Skip to main content

...

เรือเล็กทะยานออกจากบ้านท่าตาฝั่ง แหวกสายน้ำเห็นเป็นแนวตามความเร็วของเครื่องยนต์ นกนางแอ่นหางลวดโผตัวอยู่เหนือผิวน้ำสีแดงขุ่น เดือนพฤษภาคม น้ำสาละวินจะเป็นสีแดงขุ่น เป็นไปตามระบบธรรมชาติของแม่น้ำสาละวินที่ถูกยกให้เป็นพื้นที่ของความหลากหลายโล

ทั้งในแง่ของชีววิทยาและแง่งามทางวัฒนธรรม

แม่น้ำสาละวินเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตสองฟากฝั่งน้ำมาอย่างยาวนาน ยาวนานมากพอที่จะสร้างสรรค์รูปแบบทางวัฒนธรรมที่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับระบบทางนิเวศน์วิทยา

ชนเผ่าโบราณใช้สายน้ำสาละวินเป็นเส้นทางสัญจรติดต่อทำมาค้าขายกันมาตั้งแต่ครั้งอดีตอันรุ่งเรือง ตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนโบราณ ซึ่งค้นพบจากหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือหินกะเทาะคล้ายขวานหิน เครื่องมือโกลนหินขัด กล้องยาสูบ ไปจนถึง เครื่องลายครามภาชนะดินเผาโบราณสมัยราชวงศ์หมิง

บ่งบอกถึงการเดินทางค้าขายติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก
หากใครจะคิดได้ ใช่ไหมว่า พวกเรากำลังสัญจรอยู่บนเส้นทางสายอารยธรรม

...

แก่งเว่ยจี อยู่ห่างจากบ้านท่าตาฝั่งออกไปราว 2 ชั่วโมง (คิดตามอัตราความเร็วของเรือขนควาย) พวกเราต้องค้างคืนกันที่บ้านแม่ดึ๊ 1 คืน ก่อนจะยกพลกันไปที่แก่งเว่ยจี ในเช้าวันรุ่งขึ้น (9 พ.ค. 51)

หมู่บ้านแม่ดึ๊ เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง เล็กกะทัดรัด ขนาด 107 คน ตั้งอยู่บนเนินเหนือแก่งแม่ดึ๊ มีลำห้วยแม่แงะไหลผ่านหมู่บ้าน ออกไปยังบ้านโพซอและบ้านกองสุม ชาวบ้านที่นี่ไม่ได้รับการสำรวจเอาไว้ในทะเบียนราษฏร์ ทั้งที่ตั้งหมู่บ้านมามากกว่า 20 ปีแล้ว

การตกสำรวจ หมายถึง การไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคจากรัฐ

ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียนเล็กๆ ขนาด 3x6 เมตร 1 หลัง มีคุณครู 2 คน หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ดึ๊ ชื่อ คุณครูโซมุ ไม่มีน้ำปะปา ไม่มีระบบสาธารณสุข ไม่มีไฟฟ้าและเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ นอกจาก ป้ายกฏข้อห้ามประจำหมู่บ้าน เช่น ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ห้ามพกพาอาวุธ ห้ามทิ้งขยะ

แม้จะยากจน ชาวบ้านกลับต้อนรับพวกเราด้วยไมตรีจิต

โซมุ เป็นครูหนุ่ม ปีนี้เขาเพิ่งมีลูกคนที่ 4 ดวงตาที่ยิ้มได้ของเขาบ่งบอกถึงการเป็นคนอารมณ์ดี ผมซอยสั้น ร่างกายกำยำมองเห็นมัดแขนตามสภาพการกรากกรำงาน ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะทำไร่ข้าวและหาปลาในแม่น้ำสาละวินที่มีให้ได้กินกันเพียงพอในทุกครอบครัว

เป็นแหล่งอาหารที่มีชีวิตของคนบนฝั่งสาละวิน

พันธุ์ปลาหลากชนิดในลำน้ำสาละวินและลำห้วยสาขาต่างๆ ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในลุ่มน้ำนี้ ชาวน้ำสาละวิน มีความเชี่ยวชาญด้านการจับปลา สร้างเครื่องมือจับปลาและรู้จักพันธุ์ปลาเป็นอย่างดี ทั้งยังมีความรู้เกี่ยวกับระบบน้ำในแต่ละฤดูกาลที่แตกต่างกัน

โซมุบอกว่า “วังน้ำแต่ละวัง แก่งหินแต่ละแก่ง มีปลาให้กินกันเสมอ”
ใครบางคนคงยากที่จะเชื่อว่า กะเหรี่ยงก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ปลา

...

โซมุ เป็นครูเพราะไม่มีครูมาสอนที่หมูบ้านแม่ดึ๊ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมี เคยมี หากย้ายกันไปตามวาระ สำหรับครูโซมุ แม้เขาจะสอนวิชาภาษาอังกฤษ หากครูหนุ่มได้แต่เพียงคาดหวังว่า เด็กๆ ในหมู่บ้านแม่ดึ๊อ่านเขียนภาษาไทยได้คล่อง พอเอาตัวรอดไม่ถูกหลอก ถูกโกงจากสังคมภายนอกหมู่บ้านก็เพียงพอแล้ว

การอ่านเขียนภาษาไทยคล่อง จะช่วยให้เด็กๆ ได้รับการสำรวจลงทะเบียนราษฏร์ของประเทศไทย

...

ยามสายของวันที่ 9 พ.ค. 51 พวกเรามากกว่า 600 ชีวิต ทยอยลงเรือขนควายไปยังจุดบวชป่าอีกจุดแก่งเว่ยจีหรือจุดสร้างเขื่อนสาละวินตอนบน ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า ประกอบด้วยเขื่อน 2 แห่ง คือ เขื่อนสาละวินตอนบนตรงจุดเว่ยจีและเขื่อนสาละวินตอนล่างตรงจุดตากวิน

ตากวิน ติดท้ายหมู่บ้านท่าตาฝั่ง
เว่ยจี อยู่เหนือหมู่บ้านแม่ดึ๊ เข้าไปทางพรมแดนไทย-พม่า

จุดบวชป่าตรงแก่งเว่ยจี อยู่บนโขดหินใหญ่ ระหว่างล่องเรือ ทุกคนบนเรือจะสังเกตุเห็นป้ายผ้าเขียนเอาไว้ว่า “NO DAM” อยู่ริมผา ซึ่งเป็นจุดที่ถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งของสันเขื่อน เว่ยจี แปลว่า วังน้ำใหญ่ เป็นช่วงหน้าผาแคบ ยาว เป็นระยะทางนับ 10 กิโลเมตร ตรงจุดนี้น้ำสาละวินจะไหลเชี่ยวกรากรุนแรงเข้าสู่ประเทศพม่าที่หมู่บ้านตะกอท่า นักเดินเรือสัญจรในสายน้ำสาละวินต่างรู้กิตติศัพท์ของบริเวณนี้เป็นอย่างดี

ดังนั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก(น้ำโต)ผู้สัญจรทางน้ำจะหลีกเลี่ยง

โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสาละวิน เป็นโครงการความร่วมมือขนาดใหญ่ ระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย จีนและพม่า วางโครงร่างของแผนนโยบายผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 17 เขื่อน อยู่ในประเทศจีน 13 เขื่อน อีก 4 เขื่อนขวางลำน้ำสาละวินบนเส้นแบ่งพรมแดนไทย-พม่า

โครงการนี้ถูกทักท้วงอย่างกว้างขวาง ทั้งคนจากภายในและภายนอกประเทศของทั้ง 3 ประเทศ เพราะ 9 เขื่อนในประเทศจีน ขวางลำน้ำบนพื้นที่เขตอนุรักษ์ ชื่อว่า “3 แม่น้ำไหลเคียง” อันเป็นจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สำหรับ 4 เขื่อน บนแม่น้ำสาละวิน พรมแดนไทย-พม่า ได้แก่ เขื่อนท่าซางในเขตรัฐฉาน เขื่อนเว่ยจี เขื่อนตากวิน ระหว่างพรมแดนไทย-พม่าและเขื่อนฮัทจีในรัฐกะเหรี่ยง จะก่อให้เกิดการล้นเอ่อของสายน้ำเข้าท่วมพื้นที่ทำมาหากิน ชุมชนหมู่บ้านในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยขนานใหญ่

ในส่วนของประเทศไทย
แม่น้ำปายจะเอ่อเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนกินพื้นที่ราว 30,000 ไร่ ใน 18 หมู่บ้าน

...

พิธีบวชป่า เริ่มต้นขึ้นอย่างเรียบง่าย เสียงผู้ประกอบพิธีเชิญชวนให้แขกและชาวบ้านที่มาร่วมงาน กว่า 600 ชีวิต มาอยู่ในบริเวณพิธีกรรม ชาวบ้านที่มาร่วมงาน ณ. จุดบวชป่าเว่ยจี มาจากทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า เทียนขี้ผึ้งถูกจุดและเครื่องเซ่นไหว้เตรียมพร้อมอยู่แล้วในปะรำพิธี

เสียงสวดของผู้ประกอบพิธีกรรมดังกังวานก้องอาณาบริเวณ
“เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าสาละวิน ขอให้คุ้มครองพวกเรา ผู้มาร่วมงาน อัญเชิญท่านมารับเครื่องเซ่นเพื่อปกป้อง ผืนน้ำ ผืนฟ้า ขุนเขา หากใคร ผู้ใด คิดจะนำสิ่งใดมาขวางกั้นลำน้ำสาละวิน ขอประสบกับเหตุเภทภัย กระทำการไม่สำเร็จ เพื่อชีวิตของลูกหลานพวกเราจะได้อาศัยน้ำ อาศัยดิน อาศัยฟ้า เพื่อมีชีวิต”

หากก้าวพ้นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ใช่หรือไม่ว่า พิธีกรรมบวชป่า หมายถึง การหลอมรวมดวงใจของคนลุ่มน้ำสาละวินให้เป็นหนึ่ง ปกป้องธรรมชาติ ปกป้องพื้นที่ทางวัฒนธรรม พื้นที่แห่งชีวิตของพวกเขา

บนพื้นฐานของความศักดิ์สิทธิ์ คนจะไม่กล้ารุกล้ำ
บนพื้นฐานของความเป็นหนึ่ง คือ การหลอมรวมความแตกต่าง

ไม่มีพุทธ คริสต์ อิสลาม ผี กะเหรี่ยง ไทย พม่า มอญ อื่นๆ ทุกคน คือ ประชาชาติของโลกใบเดียวกัน

...

ขอบคุณพี่ๆ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติทุกคน
www.terraper.org

 

20080522 บริเวณจุดเว่ยจี
บริเวณจุดเว่ยจี ที่ตั้งสันเขื่อนสาละวินตอนบน

20080522 บริเวณจุดบวชป่า
บริเวณจุดบวชป่า เว่ยจี

20080522 ผู้ประกอบพิธีเริ่มพิธีกรรมบวชป่า
ผู้ประกอบพิธีเริ่มพิธีกรรมบวชป่า

20080522 ศาสนิกชนผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ศาสนิกชนผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา

20080522 ประนมมือด้วยความศรัทธายิ่ง
ประนมมือด้วยความศรัทธายิ่ง

20080522 ให้นมลูกระหว่างทำพิธี
ให้นมลูกระหว่างทำพิธี

20080522 ระหว่างเส้นทางเดินเรือ (1)

20080522 ระหว่างเส้นทางเดินเรือ (2)
ระหว่างเส้นทางเดินเรือ บางใบหน้าของชาวบ้านริมฝั่งน้ำสาละวิน

20080522 เหนือสายน้ำ
เหนือสายน้ำ สายแดดหลังก้อเมฆ ลอดออกมาเป็นลำ น่าตื่นตาหากเร้นลับอยู่ในที

20080522 มุมมองสุดท้ายริมฝั่งสาละวิน
มุมมองสุดท้ายริมฝั่งสาละวิน จากหมู่บ้านแม่สามแลบ

บล็อกของ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ใบไม้ปลิดออกจากขั้ว กลายเป็นสีขาวกลางผืนป่าสีเขียว
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
   ฮ่อมดง มองเห็นเป็นพุ่มๆ ริมทาง
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ดงน้อยเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักจะหยุดค้างแรม มีห้องน้ำที่ทำด้วยไม้ไผ่สานใบตองตึงต่ออย่างหยาบๆ ในห้องขุดลึกเป็นโพรงราวๆ 3 เมตร ปากหลุมเป็น 4 เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 1x1 เมตร มีไม้พาดระหว่างปากหลุมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปนั่งทำธุระทั้งหนักและเบานักเดินป่าสัก 10 คน มาถึงดงน้อยในเย็นวันนั้น อากาศขมุกขมัวทำให้เวลากลางวันสั้นกว่าเวลากลางคืน มืดสนิทภายใต้อ้อมกอดของขุนเขาและราวป่า ลูกหาบของคณะเดินป่าชุดนั้นเริ่มอุธทรณ์ เมื่อพวกเขาคิดว่า จะเดินไปอ่างสลุงในคืนนั้น เพื่อให้ทันดูทะเลหมอก“หากพวกคุณจะไป พวกคุณไปได้เลย ลูกหาบ(4 คน)จะพักที่นี่แล้วตามไปพรุ่งนี้”“อ่าว แล้วเราจะเอาอะไรกินคืนนี้” หนึ่งในนั้นเริ่ม…
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมยืนมอง ขาหมูอวบๆ สีน้ำตาลเข้มแช่อยู่ในน้ำพะโล้ที่ร้านพรเพ็ญ(ขาหมูเสวย เจ้าเก่า)มันนอนนิ่งๆ รอคนขายเอามีดมาปาดบางๆ โปะลงบนข้าวให้ลูกค้า ไอร้อนหน้าเตาพอจะช่วยให้เนื้อตัวผมเบาขึ้นจากความหนาวนอกร้านที่กัดกร่อนถึงกระดูก"ซื้อขาหมู 100 บาท ครับ" ผมบอกคนขายแกกำลังวุ่นวายอยู่กับงานขายตรงหน้า ลูกค้าเริ่มทยอยเข้ามาหนาตา แดดสายแหย่ตัวรอดตามช่องชายคา ผมคิดว่า เราน่าจะซื้อขาหมูขึ้นไปกินบนดอยหลวงเชียงดาว...
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมเจอ สาม พัน โบก โดยบังเอิญ คุณป้าจากสองคอน รีสอร์ท แกบอกว่าให้ขับรถไปสัก 3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย สุดสวนมะขามของอาจารย์เรืองประทิน นั่นแหละอาจารย์เรืองประทิน ชายร่างใหญ่ ผิวสีน้ำตาลไหม้ ผมหยักศกสีดำสนิท ทำให้แกดูขรึมๆ แต่รอยยิ้มที่ออกมาจากดวงตาเล็กๆ คู่นั้น บอกว่า แกเป็นคนมีไมตรี“นาย 2 คน มาจากที่ไหนกัน” แกทักด้วยน้ำเสียงแบบพ่อพิมพ์ภูธร“กรุงเทพฯ ครับ” เพื่อนผมบอก ก่อนจะเล่าที่มาที่ไปและมาที่นี่ได้ยังไง“โอ้ว นั่น คุณเดินลงไปสำรวจสิ” แกชี้ไปที่กลุ่มโขดหินเว้าแหว่ง ข้างหน้า
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทะเลแหวก ที่หาดนพรัตน์ธารา เสียงเครื่องเรือหางยาวออกจากฝั่ง พรายฟองทะเลสีขาวละเอียดแหวกออกเป็นสายตามความเร็วของเรือ ไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา ขอบฟ้ากับผืนน้ำจรดกันแทบเป็นเนื้อเดียวอาสาสมัครลงความเห็นว่า เราควรจะไปทะเลแหวกอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-อ่าวพระนาง หมู่เกาะพีพี หรือ "หาดคลองแห้ง" ตามคำเรียกเดิมของคนพื้นถิ่น ด้วยเหตุผลง่ายๆ ทางภูมิศาสตร์ช่วงน้ำลง น้ำคลองซึ่งไหลลงมาจากภูเขาทางด้านเหนือจะแห้งขอด ทรายขาวละเอียดปนเปลือกหอยยาวเหยียดจะโผล่เหนือผืนน้ำ ทอดยาวลงทะเล ก่อนจะบรรจบกับเกาะเขาปากคลอง เข้ากันได้ดีกับทิวสนริมฝั่ง กลายเป็นภูมิทัศน์ชายหาดแปลกตาสำหรับนักท่องเที่ยว ไกลออกไป…