- ทีมข่าวความมั่นคง -
หลังบรรยากาศเฉลิมฉลองคริสมาสต์เพียง 2 วัน และอีกเพียงไม่กี่วันก็จะเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่สำหรับชาวปาเลสไตน์ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2551 มันไม่ใช่วันแห่งความสุขรื่นรมย์เหมือนที่อื่นๆ แต่กลับเป็นวันที่แสนเจ็บปวด เลือดไหลรินและน้ำตาไหลนอง ในวันนั้นอิสราเอลลงมือส่งหน่วยปฏิบัติการทางอากาศเข้าโจมตีที่ทำการรัฐบาลฮามาส รวมไปถึงบ้านเรือนของผลเรือน ปฏิบัติดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 800 ราย
เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในดินแดนปาเลสไตน์แต่มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าท่ามกลางปัจจัยและบริบทแวดล้อมที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ในขณะที่ความสูญเสียกำลังดำเนินไปเรื่อยๆ แต่สำหรับสังคมไทยดูจะห่างเหินจากการรับรู้ ‘หัวไม้' จึงขอทำหน้าที่ทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาสักครั้งเพื่อให้มองเห็นภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ปาเลสไตน์
ชาวปาเลสไตน์ในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากชาวปาเลสไตน์ดั้งเดิมผสมกับชาวอาหรับ ชนเผ่าคะนาคัน และชนเผ่าอื่นๆที่มีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณปัจจุบัน ส่วนอิสราเอลได้อพยพเข้ามาในดินแดนดังกล่าวคริสศตวรรษที่ 12
แต่ความขัดแย้งในดินแดนปาเลสไตน์เกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่ออิสราเอลแสดงความเป็นเจ้าของแผ่นดินดังกล่าวโดยการยกข้อความจากคัมภีร์ไบเบิ้ลว่า "ในวันพระยะโฮวาร์ได้ทำสัญญากับอับราฮามไว้ว่า เราได้มอบดินแผ่นดินนั้นไว้แก่พงศ์พันธ์ของเจ้าตั้งแต่แม่น้ำอายฆุบโตไปจนถึงแม่น้ำยูเฟรติส" และตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหักล้างความเชื่อดังกล่าวของชาวยิวโดย ดร.อัลเฟรด กีโยม (Dr.Alfred Guillaume) ศาสตราจารย์วิชาว่าด้วยพระคัมภีร์ไบเบิล มหาวิทยาลัยลอนดอน ว่า "โดยมากมักจะเข้าใจกันว่าคำสัญญานี้ให้ไว้กับพวกยิวเท่านั้น แต่พระคัมภีร์ไบเบิลหาได้ระบุเช่นนั้นไม่ เพราะพระคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า "แก่พงศ์พันธ์ของเจ้า" ดังนั้นคำว่าพงศ์พันธ์นี้ย่อมรวมชาติอาหรับด้วย ไม่ว่าจะเป็นพวกนับถืออิสลามหรือคริสต์ก็ตาม เพราะชนชาติอาหรับนั้นเป็นพวกสืบเชื้อสายมาจากอิสมาอิลซึ่งเป็นบุตรของอับราฮามเช่นกัน"
ยิว/อิสราเอล
รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม นักรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยอธิบายว่า ยิวมีสองแบบคือที่อยู่ร่วมกันกับชาวปาเลสไตน์ได้ กับยิวยุโรปหรือไซออนิสต์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกระแสสงสารชาวยิวที่ถูกกระทำจากนาซีทำให้ต้องหาพื้นที่ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งเคยเสนอทั้งที่ซูดาน อูกันดา ศรีลังกา แต่ไม่มีเหตุผลรองรับ ในที่สุดจึงย้อนกลับไปใช้เหตุผล ‘ดินแดนพันธสัญญา' ในไบเบิล และพยายามครอบครองดินแดนปาเลสไตน์
ทั้งนี้ ใน ค.ศ. 1897 ชาวยิวในสหรัฐและยุโรปได้รวมตัวกันตั้งองค์การยิวสากล หรือไซออนิสต์ (Zionist) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งคนยิวกลับมาตั้งถิ่นฐานและสร้างชาติยิวขึ้นใหม่ในดินแดนปาเลสไตน์
ปมขัดแย้งดินแดนปาเลสไตน์
ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ปาเลสไตน์เป็นดินแดนภายใต้จักรวรรดิออตโตมันเติร์ก ภายหลังประเทศอาหรับได้ทำการต่อสู้และได้สนับสนุนประเทศพันธมิตรอังกฤษซึ่งสัญญาว่าจะให้เอกราชเมื่อสงครามสิ้นสุด
แต่สุดท้าย เมื่อสงครามสิ้นสุดลง อังกฤษได้ออกประกาศบัลโฟร์อนุมัติให้ชาวยิวอพยพมาสู่ดินแดนปาเลสไตน์ ใน ค.ศ.1922 สันนิบาตชาติได้ยกปาเลสไตน์ให้อยู่ในอานัสอังกฤษ และภายใต้ขบวนการไซออนิสต์สากล อังกฤษได้ออกกฎหมายให้มีการอพยพชาวยิวเข้าไปในปาเลสไตน์ได้ปีละ 16,500 คน และให้ชาวยิวได้คุมกิจการไฟฟ้า ชลประธาน รวมทั้งใช้สินแร่
นอกจากนี้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1918 มีการจัดตั้งคณะกรรมการไซออนิสต์ในปาเลสไตน์ขึ้น โดยระบุว่าเพื่อเป็นตัวแทนของชาวยิวทั่วโลก ต่อมาองค์กรนี้ได้กลายเป็นรัฐบาลคู่กับรัฐบาลอังกฤษ มีสำนักงานใหญ่ที่ยุโรปและอเมริกา เป็นผู้พิจารณาเรื่องชาวยิว อพยพ ตั้งระบบการศึกษาและสุขาภิบาล และมีการจัดตั้งกองทัพใต้ดิน ภายหลังได้รับการสนับสนุนอาวุธจากสหรัฐจนอังกฤษไม่สามารถดูแลปาเลสไตน์ได้และถอนตัวไปใน ค.ศ.1948 และส่งมอบการดูแลปาเลสไตน์ให้องค์การสหประชาชาติ
รัฐบาลอเมริกาได้เบิกทางเพื่อสร้างรัฐยิวในแผ่นดินปาเลสไตน์ด้วยการให้แบ่งดินแดนเป็น 2 ส่วน คือรัฐปาเลสไตน์และอิสราเอล ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 รัฐอิสราเอลถูกจัดตั้งขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ ในขณะที่รัฐปาเลสไตน์ไม่เคยเกิดขึ้นจริง การเกิดขึ้นของรัฐอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาติอาหรับอย่างมากและทำให้เกิดการสู้รบครั้งสำคัญ 6 ครั้ง
1.สงครามอาหรับ-อิสราเอล ค.ศ.1948 เกิดขึ้นภายหลังการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ต่อต้านการตั้งรัฐอิสราเอลในปี 1947 สงครามครั้งแรกนี้ อิสราเอลชนะเด็ดขาดและขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากแผ่นดินที่เคยถือครอง อิสราเอลได้ครองพื้นที่ 78% ในขณะที่มีผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ถึง 750,000 คน
2.กรณีคลองสุเอซ ค.ศ.1956 อิสราเอล อังกฤษ ฝรั่งเศส ร่วมยกทัพไปยึดคืนคลองสุเอซจากอียิปต์ ปลายเดือนตุลาคม 1956 อิสราเอลบุกเข้าไปในแหลมไซนาย ประชิดคลองสุเอซ ตามด้วยทัพอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ปฏิบัติการล้มเหลว อิสราเอล อังกฤษ ฝรั่งเศสต้องถอนทหารจากอียิปต์ทั้งหมด
3. สงคราม 6 วัน ค.ศ. 1967 (5-10 มิถุนายน 1967) อิสราเอลรบชนะกองทัพอาหรับจากหลายประเทศในเวลา 6 วัน ยึดพื้นที่เขตเวสต์แบงก์ เยรูซาเล็มตะวันออกจากจอร์แดน ฉนวนกาซ่า แหลมไซนาย จากอียิปต์ (คืนให้แก่อียิปต์ในปี 1974) และที่ราบสูงโกลันจากซีเรีย
4. ค.ศ.1973 อียิปต์และซีเรียเข้าโจมตีอิสราเอลเพื่อยึดเอาดินแดนคืน หรือเรียกสงครามยม-คิบปูร์ (Yom Kippur War ยม คิบปูร์ เป็นเทศกาลวันหยุดที่สำคัญที่สุดของชาวยิว เป็นวันที่พระเจ้าประทานพรเพื่อให้ชาวยิวได้ชำระบาปออกจากจิตวิญญาณ จะไม่มีการทำงานในวันนั้น) หรือสงครามเดือนตุลาคม การรบที่อาหรับเป็นฝ่ายโจมตีก่อน อิสราเอลตีโต้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก ขณะที่กลุ่มอาหรับ-มุสลิมใช้น้ำมันเป็นอาวุธครั้งแรก โดยลดการผลิต และไม่ส่งน้ำมันให้แก่สหรัฐ และเนเธอร์แลนด์
5. ค.ศ. 1982 อิสราเอลรุกเข้าไปในเลบานอน ยึดกรุงเบรุตได้และขับไล่ขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ออกจากเลบานอน แต่ไม่สามารถยึดครองพื้นที่ได้นาน ในที่สุดอิสราเอลต้องถอนทหารออก
6. การลุกขึ้นสู้ครั้งที่สองของชาวปาเลสไตน์ ค.ศ. 2000 หลังจากนายแอเรียน ชารอน นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเดินทางไปเยือนโบสถ์ภูเขา ซึ่งรวมเอาสุเหร่า อัล-อักซาในศาสนาอิสลาม การต่อสู้ยังคงยืดเยื้อถึงปัจจุบัน บางคนวิจารณ์ว่าหลังจากที่อิสราเอลบุกเข้าไปในตอนใต้ของเลบานอนและเปิดปฏิบัติการกวาดล้างในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ โดยมุ่งหวังให้ประชาคมปาเลสไตน์พังลงนั้น อาจก่อผลตรงข้าม นั่นคือ กลายเป็นชนวนให้เกิดการลุกขึ้นสู่ของชาวปาเลสไตน์ครั้งที่สาม และจะเป็นการลุกขึ้นสู้แบบใหม่ที่มีการก่อการรุนแรงแบบ อัล กออิดะห์ (บทความ Third Intifada Coming ใน Al-Ahram Weekly)
การลุกขึ้นสู้ของปาเลสไตน์
หลังยึดครองโดยอิสราเอลราวไป 2 ทศวรรษ ก็เกิดการลุกฮือที่เรียกว่า สงครามก้อนหิน (อินติฟาเฎาะหฺ) 2 ครั้ง การลุกขึ้นสู้ครั้งแรกของชาวปาเลสไตน์เกิดขึ้นในปลายปี 1987 เนื่องจากชาวปาเลสไตน์ที่พำนักในเวสต์แบงก์รวมทั้งฉนวนกาซารู้สึกสิ้นหวังในอนาคตของตนที่ต้องทนทุกข์อย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง และโลกรวมทั้งโลกอาหรับก็ดูเหมือนชินชากับสถานการณ์
การลุกขึ้นสู้นี้กล่าวกันว่าดำเนินอย่างเป็นไปเองของชาวปาเลสไตน์ที่นำโดยสภาชุมชน ส่วนขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ที่ต้องลี้ภัยไปตั้งศูนย์บัญชาการที่ตูนีเซียได้มาเข้าร่วมภายหลัง การลุกขึ้นสู้นี้ชาวปาเลสไตน์ที่ปราศจากอาวุธใช้เพียงก้อนหินขวางปารถถังและยานพานหะของทหารอิสราเอล ไม่ใช่การสู้รบทางทหารและก็ไม่ใช่การก่อการร้าย อิสราเอลที่มีความเหนือกว่าทางทหารสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยง่าย
อย่างไรก็ตาม ค.ศ.1987 สหประชาชาติได้ประณามการกระทำของอิสราเอลอย่างชัดเจน ค.ศ.1990 การลุกขึ้นสู้นี้ได้จางคลายไป แต่การใช้มาตรการทางทหารในการปราบปรามสงครามก้อนหินทำให้อิสราเอลตกเป็นฝ่ายรับทางการเมือง มีมิตรและผู้เห็นอกเห็นใจลดลง และนำความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่ออิสราเอลไม่น้อยและทำให้ความเชื่อมั่นในรัฐปาเลสไตน์กลับมาอีกครั้ง
ส่วนการลุกขึ้นสู้ของชาวปาเลสไตน์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นใน ค.ศ. 2000 จากกรณีดังที่กล่าวไปแล้วในสงครามครั้งสำคัญ
กลุ่มฮามาส
ฮามาส เป็นจำเลยสำคัญที่อิสราเอลยกมาเป็นข้ออ้างในการเข้าโจมตีกาซ่าครั้งล่าสุดในวันที่ 27 ธันวาคม 2551 โดยระบุว่ากลุ่มฮามาสยิงจรวดและปืนครกเข้าไปในฝั่งอิสราเอลทำให้ต้องตอบโต้เพื่อเป็นการหยุดยั้งฝั่งกาซ่าไม่ให้ทำร้ายคนอิสราเอล
ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะกลุ่มฮามาสถูกประทับตราในสังคมโลกอยู่แล้วว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย' แต่สำหรับชาวปาเลสไตน์ ฮามาสอาจถูกมองในทางตรงกันข้าม คือเป็นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ในการต่อสู้กับอิสราเอล ฮามาสมีจุดยืนที่ชัดเจนที่ไม่ยอมรับสถานะของรัฐบาลอิสราเอล
คำว่า ฮามาส หรือ ฮะมาส (แปลเป็นไทยว่า ขวัญ หรือกำลังใจ) เป็นอักษรย่อของคำว่า ฮะรอกะหฺ (ฮ) มุกอวะมะหฺ (ม) อิสลามียะหฺ (อา+ส) ชื่อเต็มแปลว่า ‘ขบวนการอิสลามเพื่อการต่อต้าน'
องค์กรฮามาสก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1928 โดยหะซัน อัลบันนา ทรงพลังอย่างยิ่งในการจุดประกาย Political Islam และกระแสการฟื้นฟูอิสลาม แต่การก่อตั้งอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในวันที่ 8 ธ.ค.1987 โดยมี เชคอะห์มัด ยาซีน เป็นผู้นำคนแรก ฮามาสได้เข้าเป็นเครือข่ายของขบวนการภราดรมุสลิมอาหรับ มีนโยบายในการเลี่ยนแปลงสังคมมุสลิมในปาเลสไตน์ให้กลับไปมีความเคร่งครัดและยึดมั่นในหลักการอิสลาม
เป้าหมายสุดยอดของฮามาสคือการขับไล่อิสราเอลออกจากดินแดนปาเลสไตน์พร้อมสถาปนารัฐปาเลสไตน์ที่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นธรรมนูญในการปกครอง ฮามาสได้รับความนิยมนับถืออย่างมากทั่วปาเลสไตน์และได้รับการพิสูจน์จากการชนะในการเลือกตั้งเข้าสู่สภาของปาเลสไตน์ในปี 2006
ฮามาสสร้างความนิยมในหมู่ชาวปาเลสไตน์ที่ยากจนด้วยการจัดหาความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์ทางศาสนา และที่แตกต่างจากกระบวนการทางการเมืองปาเลสไตน์อื่น ๆ คือ ฮามาสไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) และต่อต้านการเซ็นสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล แม้จะเคยทำสัญญาพักรบกับอิสราเอลหลายครั้ง เชื่อกันว่าเงินทุนในการดำเนินการของกลุ่มฮามาสได้มาจากการบริจาคของชาวปาเลสไตน์ทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุนจากประเทศอาหรับอื่นๆ และรัฐบาลอิหร่าน
ฮามาสมีหน่วยรบอิซซุดดีน อัลก็อซซาม ซึ่งเชื่อกันว่ามีสมาชิกหลายพันคน เคยทำการสู้รบกับอิสราเอลมาหลายครั้ง ผู้นำคนสำคัญหลายต่อหลายคนของกลุ่ม ถูกลอบสังหาร ยาซีนถูกลอบสังหารในปี 2004 และไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น อับดุล อาซิซ อัลร่อนตีสีย์ ซึ่งเป็นผู้นำฮามาสที่ยึดครองกาซ่าได้อย่างเหนียวแน่นก็ถูกสังหารไปอีกคนหนึ่ง
ฮามาสได้สร้างความน่านับถือโดยสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ในฉนวนกาซาได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับฮามาสมาก่อน เช่น กลุ่มคริสเตียนปาเลสไตน์ ฮามาสเริ่มปฏิบัติการระเบิดพลีชีพกับอิสราเอลในปี 1994
ในปี 2000 การเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ล้มเหลวลงอีกครั้งหนี่ง ฮามาสได้เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆของปาเลสไตน์ ทำการลุกฮือขึ้นต่อต้านอิสราเอลเป็นครั้งที่ 2โดยมีการรณรงค์ต่อต้านจากพลเรือนปาเลสไตน์ในเขตยึดครอง และการเพิ่มขึ้นของปฏิบัติการระเบิดพลีชีพในอิสราเอลเพื่อแสดงการต่อต้านการที่อิสราเอลโจมตีเวสต์แบ๊งค์และฉนวนกาซา
กลุ่มฮามาสต่อต้านการประชุมสันติภาพที่กรุงออสโล ในปี 1993 และได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งในปาเลสไตน์ เพราะเห็นว่าเป็นผลมาจากการประชุมสันติภาพครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ฮามาสตัดสินใจส่งสมาชิกเข้าร่วมในการเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาปาเลสไตน์ในปี 2006 และได้รับการสนับสนุนจากชาวปาเลสไตน์โดยสามารถเอาชนะกลุ่มฟาตะฮฺด้วยคำมั่นที่จะต่อต้านการคอรัปชั่นและการยึดครองของอิสราเอล
สหรัฐ ประเทศในสหภาพยุโรป และอิสราเอล ได้ตราหน้าว่าฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย และไม่ยอมรับรองผลการเลือกตั้ง จากนั้นปาเลสไตน์ถูกยัดเยียดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างหนัก กลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตกบังคับให้ฮามาสรับรองรัฐอิสราเอล ละทิ้งอุดมการณ์ต่อสู้ด้วยอาวุธ และยอมรับการตกลงสันติภาพอื่นๆ ระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอล
มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาส กับกลุ่มฟาตะฮฺที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้มีอำนาจในปาเลสไตน์ที่ได้รับการรับรองเป็นทางการต้องตกที่นั่งลำบาก เพราะถูกตัดความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกไปด้วย
สมาชิกที่สนับสนุนฮามาส และฟาตะฮฺต่อสู้กันอยู่เนือง ๆ ทั้งในเวสต์แบ๊งค์ และในกาซา เพื่อช่วงชิงการปกครองพื้นที่ เมื่อต้นปี 2007 ทั้ง 2 กลุ่มตกลงประนีประนอมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วม ทั้งนี้เพื่อต้องการรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ
เดือนมิถุนายน ปี 2007 ประธานาธิบดีมะฮฺมูด อับบาส และกลุ่มฟาตะฮฺ ร่วมมือกันยึดอำนาจในเขตเวสต์แบ๊งค์ ทำให้การดิ้นรนขึ้นสู่การเป็นผู้ปกครองดินแดนปาเลสไตน์ของกลุ่มฮามาสต้องยุติลง อิสราเอลได้เพ่งเล็งกาซาเพิ่มขึ้นโดยการเพิ่มกำลังทหาร และเพิ่มมาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการตัดไฟฟ้า และเริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2551 โดยอ้างว่าเพื่อยุติไม่ให้ฮามาสยิงจรวดเข้ามาในดินแดนอิสราเอล
ข้อมูลอ้างอิง
‘ปาเลสไตน์แผ่นดินมิคสัญญี' เอกสารประกอบการเสวนา สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปาเลสไตน์ 9 ม.ค. 51 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อเท็จจริงของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล (ยิว) และปาเลสไตน์ .เอกสารประกอบการเสวนา สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปาเลสไตน์ 9 ม.ค. 51 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการตะวันออกกลางศึกษา.รายงานการประมวลสรุป วิเคราะห์และสังเคราะห์ เหตุการณ์และแนวโน้มด้านต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในรอบเดือน กันยายน 2549 .
น้าชาติ ประชาชื่น.สงครามยิว-อาหรับ. ข่าวสดปีที่ 17ฉบับที่ 6011 15 พฤษภาคม, 2550.