Skip to main content

..........

‘พวกเรา’ มาถึงหมู่บ้านแม่สามแลบก่อนเที่ยงเล็กน้อย

หลังจากที่ต้องผจญกับโค้งนับร้อยโค้งตลอดคืนบนเส้นทางจากกรุงเทพฯถึงตัวอำเภอแม่สะเรียงและจากตัวอำเภอแม่สะเรียงถึงหมู่บ้านแม่สามแลบ ระยะทางที่เหลือ คือ ถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยฝุ่นสีแดงและคันดินระหว่างหน้าผาที่ถล่มเป็นโพรงลึกตลอดเส้นทาง

จุดหมายของการเดินทาง คือ งานพิธีบวชป่าสาละวินเฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวงของเรา’ งานบวชป่าสาละวินเฉลิมพระเกียรติ (6-9 พ.ค. 51) ถูกจัดขึ้น 2 จุด จุดแรก คือ หมู่บ้านท่าตาฝั่ง จุดที่2 คือ หมู่บ้านแม่ดึ๊ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน การเดินทางไปยังจุดบวชป่าทั้ง 2 จุด จะต้องโดยสารเรือ จากหมู่บ้านแม่สามแลบ ล่องไปตามลำน้ำสาละวินซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่

เรือขนควาย(เรือขนสินค้าและสัตว์ขนาดใหญ่ไปขายยังหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-พม่า) ขนาดบรรทุก 100 คน 3 ลำและเรือเร็วอีก 1 ลำ รออยู่ที่ท่า อากาศต้นฤดูฝนอบอ้าวปนชื้นเล็กน้อย ผู้ร่วมงานเริ่มทยอยกันลงเรือ เฉลี่ยลำละ 50-80 คน รวมเรือเร็ว อีก 30 คน คำนวณจากสายตาไม่น่าจะต่ำกว่า 300 คน

นั่นหมายถึง ความสำคัญของพิธีการอันยิ่งใหญ่นี้

แม่น้ำสาละวิน ถูกบันทึกเอาไว้ว่าเป็นแม่น้ำสายนานาชาติ ยาวกว่า 2,820 กิโลเมตร เริ่มจากสายธารน้ำแข็งเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัยในเขตปกครองตนเองทิเบต ประเทศจีน ลัดเลาะผ่านหุบเขาน้อยใหญ่ในมณฑลยูนนาน เข้าสู่รัฐฉาน รัฐกะเรนนี รัฐกะเหรี่ยง กั้นเส้นพรมแดนระหว่างไทย-พม่า ก่อนวกกลับเข้าพม่าอีกครั้งและไหลลงสู่ทะเลอันดามันบริเวณเมืองมะละแหม่ง ทั้งหมดนี้ หมายถึง แม่น้ำสายยาวอันดับที่ 26 ของโลก

เฉพาะจุดพรมแดนไทย-พม่า ลุ่มน้ำแห่งนี้มีความยาวทั้งสิ้น 127 กิโลเมตร ไหลผ่านอำเภอแม่สะเรียงและอำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำสาขาสายใหญ่ที่คนไทยคุ้นเคย อย่างเช่น แม่น้ำปาย แม่น้ำเงา แม่น้ำยวม แม่น้ำเมย แม่น้ำสุริยะและแม่น้ำกษัตริย์ ใน จังหวัดกาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่และพื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

..........

เรือขนควาย ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากท่าอย่างช้าๆ ตามขนาดความใหญ่โตของมัน เสียงเครื่องยนต์ของรถบรรทุก 6 ล้อ คำรามลั่น คนขับเรือผู้ชำนาญค่อยๆ ถอยหัวเรือออกจากฝั่งบ้านแม่สามแลบ เด็กผู้ช่วยอีก 2 คน ขยับพายอันใหญ่อยู่ในมือ ทั้งถ่อและค้ำส่งเรือให้ไหลไปตามลำน้ำอย่างเชื่องช้า หากตัวเรือเบนเข้าหาเรือลำอื่น ผู้ช่วยทั้ง 2 คน จะทั้งผลักทั้งดันให้เรือเบนออกห่างจากกันอย่าง ‘คนเป็นงาน’

สำหรับพวกเรา ผู้โดยสารหน้าใหม่ ได้แต่ยืนลุ้น ไม่ให้เกะกะการทำงานของนักเดินเรือก็เพียงพอแล้ว

หมู่บ้านแม่สามแลบ กลายเป็นจุดเล็กๆ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน หมู่บ้าน ขนาด 280 ครัวเรือน (1,593 คน) ตั้งเป็นแนวขนานกับฝั่งแม่น้ำ ยอดพระธาตุวัดแม่สามแลบสีทองอร่ามโดดเด่นชัดเจน แม่สามแลบถือเป็นศูนย์กลางการค้าบริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ครั้งอดีตและยังเป็นแหล่งพำนักพักพิงของคนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายศาสนา

เริ่มจากบริเวณห้วยแม่สามแลบ บนถนนไปตัวอำเภอแม่สะเรียงเป็นชุมชนไทใหญ่ เลี้ยวเลาะตามทางลาดลงหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของชุมชนกะเหรี่ยง ถัดมาเป็นชุมชนมุสลิมและมัสยิดหมู่บ้านแม่สามแลบ ผ่านโรงเรียนแม่สามแลบ ผ่านร้านค้าและตัวหมู่บ้านเรียงรายเลียบไปตามแนวฝั่งแม่น้ำ ก่อนจะขึ้นเนินน้อยๆ ผ่านฐานทหารพรานและบ้านพักอุทยานแห่งชาติสาละวิน เป็นที่ตั้งของชุมชนกะเหรี่ยงคริสต์และโบสถ์

ทั้งหมด อยู่ด้วยกันแบบพี่แบบน้องร่วมแผ่นดิน

โดยทั่วไป ชาวกะเหรี่ยงจะประกอบอาชีพรับจ้างและขับเรือ ชาวมุสลิมและไทใหญ่จะรับจ้างแบกสินค้า แต่ส่วนใหญ่แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่จะมีอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ข้าวและปลูกผักริมหาดเป็นหลัก

สินค้าหลักบริเวณหมู่บ้านแม่สามแลบเป็นสินค้า จำพวก น้ำมันพืช เสื่อ รองเท้า ยาง ผงชูรส รถจักรยาน โทรทัศน์ ส่งออกไปยังฝั่งพม่าบริเวณหมู่บ้านตะกอท่า (สุดเขตประเทศไทย) แล้วเปลี่ยนเป็นเรือขนสินค้าของประเทศพม่า ส่งต่อไปยังเมืองมอลาแคะ เมืองลอยก่อง

ก่อนกระจายสินค้าไปยังจุดต่างๆ ภายในประเทศพม่า

..........

แม่น้ำสาละวินเต็มไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่ตลอดลำน้ำ มีเพียงนักเดินเรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่สามารถนำเรือและผู้โดยสารหรือสินค้าลัดเลาะเป็นตามร่องน้ำได้อย่างปลอดภัย จากหัวถึงท้ายเรือ ความยาวมากกว่า 10 เมตร ผู้โดยสารทุกคนต้องนั่งลงเพื่อให้คนขับได้บังคับเรือไปตามทิศทาง ส่วนลูกเรืออีกสองคนจะประจำอยู่ที่หัวเรือเพื่อดูเส้นทางและคอยประสานเมื่อต้องผ่านจุดตรวจเรือทั้งของไทย กะเหรี่ยงและพม่า

จากหมู่บ้านแม่สามแลบถึงท่าตาฝั่ง กินระยะทาง 1 ชั่วโมงเศษ ผู้ร่วมพิธีทุกคนบนเรือต่างหลบแดดอยู่ในผ้าใบผืนเดียวกัน ป่าโปร่งผลัดใบยืนต้นแน่นขนัดอยู่บนเนินตลอดสองฝั่ง บางช่วงน้ำไหลเชี่ยวและรุนแรง เรือขนควายซึ่งเป็นไม้ทั้งลำจะโคลงวูบวาบซ้ายทีขวาที ละอองน้ำแตกกระจายเป็นฟองฝอย

สายลมเย็นๆ จากการเคลื่อนตัวของเรือช่วยให้คลายร้อนได้บ้าง บางจุดมองเห็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงเป็นเงาตะคุ่มอยู่หลังชายป่าริมฝั่ง บนเนินทรายบางแห่งมองเห็นเด็กๆ เล่นน้ำ ช่วยพ่อแม่ซักผ้า ขนของ บางจุดเป็นเรือขายสินค้าจำพวกน้ำดื่ม ขนมเล็กๆ น้อยๆ คล้ายกับเซเว่น อีเลฟเว่น กลางแม่น้ำสาละวิน

เมื่อเรือของเราผ่านไป ชาวบ้านริมน้ำจะโบกมือทักทายกันอย่างเป็นมิตร

อีกไม่นานเรือจะเข้าเทียบท่าที่หมู่บ้านท่าตาฝั่ง

..........

ท่าจอดเรือหมู่บ้านท่าตาฝั่งเป็นเนินสูง ลูกเรือทุกคนต้องใช้กำลังขาเล็กน้อยเพื่อปีนป่ายขึ้นไปยังปากทางเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านรู้แล้วว่าจะมีแขกมาเยือน ทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างพากันทยอยลงมาเพื่อช่วยยกกระเป๋าสัมภาระ สำหรับแขกที่ไม่สามารถแบกขึ้นไปเองได้

ถนนเข้าหมู่บ้านจะเลียบหาดและลำห้วย เนินสูงทางด้านขวามือเป็นที่ตั้งอาคารบ้านพักนักท่องเที่ยวซึ่งมองเห็นทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินได้อย่างชัดเจน ถัดไปอีกประมาณ 100 เมตร จะเป็นฐานทหารพรานและบ้านพักสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่หุบเขาและมีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องยาวนานนับ 100 ปี ลำห้วยสาขาจากแม่น้ำสาละวินไหลผ่านบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน ชาวบ้านท่าตาฝั่ง เรียกกันในชื่อ ลำห้วยแม่กองคา ใช้หล่อเลี้ยงชีวิต ทำไร่ข้าวและปลูกพืชริมหาดมาตั้งรุ่นพ่อรุ่นแม่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว

นับตั้งแต่การก่อตั้งหมู่บ้านครั้งแรกโดยพ่อจออู ศรีมาลี ผู้สัญจรไปมาในแม่น้ำสาละวินต่างเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า ‘บ้านน้อย-จออู’ กระทั่งปัจจุบัน หมู่บ้านท่าตาฝั่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มบ้าน คือ บ้านท่าตาฝั่งและบ้านแม่ปอ มีจำนวนประชากรทั้งหมด 600 คน

นับถือศาสนาคริสต์ แบ๊พติสต์และศาสนาพุทธ-ผี ตามความเชื่อและศรัทธา

จุดบวชป่าบ้านท่าตาฝั่งจะต้องเดินขึ้นไปทางเหนือของหมู่บ้าน ตัดลำห้วยแม่กองคา ขึ้นไปยังป่าจุดที่ทำการอุทยานแห่งชาติสาละวิน พิธีกรรมจะเริ่มในเช้าวันถัดมา (ที่ 8 พ.ค. 51)

คืนนี้ แขกผู้มาเยือนแต่ละกลุ่มจะพักตามบ้านของชาวบ้านแต่ละหลัง พวกเรากลุ่มหนึ่ง พักที่บ้านพ่อมานะและแม่กรือแด

บ้านพ่อมานะมุงหลังคาด้วยใบตองตึง ตัวบ้านอยู่ลึกลงไปในดินตามความลาดชันบนเนินสูงประมาณ 1 เมตร หลังคาจะคลุมตัวบ้านทั้งหลังเพื่อป้องกันลมหนาว โครงบ้านทำด้วยแผ่นไม้กระดานและเสาเรือนเป็นไม้ซุงทั้งท่อน มีโครงหลังคาบางส่วนและครัวเป็นไม้ไผ่ ภายในบ้านแบ่งเป็น 2 ห้องนอนและ1 ห้องครัว ส่วนห้องน้ำแยกจากตัวบ้านติดลำห้วยแม่กองคา

พ่อมานะเกิดและเติบโตที่หมู่บ้านท่าตาฝั่ง ส่วนพ่อแม่อพยพหนีภัยสงครามมาจากฝั่งพม่า เป็นคนยิ้มง่าย ผมซอยสั้น ไหล่หนาไม่เล็กและใหญ่จนเกินไป รูปร่างบอบบาง ชวนพวกเราพูดคุยอยู่ตลอดเวลา ส่วนแม่กรือแด ทำได้แค่ยิ้มเท่านั้นเพราะผู้หญิงกะเหรี่ยงมักจะพูดภาษาไทยไม่ได้ ยกเว้น เด็กๆ รุ่นใหม่ที่ได้เรียนหนังสือ ส่วนพวกเราทักทายเป็นภาษากะเหรี่ยงได้ไม่กี่คำ

ออเม กินข้าว
ต่าบลึ๊ ขอบคุณและสวัสดี


..........

ช่วงเช้า (8 พ.ค.51) ชาวบ้านจากหมู่บ้านท่าตาฝั่งและแขกผู้มาเยือนมารวมตัวกันริมห้วยแม่กองคาทางด้านหลังหมู่บ้านมากกว่า 400 คน เพื่อตั้งขบวนแห่ไปยังบริเวณจุดบวชป่า ทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่อยู่ในชุดเสื้อผ้าใหม่เอี่ยม เป็นชุดชนเผ่าทอมือ ลายแดงสลับสีขาว ทิวธงสีเหลืองเฉลิมพระเกียรติชูสลอน

พิธีกรรมบวชป่าเฉลิมพระเกียรติ จะเริ่มขึ้นในอีกไม่ช้า

จุดบวชป่าบ้านท่าตาฝั่งตั้งอยู่บนเนินสูง ลาดหุบอีกด้านติดฝั่งแม่น้ำสาละวิน จุดที่เรียกว่า โค้งน้ำตากวิน (พื้นที่โครงการเขื่อนสาละวินตอนล่าง บ้านท่าตาฝั่ง) เวทีธรรมชาติอย่างง่ายถูกสร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมบวชป่า เสาสูงขึงป้ายผ้าเขียนด้วยตัวอักษร “พิธีบวชป่าสาละวิน บ้านท่าตาฝั่ง” ถูกขึงตึง ทหารพรานพร้อมอาวุธครบมือจากฐานภายในหมู่บ้านเข้าประจำการเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย

พิธีกรรมบวชป่าหรือ ‘หลื่อปก่า’ ของชาวกะเหรี่ยงไม่มีสิ่งใดซับซ้อน การประกอบพิธีกรรมแยกออกไปตามหลักความเชื่อทางศาสนา คือ พุทธ คริสต์ อิสลามและผี ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง พิธีกรรมตามความเชื่อผีถูกสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า ป่ามีเจ้าของ

ส่วนมนุษย์นั้น เป็นเพียงผู้อาศัยประโยชน์ เพื่อให้มีชีวิตรอดเท่านั้น

ผู้ประกอบพิธีกรรมจะผ่านการคัดเลือกจากผู้เฒ่าภายในหมู่บ้าน เริ่มต้นด้วยการตั้งศาลเจ้าที่ทำง่ายๆ ด้วยไม้ไผ่ยกพื้นระดับเอว มีเสาไม้ไผ่ 6 ต้น มุงหลังคาด้วยใบตอง โครงของตัวศาลจักตอกสานเป็นตะแกรง ทำบันไดทางขึ้นจากพื้นจรดประตูศาล มีกระบอกน้ำไม้ไผ่และเครื่องเซ่น จำพวก ไก้ต้ม เนื้อหมู ข้าวสาร ดอกไม้และเทียนขึ้ผึ้ง เตรียมพร้อมเอาไว้ภายในศาล

เมื่อเริ่มประกอบพิธี ผู้ประกอบพิธีหรือผู้ประกอบศาลเจ้าจะแบ่งเครื่องเซ่นไหว้ทุกอย่างวางลงภายในศาลเจ้า จุดเทียนขี้ผึ้ง นั่งคุกเข่า ประนมมือ ผู้เข้าร่วมทุกคนประนมมือ กล่าวเป็นภาษากะเหรี่ยง

“ขออัญเชิญเทพยดา เทพารักษ์ ผีน้ำ ผีป่า ผีเขา ทุกที่ทุกแห่งมาสถิตย์(ที่ศาล)มารับเครื่องเซ่นไหว้ที่ชาวบ้านได้นำมา เพื่อบอกกล่าวเจตนาให้เทพยดาทั้งหลายช่วยดูแลผืนป่า ผืนฟ้า ผืนดิน ผืนน้ำแห่งนี้ ไม่ให้ถูกรบกวน คุ้มครองคนที่เข้าร่วม มีจิตเจตนาที่ดี ให้โชคดี ให้ปลอดภัย จากความเจ็บไข้และภัยอันตราย”

หากใครฝ่าฝืนจะเจ็บป่วยหรือเกิดเหตุการณ์ร้ายโดยไม่รู้สาเหตุ

..........

พ่อตุ๊ดตู่ มาลาศรีสมร ผู้ประกอบพิธี เป็นชายรูปร่างสันทัด อายุย่าง 60 ปี ใส่แว่นหนา อธิบายถึงพิธีกรรมบวชป่าว่า พิธีกรรมบวชป่าเกิดขึ้นมานานนับ 100 ปี

จากยุคปู่ย่าตายายจนยุคปัจจุบัน พิธีกรรมความเชื่อนี้เปลี่ยนไปตามสภาพ

เมื่อก่อนเป็นเรื่องของผีล้วนๆ และการผูกผ้าตามต้นไม้จะใช้ผ้าฝ้ายเป็นหลัก ปัจจุบัน เป็นผ้าจีวรสีเหลืองและผ้าสีขาวและมีพิธีกรรมทางพุทธ คริสต์ อิสลามมาร่วมด้วย แต่จุดประสงค์หลักของการบวชป่ายังคงเหมือนเดิม คือ เลี้ยงผีน้ำ ผีป่า ผีเขา ให้ช่วยดูแลชาวบ้านและป้องกันเหตุเภทภัย นอกจากนี้ ยังได้เซ่นไหว้ ‘เก๊าผี’ ซึ่งเป็นผีใหญ่หรือจ้าวแห่งผีอีกด้วย

ครั้งนี้ ใช้ต้นสักใหญ่เป็นต้นไม้หลักในการประกอบพิธีกรรม อันเปรียบเสมือนจ้าวแห่งต้นไม้ นอกจากจะระลึกถึงบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย พ่อเฒ่ายังส่งดวงใจระลึกถึงบุญคุณของในหลวงและราชินี อีกด้วย

“การบวชป่าท่าตาฝั่ง 1,800 ไร่ ในครั้งนี้เป็นการบวชป่าเฉลิมพระเกียรติในหลวงและราชินีของเรา พระองค์ทั้ง 2 ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ การบวชป่าเป็นการสร้างพื้นที่อนุรักษ์ จะไม่มีการตัดไม้หรือบุกรุกแผ้วถางเพื่อไปใช้สอย ให้ความเคารพต่อชีวิตสัตว์ ต้นไม้และยังได้ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองให้ในหลวงมีพระชนมายุยืนนาน ใครบุกรุกแผ้วถาง ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงและดวงใจของในหลวง”

“แล้วมีคนละเมิดข้อตกลงบ้างหรือเปล่า”

“มี บางคนรถคว่ำ บางคนไม่สบายอย่างไร้สาเหตุ เก๊าผี จะคุ้มครองคนที่ไม่ละเมิด แต่ต้องมาพร้อมกับการทำความดีนะ”
พ่อเฒ่าขยับแว่นอันหนา ก่อนมีรอยยิ้มน้อยๆ อย่างคนอารมณ์ดี

..........

ผู้ร่วมงานแต่ละคนหยิบผ้าสีเหลืองฝาดคร่ำหรือผ้าสีขาว ตามความถนัด ไปผูกที่โคนต้นไม้รอบๆ บริเวณพิธี แดดสายแหย่สายลงมาตามกิ่งใบของป่า ริมฝั่งสาละวิน

เด็กๆ มีรอยยิ้มแม้เหน็ดเหนื่อยและร้อนอ้าว

พวกเราเดินทางต่อไปยังจุดบวชป่าอีกจุด แก่งเว่ยจี ที่ตั้งโครงการเขื่อนสาละวินตอนบน

..........

ขอบคุณพี่ๆ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติทุกคน
http://www.terraper.org

 

20080515 แม่น้ำสาละวิน
แม่น้ำสาละวิน มุมมองจากหมู่บ้านแม่ดึ๊

20080515 ระหว่างนั่งเรือ
ระหว่างนั่งเรือ ชาวบ้านริมน้ำมาออกันอยู่ริมฝั่ง

20080515 ขบวนปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ
ขบวนปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ

20080515 กะเตงลูกร่วมพิธีบวชป่า
กะเตงลูกร่วมพิธีบวชป่า

20080515 บริเวณพิธีกรรมบวชป่า
บริเวณพิธีกรรมบวชป่า

20080515 ชาวบ้านพนมมือไหว้
ชาวบ้านพนมมือไหว้ ระหว่างการทำพิธีทางสงฆ์

20080515 ทหารพรานพร้อมอาวุธครบมือ
ทหารพรานพร้อมอาวุธครบมือ ดูแลความเรียบร้อยภายในงาน

20080515 ผูกผ้าเหลือง (1)

20080515 ผูกผ้าเหลือง (2)
ผูกผ้าเหลือง บวชป่า

20080515 จุดบวชป่าเว่ยจี
จุดบวชป่าเว่ยจี ชาวบ้านทยอยกันขึ้นฝั่ง

บล็อกของ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
อยู่ดาก้าเพียง 2 วัน มันถูกส่งขึ้นดอยแดนดงป่า อีกแล้ว (ตรงนี้เพื่อนผมอุทธรณ์ว่า เหมือนอยู่เมืองไทยไม่มีผิด กำ) “ต้องไปเมืองอะไรครับ” เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการถาม ‘จิตตะกอง’ “โห โหดน๊า” นั่นหมายถึงคำปลอบโยน
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
อีกครั้งที่ ‘เพื่อนผม' มันไปสังเกตุการณ์การเลือกตั้งในบังคลาเทศ (แล้วผมก็เอามาเขียน 555) (จริงๆ มันไปเมื่อนานมาแล้วสักครึ่งปีเห็นจะได้)
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ภาพสุดท้ายที่ผมมองเห็นก่อนออกจากเปียงหลวง คือ ทิวเขาลูกนั้นในสายหมอกโอบอ้อมกับรอยยิ้มอิ่มบุญของคนไต งานปอย-ส่างลองสิ้นสุด พร้อมกับคอนเสริ์ตทิ้งท้ายที่เล่นกันค่อนรุ่ง ความรื่นเริงของคนหนุ่มสาวและส่างลองที่พร้อมจะเข้าสู่โลกแห่งธรรม
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมคิดว่าโครงใบหน้าของคนไตดูสวยดี โดยเฉพาะ ,ผู้หญิง ถึงแม้ว่า วันนี้ พวกเธอหลายคนจะต้องออกไปหางานทำนอกหมู่บ้าน , สิ่งที่มากกว่านั้น คือ ความรักและแรงศรัทธาในการร่วมงานบุญ ,และรอยยิ้มของพวกเธอ
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ศูนย์พักรอกุงจ่อ คือ พื้นที่ของผู้หนีภัยการสู้รบจากการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่า นับจากปี 2545 ชาวไต(ไทใหญ่)ร่วมหนึ่งพันคน เดินเท้าเข้าประเทศไทยทางด่านหลักแต่ง...!!!
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
พ่อส้านและส่างลอง เป็นภาพที่คู่กัน ส่างลองอยู่ที่ไหน พ่อส้านจะอยู่ที่นั่น แต่ละคน แต่ละคู่ ต่างมีลีลาที่แตกต่างกันออกไป ... เชื่อกันว่า ได้บุญใหญ่ ส่างลองในวันนี้จะเป็นพ่อส้านที่ดีในวันหน้า ทั้งนี้ ตามความสมัครใจ เช้า ขี่คอแห่ส่างลองไปตามวัด บ่ายแก่ได้พัก กลางคืนนอนเฝ้าส่างลองหลังซุ้ม ครบ 5 วัน เชื่อกันว่า ได้ขึ้นสวรรค์ !!! ดูลีลาของพวกเขาสิครับ .....
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
บริเวณสนามฟุตบอล โรงเรียนบ้านเปียงหลวงเต็มไปด้วนสีสัน สีสันงานบุญซุ้มส่างลองทั้ง 107 ซุ้มกระจายอยู่โดยรอบสนามฟุตบอล เวทีดนตรีใหญ่หันหน้าประชันกับเวทีลิเกไทใหญ่หรือ "จ๊าดไต" เวทีใหญ่เล่นดนตรีทันสมัย โครงสร้างเวทีทำด้วยแกนเหล็กประกบเสาสูงราวเมตรครึ่ง ,ส่วนเวทีจ๊าดไตทำจากโครงไม้ไผ่ทั้งหลัง ปูพื้นด้วยแผ่นไม้กระดาน ฝาด้านหลังทำด้วยใบตองตึงสีน้ำตาลแห้งเก่าทะลุมองเห็นด้านใน ,วงดนตรีเครื่องสายดีดสีตีเป่าครบ ,นางรำแต่งหน้าทาปาก พันคอด้วยผ้าแถบมันเลื่อม ด้านตรงข้ามแดนเซอร์ชาวดอยวิ่งกระจายออกมาหน้าเวทีใหญ่
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
มีดโกนด้ามใหม่ สีดำสนิท บรรจงกรีดลงไปตามไรผมแต่ละเส้น ส่างลองทุกคนรู้ดีว่า พิธีกรรมต่อจากนี้ไปพวกเขาจะต้องใช้ความอดทนมากแค่ไหนกว่าผมจะหมดศีรษะ บางคนใบหน้าเหยเก บางคนถึงกับร้องไห้ จนพระพี่เลี้ยงและพ่อแม่ต้องหยุดใบมีดเอาไว้ก่อนแล้วตักน้ำส้มป่อยราดหัว ฟอกด้วยยาสระผมแล้วเริ่มโกน โกนจนหมดศีรษะ !!!
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
รถตู้กลางเก่ากลางใหม่ของบริษัทดาวทองขนส่ง จำกัด ออกจากสถานีช้างเผือก 10.30 น. หนุ่มใหญ่วัย 40 เศษ ไว้เคราบางๆและสวมแว่นตาดำตลอดเวลาซิ่งเจ้าเพื่อนยากปุเลงไปตามสันเขาน้อยใหญ่บนเส้นทางเชียงใหม่-เปียงหลวง 161 กิโลเมตร แดดฤดูร้อนจัดจ้านขับให้ดอกหางนกยูงสีแดงข้างทางสดเข้ม ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ผ่านอำเภอเชียงดาวถึงแยกเมืองงาย เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายแม่จา-เปียงหลวง ก่อนที่เส้นทางจะไต่ไปตามสันเขาคดเคี้ยว หนุ่มนักซิ่งของเราจะเตือนผู้โดยสารผ่านน้ำเสียงหนักแน่นว่า
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
... ผู้เฒ่าหญิงชายทั้งในชุดห่มขาวและชุดลำลองทั่วไป ต่อแถว รอพระลงจากกุฏิรับบิณฑบาตร สายหมอกฤดูร้อนห่มคลุมจางๆ ทำให้บรรยากาศรอบๆ ดูเลือนลางกึ่งจริงกึ่งฝัน งานฉลองพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ตื้อฯ ที่บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม มีศาสนิกชนผู้ศรัทธาเนืองแน่นเดินทางมาจากทุกสารทิศงานครั้งนี้เป็นบุญใหญ่ที่มีการเฉลิมฉลองถึง 15 วัน (1-15 พ.ค. 52) ภายในงานเปิดโรงทานโดยผู้มีจิตศรัทธาจะทำอาหารมาเลี้ยงผู้ร่วมงานบุญโดยไม่คิดสตางค์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์