ชวนมาดูหนังเรื่อง Dancer in the Dark ในสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน 'เทศกาลหนังมีชีวิต'
แล้วคุยกันต่อกับ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง และ ตุล ไวฑูรเกียรติ
17.00 - 19.30 ฉายภาพยนตร์ Dancer in the Dark
19.30 - 21.00 เสวนาภาษาหนัง พูดคุยกับ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง และ ตุล ไวฑูรเกียรติ
ดำเนินรายการโดย ชุมาพร แต่งเกลี้ยง
หนังเรื่องนี้เคยมีโอกาสดูครั้งแรกเมื่อสองปีที่แล้ว ตอนนั้นเดินเล่นในธรรมศาสตร์ เลยเข้าไปในหอสมุดปรีดี พนมยงค์ (ที่ธรรมศาสตร์ มีห้องเรวัต ที่เราสามารถยืมหนังมาดูได้ ค่าเข้าห้องสมุดแค่ 20 บาท จริงๆ อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้สำหรับประชาชนทั่วไปได้รู้มากกว่าวงการนักศึกษา เพราะคิดว่ายังมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่ควรจะได้ดูหนังดีดี แต่ว่าเขาอาจจะไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายไปตรงนี้)
ได้หนังเรื่อง Dancer in the Dark มาดูด้วยความบังเอิญที่ชอบ Bjork นักแสดงนในเรื่องอยู่แล้ว และตอนนั้นยังไม่ได้เตรียมใจไปดู ภาพยนตร์ชีวิต (Drama films) ด้วยเลยได้รับความรู้สึกจากการดูหนังครั้งนี้ไปเต็ม ๆ โดยที่ไม่ได้มีการรองรับความคิด หรือเตรียมใจไปก่อน
สารภาพว่าเป็นหนังที่บีบคั้นความรู้สึกอยู่หลายๆ ฉาก โดยเฉพาะฉากสุดท้ายที่ตัวละครเอกถูกแขวนคอ แต่ตอนนั้นรู้สึกแค่เป็นเรื่องความตายธรรมดา แต่ไม่ได้ตระหนักถึงประเด็นเรื่อง "โทษประหารชีวิต" ประสบการณ์ส่วนตัวสนใจประเด็นเรื่องผู้อพยพ เรื่องความเป็นแม่ เรื่องเฟมินิสต์ที่มันผ่านเข้ามาในความคิดตอนที่ดูหนังเรื่องนี้มากกว่า
เลยมานั่งทบทวนเรื่อง "โทษประหารชีวิต" เท่าที่จำความได้อย่างใกล้ตัว ก็จำได้ว่าเคยโต้เเย้งเรื่อง "โทษประหารชีวิต" กับคนสองกลุ่ม
คนแรกคือเพื่อนร่วมชั้นเรียน ป.โท ตอนนั้นฝังตัวเองไปเรียน IR ที่จุฬาฯ หนึ่งเทอม อาจารย์โยนประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิต ให้เราร่วมละเลงความคิดเห็น แน่นอนส่วนตัวไม่เห็นด้วย แต่ก็มีเพื่อนคนหนึ่งที่เห็นด้วยและมองว่าในเมื่อ"คนหนึ่ง" ทำให้อีกคนหนึ่งต้องตาย (กรณีการฆ่าคนตาย) เขาก็ต้องตายด้วย ในตอนนั้นที่ไม่มีความรู้เรื่องโทษประหารชีวิตมากเลยโต้แย้งไปว่า "ในเมื่อเราเห็นว่าการฆ่าคนเลวร้ายทำไมเราต้องใช้วิธีการเดียวกันมาตัดสินลงโทษ"
ส่วนครั้งที่สองเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าร่วมในเวที "ร่างฯ สิทธิมนุษย์ชนครั้งที่สาม" มีพนักงานของรัฐ(ข้าราชการ) คนหนึ่งพูดในกรณีโทษประหารชีวิตว่า ต้องทำให้มัน "สาสม" (เธอใช้คำนี้) เพราะว่าไม่ว่าเป็นเรื่องยาเสพย์ติดหรือการฆาตกรรมล้วนทำให้คนอื่นเสียใจ เธอเสนอว่าถ้าไม่ได้รับโทษที่รุนแรงจะบอกคนที่เป็นญาติของเหยื่อได้อย่างไร ตอนนั้นก็โต้แย้งเหมือนเดิมในประเด็นที่ว่า การลงโทษประหารชีวิตไม่ได้เป็นคำตอบสำหรับการยุติอาชญากรรม และเป็นโทษที่รุนแรงในการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต แต่มีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในองค์กร NGO แห่งหนึ่งาให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า ก่อนที่ชีวิตของคนที่ได้กระทำความผิด(ในกรณีที่เป็นความผิดของผู้ต้องหาที่กระทำจริง ๆ )เช่น การเป็นฆาตรกรหรือเป็นอาชญากรนั้น เราเคยไปดูหรือไม่ว่าก่อนหน้านี้เขาได้เจออะไรบ้าง เธอพูดทำนองว่าสังคม(และพวกเรา ทำร้ายเขาอย่างไรบ้าง นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าได้นั่งอยู่ในเวทีนี้ของสิทธิมนุษยชน และคิดว่าเรากำลังคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนจริง ๆ
เมื่อคืนได้มีโอกาสนั่งดูเรื่องนี้อีกครั้ง แน่นอนหนังยังเศร้ามากเหมือนเดิม
แต่ประเด็นเรื่อง "โทษประหารชีวิต" ของหนังเรื่องนี้ทำให้ฉันคิดว่า
ถึงเวลาแล้วที่เราควรทบทวนเรื่อง "โทษประหารชีวิต" อย่าจริงจัง เสียที
ส่วนเรื่องราวที่จะได้รับจากการร่วมวงเสวนาครั้งนี้ จะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง
ขอบคุณ Amnesty International Thailand
วาดดาว
บล็อกของ วาดดาว
วาดดาว
บทกวี "ลุกขึ้นสิท่าน เว่ยเฮ้ย"
ปวงประชาไม่อาจดับตะวัน
ปวงประชาล้วนอยู่ภายใต้ตะวัน
ดวงเดียวกันที่ส่องสว่างอย่างเท่าเทียม
วาดดาว
ชวนมาดูหนังเรื่อง Dancer in the Dark ในสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน 'เทศกาลหนังมีชีวิต'