Skip to main content

นายยืนยง

20080415

ชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรม
ผู้เขียน                         :    เขมานันทะ
พิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม
 

ชีวิตที่เหลือ...สำหรับผมแล้ว  บ่อยครั้งพบว่ามันแสนไร้ค่าเกินจะกล่าวถึง

นอกเหนือจากต้อง “ยอม” ชดใช้ผลแห่งการกระทำของตัวเองซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยง แม้ผมเองก็ไม่ได้เป็นคนประเภทเข้าวัดฟังธรรมตามประเพณีอะไร

ครั้งหนึ่งเมื่อนานมากแล้วเคยพยายามปฏิเสธความเชื่อเชิงศาสนา สมัยนี้อาจฟังดูเร่อร่าอยู่มาก
แต่สมัยผมยังหนุ่ม การณ์นี้เป็นนัยยะเชิงสังคมและฐานันดรใหม่อีกด้วย คล้าย ๆ ว่าจะดูเป็นปัญญาชนนำสมัย (แน่นอนว่านักศึกษาบ้านนอกอย่างผมย่อมเห่อเหิมกระแสปัญญาชนหัวก้าวหน้าในเมืองหลวง)  
หากได้พูดกับใครต่อใครว่า “ศาสนาของผมคือความดี” ล่ะก็ หัวใจจะพองคับอกทีเดียว แต่สมัยนี้ ผมได้แต่คาดเดาไปต่าง ๆ นานากับถ้อยคำเชิงอวดโอ่เช่นนั้น

เหตุผลของการสยบยอมต่อกฎแห่งกรรมนั้น นอกจากวัยเวลาแล้ว การปล่อยให้ตัวเองย่ำวนอยู่ในกับดักแห่งทุกข์แล้วเรียนรู้ที่จะคิดฝันถึงมัน พิจารณาถึงมันตามแนวทางของ “พุทธธรรม”  ก็ได้ทำให้ผมปลดวางบางความรู้สึก นึก คิด มากขึ้น ที่สำคัญคือผมเริ่มมองเห็นใบหน้าของตัวเองในความรู้สึกน้อยลงเรื่อย ๆ

ปัญหาของผมคือ ทำอย่างไรชีวิตอันแสนไร้ค่านี้จะมีแสงสว่างขึ้นมาบ้าง คิดตรองดูแล้ว ยี่สิบสี่ชั่วโมงของแต่ละวัน ผมใช้เวลานอนราวสี่ชั่วโมง แบ่งเป็นสองช่วงคือ กลางคืนสามชั่วโมง และช่วงบ่ายก่อนเวลามื้อเย็นผมต้องงีบสักชั่วโมง (เอาแรงไว้ดูข่าวภาคค่ำ) ตารางกิจวัตรประจำวันของผมรัดกุมมาก ไม่ค่อยยืดหยุ่นมากนัก คือตื่นตีสาม เข้าห้องน้ำ- อ่านหนังสือ –ตีห้าออกกำลังกายจนหกโมงเช้า วิ่งเหยาะไปตามทุ่งนา ไม่หักโหม -  จากนั้นก็ทำงานถึงช่วงเย็น –แต่ผมต้องกินยาสม่ำเสมอและในปริมาณที่มากจนบ่อยครั้งถึงขั้นอิ่มตื้น กินข้าวไม่ลงเลยทีเดียว หมอกำชับผมทุกเดือนที่นัดไปตรวจร่างกายคือ เรื่องยา อาหาร ออกกำลังกาย อย่าให้ได้เจ็บไข้

ผมเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเมื่อปี ๒๕๔๔ ตอนนี้หัวใจจึงเต้นเสียงดังกว่าคนอื่น เพราะมีลิ้นหัวใจเทียมช่วยประคองชีวิตไว้สามลิ้น เหลือของแท้ที่เป็นเนื้อเยื่อเพียงลิ้นเดียว ฉะนั้นสิ่งที่หมอกำชับจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

ทำไมต้องพูดเรื่องตัวเองให้มากความ... ผมขออภัยและต้องสารภาพว่า บางทีความสับสนก็ทำร้ายเราได้หนักหนาไม่ต่างจากความเหงา...

หนังสือที่ผมได้เขียนวิจารณ์ในพื้นที่ของสวนหนังสือแห่งนี้ ชื่นชมบ้าง ตำหนิติเตียนบ้าง ล้วนออกมาจากความรู้สึกที่แท้ ส่วนสำคัญยิ่งคือเป็นภารกิจหนึ่งที่ทำให้ชีวิตที่เหลือของผม..มีแสงสว่าง..  ต้องขอขอบคุณ คุณภู เชียงดาว และทีมงานเว็บไซต์ประชาไทแห่งนี้ ที่เอื้อเฟื้อและกรุณา ณ ที่นี้ด้วย

หนังสือบางส่วนอยู่ในตู้หนังสือเป็นของลูกสาว...ผู้จากผมไปแล้ว แม้ไม่ได้ตายจากกัน แต่ลูกก็ไม่เคยหวนกลับมาอีก ลูกสาวคนโตกับรากเหง้าอันเน่าผุ ซึ่งผมผู้เป็นพ่อก็มีส่วนที่สอนให้ลูกปฏิเสธรากเหง้าของตัวเอง หันไปฟุ้งเฟ้อกับแนวคิดของโลกตะวันตก ป่านนี้ลูกจะเป็นอย่างไร จะมีชีวิตชนิดใดกับความเชื่อมั่นในสิ่งที่ลูกเชื่อและยึดถือ..ผมไม่อาจรู้..  แต่หนังสือที่ลูกทิ้งไว้ให้  ผมนำมาอ่านอย่างไม่คิดปฏิเสธ

การอ่านเป็นวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งอยู่  มันมีความหมายลึก  ต้องอ่านด้วยจิตใจทั้งหมด  โดยอารมณ์ที่พร้อมจะรับรู้  เรียนรู้  มันสำคัญยิ่งกว่าการอ่านได้มากแต่ไม่พร้อมที่จะรู้  ท่านเขมานันทะกล่าวไว้ในหนังสือ   เค้าขวัญวรรณกรรม (หน้า ๕๓ )

เหตุที่ผมเลือกหยิบเล่มนี้มาอ่าน ส่วนหนึ่งมาจากคำอุทิศในหนังสือ แด่พ่อ  ผู้สรรหาวรรณกรรมให้อ่านแต่ยังเล็ก

ผมก็เป็นพ่อที่สรรหาวรรณกรรมให้ลูก ๆ อ่านตั้งแต่ยังเล็ก ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน แต่ผมไม่เคยสรรหาหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนคนไทยให้ลูกอ่านเลย นอกจากหนังสือเรียน การกีดกันเช่นนี้ผมเพิ่งสำนึกได้ว่าเป็นเพราะทัศนคติคับแคบเกินไปของผม ข้อนี้อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ให้ลูก ๆ ขยับห่างออกไปจากสายสัมพันธ์ระหว่างเรา

ครั้งหนึ่งลูกสาวเคยถามผมว่า เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นคนเช่นไร?  ทำไมเขาจึงต้องเข้าป่า แล้วเขียนหนังสือ เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง  ซึ่งมองจากสีหน้า –น้ำเสียงของลูกแล้ว ผมเห็นแต่ความชื่นชม เหมือนลูกได้ค้นพบความคิดฝันของตัวเองจากหนังสือเล่มนั้นของเสกสรรค์

ขณะนั้น ผมไม่รู้จะหาคำตอบอย่างไร ใจจริงตอนนั้นผมไม่ชอบเสกสรรค์ ขณะที่กลับชื่นชม ธีรยุทธ
ต้องออกตัวก่อนว่า หลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ผมเป็นนักศึกษาเทคนิคต่างจังหวัดที่ต้องหาที่ปลอดภัยคุ้มตัว บ้านพักผมถูกเพ่งเล็ง หนังสือที่ผมหาซื้อเก็บไว้ถูกเผาโดยฝีมือแม่ยายที่กลัวจนแทบไม่เป็นอันทำอะไร ...

ผมไม่รู้จะตอบลูกอย่างไร จึงได้แต่บอกว่า ถ้าสนใจก็ลองหาหนังสือเล่มอื่นของเขามาอ่านดู แต่...เดี๋ยวนี้มันหมดยุคแล้วลูก... คอมมิวนิสต์ไม่มีหรอก..  

ตอบไม่ถูกเหมือนกันว่า ผมรู้สึกอย่างไรแน่ จึงนึกถึงคำว่า “หมดยุค” ผมกลัวหรือ? แล้วกลัวอะไร? ในตอนนั้น...

ครั้นได้อ่านหนังสือ เค้าขวัญวรรณกรรมของ ท่านเขมานันทะ ผมจึงได้มองเห็นระหว่างผมในฐานะผู้อ่าน และท่านเขมานันทะ ในฐานะผู้เขียน (สนทนา) ระหว่างปัจเจก เรามีความรู้สึก นึก คิด ร่วมกันในหลายประการ  ยกตัวอย่างบทสนทนากับสหายวัยเยาว์ในหัวข้อเรื่อง มหากาพย์กับมนุษย์

คำถาม : ความหมาย ที่มา ประวัติศาสตร์ รวมทั้งแรงบันดาลใจในการก่อรูปของมหากาพย์
คำตอบ :  มหากาพย์เป็นเรื่องของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เรื่องราวที่มีอยู่ในมหากาพย์เป็นภาพสะท้อนวิญญาณของเผ่าพันธุ์ เป็นประวัติศาสตร์ด้านในของชีวิตมนุษย์กับการเดินทางไกลในตัวชีวิตเอง... ฯลฯ ... ผมก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับทุก ๆ คนที่เติบโตในช่วงที่ซีกโลกตะวันออกเหลียวแลตะวันตกราวกับแดนแสงสว่าง  พูดย่อ ๆ ก็คือ การไปเรียนเมืองนอก การรู้เรื่องอะไรทันสมัยเป็นสิ่งเลิศหรู เป็นสิ่งที่ปรารถนา และในความทะเยอทะยานนั้น มีทีท่าอยากจะทอดทิ้งอดีต ซึ่งถือว่าไม่ได้เรื่องเร่อร่าล้าสมัย เหล่านี้เป็นจริงอยู่เมื่อ ๓๐ –๔๐ ปีที่แล้ว  มันเป็นช่วงของการแสวงหาและมองข้ามรากเหง้าของชุมชนและตนเอง ช่วงนั้น ผมก็ไม่ชอบ ไม่ใส่ใจมหากาพย์, นิทานพื้นบ้าน รวมทั้งขนบประเพณีต่าง ๆ แต่เดี๋ยวนี้มันกลับวกย้อน ผมกลับเห็นคุณค่า และชอบมากยิ่งขึ้นต่อวรรณกรรมมหากาพย์ นิทานพื้นบ้าน หรือนิทานปรัมปรา ผมกลับวกย้อนไปร่วมทางกับป้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟัง เรื่องส่วนตัวที่เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้  คือการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ในปัจเจกคนหนึ่ง  ซึ่งน่าจะนำพิเคราะห์เทียบเคียงกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  ปัจเจกน่าจะเป็นกุญแจไขความไปสู่สังคมโลก ปัจเจกไม่ใช่ไม่มีความหมาย ความจริงในตัวปัจเจกเหมือนดอกกุญแจเล็ก ๆ ไปเข้าสู่เนื้อที่กว้างขวางได้ถ้ามันหมุนไปถูกทาง ...

ในประโยคที่ว่า  ช่วงที่ซีกโลกตะวันออกเหลียวแลตะวันตกราวกับแดนแสงสว่างนั้น ทำให้ผมมองเห็นปรากฏการณ์ของกระแสสังคมที่ค่อย ๆ เคลื่อนไหว หมุนเป็นวงรอบคล้ายวัฎจักร เช่นปัจจุบันนี้ กลับเป็นช่วงที่ซีกโลกตะวันตกเหลียวแลตะวันออกราวกับแดนแห่งแสงสว่าง แต่น่าสังเกตว่า อย่างไรก็ตามซีกโลกตะวันตกก็ยังเป็นฝ่ายสร้างกระแสขึ้นมาก่อนอยู่นั่นเอง ดังนั้นกระแสของวัฒนธรรม วิถีชีวิตแบบอิงธรรมชาติ เรื่องของรากเหง้า จึงอยู่ใน “เทรนด์”ของคนในสังคมปัจจุบัน (แม้ว่าจะไปเกาะเกี่ยวกับแผนการตลาดของสินค้าบางประเภทด้วยก็ตาม)  ต่างแต่ว่าของใครจะเป็นแค่กระแส หรือจะลงลึกถึงขั้นจิตวิญญาณได้ ข้อดีของความเป็นกระแสนั้นก็มี คือการแพร่หลาย กว้างขวาง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อเสียก็ย่อมไม่น้อยด้วย

เหตุผลของผมที่เขียนถึงหนังสือเล่มนี้ ต่างจากเล่มอื่นตรงที่ไม่ได้ลงลึกเป็นบทวิจารณ์วรรณกรรม ต้องการเพียงเชิญชวนให้ผู้สนใจลองอ่าน เค้าขวัญวรรณกรรม ดูบ้าง เพราะเป็นหนังสือที่บรรจุเนื้อหาหลายศาสตร์วิชาเข้าด้วยกัน ทั้งปรัชญา ศาสนา วรรณคดี จิตวิทยาต่าง ๆ มากมาย พร้อมกันนั้นก็ได้วิเคราะห์ เปรียบเทียบให้เห็นถึงมิติต่าง ๆ ที่สะท้อนออกมาด้วย

โดยเฉพาะหัวข้อ มหากาพย์กับมนุษย์ ที่ท่านเขมานันทะได้ให้คำอธิบายต่อข้อคำถาม ซึ่งล้วนน่าสนใจและศึกษายิ่ง จะลองนำคำถามมาให้อ่านดู
-    ความหมาย ที่มา ประวัติศาสตร์ รวมทั้งแรงบันดาลใจในการก่อรูปของมหากาพย์ ?
-    เป้าหมายของมหากาพย์ ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมหากาพย์ และผลกระทบต่อวิถีชีวิต ?
-    มหากาพย์สัมพันธ์กับตัวเราอย่างไร ?
-    มหากาพย์สร้างอย่างไร ?
-    ทำอย่างไรเพื่อให้คนรุ่นใหม่สนใจมหากาพย์, ชาดก ทั้งเรียนรู้การตีความหมายได้ ?  ฯลฯ

ผมอาจทำได้แค่ยกตัวอย่าง หยิบจับประเด็นที่น่าสนใจมาให้อ่านกัน เพราะไม่มีภูมิความรู้มากพอจะวิจารณ์  
มหากาพย์ที่นำมากล่าวถึง และเปรียบเทียบนั้นมีหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งจากซีกโลกตะวันออกและตะวันตก ซึ่งล้วนผสมผสานปะทะสังสรรค์กันอย่างน่าอัศจรรย์ ดังข้อสังเกตที่ว่า (หน้า ๑๓)

อ.ปรีดี  พนมยงค์ ยกคำว่า “พิลาส”ภาษาบาลีสันสกฤต กับคำว่า “Philos” แปลว่าความรัก “Philosophy” แปลว่ารักที่จะรู้  คำว่า  Philos ตัวนี้กับคำว่า “พิลาส”ตัวเดียวกัน แม้แต่คำว่า Burg เช่น Edinburgh คือคำท้ายคำว่า “บุรี”นั่นเอง  หรือ รัฐในอเมริการัฐหนึ่ง ชื่อ Pennsylvania มีคำว่า “วน”อยู่ในนั้น สวนป่าของเพนน์ วิลเลียม เพนน์ ยกให้อังกฤษ แล้วอังกฤษเรียกชื่อว่า Penn’s vania  เวเนียของเพนน์  เวเนีย คือคำว่า “วน”คือ ป่า

คำและพยางค์เหล่านี้มันผสมผสานปะทะสังสรรรค์กันอย่างไร เราก็สาวไปถึงที่มาของชนเผ่าอารยัน แถบทะเลสาบแคสเปียน, เขาคอเคซัส เรียกเผ่าชนเหล่านั้นว่า คอเคซอย  เมื่อมีการอพยพลงล่างก็แตกเป็น ๒ สาย สายหนึ่งเข้าไปอยู่อินเดีย เรียก อินโดอารยัน อีกสายหนึ่งเข้าไปทางอิหร่าน (เปอร์เซีย) เรียก
อินโดอิราเนียน ซึ่ง อินโดอิราเนียน นั่นเองเป็นต้นตอของละติน เป็นไปได้ไหมที่วรรณกรรมมหากาพย์   รามายณะ มหาภารตยุทธ์ โอดิสซี อีเลียด ที่จริงมาจากแหล่งเดียวกัน แล้วมันแตกไป ๒ สาย

กล่าวถึง มหากาพย์รามายณะ ที่เราคุ้นเคย ว่ากันว่า พระฤๅษีวาลมิกิ  ท่านเขมานันทะอธิบายถึงสัญลักษณ์ที่มีอยู่ในมหากาพย์รามายณะ ว่า พระรามค่อย ๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ของสัจจะ คือ ความจริง หรือ มหาตมะคานธี เรียกว่า Truth ( ครั้งหนึ่งมหาตมะคานธีเดินจงกรมไปมา มีคนใกล้ชิดแอบได้ยิน เมื่อเดินไปเที่ยวหนึ่งท่านพึมพำว่า “God is Truth” เดินกลับมาอีกเที่ยวหนึ่งว่า “But truth is not god” สำหรับพระรามนั้น ติดริมฝีปากของชาวอินเดียว ในฐานะ God คำสุดท้ายที่มหาตมะคานธี อุทานคือ “ราม”แล้วก็ตายเพราะถูกยิง)

ปราชญ์ใหญ่ของอินเดียคนหนึ่ง สวามีวิเวกนันทะ ซึ่งเป็นคนประเดิมการตีความในทางปริศนาธรรมต่อ    รามายณะว่า พระรามนี้ต้องเป็นสัญลักษณ์ของธรรมะที่เรียกว่า สัจจะหรือสัตยะ เพราะบทบาทตลอดทางของพระรามยึดถือแต่สัจจะ คือเป็นตัวความจริง คือเป็นตัว Truth เรียกว่า พระราม  สีดาน่าจะหมายถึง อาตมัน ตัวตนที่แท้จริงของเรา กับ Truth นี้มันสัมพันธ์กันอยู่ ความจริงของจักรวาลหรือของโลกกับตัวตนธรรมชาติของเรา ตัวจริงของเราเป็นอันเดียวกันเป็นคู่รักคู่สวาทกัน เป็นของกันและกัน

หนุมานนั้นไม่ได้หมายถึงลิง หมายถึง พลังภักดีต่อพระเจ้า เพราะตลอดทางหนุมานจะเต็มไปด้วยความภักดีต่อพระราม  เมื่อถูกเกลี้ยกล่อมให้เข้าข้างฝ่ายทศกัณฐ์ หนุมานแหวกอกให้ดู ข้างในมีแต่ภาพของพระรามกับสีดาเท่านั้น  ส่วนเห้งเจียในไซอิ๋วก็มีตอนแหวกอก เพราะว่าไซอิ๋วเลียนแบบรามายณะ ไซอิ๋วเป็นของพุทธล้วน ๆ เห้งเจียแหวกอกให้ดู เมื่อถูกเกลี้ยกล่อมจากปีศาจฝูงหนึ่ง ปรากฎว่าเห้งเจียไม่มีใจ เป็นจิตใจซึ่งว่างเปล่า  


จะเห็นว่าคมคายลึกซึ้งจนเราต้องยอมรับ ปราชญ์โบราณ นั่นเป็นปริศนาธรรมของพุทธ เรียก มหากาพย์ได้เพราะเป็นบทกวีของการเดินทางไกล หยิบเอาเรื่องพระถังซัมจั๋งเป็นตัวเอก

ในส่วนที่กล่าวถึงทศกัณฐ์ ท่านว่า
อหังการ์นี้เองได้ถูกชูขึ้นเป็นประเด็นหลักในรามายณะ คือตัวทศกัณฐ์ ว่าเป็นปัญหาของสันติสุขของโลก เราจะเห็นว่าบทบาทของทศกัณฐ์คือบทบาทของอหังการ์ เขาไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมทั้งสิ้น

ต่อคำถามเกี่ยวกับมหากาพย์กับมนุษย์ ที่มีหลายข้อนั้น เราจะได้คำตอบที่ไขให้กระจ่างใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผมที่เคยปฏิเสธความล้าสมัยของมหากาพย์ ที่ตลอดทั้งเรื่องมีแต่รบราฆ่าฟัน ใช้อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เกินความจริง  แต่เมื่อมองเห็นว่าเป็นปริศนาธรรม มองอย่างลึกซึ้ง ผมจึงตระหนักว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมเองก็เป็นตัวการหนึ่งที่อาศัยบทบาทของทศกัณฐ์ สร้างมารีศ (ทศกัณฐ์หรือราวณะ, อหังการ์ ได้ส่งมารีศแปลงเป็นกวางทอง กวางตัวนั้นเป็นมายาภาพ ชื่อของไทยเราเพี้ยนไปเรียกมารีศ ที่จริงเรียก มารีจ เป็นคำเดียวกับ Mirage ภาพลวงตา เกิดภาพลวงตาขึ้นในชีวิตทำให้ สัตยะ กับ อาตมัน แยกกันอยู่ คือถูกลักขโมยไปอยู่ลงกา) ก่อตัวหนาเป็นอวิชชา ทั้งอหังการ์และอวิชชา ทำให้ผมไม่เหลือพื้นที่ให้สัจจะ

ผมเคยคิดเล่น ๆ ว่า  ผมเองมีลิ้นหัวใจเทียมอยู่สามลิ้น มีเพียงลิ้นเดียวเป็นของจริง ที่ถือกำเนิดมาพร้อมชีวิตในครรภ์มารดา  ทุกวันนี้ผมอยู่คนเดียว จากครอบครัวที่มีสี่คน พ่อแม่ ลูกสอง ผู้หญิงสามคนในชีวิตมีให้เห็นแต่ในภาพถ่าย... ทั้งนี้ผมได้ปล่อยปละละเลย ไม่เคยรู้สึก ไม่รู้ตัวว่าได้ทำอะไรไปบ้าง กระทั่งย่างเข้าขวบปีที่แล้ว... ที่ผมได้อยู่ลำพัง และได้มีเวลาคิด อ่าน หนังสือมากขึ้น...

สำหรับ เค้าขวัญวรรณกรรม เล่มนี้ เป็นหนังสือที่อ่านไม่รู้จบ อ่านซ้ำ อ่านเพิ่ม อ่านอย่างเข้าถึงรับรู้ด้วยจิตวิญญาณนั้นจะเป็นมรรคผลมากกว่า ซึ่งการเปิดใจรับรู้นั้นก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนเลย ไม่ว่าจะอ่านอะไรก็ตาม ทั้งนี้ ท่านเขมานันทะ ได้กล่าวถึงก้าวย่างที่สำคัญของมนุษยชาติไว้ว่าคือวิวัฒนนาการของภาษา กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ ประดิษฐกรรมที่มีประสิทธิภาพร้ายแรงที่สุดของมนุษย์ก็คือภาษา

ส่วนภาษานั้นจะซับซ้อน ลุ่มลึก กระชับเรียบง่าย อย่างไร แฝงปริศนาธรรม หรือสัญลักษณ์มากมายแค่ไหน ผมอยากฝากให้หามาอ่านหรือเก็บไว้อ่าน  สำหรับในตอนหน้า ผมจะเลือก พี่น้องคารามาซอฟ สุดยอดวรรณกรรมคลาสสิคของ ฟีโอโดร์ ดอสโตเยสกี้ มาเล่าถึง หวังว่าลิ้นหัวใจของผมจะทำงานอย่างซื่อสัตย์และจงรักภักดีครับ.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้าฯ ผู้เขียน               :           อ.ก. ร่งแสง (โพยม โรจนวิภาต)ประเภท              :           สารคดีประวัติศาสตร์          พิมพ์ครั้งที่ 2  พ.ศ.…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ฝรั่งคลั่งผี ผู้เขียน : ไมเคิล ไรท จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก : กรกฎาคม 2550 อ่าน ฝรั่งคลั่งผี ของ ไมเคิล ไรท จบ ฉันลิงโลดเป็นพิเศษ รีบนำมา “เล่าสู่กันฟัง” ทันที จะว่าร้อนวิชาเกินไปหรือก็ไม่ทราบ โปรดให้อภัยฉันเถิด ในเมื่อเขาเขียนดี จะตัดใจได้ลงคอเชียวหรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เด็กบินได้ ผู้เขียน : ศรีดาวเรือง ประเภท : นวนิยายขนาดสั้น พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2532 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์กำแพง มาอีกแล้ว วรรณกรรมเพื่อชีวิต เขียนถึงบ่อยเหลือเกิน ชื่นชม ตำหนิติเตียนกันไม่เว้นวาย นี่ฉันจะจมอยู่กับปลักเพื่อชีวิตไปอีกกี่ทศวรรษ อันที่จริง เพื่อชีวิต ไม่ใช่ “ปลัก” ในความหมายที่เราชอบกล่าวถึงในแง่ของการย่ำวนอยู่ที่เดิมแบบไร้วัฒนาการไม่ใช่หรือ เพื่อชีวิตเองก็เติบโตมาพร้อมพัฒนาการทางสังคม ปลิดขั้วมาจากวรรณกรรมศักดินาชน เรื่องรักฉันท์หนุ่มสาว เรื่องบันเทิงเริงรมย์…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : คนซื้อฝัน ผู้เขียน : ศุภร บุนนาค ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2537 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะอ่านหนังสือของนักเขียนไทยให้มากกว่าเดิม ฉันดำเนินการแล้วล่ะ อ่านแล้ว อิ่มเอมกับอรรถรสแบบที่หาจากวรรณกรรมแปลไม่ได้ หาจากภาษาของนักเขียนไทยรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยจะได้ จนรู้สึกไปว่า คุณค่าของภาษาได้แกว่งไกวไปกับกาละด้วย
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เพลงกล่อมผี ผู้เขียน : นากิบ มาห์ฟูซ ผู้แปล : แคน สังคีต จาก Wedding Song ภาษาอังกฤษโดย โอลีฟ อี เคนนี ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2534 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์ หนาวลมเหมันต์แห่งพุทธศักราช 2552 เยียบเย็นยิ่งกว่า ผ้าผวยดูไร้ตัวตนไปเลยเมื่อเจอะเข้ากับลมหนาวขณะมกราคมสั่นเทิ้มด้วยคน ฉันขดตัวอยู่ในห้องหลบลมลอดช่องตึกอันทารุณ อ่านหนังสือเก่า ๆ ที่อุดม ไรฝุ่นยั่วอาการภูมิแพ้ โรคประจำศตวรรษที่ใครก็มีประสบการณ์ร่วม อ่านเพลงกล่อมผีของนากิบ มาห์ฟูซ ที่แคน สังคีต ฝากสำนวนแปลไว้อย่างเฟื่องฟุ้งเลยทีเดียว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง สวัสดีปี 2552 ขอสรรพสิ่งแห่งสุนทรียะจงจรรโลงหัวใจท่านผู้อ่านประดุจลมเช้าอันอ่อนหวานที่เชยผ่านเข้ามา คำพรคงไม่ล่าเกินไปใช่ไหม ตลอดเวลาที่เขียนบทความใน สวนหนังสือ แห่ง ประชาไท นี้ ความตื่นรู้ ตื่นต่อผัสสะทางวรรณกรรม ปลุกเร้าให้ฉันออกเสาะหาหนังสือที่มีแรงดึงดูดมาอ่าน และเขียนถึง ขณะเดียวกันหนังสืออันท้าทายเหล่านั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้วาวโรจน์ขึ้นกับหัวใจอันมักจะห่อเหี่ยวของฉัน
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : เงาสีขาวผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน น้ำเน่าในคลองต่อให้เน่าเหม็นปานใดย่อมระเหยกลายเป็นไออยู่นั่นเอง แต่การระเหิด ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกับการระเหย  ระเหย คือ การกลายเป็นไอ จากสถานภาพของของเหลวเปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นก๊าซระเหิด คือ การเปลี่ยนสถานภาพเป็นก๊าซโดยตรงจากของแข็งเป็นก๊าซ โดยไม่ต้องพักเปลี่ยนเป็นสถานภาพของเหลวก่อน ต่างจากการระเหย แต่เหมือนตรงที่ทั้งสองกระบวนการมีปลายทางอยู่ที่สถานภาพของก๊าซสอดคล้องกับความน่าเกลียดที่ระเหิดกลายเป็นไอแห่งความงามได้
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : เงาสีขาว ผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทอง ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน ปกติฉันไม่นอนดึกหากไม่จำเป็น และหากจำเป็นก็เนื่องมาจากหนังสือบางเล่มที่อ่านค้างอยู่ มันเป็นเวรกรรมอย่างหนึ่งที่ดุนหลังฉันให้หยิบ เงาสีขาว ขึ้นมาอ่าน เวรกรรมแท้ ๆ เชียว เราไม่น่าพบกันอีกเลย คุณแดนอรัญ แสงทอง ฉันควรรู้จักเขาจาก เรื่องสั้นขนาดยาวนาม อสรพิษ และ นวนิยายสุดโรแมนติกในนามของ เจ้าการะเกด เท่านั้น แต่กับเงาสีขาว มันทำให้ซาบซึ้งว่า กระบือย่อมเป็นกระบืออยู่วันยังค่ำ (เขาชอบประโยคนี้นะ เพราะมันปรากฏอยู่ในหนังสือของเขาตั้งหลายครั้ง)…
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร   ผลงานของนักเขียนไทยในแนวของเมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือสัจนิยมมายา ที่ได้กล่าวถึงเมื่อตอนที่แล้ว ซึ่งจะนำมาเขียนถึงต่อไป เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นถึงข้อเปรียบเทียบระหว่างงานที่แท้กับงานเสแสร้ง เผื่อว่าจะถึงคราวจำเป็นจะต้องเลือกที่รักมักที่ชัง แม้นรู้ดีว่าข้อเขียนนี้เป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคล แต่ฉันคิดว่าบางทีรสนิยมก็น่าจะได้รับคำอธิบายด้วยหลักการได้เช่นเดียวกัน…
สวนหนังสือ
เมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือที่แปลเป็นไทยว่า สัจนิยมมายา หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ เป็นแนวการเขียนที่นักเขียนไทยนำมาใช้ในงานเรื่องสั้น นวนิยายกันมากขึ้น ไม่เว้นในกวีนิพนธ์ โดยส่วนใหญ่จะได้แรงบันดาลใจมาจาก ผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ซึ่งมาเกซเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ฮวน รุลโฟ (ฆวน รุลโฟ) จากผลงานนวนิยายเรื่อง เปโดร ปาราโม อีกทอดหนึ่ง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์วรรณกรรมแนวนี้ถูกตัดตอน ขอกล่าวถึงต้นธารของงานสกุลนี้สักเล็กน้อย กล่าวถึงฮวน รุลโฟ ซึ่งจริงๆ แล้วควรเขียนเป็นภาษาไทยว่า ฆวน รุลโฟ ทำให้หวนระลึกถึงผลงานแปลฉบับของ ราอูล ที่ฉันตกระกำลำบากในการอ่านอย่างแสนสาหัส…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครนA SHORT HISTORY OF TRACTORS IN UKRAINIAN ผู้เขียน : MARINA LEWYCKA ผู้แปล : พรพิสุทธิ์ โอสถานนท์ ประเภท : นวนิยายแปล พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน และแล้วฉันก็ได้อ่านมัน ไอ้เจ้าแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เมียงมองอยู่นานสองนานแล้วได้สมใจซะที ซึ่งก็สมใจจริงแท้แน่นอนเพราะได้อ่านรวดเดียวจบ (แบบต่อเนื่องยาวนาน) จบแบบสังขารบอบช้ำเมื่อต่อมขำทำงานหนัก ลามไปถึงปอดที่ถูกเขย่าครั้งแล้วครั้งเล่า ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เป็นนวนิยายสมัยใหม่ที่ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่ดึงดูดแบบยุคทุนนิยมเสรี…