรื่องมะหมา 4 ขา
แต่เรื่องของเป็นเอก ของนนทรีย์ มจ.ชาตรี ใครต่อใครทั่วไป ไม่ทำให้เชื่อให้ชอบ เป็นการแสดง แสดงเหมือนกับเวลาฮ.ไล่ยิงพระเอกวิ่ง เป็นร้อยๆนัด กระสุนไล่ตามหลังขณะวิ่งหนีอยู่ในที่โล่ง ยิงไปโดนราวบันได เป็นสิบๆนัดอะไรเทือกทำนองนั้น
เวลาพระเอกนางเอกต้องมาประจัญหน้า มีนางอิจฉาแอบมองเห็น อยู่ห่างกันแค่คืบได้ แล้วพระรองก็มาตั้งเต้นท์นอนใกล้ที่พักนางเอก ที่มากับพระเอก แม่นางเอกกับนางร้ายก็ตามกันมาราวี อะไรมันจะขนาดนั้น พระเอกแกล้งไม่สบาย นางร้ายนางรองนางเอกทำข้าวต้มมาให้พระเอกพร้อมกัน แย่งงอนกันอุตลุต เฮ้อ หนังไทย(น้ำตาลขม)ไม่เคยคิดพัฒนา หรือโคตรจริตจนเห็นว่านั่นคือความจริงไปแล้ว

เหมือนนายยืนยงล่ะครับ อ่านหนังสือแล้วควรดูที่จุดมุ่งหมายของผู้เขียนว่าต้องการนำเสนออะไร แต่เราไม่ขนาดนั้น อ่านแล้วขัด

Submitted by จรดล on

อ่านแล้วเอ๊ะ อ่านแล้วเอ๊ะ บ่อยๆเข้า ต่อให้แต่งหนังสือยาวพืดร้อยเรียงเป็นเรื่องราวอย่างไรก็ไม่อินกะมันแล้ว ต่อให้ยกย่องเป็นหนังสือดีหนังสือซีไรต์ก็ตาม อ่า นี่กลับมาเข้าเรื่องอีกที

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ครอบครัววงศ์จูเจือ ที่อยู่กันในสวนมะพร้าวของเจ้านาย ช่วยขนมะพร้าวดูแลสวนเป็นสิบๆปี เป็นอย่างไรที่แม้แต่มะพร้าวอ่อน ขนมที่ทำจากมะพร้าว แกงพร้าว ไม่เคยได้ลิ้มรส เพราะย่าบอกว่าเราควรจะซื่อสัตย์ต่อผู้มีพระคุณ เฮ้อ อะไรทำนองนี้คือหนังไทยผู้ดี๋ผู้ดี แม่พระเอก อายุ 48 หรือย่า บอกว่าแก่หงั่กๆตามประสาคนทำงานหนักมาชั่วชีวิต อะไรทำนองนี้ หรือเธอ ภรรยาคนแรก ต้องทนกับเด็กดื้อซุกซนประสาเด็กที่มาเรียนพิเศษ แต่เพื่ออนาคตที่เธอมุ่งหวังจึงยอมทน ปู้ดโธ่ โดยวิสัยเด็กมาเรียนพิเศษน่ะมันไม่ซุกซนหรอกครับ เพื่อที่ย้ำแสดงให้เห็น ลีลาบทบาท เหมือนละครๆทั้งหลายที่ชอบแสดงอารมณ์ให้ถึงบทบาทนั่นแหละ ขาดความสมเหตุสมผล หรือความมีศิลปะที่จะทำให้เราเชื่อ มือไม่ถึงพอ แต่แต่งนิยาย แล้วกรรมการหลงเพริด เหมือนกับคนดูละครทั่วไป พ่อพระเอกกับเพื่อนลุง ขับรถไปติดรางรถไฟชน ทะเลาะกันแล้วสาบานเป็นเพื่อนตาย มันเกิดขึ้นได้แต่มันจำมา

Submitted by จรดล on

แม้แต่ซากรถก็ไม่ดู หญิงสาวที่นั่งมากับรถก็หายวับไปหมด คือเป็นการสร้างขึ้นมา แล้วคิดหนี ไปหาแม่ ยืนยันว่าจะหนีโดยขาดเหตุขาดผล แม่ก็ทัดทานนิดๆหน่อยพอเป็นพิธี โดยใช้คารมทางวรรณศิลป์การเล่า แบบรวบรัด แต่โดยตัวบทจริงๆมันเหมือนการเอื้อให้กันมากกว่า ความสมเหตุสมผลที่อ่อนด้อยวุฒิภาวะของเรื่องราว กับฝีมือของผู้เขียนนั้นมีแบบนี้ตลอดเรื่อง

อุทิศ ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในออลแม็คกาซีน ทำนองว่า หลายคนถามว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่น่าเชื่อถือบางตอนว่า บางเรื่องมันก็ต้องใช้ศิลปะในการโกหก คำๆนี้เป็นปัญหามาก ไม่เช่นนั้นอะไรก็ได้ แล้วเอามาอ้างว่าโกหกเอาก็ได้ มันต่างกับเรื่องซุปเปอร์แมนน่ะครับ คนเหาะได้ แต่คนเชื่ออ่ะ แต่ความโกหกับข้อแก้ตัวกับเรื่องศิลปะนี่คนละเรื่องเลย

จักรวาลผลัดใบนี่ละครับ มีโอกาสก็คงต้องไปหาอ่านกัน แต่บางทีก็ไม่จำเป็น บทวิจารณ์บางชิ้นทำให้เราอิ่ม ทำให้เราเข้าใจโลกทัศน์ หรือความเท็จจริงอีกชุดที่เราสัมผัสสัมพันธ์รู้สึกได้ นั่นเพียงพอแล้ว หนังสือในโลกนี้ เอาแค่ในห้องหนังสือเราเองก็อ่านกันไม่หวาดไหวล่ะครับ อ่านไปเรื่อยๆละกัน แล้วนำความจริงความรู้สึกที่ได้พบเห็นมาบอกเล่ากันฟังให้เรา

Submitted by ยืนยง on

โห.. มาเป็นชุดเลยนะคุณจรดล ลับแล, "แจ่งคอย " (ติดภาษามาจากในนิยาย) น่ะ
แล้วไอ้ที่ชอบพูดกันว่า ศิลปะการโกหกน่ะ เป็นสุดยอดของคำตอแหลเลยทีเดียว
ใครชอบพูดคำนี้ มันแสดงออกถึงกึ๋นก็ว่าได้ ถ้าเป็นสมัยก่อน เขามีโฆษณาขายกันด้วยล่ะ
ไอ้กึ๋นน่ะ

มีหลายคนที่ไม่ชอบ ลับแล, แก่งคอย มากเลยแหละ แต่ถ้าเราได้อ่านทุกเล่มที่ส่งเข้าร่วมประกวด บางที มันก็ "อาจจะ" ไม่มีตัวเลือกเลยก็เป็นได้

เอ..หรือว่า นักเขียนไทยเขียนได้ห่วยลง
เอ..ถ้าไม่มีตัวเลือก ก็ประกาศไปเลยว่า ผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ปีนี้ ไม่มีผลงานเล่มใดมีมาตราฐานสมควรได้รับรางวัล หรือว่า มันจะเป็นการผิดกติกาอีกล่ะ ผิดมารยาทอีก

Submitted by จรดล on

ประเด็นหลังน่าคิด...
อ่า
ลองดู แซมเปิ้ลสักสั้นๆนะครับ ดูตอนเปิดเรื่อง..และภาษา อะไรต่อมิอะไรที่ใช้

บทที่ 5

เวลา 22.12 น.ของคืนวันจันทร์ ทารกน้อยเพศชายตัวเปลือยล่อนจ้อน ได้รับนามประหนึ่งอาภรณ์ห่มคลุมกายและปกป้องเลือดเนื้อวิญญาณ จากเหตุเภทภัยลึกลับซึ่งอาจวนเวียนเร่ร่อนหาทางเข้าสิงสู่อยู่บนโลกใบนี้ว่า "แก่งคอย วงศ์จูเจือ"จากนั้นใบแจ้งเกิดก็ตีประทับรับรองว่าหนึ่งชีวิตเบื้องหน้านี้มีตัวตนดำรงอยู่จริง

อ่ะห่ะๆๆ...อ่านแล้วเป็นไงบ้าง ภาษา และวิธีคิดวิธีเขียน ของอุทิศ กรรมการซีไรต์อ่านแล้วปลื้มเหรอแบบนี้ ผมว่า...
โพสต์มาให้อ่านก่อนนะครับ ใครคิดเห็นอย่างไรบ้าง ผมว่าเฉพาะวรรคนี้วรรคเดียวก็มีปัญหาเรื่องกึ๋นให้ถกกันแล้วแหละครับ อิอิ ประเดี๋ยวมานะครับ...ไปธุระก่อน

Submitted by จรดล on

เวลา22.12 น. ทารกน้อยเพศชายถือกำเนิด และตั้งชื่อว่า "แก่งคอย วงศ์จูเจือ"
อะไรที่มันสั้นๆกระชับๆแบบนี้ดีกว่า ต้องสาธยายทำไมให้มันเยิ่นเย้อแบบนั้น

ตัวเปลือยล่อนจ้อน ทำไมจะต้องใช้ครับ เด็กเกิดมาก็รู้แหละครับว่าตัวเปลือยล่อนจ้อน หรือ เพียง เพราะ ต้องการจะมาขยายคำวิเศษอภารณ์ห่มคลุมอะไรนั่นให้รกรุงรังเปล่าๆ

แน่นอนคำว่าทารกน้อยตัวเปลือยล่อนจ้อนก็ใช้ได้ แต่เมื่อระบุเวลา(เกิด)สินะ ก็แหม เกิดมาแล้วตัวเปลือยล่อนจ้อนทีเดียว ผมยังไม่เห็นใครเกิดมาแล้วนุ่งเสื้อผ้าออกมานิ เพื่อที่จะห่มคลุมอาภรณ์นั่นแหละตัวปัญหา

ที่หรูหะราเข้าไปอีกก็คือความจงใจใช้ ได้รับนามประหนึ่งอาภรณ์ ตลกนะครับ ได้รับนาม ถ้าพระราชาแต่งตั้ง หรือชาวบ้านขานนามได้รับนามให้เด็กกำพร้าประเภทหมอน้อย(เด็กชายเทวดาผู้รักษาโรค)อะไรทำนองนั้นได้นะ ถามว่าจะใช้ได้รับนามไปทำไม

อ่านดูเหมือนเด็ก(ชาย)คนที่ว่านี้เป็นเด็กวิเศษอะไรก็ไม่ปาน

วรรณกรรมไม่ต้องอธิบายหมด(เปลือก)ขนาดนั้นหรอกครับ

เป็นเจตนาของผู้เขียนเองหรือเปล่าที่จะพูดกลบเกลื่อน กลัวเรื่องที่ตัวเองอธิบายใช้คำจะไม่มีใครยอมเข้าใจ

Submitted by จรดล on

แต่ถ้าตัวละครมีความคิดความเชื่อฝังแฝงทำนองนั้น ก็ออกจะตลกที่กลับไปตั้งชื่อ "แก่งคอย"ซึ่งออกจะเป็นการคอย รอ เป็นที่สำหรับเลยแหละ ยิ่งกลัวเหตุเภทภัยร้ายๆอะไรที่ว่านั่นชื่อยิ่งไม่สมเหตุสมผลในความอธิบายข้างต้นถึงขั้นตรงข้ามต่างหาก ควรจะเป็นชื่อปกป้องกายสิทธิ์ หรือชื่อเหมือนนักมวย "หลักหิน"อะไรเทือกทำนองนั้นมากกว่า แต่ความอธิบายมาทั้งหมด ชื่อกลับเป็นความหมายนัยความถึงสถานที่บ้านเกิด ซึ่งคนละเรื่องเลย
และซึ่งอันที่จริงจะมีตราประทับรับรองใบแจ้งเกิดเพื่อที่จะบอกว่าชีวิตหนึ่งข้างหน้านี้มีตัวตนอยู่จริง เพื่อสาธยายนัยความไปตามจริตลอยๆ ให้คำว่า แก่งคอย ซึ่งฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเปล่าๆปลี้ๆจริงๆ
ตัวเปลือยล่อนจ้อน ได้รับนาม อาภรณ์ห่มคลุมกาย เลือดเนื้อวิญญาณ เหตุเภทภัยลึกลับ(อะไร) จากนั้นใบแจ้งเกิด ตีประทับรับรอง หนึ่งชีวิตเบื้องหน้านี้(หน้าไหน)
ตอนหลังกลับไปเชื่อการมีตัวตนอยู่จริง โดยใบแจ้งเกิดรับรอง ไม่ใช่เสียดเย้ยหรอกครับแต่ความมันย้อนแย้งกัน
เป็นนิยายอะ อ่านแล้วเป็นภาษานิย๊ายนิยาย ที่เหมือนกับจะเล่าให้เท่ ดูเหมือนจะรุ่มรวยทางภาษา แต่จริงๆแล้วใช้ภาษาไม่เป็นมากกว่า เขียนได้เชี่ยวแต่ความคิดยังไม

พุทธธรรมของกวีหลับลื่น

นายยืนยง
 

พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง

กวีกับอุดมคติ

นายยืนยง


บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง
กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์

ปราการของเวลา

ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา

                 Ageless Body, Timeless Mind

เขียน : โชปรา ดีปัก

แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร

พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551

 

แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว

เล่มนี้เป็นหนังสือขายดีที่เขียนโดยนายแพทย์หนุ่มชาวอินเดียนาม โชปรา ดีปัก ผู้ยืนยันว่า

มนุษย์สามารถมีอายุยืนยาวเกินกว่า 100 ปี

กนกพงศ์ กับความเข้มข้นที่ล้มเหลว

นายยืนยง 

 

ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...