Skip to main content

‘นายยืนยง’

ภาพประกอบสวนหนังสือ

ชื่อหนังสือ
ประเภท
จัดพิมพ์โดย
ผู้ประพันธ์
ผู้แปล

:
:
:
:
:

เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )
วรรณกรรมแปล
สำนักพิมพ์โพเอม่า
ฮวน รุลโฟ
ราอูล

 

การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น

วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์ หลักเกณฑ์นี้เป็นข้อสำคัญหนึ่งที่ทำให้วินิจฉัยว่าวรรณกรรมแต่ละเรื่องมีคุณค่าเพียงใด และข้อสังเกตนี้เองที่เทียบเคียงให้เห็นถึงความสามารถของผู้ประพันธ์

ขณะเดียวกัน การที่ผู้ประพันธ์จะนำพาผู้อ่านสัญจรไปในเรื่องราวนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญหลายประการ และในวรรณกรรมแปลเรื่องนี้ ผู้อ่านจะได้พบกับความเป็นเอกภาพอย่างหนักแน่นที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่ละองค์ประกอบของนวนิยายไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ฉาก บรรยากาศ เนื้อหา สำนวนภาษา ทั้งหมดทั้งมวลได้ถูกหลอมรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว ไม่อาจแยกแยะออกมาอย่างโดด ๆ ได้ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

หากจะจำแนกองค์ประกอบของวรรณกรรมประเภทนวนิยายในพื้นที่จำกัดนั้น เห็นว่าไม่สมควรยิ่งที่จะกล่าวถึงองค์ประกอบหลายข้ออย่างผิวเผิน จึงขอเลือกกล่าวถึงในข้อที่โดดเด่นสำคัญจะรัดกุมกว่า โดยเฉพาะนวนิยายแนวเมจิกเคิล เรียลลิสม์  เล่มกะทัดรัดจากเม็กซิโกของ ฮวน รุลโฟเล่มนี้ ซึ่งมีเนื้อหาให้กล่าวถึงอย่างไม่รู้จบ

ลักษณะพิเศษของวรรณกรรมกลุ่มนี้คือให้ภาพเหนือจริงที่ยืนอยู่บนฐานของความเป็นจริง เป็นความพิศวงที่ก้าวเข้ามาสู่ใจผู้อ่านด้วยน้ำเสียงปกติสม่ำเสมอ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านจะได้เผชิญมาแล้วในวรรณกรรมเล่มอื่น และผู้ประพันธ์ท่านอื่น โดยเฉพาะ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่เรารู้จักกันดี

เปโดร ปาราโม เป็นเรื่องราวธรรมดาของชายผู้หนึ่งที่ตัดสินใจยอมทำตามคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับแม่ก่อนที่แม่จะสิ้นลมหายใจตายไป เขาต้องไปตามหาพ่อ ที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตา ในเมืองที่เขาไม่เคยเหยียบย่างเข้าไป ชายที่เป็นพ่อของเขานั่นเองที่ชื่อ เปโดร ปาราโม

ในเรื่องราวธรรมดานี่เองที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบอันซับซ้อน ลุ่มลึก ทั้งจากตัวละครที่แสนประหลาด ซึ่งแต่ละตัวละครนั้นเหมือนได้ถูกดูดกลืนรวมเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่ทารุณปานนรก  ยังเต็มไปด้วยนัยยะประหวัดที่เร้าให้ขบคิด บรรยากาศของเรื่องยิ่งชวนให้พิศวงงงงวยอย่างที่สุด โดยเฉพาะกับฉากของเรื่อง คือเมืองโกมาลา ที่ทิ้งน้ำหนักต่อเนื้อหาไว้ตลอดเรื่อง และเนื้อหาก็กล่าวถึงสภาวะจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ หลอมรวมกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และผู้คนในเมืองแห่งนี้ ได้แปรสภาพเป็นลักษณะนิสัย ทัศนคติ และท่าทีของตัวละคร ที่รุกเร้า คืบคลานเข้ามาอย่างแสนกระท่อนกระแท่น

ดูจากประโยคแรกของผู้เป็นแม่ในขณะจวนสิ้นลมทำให้ภาพพจน์ของเปโดรผุดขึ้นเป็นครั้งแรก ในหน้า ๙

“ จงอย่าขอสิ่งใดจากเขา นอกจากส่วนที่เป็นของเรา สิ่งที่เขาควรให้แม่แต่ไม่เคยหยิบ    ยื่นให้...จงให้เขาตอบแทนเจ้า ลูกชาย  เพราะตลอดเดือนปีที่ผ่านมาเขาไม่เคยมีเราอยู่    ในห้วงคำนึงเลยสักนิด ”

ภาพพจน์ดังกล่าวนี้เองที่ปลุกให้ผู้อ่านใคร่รู้ต่อไปว่า ใครคือเปโดร ปาราโมคนนั้น เขาเป็นคนประเภทไหน และเขาอยู่ที่นั่น โกมาลา ดินแดนที่ร้อนร้าว กระทั่งกลิ่นอากาศก็ยังทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในนรก

ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้อ่านจะได้รู้จัก เปโดรคนนั้น ผ่านคำบอกเล่าแบบกระท่อนกระแท่น ไม่ปะติดปะต่อ และแสนจะกระพร่องกระแพร่ง จากการเล่าแบบสลับไปมา ไม่ต่อเนื่อง จากเหล่าดวงวิญญาณผู้น่าเวทนา จากชะตากรรมของพวกเขา ผู้เรียกร้องและรอคอยให้ใครสักคนผ่านมา แล้วสวดมนตร์ให้พวกเขาพ้นทุกข์ทรมานนี้

ขณะเดียวกันกับที่ความจริงค่อย ๆ หลุดล่อนออกมาทีละแผ่นบาง ๆ ราวกับเป็นแผ่นผนังที่ทาสีไว้จนเก่าแก่ ต้องสัมผัสแรงลมและค่อยหลุดออก... ทำให้รู้สึกถึงความยากที่จะเชื่อมโยงคำบอกเล่าของแต่ละคน, แต่ละวิญญาณ เข้าเป็นภาพเต็มของเปโดรคนนั้น  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านซ้ำหลายรอบ ทำให้เกิดคำถามว่า วรรณกรรมที่ดีนั้นจำเป็นต้องอ่านยากเสมอไปหรือ?

ขณะที่ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ บอกว่า “ไม่มีหนังสือเล่มไหนมีค่าสำหรับการอ่าน หากตัวมันเองไม่มีค่าพอที่จะอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ”

ความยากของเรื่องราวชวนให้พิศวง ไม่ต่อเนื่องของ เปโดรฯเล่มนี้ ไม่ใช่ความยากประการเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีบรรยากาศแปลกประหลาด ตัวละครพิลึกพิสดารนับไม่ถ้วน เหนืออื่นใด ต้องถือว่า ฮวน รุลโฟผู้ประพันธ์  ย่อมมีนัยยะพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะบอกเล่าแก่ผู้อ่าน โดยเฉพาะมูลเหตุของเรื่องเลวร้ายทั้งมวล อันบังเกิดจากความรักที่ใคร ๆ ต่างก็รู้จัก

ความรักของชายชื่อ เปโดร ปาราโมเป็นความรักอันแสนหวานของวัยหนุ่มสาว และเขาได้ทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้เธอมา ซึ่งผู้ประพันธ์ได้เล่าผ่านเสียงกระซิบกระซาบที่ฝังอยู่ในเมืองโกมาลา เพื่อบอกแก่ ฮวน ปรีเซียโดลูกชายผู้ออกตามหาพ่อของเขา เสียงแรกที่กล่าวถึงความรักนี้ มาถึงสัมผัสรู้สึกของเขา ในยามที่เหนื่อยล้าและยอมจำนน ขณะเดียวกันที่ในเรื่องบอกเล่านั้น อารมณ์ของเปโดร ปาราโม ชายผู้มีฐานะยากจน กลับดูรุนแรง ลุกโชนเร้าอารมณ์ ด้วยการบรรยายฉากที่อาศัยสัญลักษณ์ทางเพศที่ใช้กันในงานวรรณกรรม ดังหน้า ๑๙

น้ำหยดลงมาจากหลังคามุงกระเบื้องกำลังทำให้เกิดรูบนพื้นทรายที่ลานบ้าน

ติ๋ง! ติ๋ง! แล้วก็อีกติ๋ง! ขณะที่หยดน้ำกระทบกับใบลอเริลซึ่งกำลังกระเพื่อมขึ้นลงในรอยแยก    ระหว่างกำแพงอิฐ พายุพัดผ่านไปแล้ว บัดนี้ลมอ่อน ๆ ที่พัดมาเป็นพัก ๆ ทำให้พุ่มต้นทับทิมสั่น     ปลดปล่อยละอองฝนลงมาหนาตา สาดพรมพื้นดินด้วยหยดเล็ก ๆ ซึ่งไร้ชีวิตชีวาก่อนจะดิ่งหาย   ลงไปในพื้นดิน ฯลฯ ...  เมื่อหมู่เมฆเคลื่อนหนีไป ดวงอาทิตย์สาดแสงลงมากระทบโขดหิน แผ่    รังสีสุกสว่างเหลือบคล้ายสายรุ้ง ดูดน้ำไปจากพื้นดินสะท้อนแสงวับวาวบนใบไม้ซึ่งกระเพื่อมไหว    เพราะสายลมแผ่ว..

การบรรยายถึงบรรยากาศเช่นนี้ถูกตรึงไว้ตลอดเรื่อง และสิ่งนี้เองที่ได้ผูกรัดผู้อ่านไว้กับเรื่องราวตรงหน้า จึงไม่สามารถละเลยที่จะกล่าวถึงจุดเด่นนี้ได้เลย

แต่เพียงไม่กี่นาทีที่ผู้อ่านกำลังเคลิบเคลิ้มไปกับอารมณ์ของบรรยากาศนั้น เราก็จะถูกกระชากออกไปสู่อีกเรื่องราวหนึ่ง จากคำบอกเล่าของใครบางคนที่ไม่เคยมีแม้กระทั่งลางสังหรณ์ที่จะสะกิดเตือนผู้อ่านไว้ก่อนแม้แต่น้อย จากฉากข้างต้นนั่นเอง เพียงชั่วอึดใจที่ฮวน ปรีเซียโดเริ่มสัมผัสได้ถึงชีวิตของเปโดร ปาราโมพ่อที่เขาตามหานั้น เขาก็ได้รู้อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ อาบุนเดียว ชายผู้นำทางเขามายังโกมาลานั้น เสียชีวิตไปนานแล้ว

การเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตอันเกี่ยวกับเปโดร ปาราโมจากเหล่าดวงวิญญาณและเสียงกระซิบกระซาบที่ฝังอยู่ในซอกกำแพงหรือใต้หลุมฝังศพ ประกอบไปด้วยโศกนาฎกรรมในวันก่อน ๆ และบอกถึงลักษณะนิสัยอันเหี้ยมโหด เย็นชาของเปโดรไปพร้อมกัน

การเล่าด้วยวิธีการนี้เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ใดกันเล่า หากฮวน รุลโฟจะไม่ได้ต้องการวางทัศนคติเกี่ยวกับความดี ความชั่ว ข้อเท็จจริง ผ่านจากทุกมุมมองโดยไม่ได้ก้าวเข้าไปพิพากษาการกระทำเหล่านั้นแม้แต่น้อย ด้วยทัศนคติดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ผู้ประพันธ์สามารถหลอมรวมทุกองค์ประกอบเข้าไว้เป็นเนื้อเอกภาพอันหนักแน่นดังได้กล่าวไว้ข้างต้น  หากยกตัวอย่างการบรรยายในหน้า ๒๐ ที่พรรณนาถึงอารมณ์เปโดร

ฉันคิดถึงเธอ ซูซานา คิดถึงเนินเขาสีเขียวชอุ่ม คิดถึงตอนที่เธอเล่นว่าวในฤดูที่มีลมแรง เราแทบ   ไม่ได้ยินสรรพเสียงแห่งชีวิตจากเมืองที่อยู่เบื้องล่าง เราอยู่สูงเหนือเนินเขา กำลังปล่อยเชือกให้    ออกมาสัมผัสแรงลม “ช่วยฉันที ซูซานา ”และมือที่อ่อนนุ่มจะบีบมือฉันไว้แน่น  “คลายเชือก    ออกไปมากกว่านี้สิ ”

การบรรยายดังยกตัวอย่างมานี้ มีนัยยะในทางเพศรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันยังมีสัญลักษณ์ที่ทำให้รู้สึกร่วมไปได้หลายเรื่องกว่าความรัก  หรือในหน้า ๒๙

วันที่เธอจากไป ฉันรู้ว่าไม่มีโอกาสได้พบเธออีกแล้ว เธอถูกแต้มแต่งด้วยแสงสีแดงจากดวง    อาทิตย์ยามบ่ายแก่ ๆ จากความสลัวที่ฉาบท้องฟ้าไว้ด้วยโลหิต ฯลฯ

นี่เป็นการบรรยายที่กระชับแต่เต็มไปด้วยนัยยะอีกเช่นกัน และจะได้พบบรรยายกาศเช่นนี้ตลอดเรื่อง หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในหน้า ๒๑

สูงขึ้นไปเหนือม่านเมฆหลายร้อยเมตร สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปเหนือสรรพสิ่ง เธอคงกำลังซ่อนตัวอยู่    ตรงนั้นสินะ ซูซานา ซ่อนตัวในความไร้ขอบเขตของพระเจ้า เบื้องหลังการคุ้มครองของพระองค์     ที่ที่ฉันไม่สามารถแตะต้องหรือมองเห็นตัวเธอได้ และที่ที่คำพูดฉันไม่มีวันไปถึง  

ลำพังความซับซ้อนของเรื่องเล่าทั้งหลายนั้น หากขาดซึ่งมนตร์เสน่ห์แบบเมจิกเคิล เรียลลิสม์ แล้ว ไหนเลยจะตรึงผู้อ่านไว้ได้ ในเรื่องนี้ยังมีจุดสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การใช้โวหารแบบบุคลาธิษฐาน เติมเข้ามาอีก

ตลอดเรื่องทุกสรรพสิ่งดำเนินอยู่ราวกับมีลมหายใจ มีชีวิตจิตใจไม่ต่างจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นต้นมะลิ นกฮัมมิงเบิร์ด นกเลียนเสียง ประตู หน้าต่าง ดวงไฟ ท้องฟ้า ผืนดิน กำแพง ดวงดาว ม้า ลา  แส้ ฯลฯ ยกตัวอย่าง หน้า ๗๙

ครั้นฟ้าสางเม็ดฝนกระหน่ำลงมารดแผ่นดิน เกิดเป็นเสียงดังผลุขณะพุ่งเข้าใส่ดินที่อ่อนยวบยาบ    บนร่องดิน นกเลียนเสียงตัวหนึ่งโฉบลงมาต่ำเหนือทุ่งหญ้าและร้องเสียงโหยหวน เลียนเสียงเด็ก    ร้องด้วยความทุกข์ใจ พอไกลออกไปได้หน่อยหนึ่งมันร้องอะไรบางอย่างออกมาฟังคล้ายเสียง    สะอึกสะอื้นด้วยความเหนื่อยล้า และไกลกว่านั้น ที่ซึ่งเส้นขอบฟ้าเริ่มมองเห็นได้อย่างชัดเจน มัน    สะอึกและหัวเราะร่วน ก่อนจะร้องโอดครวญอีกครั้ง  

เป็นอีกตัวอย่างที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ทั้งบรรยากาศในท้องเรื่อง อารมณ์ผู้คน แม้แต่เด็กยังร้องด้วยความทุกข์ใจ หรือ หน้า ๘๐

ประตูบานใหญ่ในมีเดียลูนากรีดร้องเสียงแหลมลั่นขณะแกว่งเข้าออก เปียกปอนเพราะลมที่พัด    พาเอาความชุ่มชื่นมา ฯลฯ

ทั้งหมดที่ได้กล่าวแล้วนั้น เป็นเพียงข้อสังเกตเล็กน้อย เพราะวรรณกรรมเล่มนี้เป็นความมหัศจรรย์อันละเอียดอ่อน ลุ่มลึก และสร้างแรงกระทบใจได้หลากหลาย ทั้งเศร้าโศก ขมขื่น เวทนาสงสาร ฉงนฉงาย สะอิดสะเอียน และอ่อนหวาน จะมีวรรณกรรมเล่มเล็กใดบ้างจะให้ความรู้สึกหลากหลายได้เช่นนี้บ้าง

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้าฯ ผู้เขียน               :           อ.ก. ร่งแสง (โพยม โรจนวิภาต)ประเภท              :           สารคดีประวัติศาสตร์          พิมพ์ครั้งที่ 2  พ.ศ.…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ฝรั่งคลั่งผี ผู้เขียน : ไมเคิล ไรท จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก : กรกฎาคม 2550 อ่าน ฝรั่งคลั่งผี ของ ไมเคิล ไรท จบ ฉันลิงโลดเป็นพิเศษ รีบนำมา “เล่าสู่กันฟัง” ทันที จะว่าร้อนวิชาเกินไปหรือก็ไม่ทราบ โปรดให้อภัยฉันเถิด ในเมื่อเขาเขียนดี จะตัดใจได้ลงคอเชียวหรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เด็กบินได้ ผู้เขียน : ศรีดาวเรือง ประเภท : นวนิยายขนาดสั้น พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2532 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์กำแพง มาอีกแล้ว วรรณกรรมเพื่อชีวิต เขียนถึงบ่อยเหลือเกิน ชื่นชม ตำหนิติเตียนกันไม่เว้นวาย นี่ฉันจะจมอยู่กับปลักเพื่อชีวิตไปอีกกี่ทศวรรษ อันที่จริง เพื่อชีวิต ไม่ใช่ “ปลัก” ในความหมายที่เราชอบกล่าวถึงในแง่ของการย่ำวนอยู่ที่เดิมแบบไร้วัฒนาการไม่ใช่หรือ เพื่อชีวิตเองก็เติบโตมาพร้อมพัฒนาการทางสังคม ปลิดขั้วมาจากวรรณกรรมศักดินาชน เรื่องรักฉันท์หนุ่มสาว เรื่องบันเทิงเริงรมย์…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : คนซื้อฝัน ผู้เขียน : ศุภร บุนนาค ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2537 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะอ่านหนังสือของนักเขียนไทยให้มากกว่าเดิม ฉันดำเนินการแล้วล่ะ อ่านแล้ว อิ่มเอมกับอรรถรสแบบที่หาจากวรรณกรรมแปลไม่ได้ หาจากภาษาของนักเขียนไทยรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยจะได้ จนรู้สึกไปว่า คุณค่าของภาษาได้แกว่งไกวไปกับกาละด้วย
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เพลงกล่อมผี ผู้เขียน : นากิบ มาห์ฟูซ ผู้แปล : แคน สังคีต จาก Wedding Song ภาษาอังกฤษโดย โอลีฟ อี เคนนี ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2534 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์ หนาวลมเหมันต์แห่งพุทธศักราช 2552 เยียบเย็นยิ่งกว่า ผ้าผวยดูไร้ตัวตนไปเลยเมื่อเจอะเข้ากับลมหนาวขณะมกราคมสั่นเทิ้มด้วยคน ฉันขดตัวอยู่ในห้องหลบลมลอดช่องตึกอันทารุณ อ่านหนังสือเก่า ๆ ที่อุดม ไรฝุ่นยั่วอาการภูมิแพ้ โรคประจำศตวรรษที่ใครก็มีประสบการณ์ร่วม อ่านเพลงกล่อมผีของนากิบ มาห์ฟูซ ที่แคน สังคีต ฝากสำนวนแปลไว้อย่างเฟื่องฟุ้งเลยทีเดียว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง สวัสดีปี 2552 ขอสรรพสิ่งแห่งสุนทรียะจงจรรโลงหัวใจท่านผู้อ่านประดุจลมเช้าอันอ่อนหวานที่เชยผ่านเข้ามา คำพรคงไม่ล่าเกินไปใช่ไหม ตลอดเวลาที่เขียนบทความใน สวนหนังสือ แห่ง ประชาไท นี้ ความตื่นรู้ ตื่นต่อผัสสะทางวรรณกรรม ปลุกเร้าให้ฉันออกเสาะหาหนังสือที่มีแรงดึงดูดมาอ่าน และเขียนถึง ขณะเดียวกันหนังสืออันท้าทายเหล่านั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้วาวโรจน์ขึ้นกับหัวใจอันมักจะห่อเหี่ยวของฉัน
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : เงาสีขาวผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน น้ำเน่าในคลองต่อให้เน่าเหม็นปานใดย่อมระเหยกลายเป็นไออยู่นั่นเอง แต่การระเหิด ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกับการระเหย  ระเหย คือ การกลายเป็นไอ จากสถานภาพของของเหลวเปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นก๊าซระเหิด คือ การเปลี่ยนสถานภาพเป็นก๊าซโดยตรงจากของแข็งเป็นก๊าซ โดยไม่ต้องพักเปลี่ยนเป็นสถานภาพของเหลวก่อน ต่างจากการระเหย แต่เหมือนตรงที่ทั้งสองกระบวนการมีปลายทางอยู่ที่สถานภาพของก๊าซสอดคล้องกับความน่าเกลียดที่ระเหิดกลายเป็นไอแห่งความงามได้
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : เงาสีขาว ผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทอง ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน ปกติฉันไม่นอนดึกหากไม่จำเป็น และหากจำเป็นก็เนื่องมาจากหนังสือบางเล่มที่อ่านค้างอยู่ มันเป็นเวรกรรมอย่างหนึ่งที่ดุนหลังฉันให้หยิบ เงาสีขาว ขึ้นมาอ่าน เวรกรรมแท้ ๆ เชียว เราไม่น่าพบกันอีกเลย คุณแดนอรัญ แสงทอง ฉันควรรู้จักเขาจาก เรื่องสั้นขนาดยาวนาม อสรพิษ และ นวนิยายสุดโรแมนติกในนามของ เจ้าการะเกด เท่านั้น แต่กับเงาสีขาว มันทำให้ซาบซึ้งว่า กระบือย่อมเป็นกระบืออยู่วันยังค่ำ (เขาชอบประโยคนี้นะ เพราะมันปรากฏอยู่ในหนังสือของเขาตั้งหลายครั้ง)…
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร   ผลงานของนักเขียนไทยในแนวของเมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือสัจนิยมมายา ที่ได้กล่าวถึงเมื่อตอนที่แล้ว ซึ่งจะนำมาเขียนถึงต่อไป เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นถึงข้อเปรียบเทียบระหว่างงานที่แท้กับงานเสแสร้ง เผื่อว่าจะถึงคราวจำเป็นจะต้องเลือกที่รักมักที่ชัง แม้นรู้ดีว่าข้อเขียนนี้เป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคล แต่ฉันคิดว่าบางทีรสนิยมก็น่าจะได้รับคำอธิบายด้วยหลักการได้เช่นเดียวกัน…
สวนหนังสือ
เมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือที่แปลเป็นไทยว่า สัจนิยมมายา หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ เป็นแนวการเขียนที่นักเขียนไทยนำมาใช้ในงานเรื่องสั้น นวนิยายกันมากขึ้น ไม่เว้นในกวีนิพนธ์ โดยส่วนใหญ่จะได้แรงบันดาลใจมาจาก ผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ซึ่งมาเกซเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ฮวน รุลโฟ (ฆวน รุลโฟ) จากผลงานนวนิยายเรื่อง เปโดร ปาราโม อีกทอดหนึ่ง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์วรรณกรรมแนวนี้ถูกตัดตอน ขอกล่าวถึงต้นธารของงานสกุลนี้สักเล็กน้อย กล่าวถึงฮวน รุลโฟ ซึ่งจริงๆ แล้วควรเขียนเป็นภาษาไทยว่า ฆวน รุลโฟ ทำให้หวนระลึกถึงผลงานแปลฉบับของ ราอูล ที่ฉันตกระกำลำบากในการอ่านอย่างแสนสาหัส…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครนA SHORT HISTORY OF TRACTORS IN UKRAINIAN ผู้เขียน : MARINA LEWYCKA ผู้แปล : พรพิสุทธิ์ โอสถานนท์ ประเภท : นวนิยายแปล พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน และแล้วฉันก็ได้อ่านมัน ไอ้เจ้าแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เมียงมองอยู่นานสองนานแล้วได้สมใจซะที ซึ่งก็สมใจจริงแท้แน่นอนเพราะได้อ่านรวดเดียวจบ (แบบต่อเนื่องยาวนาน) จบแบบสังขารบอบช้ำเมื่อต่อมขำทำงานหนัก ลามไปถึงปอดที่ถูกเขย่าครั้งแล้วครั้งเล่า ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เป็นนวนิยายสมัยใหม่ที่ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่ดึงดูดแบบยุคทุนนิยมเสรี…