Skip to main content

นายยืนยง

"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก คำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ ... นอกจากว่า บางขณะเราอาจเผลอลืมไปเท่านั้น หากเมื่อกระแสสำนึกถูกปลุกกระตุ้น เราอาจนึกถึงขึ้นมาได้  

20080606 cover 1

เช่นฉันที่เมื่อรดน้ำต้นมะลิก็มักจะนึกถึงกวีนิพนธ์ของ อุชเชนี ที่เขียนไว้ในหนังสือ ขอบฟ้าขลิบทอง ซาบซึ้งต่อบทกวีที่ชื่อว่า “ มะลิ ”

สวนฉัน   สรรปลูก   แต่มะลิ    
ยามผลิ   ดอกบาน   หวานชื่น
เพลินตา   พาฝัน   วันคืน
ไม้อื่น   ไม่ปอง   ต้องชม  
            
ขาวสวย   รวยกลิ่น   ไกลใกล้
ยากไร้   ยังได้   แซมผม
ไร้หนาม   หยามใจ   ให้ระทม
นิยม   ชมไป   ไม่ลืม

การร้อยคำง่าย ๆ ในรูปแบบของกลอนหกของอุชเชนีนั้น งามอย่างไร ความตอบคือ งามอย่างหมดจด  เช่น  สวนฉัน  สรรปลูก  คำง่ายที่นำมาสอดร้อยต่อกันนั้น เป็นกลวิธีการผวนคำซึ่งแม้ดูไม่ฉูดฉาด แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อผวนคำแล้วได้ความหมาย ทั้งมีจังหวะชวนฟัง ผู้แต่งย่อมหนีไม่พ้นเป็นผู้ชำนาญ    

ใครเคยปลูกมะลิย่อมซาบซึ้งในรสของ “มะลิ” บทนี้แน่  ทั้งเนื้อหายังแฝงด้วยทัศนะเชิงชาตินิยมอีกด้วย  เพราะเมื่อเอ่ยถึงดอกไม้ที่มีหนาม ย่อมนึกถึงกุหลาบ  แม้จะงามเลิศเพียงไร แต่หนามของกุหลาบ ก็ย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนา ต่างกับมะลิ

นึกขึ้นคราวใดก็แว่วเสียงจากความทรงจำอยู่ร่ำไป  เป็นเสียงของอาจารย์วิชาภาษาไทย ที่อ่านกวีนิพนธ์บทนี้ให้เหล่านักเรียนฟังด้วยน้ำเสียงนิยมชมชอบ

กวีนิพนธ์ของอุชเชนีนั้น โดยรวมแล้วเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์ ปฏิสันธานในเชิงบวกระหว่างมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  อุชเชนีถนัดที่จะใช้บุคลาธิษฐานชุบชีวิตให้สิ่งรอบตัวมีลมหายใจขึ้นมาต่อหน้าผู้อ่าน  ดังบทคลื่นใต้น้ำ  ที่เปรียบประเทศไทย เป็นดั่งมหาสมุทร

สยามรัฐชัดเห็นเช่นสมุทร
โดยแรงรุดซัดสาดน่าหวาดเสียว
กระแทกรันกระทั้นแรงกลางแปลงเปรียว
เดี๋ยวหลีกเลี้ยวหลบล่อเดี๋ยวรอรา
    
แม้จะมีความจงใจแสดงออกถึงนัยยะทางสังคมการเมืองในยุคนั้น (พ.ศ.๒๔๙๓)  แต่การเปรียบอารมณ์รุนแรงของกลุ่มคนในสังคมกับกระแสคลื่นนั้น จากบทกลอนที่ใช้คำไม่กี่สิบคำ ก็สามารถอธิบายภาพกว้างและปลุกเร้าให้ผู้อ่านมองเห็นนัยยะได้อย่างคมคาย
    
เช่นนี้ฉันจึงไม่อาจปล่อยให้ตัวเองเผลอลืมกวีนิพนธ์ที่งดงามคมคายของอุชเชนีได้เลย  นอกจากนี้ใครก็ตามที่มีอุชเชนีในดวงใจ ย่อมไม่อาจหลงลืมรส คำหยาด ของเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ไปได้

20080606 cover 2

คำหยาด เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์เล่มแรกของเนาวรัตน์ จัดพิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๕๑๒ สำนักพิมพ์กรุงสยาม  ซึ่งฉันถือเป็นศิลปะแห่งกวีนิพนธ์ที่จำนัลความงดงามซึ่งเร้นอยู่ภายในมอบแด่ผู้อ่านเนาวรัตน์ถือเป็นพรานกวีที่ออกล่า ตามหาความงามที่ซ่อนตัวอยู่ นำมาฝากผู้อ่านด้วยอารมณ์อ่อนหวาน พิสุทธิ์ ดั่งบท นพรัตน์ (หน้า ๑๔๔)

เพชรน้ำค้างพร่างหล่นบนใบไผ่
เจียระไนนพรัตน์จรัสแสง
ระบัดใบเบิกร่มบังลมแรง
ระวังแวงวรารุ่งรุ้งรวงดาว

กลอนบทนี้เขียนถึงน้ำค้างบนใบไผ่ที่ต้องแสงแดดแต่น้ำค้างนั้นมีความงามบริสุทธิ์วิเศษปานใด เนาวรัตน์เขียนบอกเราด้วยความงามดั่งเพลงสวรรค์ แน่นอนว่า เราย่อมเคยเห็นน้ำค้างว่าสวยเพียงไร แต่กวีอย่างเนาวรัตน์ทีเดียว ที่สานอารมณ์ความรู้สึกอันปะติปะต่อของเรา มาถักร้อยเป็นแพรพรรณวรรณศิลป์เช่นนี้ เราจึงได้ชื่นชมในมรรคผลของกวีนิพนธ์ตราบเท่าทุกวันนี้ หรือในบทเดียวกัน

แก้วโกเมนเขม้นเหมือนเจ้าเลือนหมาง
คลายระคางคืนเขษมยิ่งเอมอิ่ม
บุศราคัมรับกลีบทับทิม
เหมือนเมื่อชิมชื่นจากกลีบปากงาม

การเปรียบคนรักกับอัญมณี ในบทข้างต้น มีความลึกซึ้งยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่าอัญมณีเป็นสัญลักษณ์แทนความงดงามสูงส่ง เป็นอมตะ แม้นผ่านร้อนหนาวกาลยาวนาน ความงามก็ไม่เสื่อมคลาย หากเปรียบเข้ากับคนรักแล้ว ใครเลยจะทำใจแข็งได้ลงคอ

หรือในบทชื่อ หวานคมเคียว (หน้า ๑๖๕) ที่บรรยายธรรมชาติให้เราจินตนาการตามได้ภาพแจ่มจรัสด้วยกลอนบทเดียว
    
เอนระนาบอาบน้ำค้างกลางแดดหนาว
ทอดรวงยาวยอดระย้าราน้ำใส
ละลานรอบขอบฟ้าคราพลิ้วใบ
เพียงพรมใหญ่ไหวระยาบทาบเปลวทอง

ด้วยมุมมอง ด้วยอารมณ์ ด้วยถ้อยคำที่เรียงร้อยของกวีนั้นเอง ที่นำพารสของกวีนิพนธ์เข้าประทับตรึงในดวงใจ ส่วนการใช้บุคลาธิษฐาน เปรียบให้สิ่งนั้นเป็นคน มีชีวิตจิตใจที่กวีมักนำมาใช้ในกวีนิพนธ์นั้น นอกจากให้ความรู้สึกแบบเหนือจริง มากกว่าความเป็นจริงในระดับที่มองเห็นด้วยตาแล้ว บุคลาธิษฐานยังมีพลังดึงดูดทำให้เรากระโจนเข้าสู่โลกเหนือจริง ซึ่งผิดแปลกแตกต่างไปจากความเป็นจริง แต่กลับกระตุ้นเร้าอารมณ์ได้อย่างเหลือเชื่อ  

อังคาร  กัลยาณพงศ์ เป็นหนึ่งในกวีจอมขมังที่เสกสรรค์โลกแห่งศิลปะ โลกแห่งกวีนิพนธ์ ที่ถั่งทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมาสู่อารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน กวีนิพนธ์ของอังคารจึงเรียกได้ว่าใช้อารมณ์เป็นสื่อกลาง และนำพาผู้อ่านท่องโลกจินตนาการไปพร้อมกัน
จากหนังสือ กวีนิพนธ์ ของ อังคาร กัลยาณพงศ์  หน้า ๑๓๘ ในบท กาพย์กลอน

กาพย์กลอนอ่อนหวานปานน้ำผึ้ง    เจ้ารู้ซึ้งว่าคืออะไรไหม
ฤๅตามืดหูมิดไร้จิตรใจ        ไม่รู้รสทิพย์ฝันวรรณคดี  ฯ
เพชรพลอยแห่งถ้อยคำทิพย์    จิบดื่มดุจอำมฤตวิเศษศรี
พร้อมแง่ญาณปัญญาบารมี        ลำนำดนตรีเพริศพริ้งพราย  ฯ

จะมีมนุษย์ใดบ้างที่เขียนกวีนิพนธ์ได้เช่นท่านอังคาร จะมีมนุษย์ใดบ้างที่เคยรู้สึกว่ากวีนิพนธ์นั้น “จิบดื่ม” ได้ หรือ กวีนิพนธ์จะมีรสที่ “อ่อนหวานปานน้ำผึ้ง”
หรือในบทที่สั่นสะท้าน เศร้าโศกา ก็ทำเอาตะลึงพรึงเพริศไปกับอารมณ์แบบเหนือจริง จากบท  เสียเจ้า

เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง           มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า            ซบหน้าติดดินกินทราย  ฯ
จะเจ็บจำไปถึงปรโลก          ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย          อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ  ฯ

หรือบท ผีพุ่งไต้  ได้สร้างปรากฏการณ์ทางความรู้สึกต่อผู้อ่านได้เป็นที่ประจักษ์ เพราะใครเลยจะจินตนาการได้ว่า “เอาฟ้าเป็นผ้าห่ม” “เอาลมมากิน”

เราเอาฟ้าเป็นผ้าห่ม            เอาลมมากินสิ้นหวัง
ระหกระเหินเร่เซซัง            ไปถึงฝั่งโลกหน้าทิพารมณ์ฯ ฯลฯ
ป่านฉะนี้หัวอกข้า               กลายเป็นหินผาห้วยละหาน
วันหนึ่งหินนั้นจะร้าวราน       กระแสธารกัดเปื่อยเป็นดินฯ    

หรือในบท อยุธยา ที่เปรียบให้เห็นถึงสภาพปัจจุบันที่เหลือแต่ซากร้าว เป็นการใช้โวหารที่ทำให้ เนื้อหา, ความ ที่ต้องการจะสื่อเกิดความเข้มข้นขึ้น    สะท้านใจขึ้น                

โอ้อยุธยายิ่งฟ้า               มหาสฐาน
มาล่มหาทกล้าทหาญ      ล่าแล้ง
เสียแรงช่างเชี่ยวชาญ      นฤมิต
แสนสัตว์ป่ามาแกล้ง        ป่นเกลี้ยงมไหศวรรย์  ฯ


พระศรีสรรเพชญ์นิ่งกลิ้ง    กลางดิน
แร้งหมู่หมากากิน            ฟากฟ้า
ชลเนตรเจตภูตริน            เป็นเลือด
นองหลากไหลไล้หล้า     ล่มม้วยเมืองหาย  ฯ


นอกจากนี้แล้ว บทอยุธยา ยังเป็นการสืบทอดวรรณคดีเก่ามาสืบต่อให้เข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบันอีกด้วย  ซึ่งหาได้เป็นการข่มครูแต่อย่างใด แต่ถือเป็นการแสดงถึงการยกย่องบูชาวรรณคดีไว้ไม่ให้สูญ เพราะจากโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ก็ได้เขียนบท สรรเสริญอยุธยาไว้ ดังยกมานี้

อยุธยายศยิ่งฟ้า        ลงดิน  แลฤๅ
อำนาจบุญเพรงพระ    ก่อเกื้อ
เจดีย์ละอออินทร        ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ    นอกโสม  ฯ


อยุธยาไพโรจน์ใต้       ตรีบูร
ทวารรุจีรยงหอ           สระหล้าย
อยุธยายิ่งแมนสูร        สุรโลก  ปานฤๅ
ถนดดดุจสรรค์คล้ายคล้าย    แก่ตา ฯ


การสืบต่อยอดวรรณคดีเก่ายังปรากฏในกวีนิพนธ์ของคมทวน คันธนู ด้วย ดังบท ตุลารำพึง โคลง ๔ สลับ จากหนังสือกวีนิพนธ์ นาฏกรรมบนลานกว้าง                      

พลิ้วพลิ้วใบไม้ร่วง        ลงดิน
ระดะลมหนาวพาน        พัดต้อง
หอบเมฆหอบฝูงทมิฬ    มามืด
บดแดดบังด้าวก้อง        กระหึ่มกระหาย

สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง     ยามสาย
สายบ่หยุดกระหน่ำหาย   ห่างเศร้า
กี่วันกี่คืนวาย                วางทวิ  เทวษเพื่อน
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า         หยุดได้ใดเฉลย ฯลฯ

รอนรอนสุริยะโอ้            อัสดง
เรื่อยเรื่อยลับเมรุปลง      ศพเปลื้อง
รอนรอนเมื่อเสียงสงฆ์    สมณะ  สวดเอย
เรื่อยเรื่อยไฟแลบเรื้อง    โอบไล้โลงผวา  

กรุงเทพมหานครนี้        นามรบิล
เอาเลือดกรุงธนฯ ทา     ทาบสร้าง
แผ่นดินต่อแผ่นดิน        ผ่านอดีต
เลือดท่วมนองท้องช้าง  ชุ่มเนือง  ฯลฯ


กวีนิพนธ์ของคมทวนแตกยอดจากแนวคิดศิลปะเพื่อศิลปะมาเป็นศิลปะเพื่อประชาชนในยุคที่บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการปกครอง  และเพื่อสื่อนัยยะร่วมทางสังคมการเมือง คมทวนก็ใช้บทกวีเป็นสายธารพลังความคิด ทัศนคติได้อย่างทรงพลัง  การที่นำเอาวรรณคดีเก่ามาสืบต่อของคมทวนดังบท ตุลารำพึง นั้น ไม่เพียงอนุรักษ์อย่างเดียว  แต่ยังสะท้อนนัยยะถึงสภาพการณ์ทางสังคมได้อย่างล้ำลึกด้วยภาพที่แสดงออกจากบทกวี ซึ่งอาจเปรียบได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ต่อประเทศชาติและบรรพบุรุษ

กวีนิพนธ์ในดวงใจใช่จะยกเอาของเก่ามาเล่าใหม่เพียงอย่างเดียว  หากแต่เป็นการย้อนรำลึกถึงความงดงามที่มีส่วนสร้างชีวิตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน  หากกวีนิพนธ์ในดวงใจที่ยกกล่าวถึงจะเป็นเบ้าหลอมแห่งสุนทรียรสอันเป็นรสจำเพาะบุคคล ดังที่ท่านเสฐียรโกเศศว่าไว้ กวีนิพนธ์ในดวงใจของคุณเล่าเป็นเช่นไร.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ ผู้เขียน : องอาจ เดชา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา พ.ศ.2548 ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ... สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน…
สวนหนังสือ
นายยืนยง      ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน ผู้เขียน : วิน วนาดร ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550   ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นกชีวิต ประเภท : กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550 ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์…
สวนหนังสือ
นายยืนยงประเภท          :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharyaผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์
สวนหนังสือ
นายยืนยง"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)ภาพจาก : http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16 ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม
สวนหนังสือ
นายยืนยงบทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
สวนหนังสือ
นายยืนยง  บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์        …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓