Skip to main content

ช่วงนี้ ผมลองหันกลับมานั่งอ่านตำราพื้นฐานรัฐศาสตร์ เพื่อทบทวนประเด็นถกเถียงและชุดคำถามหลักเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในภูมิภาค

ในแง่วิธีวิทยาการเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) ดูเหมือนว่า แนวทางสถาบันนิยมเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Institutionalism) ซึ่งเน้นสำรวจกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐและสถาบันการเมืองการปกครองขนานใหญ่ ยังคงได้รับความนิยมในฐานะเครื่องมือวิเคราะห์หลักที่ใช้สืบ "รากรัฐ" ผ่านวิวัฒนาการประวัติศาสตร์ของประเทศหรือหน่วยการเมืองหนึ่งๆ

สำหรับเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบเห็นกรณีศึกษาในหลายๆ รัฐ ที่สร้างทั้งความน่าสนใจและความน่าประหลาดใจในแง่พัฒนาการทางการเมือง (Political Development) ยกตัวอย่างเช่น

1. สภาไดเอทของญี่ปุ่นซึ่งมีรากประวัติศาสตร์ที่สืบได้ไกลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ใต้พลังอำนาจนิยม หากแต่ต่อมา สถาบันเก่าแก่แห่งนี้กลับกลายมาเป็นแกนหลักของระบอบประชาธิปไตยญี่ปุ่น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หรือว่าจริงๆ แล้ว เส้นทางประชาธิปไตยญี่ปุ่นที่เกิดจากแรงผลักภายนอกช่วงปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะมีผลต่อการปรับทอนรากวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า

2. นักรัฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง Samuel Huntington (1991) เคยโต้เถียงว่า การปฏิวัติโดยพลังประชาชนในฟิลิปปินส์เพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการมาร์กอสคือจุดเริ่มต้นหลักของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม (Third Wave) ในเอเชีย แต่กระนั้น การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย (Democratic Transition) ก็ไม่ได้นำมาซึ่งการทำประชาธิปไตยให้เป็นปึกแผ่น (Democratic Consolidation) เสมอไป และ ทั้งๆ ที่ฟิลิปปินส์มีการเลือกตั้งอยู่ต่อเนื่อง หากแต่ก็พบปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองอยู่ร่ำไป

3. ทั้งๆ ที่ การพัฒนาประชาธิปไตยและการยุติสงครามกลางเมืองในกัมพูชาเคยได้รับการแก้ไขบรรเทาจากสหประชาชาติ แต่ทำไมกัมพูชาถึงยังประสบความล้มเหลวในการทำประชาธิปไตยให้เป็นปึกแผ่นและต้องตกอยู่ใต้ราชวงศ์การเมือง (Political Dynasty) ที่ถูกแผ่คลุมด้วยระบอบฮุนเซ็นมาเนิ่นนาน หรือว่า จริงๆ แล้ว รากรัฐประวัติศาสตร์กัมพูชาที่เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองของชนชั้นนำและมรดกความทรงจำจากสงครามกลางเมืองในอดีต จะมีผลต่อโลกทัศน์และยุทธศาสตร์การเมืองฮุนเซ็น โดยเฉพาะ การสร้างระบอบอัตตาธิปไตยที่แข็งแกร่งเพื่อใช้ขจัดคู่แข่งการเมืองและรวมศูนย์อำนาจรัฐชาติไว้ที่ผู้นำในเวลาเดียวกัน

4. รัฐที่มีวิวัฒนาการประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างยาวนานและโครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติได้ยึดโยงผูกติดกับกระบวนการสร้างรัฐ-สร้างชาติ โดยมีกองทัพเป็นแกนหลัก เช่น พม่า มักแสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นของมรดกประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อรูปแบบการเปลี่ยนแปลงการเมือง เช่น รัฐประหารในพม่าเมื่อปี ค.ศ. 1962 ได้ทำให้อิทธิพลกองทัพฝังรากอัดฉีดเข้าไปในโครงสร้างรัฐ จนแม้มีการลุกฮือประชาธิปไตยเมื่อปี ค.ศ. 1988 ทหารพม่าก็ยังคงสามารถปกครองรัฐสืบไปจนถึงปี ค.ศ. 2011 ที่แม้จะมีการก่อตัวของระบอบการเมืองใหม่ หากแต่กองทัพยังคงเป็นตัวแสดงหลักในการเมืองการปกครองยุคเปลี่ยนผ่าน โดยชนชั้นนำทหารพม่ามักอ้างเสมอว่า การคงบทบาทกองทัพในทางการเมืองถือเป็นมรดกประวัติศาสตร์และทหารพม่าคือผู้สร้างรัฐ (ดูเพิ่มเติมใน Callahan 2005) มิหนำซ้ำทหารพม่ายังมีรากประวัติศาสตร์ที่สืบได้ไกลถึงกองทัพจักรวรรดิพม่าที่เกรียงไกรในอดีต

5. การแก้ปัญหาโครงสร้างรัฐและพัฒนาสถาบันการเมืองนับเป็นเรื่องที่ต้องกระทำผ่านกระบวนการประวัติศาสตร์และอาจกินเวลายาวนานกว่าหนึ่งรัฐบาลหรือแม้แต่หนึ่งช่วงอายุคน ฉะนั้น หากรัฐและสังคมในช่วงเวลานั้น มิเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากอดีตหรือมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดสภาวะล้มเหลวในการบริหารจัดการรัฐ มรดกประวัติศาสตร์ยุคนั้นย่อมตกทอดไปสู่คนรุ่นหลัง และอาจแปลงสภาพเป็นปมขัดแย้งที่ซับซ้อนหนักอึ้งจนกัดกร่อนทั้งเอกภาพชาติและสมรรถนะรัฐ โดยตัวอย่างรัฐเอเชียอาคเนย์ที่เข้าข่ายติดหล่มวงจรประวัติศาสตร์ที่ขรุขระยาวนานเช่นนี้ ได้แก่ ไทยและพม่า


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค