ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ‘นิวส์ออฟเดอะเวิลด์' ของอังกฤษ มีผู้เข้าชมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากที่เคยมีคนแค่ ‘หลักพัน' คลิกเข้ามาอ่านข่าวประเภทสีสันบันเทิงซุบซิบดารา แต่ทันทีที่สื่อกระแสหลักอย่างสำนักข่าวบีบีซี เอพี รอยเตอร์ หรือไทม์ของอังกฤษ รายงานว่าเว็บนิวส์ออฟเดอะเวิลด์ มีการเผยแพร่ ‘คลิปหลุด' ของ ‘เจ้าชายแฮรี่' รัชทายาทลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ยอดผู้เข้าชมก็พุ่งแตะหลัก 50,000 คนภายในเวลาไม่กี่วัน
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือการถกเถียงอย่างจริงจังในชุมชนพลเมืองอินเตอร์เน็ต ว่าด้วยเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ, สิทธิส่วนบุคคล, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ
สาเหตุสืบเนื่องมาจากเจ้าชายแฮรี่ทรงบันทึกวิดีโอประจำวันไว้ขณะทรงเข้ารับการฝึกอบรมภาคสนามที่อัฟกานิสถานในฐานะนักเรียนนายร้อยแห่งโรงเรียนแซนด์เฮิร์สต์เมื่อปี 2549 พระองค์ทรงหลุดปากเรียกนักเรียนนายร้อยเชื้อสายเอเชียที่เป็นพระสหายร่วมชั้นว่า ‘ปากี' และบอกกับพระสหายอีกคนหนึ่งซึ่งแต่งชุดพรางและมีผ้าโพกหัวว่า ดูเหมือน ‘พวกหัวผ้าขี้ริ้ว' หรือ ‘raghead'
ทั้ง 2 คำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของเจ้าชายเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างอังกฤษ (ซึ่งเป็นต้นตำรับแห่งการล่าอาณานิคม) รวมถึงสังคมอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำเรียกที่แฝงนัยเชิงเหมารวม ถึงขั้นที่หลายคนมองว่าเป็น ‘การเหยียดเชื้อชาติ' ที่ไม่อาจยอมรับได้
วิดีโอดังกล่าวหลุดมาถึงมือกอง บ.ก.หนังสือพิมพ์นิวส์ออฟเดอะเวิลด์ได้อย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ที่สำคัญคือเจ้าชายแฮรี่ทรงตกเป็นเป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ‘ความไม่เหมาะสม' และกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองระหว่างประเทศไปเรียบร้อยแล้ว
เป็นแค่เรื่องล้อเล่น?
วันเดียวกับที่คลิปวิดีโอของเจ้าชายแฮรี่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชน ทางสำนักพระราชวังของอังกฤษก็ออกแถลงการณ์ ‘แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง' ต่อประชาชนผู้อาจได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ อันสืบเนื่องมาจาก ‘พระดำรัสที่ไม่เหมาะสม' ของเจ้าชาย แต่เนื้อหาที่ทิ้งท้ายในแถลงการณ์ระบุว่า วิดีโอที่หลุดออกมาถูกถ่ายไว้ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน และอันที่จริง...เจ้าชายทรงใช้ถ้อยคำที่ว่าเรียกพระสหายที่สนิทสนมกับในกองทัพเท่านั้น หาได้เป็นการ ‘เหยียดเชื้อชาติ' อย่างใดไม่
ผู้ออกความเห็นท้ายข่าวในเว็บไซต์นิวส์ออฟเดอะเวิลด์จำนวนมากเห็นด้วยกับคำแถลงการณ์ของสำนักพระราชวัง และยืนยันว่า ‘ปากี' ไม่ใช่คำที่เลวร้ายอะไร และแทบจะไม่ต่างอะไรจากการตั้งฉายาไว้เรียกหยอกล้อกันในหมู่เพื่อนฝูง ซึ่งจะว่าไปคำว่า ‘ปากี' อาจไม่ต่างจากคำว่า ‘ลาว' ที่คนไทยบางคนชอบใช้เป็นคำวิเศษณ์ในความหมายเชิงกดทับว่าไม่ดี ไม่สวย ไม่เด่น ไม่ทันสมัย ฯลฯ แต่ถ้าคิดถึงใจ ‘คนเชื้อชาติลาว' ที่ได้ยินได้ฟังคำนี้บ่อยๆ ในสังคมที่นิยมความเป็น ‘ไทย' คงเป็นคำที่ไม่ทำให้รู้สึกดีสักเท่าไหร่
มิหนำซ้ำคำว่า ‘ปากี' ของเจ้าชายแฮรี่อาจยิ่งเลวร้ายกว่า เพราะกลุ่มขวาจัดที่สนับสนุนแนวคิดว่าคนผิวขาวคือเผ่าพันธุ์สูงส่งกว่าชนชาติอื่นๆ ในอังกฤษยุคทศวรรษที่ 70 เป็นผู้เริ่มต้นใช้คำว่า ‘ปากี' เพื่อเรียกทั้งชาวปากีสถานและชาวอินเดียที่อพยพมาตั้งรกรากในอังกฤษ ทั้งยังมีการก่อเหตุทำร้ายร่างกายชาวปากีสถาน หลายคดี จนเป็นที่เรียกว่า Paki Bashing (1)
ส่วนคนที่ ‘จริงจัง' กับคำ ‘ปากี' ของเจ้าชายก็มีอยู่จริงๆ เขาคือ ‘อิฟทิการ์ ราจา' พลเมืองอังกฤษ เชื้อสายปากีสถาน ผู้เป็นลุงของ ‘อาเหม็ด ราซา ข่าน' นักเรียนนายร้อยที่เจ้าชายทรงเรียกว่า ‘เพื่อนชาวปากีของเรา' ออกมาบอกเล่าความรู้สึกของคนที่ถูกตั้งฉายาเหมารวมว่า
"พวกเราต่างคาดหวังสิ่งที่ดีกว่านี้จากสมาชิกราชวงศ์ของเรา ซึ่งพวกเราต้องจ่ายเงินเป็นล้านล้านปอนด์สำหรับการฝึกอบรมและการศึกษา" (2)
แม้แต่นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ยังออกมากล่าวว่า การใช้คำ ‘ปากี' เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และกองทัพอังกฤษก็พยายามแบ่งรับแบ่งสู้ด้วยการประกาศว่าการเหยียดเชื้อชาตในกองทัพจะต้องถูกกำจัดให้หมดไป และจะทำเรื่องสอบสวนข้อเท็จจริงในคลิปวิดีโอฉาวของเจ้าชายโดยเร็วที่สุด (3)
ลึกแต่ไม่ลับกับเจ้าชาย
ด้านนิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ ได้เรียงลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับเจ้าชายแฮรี่ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘นี่ไม่ใช่ครั้งแรก' ที่การปฏิบัติพระองค์ของเจ้าชายกลายเป็นประเด็นถกเถียงของคนหมู่มากว่า ‘เหมาะสม' หรือ ‘ไม่เหมาะสม' อย่างไร
- เริ่มจากปี 2545 ครูในโรงเรียนอีตัน (โรงเรียนสำหรับ ‘ชนชั้นนำของอังกฤษ' และเป็นโรงเรียนที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นศิษย์เก่าด้วย) รายหนึ่งกล่าวหาว่าเจ้าชายแฮรี่ ‘ลอกข้อสอบ' แต่ผลการสืบสวนชี้ว่าเจ้าชายทรงปราศจากความผิดในทุกข้อกล่าวหา และครูคนนั้นก็ถูกไล่ออกไปในที่สุด
- เจ้าชายแฮรี่ทรงทดลองสูบกัญชาเมื่อทรงมีพระชนมายุ 16 ชันษา แต่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระบิดา ทรงจับได้ จึงถูกส่งไปบำบัดกับจิตแพทย์โดยใช้เวลายาวนานตลอดยามบ่ายวันหนึ่ง
- ในปี 2548 ทรงเสด็จไปงานเลี้ยงของพระสหายซึ่งตั้งเงื่อนไขว่าผู้มาร่วมงานต้องสวมชุดในยุคอาณานิคมหรือชุดชนพื้นเมือง แต่เจ้าชายแฮรี่กลับทรงชุดทหารพร้อมปลอกแขนที่มีสัญลักษณ์สวัสดิกะของนาซีเยอรมัน และหนังสือพิมพ์เดอะซันของอังกฤษนำภาพมาเผยแพร่ลงหน้าหนึ่ง กลายเป็นที่โจษจันไปทั่วโลก เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ลืมความโหดร้ายของฮิตเลอร์และกองทัพนาซี ผลก็คือสำนักราชวังออกแถลงการณ์ในนามเจ้าชาย เพื่อแสดงความเสียพระทัยต่อความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
- ต่อจากเหตุการณ์ชุดนาซีไม่นาน เจ้าชายทรงเมามายและชกต่อยกับช่างภาพปาปาราซซี่ที่ตามถ่ายภาพพระองค์ขณะรายล้อมด้วยสาวๆ ในไนท์คลับ ผลก็คือช่างภาพกลายเป็นข่าวเสียเอง ส่วนเจ้าชายโดนกล้องทุบจนพระโอษฐ์แตก
อย่างไรก็ตาม สื่อหลายสำนักยืนยันตรงกันว่านับตั้งแต่จบการศึกษาจากแซนด์เฮิร์ส เจ้าชายแฮรี่ทรงมุงานด้านการกุศลอย่างจริงจังร่วมกับเจ้าชายวิลเลี่ยม พระเชษฐา รัชทายาทลำดับที่ 2 ของราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงริเริ่มโครงการช่วยเหลือเด็กกำพร้าในเลโซโทและประเทศในแถบแอฟริการ่วมกัน
ที่สำคัญ ช่วงท้ายๆ ของวิดีโอที่นิวส์ออฟเดอะเวิลด์นำมาเผยแพร่ แสดงให้เห็นภาพเจ้าชายแฮรี่ทรงใช้พระชิวหาเลียใบหน้าของนายทหารนายหนึ่ง ทำให้เกย์ชาวอเมริกันออกมาชื่นชมในความเปิดเผยของพระองค์ พร้อมระบุว่าถ้าชายแท้ในสังคมเปิดใจให้กว้างและรู้สึกสบายๆ กับการล้อเล่นกับเพื่อนเพศเดียวกัน จะช่วยให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ!! (4)
‘สื่อ' เสี้ยม?
ในบรรดาความเห็นของผู้ชมวิดีโอเจ้าชายแฮรี่พร้อมกับอ่านรายงานในนิวส์ออฟเดอะเวิลด์ หลายคนตำหนิว่าหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ที่เป็นต้นตอเผยแพร่ต่างหากที่มีพฤติกรรม ‘น่ารังเกียจ' เพราะนำเรื่องส่วนตัวของเจ้าชายมาขายเป็นข่าวเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยหยิบเอาประเด็นเรื่องเชื้อชาติมาใช้เป็นข้ออ้างในการนำเสนอ ทั้งที่เจตนาของเจ้าชายเพียงแค่ต้องการล้อเล่นเท่านั้น
กระแสโจมตีสื่อที่นำเสนอวิดีโอเจ้าชายกลายเป็นหมัดสวนกลับมาให้ ‘สื่อมวลชน' หลายฝ่ายหนาวๆ ร้อนๆ เพราะนอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแล้ว ยังหนีไม่พ้นข้อหา ‘เสี้ยม' หรือปลุกปั่นยุยงให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพราะชาวปากีสถาน (ที่อยู่ประเทศปากีสถานจริง) ได้ยินข่าวก็ออกมาเดินขบวนประท้วงด้วยความไม่พอใจ
เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพที่รับผิดชอบเรื่องการจัดหาบุคลากรก็ออกปากว่าคลิปวิดีโอของเจ้าชายไม่เป็นผลดีต่อกองทัพ เพราะอาจทำให้ชาวอังกฤษเชื้อสายเอเชียไม่อยากเข้าร่วมกองทัพ และยังมีการตำหนิสื่อมวลชนที่เสนอข่าวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาด้วย (5)
หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ที่เล่นแต่ข่าวเบาๆ ฉาวๆ และบันเทิง ต้นกำเนิดวัฒนธรรมกัด-จิก-ทึ้ง-และปาปาราซซี่จึงถูกชี้นิ้วกล่าวโทษว่าคำนึงถึงการขายข่าวมากเกินไป แต่ ‘ไบรอัน รีด' คอลัมนิสต์ของ ‘เดอะ มิเรอร์' หนึ่งในบรรดาหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของอังกฤษ ได้เขียนบทความชื่อ "Just no excuse for aristro-brat Prince Harry" ตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าสื่อยุยง (6)
เนื้อหาในบทความของรีดเท้าความถึงกรณีพิพาทระหว่างประเทศอันสืบเนื่องจากคำพูดของ ‘เจด กู๊ดดี้' นักแสดงสาวชาวอังกฤษที่เข้าร่วมแข่งขันในรายการบิ๊กบราเธอร์เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน ซึ่งหลุดปากใช้คำว่า ‘โรตี' หรือ ‘Poppadom' เรียกผู้แข่งขันอีกรายหนึ่งซึ่งมาจากอินเดีย
กระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและกระแสต่อต้านกู๊ดดี้ในขณะนั้นรุนแรงถึงขนาดที่กอร์ดอน บราวน์ ต้องออกมาขอโทษชาวอินเดีย ขณะที่สังคมอังกฤษเองก็พากันประณามการกระทำของกู๊ดดี้และแปะฉลากเป็นการถาวรว่าเธอเป็นพวกจิตใจคับแคบเหยียดเชื้อชาติ
พร้อมกันนี้ รีดได้เตือนความจำของผู้ที่ออกมาแก้ต่างให้เจ้าชายว่าคำเรียกพระสหายว่า ‘ปากี' อาจเป็นแค่เรื่องขำๆ แต่คำว่า ‘หัวผ้าขี้ริ้ว' หรือ raghead ซึ่งสำนักพระราชวังออกมาแก้ต่างว่าเจ้าชายทรงใช้คำนี้เพื่อสื่อความหมายถึง ‘นักรบของกองกำลังตาลีบัน' ซึ่งถือเป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่ raghead เป็นคำที่มีนัยยะเชิงดูหมิ่นชาวอาหรับทุกชาติที่โพกหัวตามความเชื่อทางศาสนา รีดจึงตั้งคำถามว่าเหตุไฉนคนอังกฤษจึงเดือดร้อนจะเป็นจะตายกับการกระทำของกู๊ดดี้ แต่พร้อมที่จะให้อภัยต่อการกระทำของเจ้าชายอย่างง่ายดาย และสรุปตบท้ายว่า ‘อภิสิทธิ์เหนือระดับของชนชั้นสูงยังคงอยู่ในสังคมอังกฤษเสมอ'
‘เสรีภาพ' ในพรมแดนทดลอง
วิวาทะเรื่องเจ้าชายอังกฤษและการใช้ถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติ กลายเป็นประเด็นที่ประชาชนอังกฤษ รวมถึงพลเมืองในประเทศที่ถูกพาดพิง และพลเมืองในโลกไซเบอร์หลากหลายสัญชาติ สามารถร่วมถกเถียงกันได้อย่างดุเดือดผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ผู้ร่วมถกเถียงบางส่วนต้องการปกป้องเจ้าชายที่พวกเขานิยมชมชอบ โดยให้เหตุผลว่าพระองค์ทรงมีเลือดเนื้อเช่นปุถุชนทั่วไป จึงเห็นต่างจากคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งคาดหวังให้เจ้าชายของพวกเขาเป็นตัวแทนและเป็นหน้าเป็นตาของราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งควรจะต้องดำรงไว้ซึ่งความเหมาะสมและสง่างามในทุกเวลา ส่วนคนอีกบางกลุ่มมองว่า ‘การเหยียดเชื้อชาติ' ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่ลับหรือที่แจ้ง การใช้ถ้อยคำในการเรียกผู้คนที่แตกต่างจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องระมัดระวัง
ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันที่บ้านเมืองไทยของเรา องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกลับตั้งคำถามว่า "หรือประเทศไทยจะเป็นศัตรูรายใหม่ของสื่ออินเตอร์เน็ต" โดยอ้างถึงกรณีที่ ‘ใจ อึ๊งภากรณ์' อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกฟ้องร้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีการพาดพิงถึงหนังสือ ‘A Coup for a Rich' ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีทางอินเตอร์เน็ตว่าเป็นเครื่องมือทำลายชื่อเสียงพระมหากษัตริย์
ขณะเดียวกัน ‘นายสุวิชา ท่าค้อ' วัย 35 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาโพสต์ข้อความหมิ่นฯ ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ปี 2550 หลังจากกระทรวงไอซีทีประกาศ ‘ล้างบาง' กว่า 2,300 เว็บไซต์ที่เป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์ได้ไม่นาน
ส่วนชะตากรรมของ ‘นายแฮรี่ นิโคไลด์ส' ชาวออสเตรเลียเชื้อสายกรีก ผู้ต้องหาซึ่งถูกจับเพราะเขียนหนังสือนิยายพาดพิงสมาชิกราชวงศ์ไทย ติดคุกมาแล้ว 4 เดือน ถูกปฏิเสธการประกันตัว 4 ครั้ง และคดีก็ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากพื้นที่สื่ออินเตอร์เน็ตในเมืองไทยจะยังเป็นได้แค่พรมแดนทดลองของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น.
ข้อมูลอ้างอิง
(1) Britain: Prince Harry and the ‘P' word
(2) Prince's apology for racist term
(3) Prince Harry ‘Paki' comment unacceptable, says Gordon Brown
(4) Prince Harry has homophobia licked: gay rights campaigner
(5) Prince Harry ‘Paki' remark could harm ethnic recruiting
(6) Just no excuse for aristro-brat Prince Harry