แดดเปรี้ยงผ่าลงตรงหัวพอดี ขณะที่ช่างภาพนับ 10 คน ดุ่ยๆ เข้าไปในอาคารเรียนแห่งนั้น โถงอาคารเอนกประสงค์โล่งๆ เหมาะจะเป็นสนามบาสฯ มากกว่าห้องเรียนถูกจัดแบ่งเป็น 2 ตอน ด้วยตู้ไม้ผุๆ ทางด้านหน้าเป็นชั้นเด็กโตและทางด้านหลังเป็นชั้นเด็กเล็กที่ไม่ควรจะเกิน 10 ขวบ
โรงเรียนวัดสุทธารามหรือโรงเรียนวัดกำพร้า เป็นหนึ่งในหลายๆ โรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครที่รับเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติมาเรียนหนังสือ วิชาที่สอน เน้นพูด อ่านและเขียนภาษาไทย ,เมื่อเค้าต้องอยู่ร่วมกับเราอย่างไม่อาจจะปฏิเสธ
กล่าวกันทีเล่นทีจริงว่า หากหญิงสาวชาวพม่าไม่ทาแป้งทานาคาและชายหนุ่มชาวพม่านุ่งกางเกงยีนส์ไปเคาน์ ดาวน์ ที่ เซ็นทรัล เวิร์ล ในช่วงปีใหม่จะเป็นเรื่องยากมากที่ใครจะแยกให้ชัดเจนว่าไหนคนไทย ไหนคนพม่า !!!
ขณะที่สังคมไทยยังเก็บอดีตมาเป็นอคติที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของหนัง “ไทยรบพม่า” แสดงถึงความโหดร้ายของอาณาจักรพุกามทำสงครามยึดเราเป็นเมืองขึ้น (เอ่อ ชนชาติใดทำหนัง ย่อมรับใช้ชนชาตินั้น วลีนี้คุ้นๆ ไหมครับ) ...
มีการถกเถียงกันมากว่า “ทำไมต้องให้เด็กพวกนี้เรียนหนังสือ”
ความคิดนี้ยังคงแบ่งออกเป็น 2 สาย หลักๆ
หนึ่ง จะให้พวกมันเรียนไปทำไม เรียนเยอะรู้มาก ,หรือไม่ เพราะว่าประเทศเรายังมีเด็กที่ไม่รู้หนังสือและยากจนอีกมาก จะไปช่วยเด็กที่ไม่ใช่คนไทยทำไม? (นั่นสิ)
สอง คุณครูบางท่านให้ความเห็นว่า หากเด็กพวกนี้ไม่เข้ามาเรียนหนังสือ ชะตากรรมจะทำให้เค้าต้องกลายเป็นแก๊งอาชญากรรมข้างถนน เชื่อสิ! เราเองจะลำบาก
...
มะไข่(นามสมมติ) เด็กหญิงอายุ 8 ขวบ แก้มที่ยุ้ยและรูปร่างที่กลมป็อกทำให้ช่างภาพหลายคนกดชัตเตอร์แกไปหลายภาพ มะไข่อยู่กะพ่อแม่ที่ชุมชนตลาดกุ้ง เมืองมหาชัย เพิ่งเข้าเรียนชั้นประถมได้เพียงครึ่งเทอม คุณครูบอกว่า แกเป็นผู้ใหญ่เกินวัย ตั้งใจเรียนและช่างคิด
วันนี้ มะไข่เรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สะกด กอ ไก่ และ A B C D
“มาโรงเรียนสนุกไม๊” ผมเริ่มคำถามแคลสสิก
“สนุก” มะไข่ทำตาวาว สุกปลั่งเป็นประกาย
“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” ผมตอกด้วยคำถามแคลสสิก
“อยากพาแม่กลับบ้าน” เธอยิ้มเขินกับเพื่อนข้างๆ
!!!!!
ขอบคุณพี่ตุ่นและทีมงานเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน จ.สมุทรสาคร