Skip to main content

 

 

เป็นปัญหาบานปลายกันยกใหญ่ เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ประกาศอาณัติลงดาบเนรเทศนายสาธิต เซกัล อดีตประธานหอการค้าไทย-อินเดียในข้อหาขึ้นเวทีร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. พร้อมเป็นบุคคลต่างด้าวที่กระทำความผิดร้ายแรงต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย

สาธิต เซกัล (ภาพจาก prachachat.net)

โดยในแง่ยุทธวิธีระยะสั้นนั้น อาจถือว่าการออกคำสั่งที่แข็งกร้าวของ ศรส.พร้อมด้วยการทำงานที่แข็งขันของเครือข่ายรัฐตำรวจ ถือเป็นการฉีดยาแรงแบบจัดหนักเพื่อสะกดให้เครือข่ายนักธุรกิจสีลมและกลุ่มประชาคมอินเดียที่หนุนเสริมกลุ่ม กปปส. เกิดอาการกริ่งเกรงและถอยกลับไปสู่ที่ตั้งจนทำให้ระบบท่อน้ำเลี้ยงของคุณสุเทพเกิดอาการชะงักงันไปชั่วขณะ

แต่กระนั้น หากพิจารณาในแง่ยุทธศาสตร์ระยะยาว การลงอาญาสิทธิ์ต่อนายสาธิตก็ถือเป็นการเปิดช่องโหว่ขนานใหญ่ที่อาจทำให้รัฐบาลรักษาการณ์ของไทย ต้องเผชิญกับคลื่นมรสุมทางการเมืองอันแหลมคมซับซ้อน โดยมีประเด็นที่น่าขบคิดพิจารณา ดังต่อไปนี้

ในมิติทางการเมืองเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ประชาคมอินเดียถือเป็นองคพยพสำคัญที่มีผลต่อการก่อรูปของอารยธรรมไทยรวมถึงกระบวนการบูรณาการแห่งชาติ (National Integration) โดยในทางโครงสร้างประชากร สังคมไทยมักประกอบไปด้วยชุมชนชาวอินเดียสองกลุ่มคร่าวๆ ได้แก่

1. กลุ่มประชาคมที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานผ่านกระบวนการภารตภิวัฒน์ (Indianization) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนใหญ่มักเข้ามามีบทบาทเป็นพราหมณ์ราชสำนักที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับสถาบันกษัตริย์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี (รวมถึงเข้ามารับราชการเป็นขุนนางเสนาบดีอีกหลากหลายตำแหน่ง) ซึ่งในปัจจุบันชาวอินเดียกลุ่มนี้ได้ถูกผสมกลมกลืน (Assimilation) เข้ากับสังคมไทยอย่างแนบแน่นยาวนาน จนมีรูปร่างหน้าตาและวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกับคนไทยทั่วๆ ไป

2. กลุ่มชาวอินเดียอพยพที่เข้ามาตั้งรกรากในช่วงปลายสมัยอาณานิคมจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและช่วงต้นสงครามเย็น (ราวๆ 70-100 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มชาวอินเดียที่มาจากทั่วทุกสารทิศของอนุชมพูทวีป ไม่ว่าจะเป็น ชาวปัญจาบ (อย่างตัวคุณสาธิตเอง) ชาวอุตตรประเทศ ชาวเบงกอล ชาวทมิฬนาฑู ฯลฯ โดยถึงแม้ว่ากลุ่มประชาคมเหล่านี้จะมีรูปร่างหน้าตาที่เหมือนชาวอินเดียมากกว่าชาวไทย พร้อมมีการธำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีไว้อย่างค่อนข้างเหนียวแน่น

หากแต่ประชาคมกลุ่มนี้กลับมีบทบาทแข็งขันในการชักจูงโน้มน้าวให้กลุ่มนักธุรกิจหรืออัครมหาเศรษฐีชาวอินเดียทยอยเดินทางเข้ามาลงทุนท่องเที่ยวในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมมีคุณลักษณะพิเศษผ่านการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีอันเป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะข้าวยากหมากแพงและปัญหาการสู้รบในอินเดียระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งก็ทำให้แขกอินเดียจำนวนหนึ่งตัดสินใจเดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์สยาม/ ไทย

จากลักษณาการดังกล่าว ชนเชื้อสายอินเดียในเมืองไทยจึงมักมีความรู้สึกนึกคิดที่เอนเอียงมาทางกษัตริย์นิยม (Monarchism) ผ่านการขอพึ่งใบบุญใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารและคตินิยมในอำนาจเทวราช/ธรรมราชาที่ผสมผสานความเชื่อแบบพุทธ-พราหมณ์-ฮินดู รวมถึงให้ความสำคัญกับลัทธิแทนคุณแผ่นดินโดยมักมองชุมชนตนในฐานะประชาคมชาติพันธุ์ที่เข้ามาทำประโยชน์ให้กับ "พระแม่ธรณี" ที่ตนได้ดื่มกินพึ่งพิงอาศัย

พร้อมมองตนว่าเป็นส่วนบูรณาการสำคัญของการก่อรูปพหุวัฒนธรรมในสังคมสยามซึ่งเต็มไปด้วยชุมชนหลากชาติพันธุ์วรรณนา ทั้ง มอญ เขมร จาม เวียด ลาว ฝรั่ง จีน แขกมลายู แขกอินเดีย ฯลฯ (โดยแต่ละชาติล้วนมีทักษะความชำนาญหรือความคล่องแคล่วในการรังสรรค์ประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองที่แตกต่างกันออกไป)

พิธีเฉลิมฉลองของชุมชนฮินดู ณ วัดวิษณุ ยานนาวา กรุงเทพ ( ภาพจากวารสารเมืองโบราณ ตุลาคม-ธันวาคม 2551)

ฉะนั้นแล้ว พฤติกรรมลงดาบเนรเทศคุณสาธิตพร้อมกระแสการกดดันข่มขู่อย่างเข้มข้นของ ศรส. จึงถือเป็นการลงทัณฑ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับความรู้สึกนึกคิดของชนเชื้อสายอินเดียในเมืองไทย รวมถึงอาจทำให้เกิดการปะทุคุโชนของพลังกษัตริย์นิยม พลังชาตินิยม และพลังต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (Racial Discrimination) จนอาจทำให้รัฐบาลรักษาการณ์ชุดปัจจุบัน หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกกระหน่ำทิ่มแทงในประเด็นเรื่องความจงรักภักดีและการสร้างเอกภาพทางเชื้อชาติภายในประเทศ (หากยังคงเดินหน้าผลักดันการเนรเทศคุณสาธิตโดยมิมีทีท่าว่าจะรอมชอม) ซึ่งก็ถือเป็นไพ่ยุทธศาสตร์อีกหนึ่งสำรับของกลุ่ม กปปส.ที่อาจจะใช้เพื่อตีโต้ตอกกลับก้าวย่างทางการเมืองที่ผิดพลาดของ ศรส.ในครั้งนี้

สำหรับในมิติทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่านับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลอินเดียได้ประดิษฐ์ขับเคลื่อน "นโยบายมุ่งสู่ตะวันออก/Look East Policy” เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเร่งเครื่องถ่วงดุลคัดคานอิทธิพลจีนที่กำลังแผ่ศักดาเหนืออ่าวเบงกอลอันเป็นผืนน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างอินเดียกับอาเซียน (รวมถึงเป็นเขตอิทธิพลตามประเพณีของอินเดีย)

จากนโยบายต่างประเทศดังกล่าว อินเดียจึงหันมาให้ความสำคัญกับรัฐอาเซียนต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พม่า ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยเฉพาะสำหรับรัฐไทยแล้ว การผลิต "นโยบายมุ่งสู่ตะวันตก/Look West Policy” ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรสมัยแรกเพื่อใช้อินเดียเป็นฐานกระโจนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Springboard) ในการบุกตลาดเอเชียใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลาง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดงของพรรคไทยรักไทยที่สอดคล้องสัมพันธ์กับท่าทีทางการทูตของอินเดีย

ตลอดจนได้รับการสืบสานส่งต่อมายังกลุ่มทีมยุทธศาสตร์ต่างประเทศของพรรคเพื่อไทยชุดปัจจุบัน โดยสังเกตได้จากการพบปะ ณ เรือนรับรองไฮเดอราบัด (กรุงนิวเดลี) เมื่อปี พ.ศ.2555 ระหว่างนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมต.ต่างประเทศไทย กับ นายกฤษณะ (S.M.Krishna) รมต.ต่างประเทศอินเดีย ซึ่งความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแนบแน่นแบบรัฐต่อรัฐ ได้ทำให้คุณสุรพงษ์เกิดความมั่นใจทางการทูตจนถึงกับประกาศอย่างชัดแจ้งว่าการเนรเทศนายสาธิตจะไม่กระทบความสัมพันธ์ไทย-อินเดียอย่างแน่นอน

แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่รัฐบาลรักษาการณ์ชุดนี้ไม่ควรมองข้าม คือ บทบาทของประชาคมพ่อค้าชาวอินเดียในเมืองไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นตัวเชื่อมต่อ (Connectors) เพื่อเชื้อเชิญล็อบบี้ให้นักธุรกิจอินเดียตัดสินใจลงนามในสัญญาการลงทุนหรือข้อตกลงทางการค้าหลากหลายฉบับ จนถือเป็นประเพณีทางการทูตไทย-อินเดีย ที่จำเป็นจะต้องมีพ่อค้าเชื้อสายอินเดียออกโรงเป็นใบเบิกทางเสมอสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศที่มีต่อรัฐภารตะแห่งนี้

โดยหน่วยงานที่เป็นตัวผลักสำคัญ ก็คงหนีไม่พ้น หอการค้าไทย-อินเดีย ซึ่งเป็นแผงอำนาจของวงตระกูลเชื้อสายอินเดียในเมืองไทย อย่างเช่น ตระกูลเซกัล (Sehgal) ตระกูลนารัง (Narang) ตระกูลมาตานี (Mahtani) ฯลฯ (รวมถึงเป็น "Commercial Club” ที่ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 พร้อมมีบทบาทต่อการทูตไทย-อินเดียมาอย่างต่อเนื่อง)

จากสภาวการณ์ดังกล่าว การไล่เนรเทศคุณสาธิตซึ่งเป็น "Key Man” คนสำคัญสำหรับการค้าการลงทุนไทย-อินเดีย และเป็นตัวแทนประชาคมวาณิชย์ที่เป็นจักรกลหลักในการกระชับสายสัมพันธ์สยาม-ภารตะ จึงอาจทำให้ประเทศไทยพลาดโอกาสหลายๆ อย่างในการเดินแต้มทางการทูตกับอินเดีย

เพราะถึงแม้ว่า คุณสาธิต เซกัล จะเป็นเพียงแค่คนต่างด้าวคนหนึ่งในสายตาของ ศรส. หากแต่บุคคลผู้นี้กลับเป็น "ตัวแสดงที่มิใช่รัฐ/Non State Actor” ที่มีเครือข่ายทางธุรกิจตัดสลับแทรกซึมไปกับสายการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลอินเดียในภูมิภาคเอเชีย/อาเซียน พร้อมๆ กับถูกดึงตัวเข้าไปทำหน้าที่เป็นทูตการค้าให้กับรัฐบาลไทยซึ่งยังคงขาดบุคคลากรที่ชำนาญด้านอินเดียศึกษา รวมถึงขาด "Connections” ที่มิสามารถจะเทียบได้กับกลุ่มพาณิชย์ภารตะในเมืองไทย (อย่างที่คุณสาธิตและนักธุรกิจพวกพ้องกำลังถือครองอยู่ในขณะนี้)

ขณะเดียวกัน โลกทรรศน์ทางการทูตของอินเดีย ก็กลับมิได้มีเพียงแค่ความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐ (G to G) หากแต่ได้ถูกปรับเปลี่ยนขยายผลไปสู่ความสัมพันธ์แบบประชาชนต่อประชาชน (P to P) พร้อมกันนั้น สังคมการเมืองอินเดียเองยังให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของปัจเจกบุคคลทั้งในรูปแบบของการประท้วงแบบสันติหรือรุนแรงซึ่งก็ถือเป็นสิ่งปกติทั่วไปในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการเมืองของรัฐชมพูทวีปแห่งนี้

จากกรณีดังกล่าว หาก ศรส.ตัดสินใจอย่างเฉียบขาดที่จะเนรเทศคุณสาธิตขึ้นมาจริงๆ การตอบโต้ทางการเมืองอาจเกิดขึ้นในแง่การเพิ่มขนาดกิจกรรมทางการทูตของเครือข่ายคุณสาธิตเพื่อเข้าไปโน้มน้าวชี้แจงทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมอินเดีย จนอาจทำให้เกิดกระแสตีโต้ตอกกลับกลุ่ม ศรส.ที่ทรงพลังพอสมควร (หากคุณสาธิตคิดจะต่อสู้อย่างแข็งขันขึ้นมาจริงๆ)

นอกจากนั้นแล้ว การหยิบยกวีรบุรุษอย่างมหาตามะ คานธี เพื่ออธิบายการต่อสู้แบบค่อนข้างสันติอหิงสาของตัวคุณสาธิต ก็อาจสามารถช่วยเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจจากชาวภารตะได้มากพอสมควร หรือถ้าหาก ศรส.จะให้เหตุผลว่าคุณสาธิตเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงทางการเมืองไทย การชูเกียรติการต่อสู้ของคุณสาธิตให้เข้ากับ "โลกมันยา ติรัก/Lokmanya Tilak” วีรบุรุษนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพอินเดีย และผู้ซึ่งได้รับการขนานนามจากจักรวรรดินิยมอังกฤษว่าเป็น "บิดาแห่งการก่อความไม่สงบของอินเดีย” ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีที่คุณสาธิตอาจเลือกใช้เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันทางการเมือง

ท่านโลกมันยา ติรัก ( ภาพจาก www.indiaindream.com)

เนื่องจากในโลกทรรศน์ของชาวอินเดียแล้ว ‘โลกมันยา ติรัก’ ถือเป็นนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวอินเดียซึ่งถูกรังแกคุกคามจากรัฐบาลอาณานิคมต่างชาติ (รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการหนังสือพิมพ์อินเดีย ซึ่งสอดคล้องกับเส้นทางชีวิตของคุณสาธิตโดยส่วนตัว ที่ชื่นชอบการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ตามแบบฉบับติรัก)

ท้ายที่สุด ผู้เขียนจึงอยากชี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นว่าการลงดาบเนรเทศชาวอินเดียอย่างกรณีคุณสาธิต แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ออกมาจากกระบวนทัศน์ด้านความมั่นคงของ ศรส. (เพื่อเป็นการป้องปรามสะกัดกั้นขุมพลังบางอย่างของฝ่ายตรงข้ามตามแผนทยอยเด็ดชิงแกนนำ)

หากแต่ในระยะยาวแล้ว การเนรเทศสาธิต เซกัล กลับเกี่ยวพันโยงใยเป็นพัลวันกับประเด็นแหลมคมทางการเมืองอีกสารพัดที่อาจจะสร้างภาระหนักหน่วงทางยุทธศาสตร์ให้กับรัฐบาลรักษาการณ์ชุดปัจจุบัน (โดยไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเลย) ไม่ว่าจะเป็น การเมืองว่าด้วยการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ/Politics of Discrimination การเมืองว่าด้วยการบูรณาการแห่งชาติ/Politics of National Integration การเมืองว่าด้วยการเนรเทศ/Politics of Exile การเมืองว่าด้วยการหลบหนีลี้ภัย / Politics of Sanctuary การเมืองว่าด้วยสิทธิมนุษยชน/Politics of Human Rights

และแม้กระทั่งการเมืองเกี่ยวพัน/Linkage Politicsที่ย่อมนำพาให้การเมืองไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพญาเสือโคร่งอินเดียซึ่งเป็นมหาอำนาจขนาดกลางที่กำลังจะดีดตัวพุ่งทะยานเข้าสู่มหาอำนาจชั้นนำบนเวทีการเมืองโลก

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช

.....................................

 

แหล่งอ้างอิงที่น่าสนใจ

Coedes,C. The Indianized States of Southeast Asia, Honolulu: East-West Centre, 1988.

Dulyapak Preecharushh, "Brahman and Hindu Communities in Bangkok: A Comparative Study of Indian Settlements in Thai History." Paper presented at the Conference on South Asian Studies, Layola Marymount University, Los Angelis, the United States of America, April 26, 2007.

Walter C. Ladwig III, “Delhi’s Pacific Ambition: Naval Power, ‘Look East,’ and India’s Emerging Role in the Asia-Pacific,” Asian Security, Vol. 5, No. 2 (June 2009), pp. 98–101.

บล็อกของ ดุลยภาค