Skip to main content

 



เคยมีสื่อมาสัมภาษณ์ผมเรื่อง 6 ตุลา ในฐานะที่เป็นคนรุ่นหลัง ผมคิดว่าในช่วงเวลาที่ดูเหมือนว่าความรู้สึกมันจะล้นเกินไปเสียแล้ว ผมเลยทดลองเสนอความเห็นแย้งไปสั้นๆ ประมาณว่า ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยรัฐ หากนับในช่วงปีประมาณ 2510-2530 มันไม่ได้มีเพียงแค่เหตุการณ์ 6 ตุลา เท่านั้น

คิดว่าสั้นๆ แล้วแต่ก็ยังสั้นไม่พอ สุดท้ายถูกตัดอีกจนเหลือสั้นจุ๊ดปุ๊ด จนคิดว่ามันไม่ได้เสนอเป้าหมายที่ผมต้องการ อาจเป็นปัญหาที่ผมเสนอไม่ชัดเจนด้วย

แต่ก็เป็นการกระตุ้นให้ผมได้คิดกับมันมากขึ้น เลยลองเรียบเรียงใหม่ดู

กว่าสิบปีที่ผ่านมา ผมเห็นภาพนึงในหน้าสื่อ นสพ.ของเถ้าแก่เปลว สีเงิน ที่ติดตา ก็คือภาพถ่ายของ เสรี เตมียเวช ผู้ได้ขนานนามว่าวีรบุรุษนาแกที่มีศีรษะของมนุษย์วางรายเรียงประกอบฉาก

เข้าใจว่าศีรษะที่เห็นเป็นของชาวบ้าน และอาจเป็นผู้ที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐไทยในยุคนั้น

ต่อมาผมได้มีโอกาสอยู่ในพื้นที่ๆ มีอดีตเป็นสมรภูมิสู้รบที่เรียกว่าเทือกเขาภูพาน ผมได้ฟังเรื่องเล่า ความทรงจำจากชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากเผาบ้าน ไล่ที่อพยพที่มีอยู่ทั่วไปในเขตชนบท ในพื้นที่ ต.พังแดง อ.นาแก นครพนม (ซึ่งเปลี่ยนมาขึ้นกับ อ.ดงหลวง มุกดาหาร ในเวลาต่อมา) ชาวบรูที่ถูกมองว่าหัวแข็งหรือถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์กับ พคท. ได้ถูก จนท.คุมตัวขึ้น ฮ. และพวกเขาก็ไม่ได้มีโอกาสกลับมาหาครอบครัวอีกเลย

เข้าใจว่าเป็นที่มาของคำว่า "ถีบลงเขา (เผาลงถัง)"

นอกจากนั้นเรื่องเล่าเรื่องการข่มขืนหรือการจับเอาลูกเมียของชาวบ้านมาเป็นเมียของตัวเองผมกได้ยินมาจากพื้นที่นี้

ฝั่งตะวันตกของภูพานทางด้าน อ.เขาวง-นาคู กาฬสินธุ์ ความรุนแรงต่อชาวบ้านก็ไม่ได้แตกต่างกัน บริเวณรั้วของค่ายพวกหมวกแดง (ชื่อเรียกตามชาวบ้าน) มักมีศีรษะของมนุษยซึ่งบางครั้งก็เป็นเพื่อนญาติของพวกเขามาประดับสร้างความยำเกรงเสมอๆ

ได้ยินมาอีกว่า บางครั้งชาวบ้านจะถูกคุมตัวเข้าไปในค่าย พวกเขาถูกบังคับให้มองลงไปในปี๊บที่ตั้งน้ำต้มเดือดอยู่บนเตาไฟ ในนั้นมีศีรษะญาติหรือเพื่อนของพวกเขาถูกต้มอยู่

ที่บ้านซ้ง อ.เขาวง ก็มีเรื่องเล่าถึงการสังหารหมู่เด็กหนุ่มถึง 6 คน ในขณะที่พวกเขาทั้ง 7 คน ออกไปไร่นาโดย อส. มีเพียงเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่หลุดรอดนำเหตุการณ์มาเล่าให้คนในหมู่บ้านได้รู้ความจริงได้
......

ทั้งหมดทุกกรณีที่ผมได้ฟังมาไม่มีใครต้องรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิด แต่มันกลับเป็นเกียรติ ลาภ ยศ ให้กับผู้ที่ทำหน้าที่"ฆาตกรรมในนามของรัฐ"

แต่ก็น่าแปลกที่พวกเขาบอกเล่าด้วยท่าทีนิ่งเฉย ไม่ฟูมฟายโศกเศร้า และก็ไม่มอบหมายพันธกิจหน้าที่ให้คนรุ่นหลังต้องทวงคืนแต่อย่างไร

ข้อคำถามก็คือ อาจเป็นการดีที่สังคมไทยมีพื้นที่ความทรงจำให้กับเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่เหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ล่ะ ทำไมจึงดูเหมือนกับว่าสังคมจะไม่ได้มีพื้นที่เหลือให้กับความรุนแรงที่ร้อยเรียงกันมาอย่างต่อเนื่องแต่อย่างไร

ประวัติศาสตร์บาดแผลของประชาชนที่ถูกร้อยเรียงด้วยข้อเท็จจริงตามลำดับเวลามันน่าจะมีพลังทางปัญญามากกว่าประวัติศาสตร์ความรู้สึกหรือไม่

การใช้วาทกรรม "เราคือผู้บริสุทธิ์" ที่ถูกใช้อย่างได้ผลในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีผลข้างเคียงลดทอนพลังการต่อสู้หรือสิ่งที่พวกเขาเผชิญของประชาชนที่ดูเหมือนว่าจะห่างไกลจากความจริงอันแสนจะบริสุทธิ์หรือไม่ และอย่างไร
...


ปล. เพลงล่องป่าบุ่น ของ #หว่อง มงคล อุทก เรียบง่ายแต่ก็เพราะดี ไม่ถูกใจหรือยาวไปอ่านไม่จบ คงต้องขออภัยด้วยเสียงเพลง

 

 

 

ที่มา: facebook.com/sarayut.tangprasert

 

บล็อกของ gadfly

gadfly
13 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณสี่ทุ่ม  ชาติชาย ชาเหลา คนขับแท็กซี่ อายุ 25 ปี ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิตคาที่ จากกระสุนปืนไรเฟิลจากทหารยุติชีวิตของเขาลงทันทีขณะที่ในมือของเขายังถือกล้องถ่ายวิดีโออยู่
gadfly
น่าสมเพชและน่าอายแทนทหารไทยที่มีศักยภาพในการใช้ความรุนแรงกับใครก็ได้ในประเทศนี้กลับเลือกที่จะใช้ความรุนแรง และความได้เปรียบทางกฏหมายทำร้ายคนที่อ่อนแอที่สุดกับคนอย่าง 'ตูน'