ราวห้าโมงเย็น
“จุดเทียนหรือเปล่าคับทั่น” ผมโทรหาเพื่อนคนหนึ่งอย่างกระวนกระวาย
“จุดดิคับ เริ่มหกโมงฯ แล้วมาตอนนี้ทำไม” มันว่าเข้าให้นั่น
เป็นอันว่า คงต้องรออีกสักพัก กว่ากลุ่มของพวกเขาจะเดินทางมาถึง
ผมเริ่มเดินสำรวจรอบๆ บริเวณศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแห่งชาติแห่งแรกของเมืองไทย จริงๆ มันมีศูนย์ศิลปะอื่นๆ อยู่บ้างในต่างจังหวัดแต่มันคงดูไม่หรูหราใหญ่โตอลังการเท่าศูนย์นี้ ความใหญ่โตของมันทำให้ผมงกๆ เงิ่นๆ เดินเข้าไปในศูนย์เพื่อฆ่าเวลา
เจ้าหน้าที่เกร่เข้ามาหาพร้อมกับรอยยิ้ม
“ให้เจ้าหน้าที่ผู้หญิงตรวจกระเป๋า นิดนึงนะครับ” เขาบอกกับผมอย่างสุภาพ ซิปกระเป๋ากล้องถูกเปิด พร้อมกับรอยยิ้มเล็กๆ ก่อนจะผายมือเป็นทำนองว่า ‘ผ่านได้ แต่ห้ามถ่ายรูปนะ’
ความเงียบภายในสถานศิลปะวัฒนธรรมทำให้บรรยากาศดูน่าเกรงขามเป็นอย่างยิ่ง ตัวอาคารขนาดยาว 5 ชั้น กินพื้นที่ไปจรดสนามกีฬาแห่งชาติดูโล่งโถงและมีศิลปกรรมหลากรูปแบบจัดวางเอาไว้ตามจุด ผมคงไม่มีเวลาเดินสำรวจอาคารทั้งหมด
ผมตัดสินใจ เดินลงไปยังชั้นใต้ดิน เด็กสูง 3 เมตร ก้มตัวมองหว่างขาตัวเองวางอยู่กลางโถง มีเศษไม้เกรียมวางอยู่โดยรอบ ผู้หญิงคนหนึ่งนั่งพินิจพิเคราะห์อย่างตั้งอกตั้งใจ
เธอช่างมีน้ำอดน้ำทนจริงๆ ผมคิด
ผมยืนมองจนเธอขยับนั่งบนเสื่อเพื่อจะได้ตั้งใจดูอย่างเต็มที่ ผมยอมรับกับตัวเองได้อย่างเต็มหัวใจว่า จริงๆ ผมยืนมองเธอนั่นแหละครับ บางครั้งอากัปกิริยาของคนที่มาชมงานศิลปะน่าชมพอๆ กับชิ้นงานเลยทีเดียว อีกมุมหนึ่งเป็นหนังสั้นในจอจะเป็นชาวบ้านกลุ่มใหญ่นั่งดูภาพวาดขนาด 2x3 เมตร ที่แขวนอยู่กับกอไผ่ ในภาพเป็นหญิงชายคู่หนึ่งร่างกายเปลือยเปล่าเป็นแบบให้จิตรกรวาดและถาดผลไม้อยู่ทางด้านล่างของมุมภาพ เสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นภาษาอิสาน ชี้ชวนไปยังภาพ ชายในจอยืนอย่างนอบน้อมเดินไปที่ภาพ
“เห็นกล้วยไม๊ มันออกจะเน่าๆ นะ” ชาวบ้านที่นั่งชมต่างเฮกันลั่น
ชายหนุ่มเลื่อนมือไปชี้ที่หน้าอกของหญิงสาว มีเสียงรำพันดังจากกลุ่มชาวบ้านว่า “นมบูดๆ ๆ ๆ” ก่อนที่จะมีเสียงเฮตามมา
ผมยิ้มกรุ้มกริ่ม มองดูนาฬิกาจากโทรศัพท์ เออ เฮอะ ต้องออกไปรอเสียแล้ว
อากาศต้นฤดูหนาวทำให้บรรยากาศดูแล้วผ่อนคลาย กลุ่มคนทำงานศิลปะจัดวางงานของตัวเองเพื่อเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวและคนเดินผ่านไปผ่านมา ทั้งโพสการ์ด ภาพวาดสีน้ำ สีน้ำมัน มีทั้งศิลปะสมัยใหม่ไปจนถึงภาพแนวพุทธวิถี ภาพเชิงนามธรรมและดอกลีลาวดีสีขาวนวล
เสียงดังมาจากอีกฟากถนน กลุ่มสันติภาพเพื่อพม่า เดินถือป้ายรณรงค์และตะโกนคำว่า “ฟรีๆ ๆ ๆ เบอร์มา ,รัฐบาลทหาร เก็ทเอ้าท์ๆ ๆ ๆ” ดังกังวานจนคนทำงานศิลปะหลายคนขึ้นยืนดูเพื่อความแน่ใจว่าไม่ใช่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือว่า ... มันเกิดอะไรขึ้นอีกวะ !!!
กลุ่มเพื่อสันติภาพในพม่าข้ามมาหยุดขบวนทางด้านข้างอาคารหอศิลป์ ก่อนจะเริ่มจุดเทียนและทำกิจกรรม อ่านแถลงการณ์และให้สัมภาษณ์นักข่าว ทั้งนักข่าวและคนในละแวกนั้นรุมล้อมเข้ามาดูอย่างคนที่อยากรู้อยากเห็น
แสงเทียนวอมแวมบนผืนผ้าสีขาวที่เขียนเอาไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า ‘พีซ ฟอร์ เบอร์ม่า’ ทำให้ความงงงวยของคนในละแวกนั้นยิ่งทวีขึ้น ราวกับว่า มันช่างห่างไกลกับชีวิตประจำวัน
“นายๆ เค้าตะโกนคำว่าอะไรนะ” มอเตอร์ไซค์รับจ้างย่านเอ็มบีเคถามเพื่อนร่วมอาชีพ
“ว็อท แฮ็พเพ่น” คู่รักชาวอิสราเอลกระซิบกระซาบกันราวกับถ้อยรำพันคำหวาน
“ถือเทียนตรงคำว่าเบอร์มาหน่อย” ช่างภาพมาดเซอร์บอกผู้ชุมนุมเพื่อกดชัตเตอร์
“มีคนพม่าคนไหนที่พูดไทยได้บ้าง” นักข่าวสาวจากไทยทีวี สอบถาม
Free free free … free burma
…
เทียนสว่างขึ้นตามเวลาของความมืดตัดกับระยิบระยับของไฟประดับห้างใหญ่ใจกลางเมือง กลุ่มเพื่อสันติภาพในพม่าเริ่มร้องเพลงอิมแมจิ้นตามท่วงทำนองกีตาร์โปร่งจากผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง .. สำหรับบางคน เรื่องเช่นนี้ช่างดูห่างไกลจากความรู้สึกตราบเท่าที่พวกเขายังรู้จักคำว่าอิสรภาพ
หอศิลป์กรุงเทพฯ บรรจุผลงานชิ้นโตเอาไว้ข้างใน มันเป็นตัวแทนของเสรีภาพทางความคิด
หากใครสักคนจะคิดว่า การชุมนุมเช่นนี้มีความหมายมากกว่าผลทางการเมือง
ผมพยายามจะหมายถึงงานศิลปะชนิดหนึ่งที่ทำขึ้นเพื่อเสรีภาพ
‘Free for Burma’