Skip to main content

 

จากการติดตามข่าวสารการกักขังทรมานชาวโรฮิงญาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ของไทยมาซักระยะ ผมค่อนข้างมีความกังวลและอยากแสดงความเห็น 3 ประการ เกี่ยวกับลักษณะและรูปแบบปัญหาของชาวโรฮิงญา โดยมีประเด็นสังเขปดังนี้

1. พฤติกรรมของขบวนการค้ามนุษย์ในไทย เริ่มมีรูปลักษณ์ไม่ต่างอะไรกับสารัตถะของแนวคิดสังคมแบบดาร์วิน หรือ Social Darwinism ซึ่งนอกจากจะมองเห็นคนไม่เท่าเทียมกันแล้ว ยังสนับสนุนการผูกขาดอำนาจธุรกิจของกลุ่มนายทุน ในแง่ที่ว่าคนที่แข็งแรงและเหมาะสมที่สุดเท่านั้น จึงจะสามารถอยู่รอดได้ในระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฉะนั้น ความแตกต่างระหว่างนายทุนกับชาวโรฮิงญาซึ่งตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ จึงเป็นภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นถึงระนาบความต่างทางชนชั้นอันเป็นผลจากกระบวนการคัดสรรทางธรรมชาติตามสมมุติฐานของดาร์วิน

โดยหากสังคมไทยยังคงปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงผ่านกฎสังคมแบบดาร์วิน เหมือนๆ กับที่ชาวโรฮิงญากำลังเผชิญอยู่เช่นนี้ ก็มิแน่ว่า หากในอนาคตเกิดมีคนไทยหรือกลุ่มชาติพันธุ์จากที่อื่นๆ ทั่วโลก ต้องเผชิญกับสภาวะตีบตันทางเศรษฐกิจและการขาดไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ พวกเขาเหล่านั้นอาจจะต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ขมขื่นเฉกเช่นกับที่ชาวโรฮิงญากำลังสัมผัสลิ้มรสอยู่หรือไม่

ทว่า การถูกทรมานบีบคั้นทางร่างกายจิตใจอย่างรุนแรงนั้น อาจทำให้เหยื่อการค้ามนุษย์ ตัดสินใจประดิษฐ์กระบวนการตอบโต้กลุ่มนายทุนขนานใหญ่ จนกลายเป็นประเด็นการปฏิวัติลุกฮือปกป้องเผ่าชนที่อาจแพร่ระบาดในวงกว้างจนปะทุคุโชนบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั้งของรัฐไทย หรือรัฐอื่นๆ รอบโลก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


 


2. ปัญหาโรฮิงญาปัจจุบัน มีรากเหง้ามาจากสถานการณ์ความขัดแย้งในพม่าและบังคลาเทศ ดังที่ Shwe Lu Maung นักวิชาการด้านศาสนาชาติพันธุ์ในพม่า ได้เคยกล่าวไว้ว่า การเติบโตอย่างต่อเนื่องของประชากรมุสลิมในบังคลาเทศ ได้บีบรัดให้มีกลุ่มชนมุสลิมจำนวนมากทั้งจากบังคลาเทศ เอเชียใต้ หรือชาวโรฮิงญาในรัฐอาระกัน (ยะไข่) บางส่วน เริ่มอพยพแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ตอนในของพม่ามากขึ้น (รวมถึงดินแดนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

การแผ่ขยายของประชากรและขบวนการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม กลับมีจังหวะที่สัมพันธ์พอดีกับการฟื้นลัทธิชาตินิยมแนวพุทธสุดโต่งของพระสงฆ์และชาวพม่า/ชาวยะไข่หลายกลุ่ม ที่กินลึกแผ่คลุมไปถึงกระบวนการต่อต้านมุสลิมโรฮิงญา โดยการถูกบีบประกบตีโต้จากพลังทั้งสองศูนย์เช่นนี้ ได้สร้างสภาวะจนมุมไร้แต้มต่อให้กับชาวโรฮิงญา ทั้งการถูกสงสัยจากรัฐบาลพม่าหรือแนวร่วมชาวพุทธพม่า-ยะไข่ ถึงความเกี่ยวพันโยงใยกับการขยายตัวของศาสนาอิสลาม และความยากลำบากมากขึ้นในการอพยพกลับเข้าบังคลาเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาความแออัดประชากร โดยแรงบีบคั้นเช่นนี้ ได้ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการอพยพระหกระเหินตามท้องทะเลจนกลายเป็นคนเร่ร่อนไร้รัฐตามดินแดนต่างๆ

กอปรกับ ปัญหาน้ำทะเลหนุนและพายุไซโคลนในบังคลาเทศและบางส่วนของรัฐอาระกัน ที่ค่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนที่ทำกินจนทำให้เริ่มมีการแข่งขันแย่งชิงดินแดนกันในวงกว้าง ทั้งในมิติการอพยพของประชากรมุสลิมจากบังคลาเทศ หรือการพยายามขยายตัวของชุมชุมพุทธพม่าในรัฐยะไข่ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์

ฉะนั้น การบรรจบกันของพลังการขยายตัวของลัทธิอิสลามนิยม ลัทธิพุทธ-พม่าชาตินิยม และความผันผวนทางนิเวศสิ่งแวดล้อม อาจถือเป็นไตรมิติ (Three Dimensions) ที่หน่วยงานความมั่นคงและนักสิทธิมนุษยชนไทย ควรมองให้ถึงหรือวิเคราะห์ให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะดำเนินนโยบายต่อชาวโรฮิงญาอย่างเป็นรูปธรรม

3. แนวรบระหว่างศาสนาพุทธกับอิสลามที่ผสมปนเปกับวงขัดแย้งทางชาติพันธุ์และความเหลื่อมล้ำระหว่างศูนย์กลาง-ชายขอบ เคยเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว ตรงเขตภูเขาจิตตะกอง (Chittagong Hill Tracts) และหลายส่วนของเทือกเขาอาระกันและเทือกเขาฉิ่น ซึ่งตรงเขตภูเขาจิตตะกองของบังคลาเทศ ได้ปรากฏการอพยพของชุมชนมุสลิมเบงกอลเพื่อเข้าไปตั้งถิ่นฐานลดดุลอิทธิพลของประชากรพุทธและชนชาติพันธุ์พื้นถิ่นอื่นๆ เช่น พวกจั๊กมา โดยในจุดภูมิรัฐศาสตร์ตามวงเทือกเขาเหล่านี้ มักมีนับรบปฏิวัติโรฮิงญาเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในแง่ของการจัดตั้งขบวนการปลดปล่อยดินแดน และ การเกี่ยวพันในคมขัดแย้งระหว่างศาสนา

ตัวอย่างข้างต้น อาจทำให้รัฐไทยต้องระมัดระวังและพึงยับยั้งปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์มิให้บานปลายไปมากกว่านี้ เพราะนั่น อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวของนักรบปลดปล่อยอิสระโรฮิงญา ที่เร้าให้ปริมณฑลความขัดแย้งเคลื่อนตัวจากแนวเขาตามชายแดนพม่า-อินเดีย-บังคลาเทศ เข้าสู่แนวเขาชายแดนไทย-มาเลเซีย หรือตามจุดอื่นๆ ของภาคใต้ไทย ซึ่งอาจส่งผลให้เทือกเขาสันกลาคีรีและแม้แต่เทือกเขานครศรีธรรมราช แปลงสภาพเป็นขุนเขาจรยุทธ์ขนาดใหญ่ของนักรบไร้รัฐต่างถิ่น

โดยอาจส่งผลเสียต่อระบบความมั่นคงรัฐไทย เพราะแค่การเปิดปฏิบัติการค้นหาทำลายเครือข่ายค้ามนุษย์หรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดปลายแดนใต้ตรงเขตภูเขา กองทัพไทยยังต้องระดมทรัพยากรจำนวนมากในการตรวจจับปราบปรามฝ่ายตรงข้าม เพราะฉะนั้น หากมีขบวนการปฏิวัติปลดปล่อยโรฮิงญาหรือกลุ่มแนวร่วมที่เห็นอกเห็นใจอื่นๆ เข้าขยายวงพันธมิตรปลดปล่อยอิสรภาพตรงเขตขุนเขาภาคใต้ น่าเชื่อว่ากองทัพภาคที่ 4 คงต้องทำงานหนักขึ้นในการกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีทางการเมืองการทหาร

ท้ายที่สุด ผมคิดว่ารัฐและสังคมไทยควรตระหนักถึงปัญหาโรฮิงญากันอย่างจริงจัง โดยพยายามยับยั้งไม่ให้ปัญหาการทรมานเหยื่อมนุษย์มีความรุนแรงไร้ศีลธรรมไปมากกว่านี้ ขณะที่การดำเนินนโยบายภายในประเทศ การฟื้นฟูสภาพจิตใจชาวโรฮิงญาพร้อมนำกลุ่มคนเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจความมั่นคงบนพื้นฐานของความเป็นธรรม (และให้อยู่ในมาตรการหรือวงควบคุมที่รัดกุม) น่าจะส่งผลดีมากกว่าการกดขี่ขูดรีดทรมานหรือการผลักไสเนรเทศเพียงอย่างเดียว ส่วนนโยบายระหว่างประเทศ การดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าที่เป็นรัฐต้นเหตุ หรือมาเลเซียที่เป็นรัฐมุสลิมอาเซียน อาจจะไม่เพียงพอ โดยรัฐไทยควรต้องเพิ่มขนาดกิจกรรมทางการทูตกับบังคลาเทศ หรือกระชับกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอลเพื่อสร้างแนวร่วมสำหรับการแก้ปัญหาโรฮิงญาให้มีน้ำหนักมากขึ้น


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 


 

บล็อกของ ดุลยภาค