บทความนี้มีจุดมุ่งหมายหลักในการพรรณนาภูมิรัฐศาสตร์เขตแดนระหว่างพม่ากับจีน ซึ่งนับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในโลกการเมืองเอเชีย พร้อมยกตัวอย่างวิวัฒนาการความสำเร็จในการแก้ปัญหาเขตแดนบนพื้นฐานของหลักสันติวิธีและศิลปะการทูต เพื่อใช้เป็นประทีปส่องทางให้รัฐและสังคมไทยเริ่มเข้าใจตัวแบบรอบบ้านพร้อมนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการแก้ปัญหาเขตแดนกับเพื่อนบ้านอาเซียนได้ลุ่มลึกขึ้น
เขตแดนพม่า-จีน มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,185 กิโลเมตร โดยเริ่มจากจุดสามเหลี่ยมหิมาลัย (Himalayan Tri-Point) ซึ่งเป็นจุดบรรจบของรัฐอรุณาจัลประเทศ (อินเดีย) รัฐคะฉิ่น (พม่า) และเขตปกครองทิเบต (จีน) จากนั้น เขตแดนจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านช่องเขาปีมอว์ ทางฟากตะวันออกของรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นจุดแบ่งระหว่างเขตลุ่มน้ำอิระวดีกับลุ่มน้ำสาละวิน ถัดมาเขตแดนจึงทอดผ่านเมืองพรมแดนรัฐฉานจนไปสุดแนวแม่น้ำโขงแถบตอนเหนือของสามเหลี่ยมทองคำ
เส้นเขตแดนพม่า-จีน ถือกำเนิดขึ้นในยุคอาณานิคม เมื่อกองทัพอังกฤษประสบความสำเร็จในการยึดครองพม่าซึ่งส่งผลให้อำนาจจักรวรรดิอังกฤษขยายตัวประชิดพรมแดนจีน ต่อมา ในช่วงปลายปี ค.ศ.1885 ทั้งสองฝ่ายประกาศจัดตั้งคณะกรรมการการค้าชายแดนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการค้าระหว่างดินแดนพม่าตอนบน (Upper Burma) กับมณฑลยูนนาน โดยกิจกรรมปักปันเขตแดนระยะต่อมามีปรากฏในเอกสารสำคัญ อาทิ หนังสือสัญญาในช่วงต้นปี ค.ศ.1894 ซึ่งระบุการแลกดินแดนระหว่างราชวงศ์แมนจูกับพม่าของอังกฤษ โดยฝ่ายจีนรับเอาสามดินแดนในเขตพม่าตอนบน ได้แก่ โกกั้ง เมืองเล็มและเกียงฮุง ในขณะที่ ฝ่ายอังกฤษรับเอาดินแดนยุงชางและเต็งหยวน ซึ่งจีนเคยอ้างกรรมสิทธิ์ก่อนที่จะยอมโอนให้อังกฤษ
อย่างไรก็ตาม การตกลงเรื่องเขตแดนระหว่างอังกฤษกับจีน ยังขาดความชัดเจนในหลายกรณี โดยความขัดแย้งเริ่มก่อตัวขึ้นหลังที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งความหวาดระแวงเกี่ยวกับการขยายอำนาจของจีนได้สร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลพม่า ซึ่งแผนที่จีนในช่วงทศวรรษ 1950 มักแสดงแนวอาณาเขตที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนหนึ่งของพม่า
พรพิมล ตรีโชติ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองพม่าผู้ล่วงลับ ได้อธิบายว่า ดินแดนพิพาทระหว่างพม่ากับจีนมีอยู่ทางแถบตะเข็บรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น อาทิ บริเวณทิศเหนือของเมืองมิตจินาในรัฐคะฉิ่น ที่ทิศตะวันตกจรดเขตอัสสัมของอินเดีย และทิศเหนือพาดผ่านเมืองปูเตาไปจรดตอนบนของต้นน้ำอิระวดีทางแถบทิเบต หรือที่เรียกกันว่า เส้นแมคมาฮอน รวมถึงพื้นที่แถบช่องเขาปีมอว์ ซึ่งมีหมู่บ้านพิพาท 3 แห่ง ได้แก่ ปีมอว์ กอลัม และกังฟัง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อพิพาทเขตแดนระหว่างพม่ากับจีน หากแต่ทั้งสองรัฐกลับประสบความสำเร็จในการยุติข้อขัดแย้งแบบสันติได้ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญในวงการเมืองระหว่างประเทศเอเชีย
อัษฎา ชัยนาม อดีตเจ้าหน้าที่ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่พม่าสามารถตกลงกับจีนเกี่ยวกับปัญหาเขตแดน อาจเกิดจากเหตุผลหลักสองประการ ได้แก่
1. พม่าเข้าใจข้อเท็จจริงในด้านสนธิสัญญา รวมทั้งอำนาจต่อรองบนเวทีระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลพม่าทราบอยู่ตลอดเวลาว่า สนธิสัญญาต่างๆ ที่อังกฤษทำไว้กับจีนนั้น ไม่มีความชัดเจนในเรื่องพรมแดน และบางกรณีถือเป็นการขาดความยุติธรรมต่อจีน อาทิ หมู่บ้านทั้งสามแห่งในรัฐคะฉิ่น ที่รัฐบาลพม่ายอมยกให้สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น อังกฤษเป็นฝ่ายกำหนดขึ้นเองว่าอยู่ในเขตพม่า แต่ฝ่ายจีนยังมิได้ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาแต่อย่างใด
2. การตกลงระงับข้อพิพาทได้กระทำขึ้นในสมัยที่นายพลเนวินเข้ามารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ (ค.ศ.1958-1960) โดยในระยะนั้น นักการเมืองพม่าในรัฐสภากำลังทะเลาะวิวาทกันเอง ไม่สามารถปกครองประเทศได้ นายกรัฐมนตรีอูนุ จึงขอให้นายพลเนวิน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เข้ามารับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น การที่พม่าตกลงปัญหาเขตแดนกับจีนได้ในระยะนี้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลชุดก่อนได้เจรจามาแล้วหลายครั้ง อาจเป็นไปได้ว่า นายพลเนวินได้พยายามสร้างเอกภาพในการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อจีนที่รวดเร็วแข็งขันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ชาติ ประกอบกับในช่วงนั้น จีนกำลังมีปัญหาเรื่องเขตแดนหิมาลัยกับอินเดียและถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รุกราน ฉะนั้น จีนจึงต้องการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า ตนสามารถตกลงเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านแบบสันติวิธีได้เหมือนกัน
จากกรณีดังกล่าว การยุติความขัดแย้งเรื่องเขตแดนอย่างเป็นทางการจึงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1960 เมื่อรัฐบาลทั้งสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาเขตแดนซึ่งกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธีโดยอาศัยหลักการสลับและแลกโอนดินแดน ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ
1. พม่ายินยอมยกหมู่บ้านสามแห่งในรัฐคะฉิ่นให้กับจีน ซึ่งได้แก่ ปีมอว์ กอลัม และกังฟัง เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 153 ตารางกิโลเมตร
2. พม่ายอมมอบหมู่บ้านปางฮุงและปางเลาในเขตรัฐว้าให้กับทางการจีน เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 189 ตารางกิโลเมตร เพื่อแลกเปลี่ยนกับพื้นที่ตำบลน้ำวันของจีน เนื้อที่ประมาณ 220 ตารางกิโลเมตร
3. รัฐบาลพม่าและรัฐบาลจีนต่างตกลงที่จะโอนหมู่บ้านเล็กๆ บางแห่ง ให้เข้าไปอยู่ในเขตแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อความสะดวกในการบริหารราชการ และความเหมาะสมทางด้านสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว และ
4. รัฐบาลจีนยอมสละสิทธิที่จะเข้าร่วมทำเหมืองแร่ในเขตลูฟางของพม่า ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเคยให้สิทธิจีนในการเปิดสัมปทานเหมืองแร่
กรณีศึกษาเขตแดนพม่า-จีน นับว่ามีความน่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์และการเมือง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาข้อพิพาทบนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนสลับดินแดน ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจายุติความขัดแย้งได้นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1960
ประกอบกับโครงสร้างการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศได้ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศให้การแก้ปัญหาสามารถยุติลงได้รวดเร็วบนพื้นฐานของหลักผลประโยชน์ต่างตอบแทน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์การทูตเอเชีย
ดุลยภาค ปรีชารัชช