Skip to main content

นายยืนยง 

20080509 (cover)

บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSE
ผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECO
ผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์
บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญ
สำนักพิมพ์           :    โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541

 

โดยมากแล้ว นวนิยายถอดแบบมาจากชีวิต  และไม่น้อยเหมือนกันที่ นวนิยายเป็นมากกว่าชีวิตจริง  

สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ก็เช่นกัน  เรื่องระหว่างคณะบาทหลวงที่กินเวลาเพียงเจ็ดวัน สถานที่แห่งเดียวซึ่งตัวละครดำเนินชีวิตในท้องเรื่อง ข้อจำกัดของระยะเวลาและฉากนั้น ได้ถ่ายทอดโลกของเรื่องแต่ง ที่ให้สัญญะแก่โลกทัศน์ที่เป็นจริงได้มหาศาล และเป็นยิ่งกว่าเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งใด ด้วยเนื้อความที่พิมพ์เป็นตัวหนังสือได้เจ็ดร้อยกว่าหน้า

สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ  ถือกำเนิดใน ค.ศ.๑๙๘๐ เป็นผลงานนวนิยายเรื่องแรกของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอิตาเลี่ยน  เป็นหนังสืออ่านยากที่ได้รับรางวัลดีเด่นมากมาย  ทั้งเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษก็เป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งในอเมริกา  โครงการจัดพิมพ์คบไฟ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิคร่วมสมัยทันทีโดยมิต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

อุมแบร์โต เอโก  ศาสตราจารย์ในวิชาสัญญวิทยาผู้ลือนาม เขาเป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ นักปรัชญา นักสุนทรียศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมของเจมส์ จอยซ์  ศึกษาค้นคว้าทางวิชาการอย่างหลากหลาย นับตั้งแต่งานของนักบุญโธมัส อะไควนัส ( St. Thomas Aquinas : ศตวรรษที่ 13  ประวัติของท่านกล่าวว่าถูกส่งไปเข้าคณะเบเนดิกทีนที่อารามหลัก มอนเตกาสสิโน ตั้งแต่ยังเล็ก  แต่ต่อมาท่านขัดความประสงค์ของครอบครัว โดยเดินทางไปเนเปิลส์เพื่อเข้ากับคณะโดมินิกัน ท่านได้ศึกษาเทววิทยา และมีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาต่อมา ไม่นานท่านก็เป็นครูสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเนเปิลส์  โดยอิงหลักธรรมในศาสนาคริสต์ และหลักปรัชญาของอริสโตเติล งานเขียนชิ้นเอกของท่าน คือ ซุมมา  เทโอโลจิกา  Summa Theologica  ซึ่งปัจจุบัน นิกายโรมันคาทอลิกก็ยึดเป็นหลักคำสอน  ท่านได้รับการยกย่องให้เป็น  นักการศึกษาที่มีความเป็นนักบุญมากที่สุด และเป็นนักบุญที่เป็นนักการศึกษามากที่สุด  )  ไปจนถึงซูเปอร์แมน

นวนิยายแปลนั้น  ต้องอาศัยเครื่องมือของอารยธรรมเช่นภาษาช่วยถ่ายทอดอธิบาย ซึ่งสมัญญาแห่งดอกกุหลาบ   ได้นักแปลฝีมือเยี่ยมอย่าง ภัควดี  วีระภาสพงษ์  ผลงานแปลเล่มอื่นของผู้แปลได้แก่ ผู้สืบทอด แผ่นดินชีวิต รอยย่างเท้า ซึ่งเป็นนวนิยายชุด  จตุรภาคเกาะมูรู 3 เล่มจบ ของ ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ และยังมีงานแปลนวนิยาย ของ มิลาน คุณเดอราอีกหลายเล่ม เช่น แม่ ความเขลา และที่โด่งดังคือ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ติดตามผลงานอื่น ๆ ของผู้แปลได้จาก วารสาร ฟ้าเดียวกัน  และที่เวบไซต์ของ “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ”
    
กล่าวถึงการถ่ายทอดจากภาษาอันแตกต่างแล้ว  ต้องเพิ่มเติมถึงบันทึกของผู้เขียน ดังนี้

ศตวรรษที่ 14 แอดโซแห่งเมลค์ นักบวชคณะเบเนดิคทีน ชาวเยอรมัน ได้จารึกเรื่องราวอันอุกฉกรรจ์  เป็นต้นฉบับภาษาลาติน ซึ่งเป็นภาษาที่นักบวชใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างปฏิบัติภารกิจในอาราม โดยในยุคกลางนั้น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ภาษาอิตาเลี่ยนยังถือเป็นภาษาถิ่น ซึ่งอุมแบร์โตยังบอกอีกว่า สำนวนภาษาของแอดโซนั้น อาจเขียนด้วยสำนวนภาษาของปวงนักปราชญ์ในศตวรรษที่ 12-13
    
ศตวรรษที่ 17 บาทหลวงแวลเลท์ แปลจากต้นฉบับของแอดโซ เป็นภาษาฝรั่งเศส ในยุคนีโอโกธิคอันคลุมเครือ  ซึ่งมีข้อสังเกตหลายประการว่า มีการเพิ่มเติมความรู้ใหม่ในศตวรรษที่ 17 เข้าไปในต้นฉบับแปลของบาทหลวงแวลเลท์ด้วย  
    
ศตวรรษที่ 19( ค.ศ. 1980 ) อุมแบร์โต เอโก ถ่ายทอดใหม่จากความทรงจำหลังจากได้อ่านต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสของบาทหลวงแวลเลท์ เป็นภาษาอิตาเลี่ยนด้วยอารามตื่นเต้นทางภูมิปัญญา อย่างลุ่มหลงงมงาย เปี่ยมด้วยพลังบันดาลใจทะลักพรั่งพรู  โดยตามบันทึกของอุมแบร์โตแล้ว จะเขียนไว้อย่างละเอียดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งต้นฉบับดังกล่าว  โดยอุปนิสัยของนักประวัติศาสตร์ผู้กระหายใคร่รู้ เขาจึงตระเวนหาข้อเท็จจริงอย่างเต็มกำลัง เกี่ยวกับต้นฉบับเพื่อคลี่คลายความพิศวงส่วนตัวด้วย
    
พ.ศ.2537 ( ค.ศ. 1994 )  ภัควดี วีระภาสพงษ์ ได้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ โดยอาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ เป็นผู้แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้ผู้แปลได้รู้และอ่าน ผู้แปลได้ขอขอบคุณ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ( วิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์ ของผู้แปลที่เป็นศิษย์ท่าน )   
โดยการจัดการของโครงการจัดพิมพ์คบไฟ  มุ่งขยายขอบเขตปรีชาญาณของผู้คนในสังคมดูจะมีน้อยยิ่งกว่า ( คำนำโครงการจัดพิมพ์คบไฟ – ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ – กรรมการโครงการจัดพิมพ์คบไฟ )

สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ  นับได้ว่าเป็นนวนิยายที่อ่านยากเรื่องหนึ่ง ไม่นับรวมความหนาของเล่มหนังสือ หากแต่ยังเต็มไปด้วยศัพท์เฉพาะ การใช้ภาษา และความรู้ขั้นต้นเกี่ยวกับคณะนิกายต่าง ๆ ในศาสนาคริสต์  ความซับซ้อนของยุคกลาง ที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกครองอำนาจเทียบเท่าจักรพรรดิ ซึ่งในเล่มมีเชิงอรรถคอยให้ความกระจ่างอย่างเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านยิ่ง แม้การดำเนินเรื่องจะเป็นแนวรหัสคดีอิงประวัติศาสตร์  เพื่อปลุกเร้าผู้อ่านให้ติดตามเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ  แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ผู้แต่งยังได้สืบเนื่องถึงสัญลักษณ์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตีความ ค้นหาในแง่ปรัชญาอีกไม่รู้จบ โดยเริ่มแรกคือการตั้งชื่อเรื่องว่า สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ  ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้  ไม่ได้อยู่ที่ความยากอันท้าทายประการเดียวเท่านั้น  แต่ยังมีองค์ประกอบอื่น ซึ่งผู้เขียนได้พาให้ผู้อ่านสัญจรลึกเข้าไปถึงดินแดนที่ปรากฏรูปนามแห่งสัญญะเชิงปรัชญา  หากใครชื่นชอบนวนิยายแนวนี้  น่าลองละเลียดอ่านวันละน้อย  เหมือนอย่างกลัวจะอ่านจบเร็วเกินไป ซึ่งต้องระงับความใคร่รู้ที่ว่า ฆาตกรคือใคร ? หรือไม่ก็ตะลุยอย่างกระหายใคร่ครวญ
    
ธาวิต สุขพานิช , ชมรมประวัติศาสตร์อนาคต มธ. เคยเขียนถึง สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ  ไว้ใน นิตยสาร บานไม่รู้โรย ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2530 ว่า การสืบสวนเป็นเพียงองค์ประกอบการประการหนึ่งเท่านั้น คือใช้เป็นสื่อกลางเพื่อสื่อความหมายอย่างอื่น จนผู้วิจารณ์หนังสือเรียกนิยายเล่มนี้ว่า “ นิยายสืบสวนที่ไม่ใช่สืบสวน” และตัวเอโกผู้แต่งเองไปไกลกว่านี้คือ เรียกนิยายของตนว่าเป็น The Detective Metaphysic ซึ่งสะท้อนลักษณะของหนังสือเป็นอย่างดี  ความเด่นของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เค้าโครง แต่อยู่ที่ขั้นตอนของการใช้เหตุผลหาข้อเท็จจริง และนำสู่ข้อสรุปซึ่งน่าสนใจยิ่ง  วิชาความรู้ที่สลายกลายเป็นควันไปพร้อมกับหอสมุด คือข้อสรุปดังกล่าว เป็นสัญลักษณ์แทนค่าสิ่งอื่นซึ่งแฝงอยู่ในเนื้อหาของหนังสือ ความลับเกี่ยวกับชื่อของนิยายก็แอบแฝงอยู่ในสัญลักษณ์นี้ด้วย สุชาติ สวัสดิ์ศรี  ได้นิยาม สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ  ว่าเป็นเหมือนรหัสคดีเชิงปรัชญา ‘หลังสมัยใหม่’  ว่าด้วย ‘สัญศาสตร์ทางวรรณกรรม’

องค์ประกอบของเรื่อง
    
ชื่อเรื่อง สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ
แม้นในนามของดอกกุหลาบอันงามไร้ตำหนิ สัญลักษณ์แห่งชัยชนะอันหยิ่งผยอง  นักบุญอัมโบรสเล่าว่า แรกเริ่มก่อนมีกุหลาบในโลกมนุษย์ กุหลาบเป็นไม้ไร้หนามบนสวรรค์ แต่หลังจากความวิบัติของมนุษย์ ก็มีหนามแหลมผุดขึ้นตามกิ่งก้านและลำต้น เพื่อเตือนใจมนุษย์ถึงบาปที่ได้กระทำลงไป โดยกลิ่นหอมและความงามของกุหลาบนั้นช่วยให้มนุษย์จดจำถึงความงดงามแห่งสรวงสวรรค์   สัญญะของชื่อเรื่องสามารถชี้แนวทางให้ผู้อ่านได้ถึงแนวทางของเนื้อหา ซึ่งสุดแล้วแต่ว่าใครจะตีความไปอย่างไร

ตัวละคร  มี 2 ประเภท

1. มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์  ได้แก่
- พระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 และจักรพรรดิลูอีส ซึ่งเป็นผู้นำของแต่ละฝ่าย คือฝ่ายศาสนจักร และฝ่ายจักรพรรดิ ได้ทำการขับเคี่ยวเพื่อถือครองอำนาจ  ขณะนั้นจักรพรรดิลูอีสเพิ่งขึ้นครองราชย์ ยังขาดความมั่นคง ส่วนพระสันตะปาปามีอิทธิพลครอบคลุมทั่วยุโรป โดยมีกษัตริย์ฝรั่งเศสหนุนหลัง  แต่กลศึกของจักรพรรดิมีความแยบยลตรงที่จู่โจมไปยังจุดเปราะบางที่สุดของพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 เป็นชาวฝรั่งเศส  เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งก็ต้องอาศัยการผลักดันของกษัตริย์ฝรั่งเศส ศูนย์กลางบัญชาการก็ไม่ได้อยู่ที่โรม แต่กลับไปอยู่ที่
อะวีนยองติดเขตฝรั่งเศส (ขณะนั้น)  สร้างความไม่พอใจต่อคริสตศาสนิกชน โดยเฉพาะชาวอิตาเลี่ยนซึ่งเป็นชาติที่กุมอำนาจของศาสนจักรโรมันคาทอลิกมาก่อน กับชาวอังกฤษซึ่งเป็นคู่แข่งทุกอย่างของฝรั่งเศส จักรพรรดิจึงพยายามสร้างแนวร่วมกับคนสองพวกนี้ไว้  พร้อมกันนี้ยังโจมตีในด้านหลักธรรมคำสอน และความมั่งคั่งทางวัตถุของศาสนจักรด้วย

พันธมิตรทางธรรมของจักรพรรดิคือ นักบวชคณะฟรานซิสกัน  มีเป้าหมายเฉพาะคือใช้ชีวิตที่ยากไร้เช่นเดียวกับพระคริสต์เจ้า

เหตุการณ์แย่งชิงอำนาจระหว่างสองขั้วนี้เอง เป็นเบื้องหลังของท้องเรื่อง แต่ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งที่เป็นข้อถกเถียงในหมู่นักบวชนิกายต่าง ๆ เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตยากไร้อย่างพระเยซู
    
- วิลเลียมแห่งออคคัม นักปราชญ์, นักเทววิทยา ซึ่งเป็นสหายกับตัวเอกของเรื่องคือ วิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์   วิลเลียมแห่งออคคัม เป็นครูโรงเรียนชาวอังกฤษ ได้บวชในนิกายฟรานซิสกันและศึกษาศิลปะต่าง ๆ อยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ท่านได้เป็นผู้บรรยายวิชาว่าด้วยคัมภีร์ไบเบิล กระทั่งในค.ศ.1322 โปปจอห์นที่ 22 ทรงประกาศว่าคำสอนของนิกายฟราสซิสกันเป็นมิจฉาทิฐิ ปี ค.ศ. 1323 จึงถูกเรียกตัวไปนครอะวีนยอง เพื่อไปชี้แจงเหตุผลเกี่ยวกับคำสอนบางประการของท่าน ระหว่างนั้นถูกกักบริเวณที่คอนแวนต์ของท่านเอง หนังสือที่นับว่ามีชื่อเสียงที่สุดของท่านคือ หนังสือ Qoudlibets “สิ่งที่เป็นสากลทุกชนิด นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นเอกฐานอย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่เป็นสากลเพราะนัยสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ที่มากหลาย ”
    
ออคคัมนับว่าเป็นบุคคลที่น่าสนใจที่สุด ในการขัดแย้งระหว่างพระสันตะปาปากับจักรพรรดิหลุยส์  ซึ่งทำให้เกิดเป็นพื้นฐานแห่งทฤษฎีการปกครองต่าง ๆ ในปัจจุบัน  หนังสือ Octo quaestiones de potestate papae  ได้โจมตีความยิ่งใหญ่มั่งคั่งของศาสนจักร ยืนยันเรื่องความเป็นอิสระแห่งอำนาจหน้าที่ของกษัตริย์ ซึ่งท่านยืนยันว่าเป็นพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับกฎทางด้านจิตใจเหมือนกัน และอภิปลายถึงคำว่า “ รัฐ ”  ออคคัม กับมาร์ซิลิอุสแห่งปาดัว นับว่าเป็นนักทฤษฎีการเมืองที่สำคัญในยุคกลาง  แนวคิดทางปรัชญาที่โด่งดังที่สุดของท่าน คือ หลักการที่เรียกว่า มีดโกนของออคคัม ซึ่งวิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์ นำไปใช้ในการตั้งสมมุติฐานเพื่อหาตัวฆาตกรในเรื่อง  
    
อนึ่ง อุมแบร์โต เอโก เขียนไว้ว่า แรกเริ่มนั้นเขาต้องการให้วิลเลียมแห่งออคคัมเป็นตัวเอกของเรื่อง แต่หลังจากการศึกษาชีวประวัติพบว่า ออคคัมไม่มีเสน่ห์แบบมนุษย์ เขาจึงสร้างวิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์ขึ้นมาแทน
 ( น.18 )
    
- ไมเคิลแห่งเซเซนา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีชีวิตอยู่จริง โดยเป็นเจ้าคณะบาทหลวงฟรานซิสกัน  ซึ่งวิลเลียมแห่งออคคัมและมาซิลิอุส มีความเห็นขัดแย้งกับพระสันตะปาปา  และเข้าร่วมมือกับจักรพรรดิหลุยส์แห่งบาวา-เรียน
    
-โรเจอร์ เบคอน  นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ และเป็นนักบวชในคณะฟรานซิสกัน
 (อ่านเพิ่มได้จากเชิงอรรถ น.17 )
    
2. ตัวละครที่ผู้แต่งสร้างขึ้นจากจินตนาการ   ตัวเอกของเรื่องคือ วิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์ และแอดโซแห่งเมลค์  รวมถึงคณะนักบวชในอาราม (ตัวละคนเกือบทั้งหมดเป็นนักบวช ยกเว้นก็แต่ หญิงสาวชาวบ้าน 1 คน ) ซึ่งทยอยจบชีวิตลงอย่างมีเงื่อนงำ   โดยแอดโซแห่งเมลค์ นวกะหนุ่มชาวเยอรมัน คณะเบเนดิคทีน ซึ่งมาร์ซิเลียส (นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาเลียน เป็นผู้บุกเบิกการปฏิรูปของนิกายโปรเตสแตนท์ รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับรัฐแบบแมคเคียเวลีและระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่  โดยประยุกต์มาจากคำสอนของอริสโตเติล ) แนะนำบิดาของแอดโซ ให้เขาร่วมเดินทางไปกับวิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์ นักบวชคณะฟรานซิสกัน เพื่อศึกษาโลกกว้าง   โดยที่วิลเลียมนั้นมีภาระสำคัญต้องเดินทางไปยังอารามอันมั่งคั่งแห่งคณะเบเนดิกทีน (ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน)
    
โดยภาพกว้างแล้วผู้อ่านควรหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างของคณะนักบวชนิกายต่าง ๆ สักนิดเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง 
นวนิยายกล่าวถึง

คณะฟรานซิสกัน ก่อตั้งโดย เซนต์ ฟรานซิสแห่งอัสซีซี  ฟรานซิส เบอร์นาร์โดนี  เกิดที่อัสซีซีในภาคกลางของอิตาลี เป็นบุตรพ่อค้ามั่งคั่ง ต่อมาได้กลายเป็นคณะที่ใหญ่ที่ในนิกายโรมันคาทอลิก  คำสอนสำคัญของนักบุญฟรานซิสคือ การสำนึกบาป ความยากไร้โดยสิ้นเชิง การเทศนาด้วยถ้อยคำเรียบง่าย ชัดเจนแจ่มชัด
    
คณะเบเนดิกทีน ก่อตั้งโดย เซนต์ เบเนดิกต์  เบเนดิกต์เกิดในตระกูลมั่งคั่ง ที่เนอร์เชีย ในอิตาลีภาคกลาง ท่านได้ศึกษาที่กรุงโรม ภายหลังท่านได้สร้างวัดเล็ก ๆ ขึ้น 12 แห่ง แต่ละวัดมีพระ 12 รูป กับสมภาร 1 รูป  หลังจากได้ประสบความลำบากอย่างหนัก ท่านก็หลบไปอยู่ที่มองเต คาสสิโน ซึ่งเป็นภูเขาสูงมาก และที่แห่งนี้เองก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของนิกายเบเนดิกทีน  อารามในคณะนี้นับว่าเป็นประชาคมที่บริบูรณ์ในตัวเอง เลี้ยงตัวเองได้ มีฟาร์ม โรงสี สวน และโรงงาน และยังมีโอกาสได้เล่าเรียนด้วย  โดยมีหอสมุดเป็นที่เก็บรักษาตำราไว้เป็นอย่างดี   คณะนี้เน้นที่ความสำคัญของการหลอมรวมการสวดภาวนา การทำงานด้วยแรงกายและการศึกษาความรู้

และอีกหลายคณะ ซึ่งเชิงอรรถมีคำอธิบายประกอบไว้ด้วย

สถานที่ (ฉาก) เวลา และการลำดับเรื่อง
อารามแห่งคณะเบเนดิกทีน  ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน  บรรยากาศขมุกขมัวของภูมิประเทศเขตภูเขาสูง  มีหอสมุดที่รวบรวมรักษาตำรา ต้นฉบับ เอาไว้มากมาย มีทั้งของชาวคริสต์  กรีก  โรมัน อาหรับ มุสลิมและพวกนอกรีต
    
ดังที่ได้กล่าวในเบื้องแรกว่า สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ  เป็นนวนิยายรหัสคดี ดังนั้น ปริศนาและการคาดเดาถึงตัวฆาตกร หรือการตั้งสมมุติฐานว่า “ ใครฆ่า ?” นั้นจึงเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่กระตุ้นความสนใจใคร่รู้ตามธรรมชาติของผู้อ่าน   
    
โดยผู้แต่งแบ่งเนื้อเรื่องเป็นเจ็ดวัน  และแบ่งแยกย่อยเป็นห้วงเวลา  โดยยึดเอาเวลาในการประกอบศาสนพิธีเป็นตัวแบ่งบท เช่น ยามมาตินส์ คือระว่าง 2.30 น. - 3.00 น. ในตอนหัวรุ่ง  หรือ ยามโลดส์  ระหว่าง 5.00 น.  – 6.00 น. ทั้งนี้ ระยะเวลาดังกล่าวก็ไม่แน่นอนเสมอไป อาศัยภูมิอากาศ หรือการคำนวณวางพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริงว่าในอิตาลีภาคเหนือ ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 7.30 น.ในตอนเช้า และดวงอาทิตย์ตกประมาณ 16.40 น.ในตอนเย็น
    
เนื้อเรื่อง
ดำเนินเรื่องโดยมีแอดโซ เป็นผู้เล่าตั้งแต่ต้นจนจบ  
ณ วันแรก เริ่มฉากการเดินทางด้วยล่อ  ไต่ขึ้นตามแนวลาดชันของเทือกเขา ครั้นเมื่อไปถึงอารามอันยิ่งใหญ่ตระการตาแล้ว  วิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์ก็ได้แสดงให้เห็นปรีชาญาณอันน่ายกย่องให้เป็นที่ประจักษ์แก่แอดโซแห่งเมลค์ และคณะนักบวชในอาราม ที่กำลังตามหาม้าที่วิ่งหายไปจากคอก  โดยวิลเลียมได้อธิบายถึงม้าฝีเท้าดีตัวนั้นได้อย่างละเอียด ทั้งที่ไม่เคยเห็นม้าตัวนั้นมาก่อน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คณะนักบวชที่กรูกันออกมาถึงประตูอารามนั้น ออกมาเพื่อการใด ทั้งนี้ วิลเลียมอาศัยหลักการอนุมาน  นับเป็นประตูบานแรก ที่ผู้แต่งวางไว้ให้ผู้อ่านใช้กุญแจไขสัญญะร่วมกัน คล้ายเป็นการกล่าวนำอย่างจริงจังครั้งแรก เพื่อบอกให้รู้ตัวก่อนว่า ต่อแต่นี้ไป ท่านจะได้พบเจอกับ “อะไร?”  โดยวิลเลียมได้อธิบายแก่แอดโซ ลูกศิษย์ว่า
กฐสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนปรากฏแก่เราประดุจดังตำราและฉายาในกระจกเงา”

ครั้นเมื่อสองอาคันตุกะได้พักผ่อนในห้องรับรอง  เจ้าอาวาสอาโบก็เข้ามาปฏิสันฐานต่อวิลเลียม และค่อยแง้มปัญหาพร้อมแสดงเจตนาขอความช่วยเหลือจากวิลเลียม ในกรณีที่คนเลี้ยงแพะได้พบศพนักบวชหนุ่ม อเดลโมแห่งโอทรานโท ช่างวาดภาพประกอบมือหนึ่ง ที่ก้นหุบผา ระหว่างการสนทนา ผู้อ่านจะเห็นถึงลักษณะนิสัยของตัวละครอย่างชัดเจนจากโวหารของผู้พูด  และวิลเลียมได้ขอเข้าชมหอสมุดอันเป็นที่ล่ำลือกันทั่วไปของอารามแห่งนี้ แต่เจ้าอาวาสกลับปฏิเสธอย่างแข็งขัน โดยว่า “หอสมุดพิทักษ์ตัวมันเอง ลึกล้ำสุดหยั่งคาด เฉกเช่นสัจธรรมที่มันเก็บรักษา ล่อหลอกเจ้าเล่ห์ประดุจอาสัตย์อาธรรม์ที่มันอภิบาลไว้ เป็นเขาวงกตดักจิตวิญญาณ มันยังเป็นเขาวงกตที่กางข่ายดักกายภาพไว้ด้วย ท่านอาจเข้าไปและอาจไม่มีวันออกมา ” 
    
ในยามเซกสท์ (เที่ยง) วิลเลียมและแอดโซออกจากห้องรับรองไปที่โบสถ์เพื่อพบกับสหายเก่า อูเบอร์ติโนแห่งคาซาเล ระหว่างนั้นแอดโซได้พรรณนาถึงสถาปัตยกรรมอันแฝงด้วยปรัชญาศาสนา ซึ่งวิจิตรตระการโอ่โถงและน่าขนพองสยองเกล้า บัดดลก็ได้เผชิญหน้ากับนักบวชผู้พูดไม่เป็นภาษามนุษย์ วิลเลียมเอ่ยถามเข้าว่ามาจากสำนักอนุนิกายหรือไม่ (สำนักอนุนิกาย Minorites หมายถึงกลุ่มนักบวชที่แตกแขนงจากคณะฟรานซิสกัน
(น.131 ) ซึ่งส่อพิรุธเป็นกรณีที่สองต่อจากเจ้าอาวาส  ครั้นได้พบอูเบอร์ติโน การสนทนาได้เกริ่นถึงภูมิหลังของเรื่อง รวมทั้งพันธะกิจอันละเอียดอ่อนของวิลเลียมด้วย การพบปะครั้งนี้ ช่างสะกิดใจวิลเลียม โดยอูเบอร์ติโนได้บอกเตือนเป็นแนวทางว่า จงสังเกต พิเคราะห์ สืบเสาะด้วยสายตาคมกริบประดุจแมวป่าในทั้งสองทิศทาง : ทั้งตัณหาและความหยิ่งลำพอง มีการกล่าวถึงอิตถีเพศ ความหยิ่งลำพองของภูมิปัญญา ลงท้ายด้วยคำถามถึงนักบวชผู้พูดไม่เป็นภาษามนุษย์นั้น แต่อูเบอร์ติโนกลับบอกว่า จงค้นหาในหมู่คนที่รู้มากเกินไป
    
จากนั้นทั้งสองได้พบกับเซเวรินัสแห่งซังคท์ เวนเดล ภราดาแพทย์สมุนไพร วิลเลียมซักถามถึงสรรพคุณสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ คุยเรื่องหนังสือที่รจนาโดย อริสโตเติล เมื่อซักไซร้ถามมากเข้า ภราดาแพทย์สมุนไพรก็ยกอ้างกฎบัญญัติแห่งการถือเงียบ อันเป็นข้อสำคัญของคณะนักบวชนิกายเบเนดิกทีนแห่งอารามนี้  แต่วิลเลียมก็ได้ข้อสังเกตมากพอดู
    
การมาเยือนหออาลักษณ์อันโอ่อ่า ที่แอดโซบรรยายไว้อย่างละเอียดลออ ทั้งสองได้พบกับ มาลาคีแห่งฮิลเดสไฮม์ บรรณารักษ์ และขอดูโต๊ะทำงานของอเดลโมผู้ตาย ณ หออาลักษณ์แห่งนี้ เป็นที่เปิดของตัวละครอีกหลายคน ซึ่งล้วนทำงานอยู่ในหออาลักษณ์ทั้งสิ้น  โดยเฉพาะกับ เวนันเชียสแห่งซัลเวเมค นักบวชผู้เชี่ยวชาญภาษากรีกและอารบิค โดยเฉพาะผลงานของอริสโตเติล  ขณะนั้นวิลเลียมได้นำแว่นสายตายาว อันเป็นประดิษฐ์กรรมที่สร้างความฉงนฉงายของบรรดานักบวชในยุคนั้น  พลางสนทนากับบรรณารักษ์เกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่หนังสือในหอสมุด โดยบรรณารักษ์เป็นผู้เขียนทะเบียนรับหนังสือเข้ามา และเป็นดั่งคลังความจำของหอสมุด การพินิจดูงานเขียนภาพประกอบที่อเดลโมจารึกไว้ก่อนตายนั้น เป็นบ่อเกิดแห่งวิวาทะ เยี่ยงไรสัจธรรมจึงอาจไขความผ่านการสำแดงที่น่าพิศวง ทั้งแยบยลและเปี่ยมปริศนา โดยนักบวชชราตาบอดนาม จอร์เกแห่งเบอร์กอส ผู้ก้าวเข้ามาอยู่ในบัญชีผู้ต้องสงสัยอีกรายหนึ่ง  การเยือนหออาลักษณ์ครั้งนี้  วิลเลียมได้ข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีอีกมากทีเดียว  รวมถึงตัณหาอันผิดธรรมชาติที่ส่อเค้าลางว่าจะเป็นมูลเหตุด้วย
    
ออกจากหออาลักษณ์ ทั้งสองได้พบกับนักบวชช่างทำกระจก นามนิโคลาส ข้อสังเกตใหม่ที่ได้จากเขา มีการอ้างถึง ตำรับของอัลแบร์ตุส มาญูส หนึ่งในตำราของเซเวรินัส ที่ระบุวิธีชโลมไส้ตะเกียงน้ำมัน แล้วควันไฟที่คลุ้งตระหลบออกมาจะกระตุ้นให้เกิดภาพหลอน เขาทิ้งท้ายว่า ใครบางคนในหอสมุดนั้นชาญฉลาดมาก
    
ยามคอมไพลน์ (เย็น) นักบวชร่วมรับประทานอาหาร และที่สุด วิลเลียมก็ได้พบทางลับเข้าสู่มหาคาร

ในแต่ละวันเรื่องจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และจะมีใคร?คนใดคนหนึ่งกลายเป็นศพ ฆาตกรตัวจริงผู้แอบซ่อนอยู่ในความเวิ้งว้าง เย็นเยือกของภูมิอากาศอึมครึม ยามเช้ากลับมืดสลัว ขณะที่ยามกลางคืนวิลเลียมและแอดโซต่างก็ก้าวสู่แสงสว่างอันลี้ลับ

แม้นบทความนี้จะไม่ใช่การวิจารณ์ตามหลักวรรณกรรม แต่ขออนุญาตเล่าเนื้อเรื่องแบบย่นย่อเถิด หากผู้ใดปรารถนาจะหาสมัญญาแห่งดอกกุหลาบมาอ่าน ความรู้สึกที่บังเกิดขึ้นกับผมก็จะสัญจรสู่จิตวิญญาณของท่านเช่นเดียวกัน ตอนต่อไปเนื้อเรื่องย่อของแต่ละวันจะปรากฏ ความจริง ความลวง และความวิปริตเหลือเชื่อจะมาเคาะประตูความอยากรู้ของท่าน

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ ผู้เขียน : องอาจ เดชา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา พ.ศ.2548 ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ... สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน…
สวนหนังสือ
นายยืนยง      ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน ผู้เขียน : วิน วนาดร ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550   ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นกชีวิต ประเภท : กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550 ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์…
สวนหนังสือ
นายยืนยงประเภท          :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharyaผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์
สวนหนังสือ
นายยืนยง"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)ภาพจาก : http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16 ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม
สวนหนังสือ
นายยืนยงบทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
สวนหนังสือ
นายยืนยง  บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์        …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓