Skip to main content

 

"รัฐฉาน" (เมืองไต/Shan State) ถือเป็นรัฐชาติพันธุ์ซึ่งมีขนาดพื้นที่และประชากรที่ใหญ่ที่สุดในรัฐเมียนมาร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาร์โดยมีอาณาเขตประชิดชายแดนจีน-ลาว-ไทย และ รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยาห์ รัฐคะฉิ่น กับ ภาคมัณฑะเลย์ ภาคสะกายและเขตบริหารเนปิดอว์ของเมียนมาร์

ในทางการเมือง รัฐฉานถือเป็นหน่วยวิเคราะห์ที่ทรงเสน่ห์ต่อการอภิปรายทางรัฐศาสตร์ อาทิ การก่อรูปของกลุ่มนครรัฐ (City-States) ในยุคศักดินาโบราณ ที่เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกันในแบบหลวมๆ คล้ายคลึงกับกลุ่มสโมสรสมาพันธรัฐ (Confederation) ซึ่งมีทั้งการกระชับความร่วมมือเพื่อต่อต้านข้าศึกภายนอกอย่างกองทัพพม่าหรือการขัดแย้งกันเองระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ เพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่เหนือปริมณฑลลุ่มน้ำสาละวิน

ซึ่งหากจะมองในเชิงเปรียบเทียบ ก็คงไม่ต่างอะไรนักกับระบบสมาพันธรัฐนิยมในโลกการเมืองกรีกโบราณที่เต็มไปด้วยการฉกฉวยชิงเชิงระหว่างกลุ่มผู้ปกครองนครรัฐ เพียงแต่ว่าบนสนามการเมืองของโลกคนไตในอดีต เราคงอาจมิเห็นการก่อตัวของมหาสงครามอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรของเครือนครรัฐยุคจารีต อย่าง สงครามเพลอปปอนเนเซียน (The Peloponnesian War) ระหว่างเอเธนส์กับสปาตาร์ และกลุ่มรัฐพันธมิตรต่างๆ

กระนั้น การแตกความสามัคคีกันเองของบรรดาเจ้าฟ้าเมืองไต ก็ช่วยชักนำให้แผ่นดินไทใหญ่ต้องตกอยู่ใต้อุ้งมือของรัฐมหาอำนาจที่ทรงกำลังมากกว่าอย่างจักรวรรดิพม่าโบราณของพระเจ้าบุเรงนองหรือพระเจ้าอลองพญา ซึ่งก็อาจไม่ต่างอะไรนักกับชะตากรรมของนครรัฐกรีกยุคคลาสสิก ที่ท้ายที่สุดแล้ว ต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลและอำนาจการปกครองของจักรวรรดิมาเซโดเนียและจักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่

ในอีกทางหนึ่ง ระบบการเมืองของรัฐฉานปัจจุบัน กลับยังคงดุเดือดและเต็มไปด้วยการส่งออกแนวคิดแบบสหพันธรัฐนิยม (Federalism) บนพื้นฐานของธรรมชาติการเมืองแบบสมาพันธรัฐนิยม

กล่าวคือ ขณะที่ชนชั้นนำและปัญญาชนไทใหญ่ ได้พยายามเสนอแนวคิดที่จะทำให้เมียนมาร์เป็นสหภาพ (Union) ที่แท้จริงในรูปแบบของรัฐรวม/สหพันธรัฐ คือ การยกระดับให้รัฐชาติพันธุ์ต่างๆ อย่าง รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะฉิ่น รัฐคะยาห์ ฯลฯ หรือแม้แต่รัฐพม่า/บะหม่า (ที่คลุมพื้นที่ตอนกลางของประเทศอันเต็มไปด้วยผู้คนเชื้อสายพม่าแท้) มีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและอำนาจการปกครองที่เท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ พร้อมมีสิทธิบริหารกิจการภายใน อย่างเรื่อง การศึกษา การอนุรักษ์วัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยปล่อยให้แค่เรื่องการต่างประเทศ หรือ เรื่องความมั่นคงในบางมิติ ตกอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง

คำอธิบายรูปภาพ: ณ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนส่า หมู่บ้านเทอดไทย (บ้านหินแตก) อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้มีการจัดแสดงแผนที่และภาพวาดอันงดงามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองรัฐฉาน อาทิ ผังตระกูลเจ้าฟ้าไทใหญ่องค์สำคัญในอดีต เช่น เจ้าฟ้าเมืองสีป้อ แสนหวี ยองฉ่วย และวังที่ประทับ (หอคำ) ของเจ้าฟ้าเขมรัฐเชียงตุง

ซึ่งจากผังดังกล่าว ก็อาจทำให้คนไทยภาคเหนือหวนคะนึงถึง วานเครืออำนาจของเจ้าผู้ปกครองนครพิงค์เชียงใหม่ พร้อมวังที่ประทับ (คุ้ม) ของกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือ โดยทั้งรัฐฉานและรัฐล้านนานั้น ล้วนมีความคล้ายคลึงกันในหลายมิติ เช่น โครงสร้างภาษา ชาติพันธุ์และวัฒนธรรม หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์การถูกโยงเข้าสู่วงอำนาจส่วนกลาง และการก่อตัวของกลุ่มการเมืองเพื่อเรียกร้องการกระจายอำนาจและการพัฒนาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ชุมชน

แต่กระนั้น สิ่งที่ภาคเหนือของบ้านเรา ยังมิมีเท่ากับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในรัฐฉาน (แม้จะมีประเด็นว่าด้วยป้ายแบ่งแยกดินแดนก็ตาม) คือ กองกำลังติดอาวุธขนาดใหญ่ของบรรดาชนชาติพันธุ์ อย่างเช่น กลุ่มว้า กลุ่มไทใหญ่เหนือ กลุ่มไทใหญ่ใต้ หรือกองทัพเมืองไตของขุนส่าและกองกำลังก๊กมินตั๋งในอดีต และแม้กระทั่งกองกำลังของเหล่าอนุชาติพันธุ์ยิบย่อยอย่างเช่นพวกปะโอ ปะหล่อง ธนุและโกกั้ง


แต่ในทางกลับกัน พื้นที่ในรัฐฉานเอง ก็กลับเต็มไปด้วยขั้วการเมืองหลากสีของบรรดาเหล่าพหุชนชาติ ที่มักจะปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเมืองตามแต่สถานการณ์และผลประโยชน์ รวมถึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างอำนาจรัฐที่แตกต่างกันออกไป จนทำให้ภูมิทัศน์การเมืองรัฐฉานมักเต็มไปด้วยสภาวะผันผวนและการขาดเอกภาพทางการปกครองในแบบที่ว่า 'ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรบนสนามการเมืองรัฐฉาน'

เช่น เขตบริหารปกครองของชนชาติพันธุ์ว้า ที่ผุดตัวขึ้นมาบนแผ่นดินรัฐฉานในลักษณะรัฐซ้อนรัฐ (States inside State) โดยมีทั้งว้าเหนือที่ติดชายแดนจีนกับว้าใต้ที่ติดชายแดนไทย ซึ่งเมื่อผนวกทั้งสองดินแดนเข้าด้วยกันแล้ว จะพบว่า รัฐว้ากลับกลายเป็นรัฐขนาดกลาง (มัธยรัฐ/Medium State) ซึ่งอาจมีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่กว่ารัฐเบลเยี่ยมในเขตยุโรป แถมยังมีฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่แผ่ปกคลุมเขตปลูกผิ่น-เฮโรอีนตรงแถบสามเหลี่ยมทองคำ รวมถึงมีกองกำลังติดอาวุธอิสระที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนไม่ต่างอะไรนักหากจะนำไปเทียบกับการปรากฏตัวของกลุ่มกองกำลังตาลีบันในอัฟกานิสถานและปากีสถาน

ผลที่ตามมา คือ ความไม่ลงรอยกันในทางการเมืองระหว่างขั้วอำนาจว้า กับขั้วอำนาจไทใหญ่ โดยว้ากลับพอใจที่จะคงการเกาะเกี่ยวกันแบบหลวมๆ ในรูปแบบสมาพันธรัฐ อันสัมพันธ์กับพื้นฐานธรรมชาติการเมืองในรัฐฉานซึ่งเต็มไปด้วยการก่อรูปของฐานที่มั่นชนชาติพันธุ์และอาณาจักรธุรกิจการเมืองอันหลากหลาย ในขณะที่กลุ่มชนชั้นนำไทใหญ่โดยรวมนั้น กลับคิดถึงเรื่องการออกแบบประเทศเมียนมาร์ใหม่ให้อยู่ในรูปของระบบสหพันธรัฐนิยมซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับข้อตกลงปางโหลงที่นายพลอองซานเคยให้คำมั่นไว้กับเจ้าฟ้าไทใหญ่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

โดยสภาพความขัดแย้งดังกล่าว ได้ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในรัฐฉานยังคงกลายเป็นปัญหาคลาสสิกที่บั่นเซาะเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รวมถึงกลายเป็นประเด็นแหลมคมที่ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมการปกครองของรัฐเมียนมาร์นับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช
สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค