Skip to main content

จุดเริ่มต้นของคนเดินทาง

 

ยุคที่น้ำมันแพง ราคาเบนซินกระฉูดไปแตะที่ลิตรละ 35 บาท ส่วนดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 31 บาทกว่า การเดินทางในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ รถโดยสารสาธารณะที่มีเส้นทางขนส่งประจำทางข้ามจังหวัดดูจะเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นสำหรับผู้ที่มีงบประมาณในการเดินทางไม่มากนัก ด้วยเหตุผลเรื่องราคาที่พอจ่ายได้ ความสะดวกสบายและความปลอดภัยจากผู้ให้บริการที่มีอยู่จำนวนมาก อีกทั้งมีเส้นทางเดินรถจากสถานีต่างๆ ในกรุงเทพฯ กระจายไปทั่วประเทศ

 

 

การเดินทาง


1. "สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)" หรือ "หมอชิต" สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางไปภาคเหนือ สามารถซื้อตั๋วได้ที่บริเวณด้านนอกของชั้น 1 ส่วนด้านในจะเป็นของภาคกลางและภาคตะวันออก สำหรับชั้น 3 จะเป็นศูนย์รวมบริษัทรถสายต่างๆ ที่วิ่งสู่ภาคอีสาน


2. "สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (เอกมัย)" ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ภาคตะวันออกทั้งหมด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว

3. "สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (สายใต้)" อยู่ที่ ถ.บรมราชชนนี จากเดิมอยู่ที่ ถ.จรัญสนิทวงศ์ บริเวณสามแยกไฟฉาย แต่ด้วยมีปริมาณจำนวนของผู้โดยสารที่ใช้บริการมากขึ้นจึงมีการย้ายไปที่ใหม่

 

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 11-17 เม.ย.จำนวนเที่ยวรถโดยสารสาธารณะของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถร่วม ถูกจัดเตรียมไว้ให้บริการเพิ่มขึ้นกว่ากว่าปรกติร้อยละ 45 โดยช่วงวันที่ 10-13 เม.ย.จากเดิม 14,976 เที่ยววิ่ง เพิ่มขึ้นเป็น 21,726 เที่ยววิ่ง เพื่อให้รองรับประมาณการณ์ผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีจำนวนถึง 912,492 คน[i] ซึ่งความเป็นจริงอาจมากกว่านั้น

 

ส่วนการเตรียมรับมือสำหรับการจราจรที่คับคั่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่ากระทรวงคมนาคม กรมการขนส่ง หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตรียมพร้อมแผนการอำนวยความสะดวก ความมั่นคง และความปลอดภัย เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างไปจากช่วงเทศการนี้ในปีก่อนๆ มากนัก นั่นคือมุ่งเน้นการจัดเตรียมยานพาหนะให้เพียงพอกับความต้องการ การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดมีเป้าหมายในการลดยอดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บให้ต่ำกว่าใช่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 50 ที่มีอุบัติเหตุ 4,274 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 361 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 4,805 ราย

 

 

รถโดยสารสาธารณะกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้

ข้อมูลจำนวนอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ปี 2541-2549 จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าแต่ละปีมีรถโดยสารขนาดใหญ่ประสบอุบัติเหตุ 3-4 พันครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดในกรุงเทพฯ มากกว่าต่างจังหวัด และจากข้อมูลของสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง พบว่าเฉลี่ยแล้วเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะ 1 ครั้ง จะมีผู้เสียชีวิต 0.42 ราย บาดเจ็บสาหัส 0.90 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มูลค่าความสูญเสียอยู่ที่ครั้งละประมาณ 2,300,000 บาท ซึ่งในแต่ละปีมูลค่าความเสียหายจะมหาศาลถึง 8,000-9,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ปัจจัยซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสาร นั้นมาจากความผิดพลาดของคนสูงถึง 75% ยานพาหนะบกพร่อง 14% และถนนบกพร่อง 11% ดังนั้นการวางมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญทั้งในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันในฉุกเฉินต่างๆ มาตรฐานของรถในด้านการตรวจซ่อมบำรุง รวมทั้งสวัสดิการและมาตรฐานของพนักงานขับรถ

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจคนขับ 600 คน ของ รศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ครึ่งหนึ่งของพนักงานขับรถ มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน รายได้ที่น้อยเช่นนี้คงไม่แปลกหากพนักงานขับรถจะพยายามเพิ่มรอบในการขับรถหรือหารายได้เพิ่มเติมโดยวิธีการใดก็แล้วแต่อันอาจจะกระทบถึงประสิทธิภาพในการขับขี่ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 เรียนรู้การขับรถด้วยตัวเอง และ 1 ใน 5 เรียนรู้จากการเป็นเด็กรถมาก่อน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างเสริมความมั่นใจในพนักงานขับรถแม้แต่น้อย

 

สำหรับในปี 2550 ที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งผลของคดีทำให้พนักงานขับรถถูกลงโทษจำคุก และผู้ประกอบการขนส่งต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหลายล้านบาท ทำให้นายศิลปะชัย จารุเกษมรัตนะ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ต้องออกมาสั่งการให้เข้มงวดในการตรวจสอบสภาพรถโดยสารที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2 ครั้ง และขอความร่วมมือกับผู้ประกอบกาขนส่งใส่ใจตรวจสอบสภาพรถก่อนนำมาให้บริการ รวมทั้งเข้มงวดกวดขันพนักงานขับรถให้มีจิตสำนึกและวินัยในการขับรถ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงขึ้นอีก

 

 

ความคืบหน้าของคดีอุบัติเหตุรถโดยสารครั้งร้ายแรงในปี 2550

 

1. กรณีรถโดยสารไม่ประจำทางของห้างหุ้นส่วนนาฎตะวันทรานสปอร์ต เสียหลักพุ่งชนราวคอนกรีตแล้วพลิกคว่ำลงข้างทาง ที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2550 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บ 34 ราย ซึ่งผลของคดีได้สิ้นสุดแล้ว โดยศาลอาญาเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาจำคุกพนักงานขับรถเป็นเวลา 4 ปี และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทเสียชีวิตรายละ 500,000 บาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้แก่ผู้บาดเจ็บแล้วจำนวน 32 ราย โดยอยู่ระหว่างการเจรจา 2 ราย

 

2.เหตุเพลิงไหม้รถโดยสารประจำทางร่วมบริการ บขส.สายที่ 25 กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2550 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บ 31 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องพนักงานขับรถในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ สำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรายละ 400,000 บาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บแล้วจำนวน 29 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการ 2 ราย

 

3.กรณีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศยูโรทู (ขสมก.) สายที่ 72 สี่เสาเทเวศร์-ท่าเรือคลองเตย ระบบเบรกมีปัญหาชนรถที่จอดรอสัญญาณไฟเสียหาย 19 คัน ที่แยกวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2550 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 9 รายโดยศาลได้รับฟ้องพนักงานขับรถในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีสำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย ขสมก.และบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 1,350,000 บาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บแล้วจำนวน 7 ราย โดยอยู่ระหว่างการเจรจา 2 ราย

 

4.อุบัติเหตุรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ บขส.สายที่ 590 หนองคาย-ระยอง แซงทางโค้งทำให้เสียหลักตกเขา ที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2550 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 41 ราย ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสอบพยานเพิ่มเติม สำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรายละ 400,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บแล้ทั้งหมด 432,101 บาท

 

5.กรณีรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ ขสมก.สายที่ 149 ตลิ่งชัน-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (เอกมัย) เบรกแตกชนรถจอดรอสัญญาณไฟ 14 คัน ที่บริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2550 มีผู้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตภายหลัง 1 ราย บาดเจ็บ 13 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบพยานเพิ่มเติม สำหรับการชดใช้ค่าเสียหายกรณีผู้เสียชีวิต บริษัท อาคเนย์ประกันภัย (2000) จำกัด ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพ จำนวน 250,191 บาท โดยบิดาผู้เสียชีวิตได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ประกอบการขนส่ง บริษัท กรุงเทพรถร่วมบริการ จำกัด จำนวน 4,000,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาสำหรับค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บได้ดำเนินการแล้ว จำนวน 2 ราย อยู่ระหว่างการเจรจา 10 รายและติดต่อผู้เสียหายไม่ได้ 1 ราย ส่วนความเสียหายของรถยนต์จำนวน 14 คัน มีการชดใช้ค่าเสียหายแล้ว 6 คัน อยู่ระหว่างการเจรจา 7 คัน และติดต่อผู้เสียหายไม่ได้ 1 คัน

 

6.กรณีรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ ขสมก.สายที่ 6 พระประแดง-บางลำพู ขับสวนทางวันเวย์พุ่งชนรถจักรยานยนต์และร้านค้าเสียหาย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2550 มีผู้บาดเจ็บ 11 ราย ศาลแขวงจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกพนักงานขับรถ 1 ปี 11 เดือน 15 วัน ส่วนค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายของทรัพย์สินผู้ประกอบการขนส่ง บริษัท ธิติวัชการขนส่ง จำกัด และบริษัท กมลประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทนแล้ว จำนวน 9 ราย อยู่ระหว่างการเจรจา 4 ราย

 

ข้อมูลจาก: ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ฉบับที่ 467 ประจำวันที่ 25 ก.พ. - 2 มี.ค. 2551

 

 

ช่องโหว่ของการชดเชยผู้เสียหาย

ทั้งที่การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะน่าจะปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว แต่ความจริงกลับไร้หลักประกัน นอกจากนี้สาเหตุหลักๆ ของอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะยังคง ซ้ำซาก' อยู่ที่สภาพรถและอุปกรณ์ในตัวรถไม่ได้มาตรฐาน คนขับไม่ชำนาญ รีบเร่งทำเวลา และที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน แต่แม้ว่าอันตรายจากการไม่ควบคุมคุณภาพรถโดยสารสาธารณะจะนับว่าหนักหนาแล้ว การพิทักษ์สิทธิผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารยังสาหัสกว่ามาก

 

 

ด้วยเหตุที่ค่าเสียหายที่ผู้ประสบภัยได้รับจากกรมธรรม์ประกันภัยและกรมการขนส่งทางบกไม่มีการคุ้มครองด้านทรัพย์สินติดตัวที่เสียหายหรือสูญหาย การเสียโอกาสในการเดินทาง การเสียโอกาสทำงานหารายได้ในอนาคต ตลอดจนสภาพจิตใจที่เสียไป นอกจากนั้นค่าเสียหายที่ได้รับยังแสดงถึงการไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน และเป็นการชดใช้ในเชิงสงเคราะห์' มากกว่าการ คุ้มครอง' ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้ประสบอุบัติเหตุและญาติ ด้วยจ่ายเฉพาะค่าปลงศพ และการบาดเจ็บโดยถือตามสภาพหนักเบาของการบาดเจ็บและค่ารักษาพยาบาล ฐานะ และรายได้ของผู้ประสบอุบัติเหตุ

"จากกรณีรถโดยสารประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 มีผู้เสียชีวิต 32 คน บาดเจ็บ 31 คน นั้น การชดใช้เยียวยาความเสียหายจะเหลือเพียงกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ตาย 4 แสนบาท บาดเจ็บมากน้อย เต็มที่ 3 แสนบาท เจ็บแล้วตายทีหลังก็ได้ 4 แสนบาท ถึงรอดก็ได้แค่นั้น ถ้ารอดแล้วอยากเรียกค่าทำขวัญ การเจรจาก็จะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ยกับตัวแทนประกัน ซึ่งจะพยายามพิทักษ์สิทธิของตัวเองมากสุด ประกอบกับผู้ประสบเหตุจากรถโดยสารมักไม่เข้าใจการคุ้มครอง แยกเจรจากัน และที่สำคัญต้องเดินทางมาเจรจายังสถานที่เกิดเหตุ ใช้จ่ายเงินมาก ผลสุดท้ายจึงเกิดความไม่เป็นธรรม"

 

 

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในเวทีสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งจัดโดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เมื่อวันที่ 27มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้นายอิฐบูรณ์ ยังให้ข้อมูลต่อมาอีกว่า ทั้งที่กรมธรรม์ต้องจ่ายเงินแก่ผู้เสียหาย แต่หากผู้ประสบอุบัติเหตุไม่ยอมเซ็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็จะไม่ยอมจ่ายเงิน ซึ่งกระบวนการนี้จะกระทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น เมื่อเซ็นยินยอมความไปแล้ว แม้ภายหลังผู้ประสบอุบัติเหตุจะรู้ว่าตัวเองบกพร่อง ก็ไม่สามารถไปเรียกร้องทางแพ่งได้แล้ว

 

"ในฐานะผู้บริโภค คงไม่สามารถรอมาตรฐานที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร แต่จะต้องสร้างเกราะป้องกันตนเองขึ้นมาให้ได้ การประนีประนอมยอมความไม่ได้ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุพึงพอใจได้ แต่พวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะส่วนใหญ่เมื่อต้องรักษาพยาบาลจากการประสบอุบัติเหตุ ค่ารักษาจากกรมธรรม์ก็จะไม่พอ ก็ต้องใช้บัตรทอง" นายอิฐบูรณ์กล่าวแสดงความคิดเห็น

 

อนึ่ง นอกจากมาตรฐานความปลอดภัยที่รัฐควรที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชนที่เดินทางโดยรถสาธารณะอย่างเต็มที่แล้ว มาตรฐานการให้บริการก็คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ระบบขนส่งมวลชนของไทยต้องปรับปรุง เพราะการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะน่าจะเป็นสวัสดิการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้แก่ประชาชน อีกทั้งในช่วงเทศกาลเช่นนี้ยิ่งทำให้กิจการขนส่งคึกคัก เพราะจะมีผู้โดยสารจำนวนมากต้องการใช้บริการ เมื่ออุปสงค์มากเกินอุปาทานจึงเกิดเป็นช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้โดยสารในกรณีต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย

 

 

พลเมืองชั้นสอง - เรื่องจริงที่ใครก็ไม่อยากเจอ

เป็นที่รู้กันว่าเมื่อถึงช่วงวันหยุดยาวอย่างปีใหม่หรือสงกรานต์ การเดินทางของผู้คนออกจากกรุงเทพฯ สู่ต่างจังหวัดจะทวีจำนวนขึ้นจากปรกติหลายเท่าตัว ผู้โดยสารหลายคนที่จองตั๋วโดยสารล่วงหน้าไม่ทันแต่ต้องการเดินทางหลายต่อหลายคนต้องมานอนรอเข้าคิวเพื่อที่จะซื้อตั๋วโดยสารแบบวันต่อวัน และก็หลายคนที่ต้องพบกับการบริการที่แย่ๆ หรือสภาพรถโดยสารที่ทรุดโทรม แต่ก็ต้องจำทนเพราะถือว่านานๆ ครั้งจะมีโอกาสกลับบ้าน จึงหวังเพียงให้การเดินทางถึงที่หมายและเป็นไปโดยปลอดภัย

 

รถโดยสารสาธารณะซึ่งเป็นรถทัวร์ปรับอากาศชั้น 2 (ป 2) สายอีสาน สายหนึ่ง ใช้วิธีเอาเปรียบ ล่อลวงรับผู้โดยสารในราคาเต็มปรกติ แต่ให้ผู้โดยสารลงไปนั่งเบียดเสียดกันใต้ท้องรถที่ปรกติจะเห็นว่าใช้เป็นที่เก็บกระเป๋า ซึ่งถูกดัดแปลงให้โล่ง ขนาดกว้างพอที่คนจะลงไปนั่งได้ การดัดแปลงเช่นนี้ทำให้รถโดยสารสามารบรรจุคนได้มากขึ้น แต่อาจบรรทุกเกิดน้ำหนัก และมาตรฐานความปลอดภัยที่รถคันนั่นมี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถูกบันทึกเป็นภาพถ่ายนำมาเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต[ii] และถูกได้มีการร้องเรียนผ่านทางเว็บบอร์ดไปที่กรมการขนส่งทางบก เมื่อราวเดือนพฤษภาคมปี 2550 ซึ่งก็ได้มีคำตอบรับในการที่จะแก้ไขจากหน่วยงานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามไปยังผู้ที่เคยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะสายอีสาน ได้รับการยืนยันว่ากระกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วสำหรับรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวช่วงเทศกาลต่างๆ

 

"เมื่อก่อน น่าจะประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว เคยต้องลงไปนั่งอยู่ที่ใต้ท้องรถของรถ ป 2 เหมือนกัน ในช่วงเทศการสงกรานต์ เพราะต้องเดินทางกลับบ้าน เลยต้องทนอึดอัดนั่งไป แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้ใช้บริการรถ ป 2 แล้ว เพราะเป็นที่รู้กันว่าคนแออัดและถึงที่หมายช้ามาก" ผู้โดยสาร รถโดยสารสาธารณะคนหนึ่งกล่าวถึงการกระทำผิดกฎหมายที่ต่อเนื่องมายาวนาน

 

นอกจากนี้ การเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการให้นั่งเก้าอี้เสริม การให้นั่งเบียดกัน 3 คน ในเบาะ 2 ที่นั่ง ได้กลายเป็นเรื่องปรกติของการโดยสาร รถ ป 2 สายอีสาน หรืออีกหลายเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ด้วยเหตุผลจากหลายสายเป็นการเดินทางที่ไม่ไกลนักและการแบ่งปันแก่เพื่อนร่วมทาง แต่น้ำใจของคนเดินทางที่กลับกลายมาเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการรถโดยสารแสวงหาผลประโยชน์เช่นนี้ ควรอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งจะเข้ามาดูแลจัดการรถโดยสารสาธารณะให้มีจำนวนเพียงพอต่อความ และมีการบริการที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ บริการที่เป็นมาตรฐานทั้งในรถปรับอากาศชั้น 1 ชั้น 2 หรือรถโดยสารชั้น 3 (รถพัดลม) เป็นสิ่งที่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะทุกคนอยากเห็น แม้จะยอมรับได้ว่าการจ่ายในราคาที่ต่างบริการที่ได้รับย่อมแตกต่างกับ แต่การใช้บริการรถ ป 2 และรถพัดลมก็ไม่น่าจะทำให้ผู้โดยสารต้องตกอยู่ในที่นั่งของพลเมืองชั้น 2 ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

 

จากสิทธิผู้บริโภคถึงสิทธิผู้โดยสาร

การที่เราเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะหรือรถโดยสารประจำทาง ถือว่าเราได้กลายเป็นผู้บริโภคสินค้าบริการเหล่านั้น และย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค[iii] รวมถึงได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน[iv] ได้ประกาศรับรองหลักความคุ้มครองผู้บริโภคใน 3 หลักใหญ่ คือ การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เป็นความจริง การร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย และการรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

 

จากกฎหมายสิทธิผู้บริโภคเมื่อนำมาประยุกต์ใช้จึงกลายมาเป็น สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการรถสาธารณะ 10 ข้อ[v] ที่ควรถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ดังนี้

 

 

สิทธิก่อนเลือกใช้บริการ

1.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ

ข้อมูลยกตัวอย่างเช่น ประเภทและคุณภาพมาตรฐานของรถโดยสาร สิ่งที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสาร วันเวลาในการเดินทางและถึงที่หมาย ค่าบริการ รายละเอียดในความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสมัครใจที่ผู้ประกอบการมีให้ รวมถึงข้อมูลจำเป็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบริการของรถโดยสาร คือสิ่งที่ผู้โดยสารควรได้รับรู้เพื่อตัดสินใจใช้บริการ ซึ่งหากผู้ให้บริการแสดงข้อความเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริง โดยผู้โดยสารได้ตกลงจ่ายค่าโดยสารไปแล้วและมารู้ว่าตนถูกหลอกลวงในภายหลัง ผู้ให้บริการอาจมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีโทษทั้งจำและปรับ

 

2.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และค่าบริการ

การห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าที่ทางการกำหนด

 

3.ผู้โดยสารมีอิสระในการเลือกใช้บริการรถโดยสารได้โดยสมัครใจ และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

การที่ผู้ให้บริการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรียกให้คนขึ้น รถด้วยการส่งเสียงดังในลักษณะที่ก่อความรำคาญให้แก่ ผู้โดยสารหรือผู้คนที่อยู่โดยรอบ หรือทำการต้อน ดึง เหนี่ยว หรือยึดยื้อผู้โดยสาร รวมทังสิ่งของเพื่อให้ไปขึ้นรถโดยสารคันใดคันหนึ่ง ถือว่าผิดกฎหมาย[vi] มีโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท

 

สิทธิขณะใช้บริการ

4.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสาร

เมื่อให้บริการรถโดยสารต้องมีคุณภาพ มาตรฐานด้านความปลอดภัยตามหลักวิชาการที่กฎหมายกำหนด มีสภาพมั่นคงแข็งแรงไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้โดยสาร และผู้ขับขี่ต้องไม่อยู่ในสภาพหย่อนยาน ไม่เมาสุราหรือเสพยาเสพติด ไม่ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ขับขี่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ

 

5.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน

เมื่อให้บริการรถโดยสารต้องมีคุณภาพมาตรฐานด้านการบริการตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้บริการต้องให้บริการต่อผู้โดยสารด้วยความสุภาพ ไม่เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว หรือแสดงกิริยาอื่นใดที่เป็นการไม่ให้เกียรติผู้โดยสาร ไม่สูบบุหรี่ คุยกัน หรือส่งเสียงรบกวนก่อความเดือดร้อนรำคาญในขณะให้บริการ

 

สิทธิเมื่อถูกละเมิดหรือเมื่อประสบภัย

6.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะร้องเรียนหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น

หากเกิดปัญหาจาการใช้บริการไม่ว่าจะร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน การร้องทุกข์ถือเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภคทุกคน เพื่อจะช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การร้องเรียนยังจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ และยกระดับมาตรฐานของรถโดยสารสาธารณะให้ดีขึ้นได้

 

7.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยด้วยความเป็นธรรม โดยไม่มีการประวิงเวลา หรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ

เมื่อผู้โดยสารประสบภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ฯ และประกันภัยประเภทสมัครใจที่ผู้ให้บริการจัดให้ถือเป็นการเยียวยาเบื้องต้นที่ผู้โดยสารควรได้รับโดยทันที ไม่ควรถูกประวิงเวลา หรือถูกบังคับให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จนทำให้ผู้โดยสารหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความเสียหายมากยิ่งกว่าที่ได้รับ

 

8.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน และสิทธิอื่นๆ ที่ถูกละเมิด

การชดใช้ความเสียหายให้กับผู้โดยสาร ในส่วนของค่าปลงศพและค่ารักษาพยาบาลนั้นอาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ควรได้รับการพิจารณาครอบคลุมถึงสิทธิอื่นๆ ที่ผู้โดยสารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้สูญเสียไปด้วย เช่น รายได้จากการประกอบอาชีพที่ต้องขาดไปขณะเจ็บป่วย หรือการชดใช้ความเสียหายให้กับทายาทที่ต้องขาดผู้อุปการะ เป็นต้น

 

9.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายตามหลักแห่งพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด ด้วยความเป็นธรรมและเสมอภาค

การเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารที่ประสบภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการใช้ความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความเชื่อทางศาสนา การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม สภาพทางการหรือสุขภาพ หรือความคิดเห็นทางการเมือง ถือเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าความเท่าเทียมกัน

 

10.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองและผู้อื่น

ข้อนี้เป็นประโยชน์ที่จะช่วย เพิ่มอำนาจการต่อรองเรียกร้อง ทำให้ข้อเรียกร้องเกิดความเข้มแข็ง มีพลัง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาหรือชดใช้เยียวยาความเสียหาได้ดีกว่าการต่อสู้เรียกร้องโดยลำพัง เหมือนดังสุภาษิตคำพังเพยที่ว่าหนึ่งคนหัวหาย สองคนเพื่อนตาย และถ้าเป็นสาม สี ห้า หก... อาจนำสู่การแก้เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าก็อาจจะเป็นได้

 

หากถูกละเมิดสิทธิ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียน รวมถึงดำเนินการฟ้องร้องหากถึงคราวจำเป็น เพื่อการแก้ไขเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด โดยช่องทางดังนี้

 

หมายเหตุ

 

หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้โดยสารรถสาธารณะ

 

หน่วยงาน

เบอร์โทรศัพท์

การบริการความช่วยเหลือ

ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ

1584

รับเรื่องร้องเรียนหรือรับแจ้งข้อมูลในเรื่องการบริการรถขนส่งสาธารณะ

แจ้งร้องทุกข์เกี่ยวกับรถโดยสารของ บขส.และรถร่วม

1508

ตำรวจทางหลวง

1193

ศูนย์ร้องเรียนเรื่องขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ

184

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

02-2483733-37

รับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย และช่วยเหลือด้วยคดีของผู้บริโภค

สภาทนายความ

02-6291430

รับเรื่องร้องเรียนให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย และช่วยเหลือด้วยคดีของผู้บริโภค รวมทั้งคดีความทั่วไป

สำนักงานคณะกรรมการกำกับ

และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

1186

รับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษาด้านการประกันภัย

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

1166

รับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษาปัญหาผู้บริโภค

 

 

ค่าชดเชยตามความคุ้มครองเบื้องต้น

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535


๐ ค่าเสียหายเบื้องต้นคืออะไร?

ผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย หรือทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอ ค่าเสียหายดังกล่าว เรียกว่า "ค่าเสียหายเบื้องต้น" โดยมีจำนวนเงิน ดังนี้

1.กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท


2.กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา)


3.กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา) รวมแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท

 

๐ ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นคืออะไร?
ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย หรือทายาทผู้ประสบภัย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย หรือทายาทได้รับแล้ว เป็นดังนี้

1.กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามความเป็นจริงไม่เกิน 50,000 บาท

 

2.กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา) ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่


๐ รถ 2 คันชนกัน ผู้ประสบภัยเป็นผู้โดยสาร พ.ร.บ.คุ้มครองเท่าใด?
กรณีรถตั้งแต่ 2 คัน ขึ้นไป ชนกัน ต่างฝ่ายต่างมีประกันตาม พ.ร.บ. และไม่มีผู้ใดยอมรับผิดในเหตุที่เกิด
ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองตามหลักการสำรองจ่าย กรณีบาดเจ็บ บริษัทจะสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จ จำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน แก่ผู้ประสบภัย กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะสำรองจ่ายทดแทน หรือค่าปลงศพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย.2546 เป็นต้นมา) ต่อคน แก่ทายาทผู้ประสบภัย
ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี


กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นฝ่ายผิดเอง หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น กล่าวคือ หากบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาท หากเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท หรือเสียชีวิตภายหลังรักษาพยาบาลจะรับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท


กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้โดยสารหรือบุคคลภายนอกรถ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท กรณีบาดเจ็บ และ 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เม.ย. 2546 เป็นต้นมา) กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร (ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถที่บริษัทรับประกันภัยไว้ต้องเป็นฝ่ายรับผิดตามกฎหมาย)

 

 

 



[i] มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2551

[ii] http://thaibus.50webs.com/

[iii] พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2541)

[iv] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 61

[v] นำเสนอในเวทีสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพรถโดยสารสาธารณะ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม จัดโดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

[vi] ความผิดตามมาตรา 86 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522

 

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
 ทีมข่าวการเมืองข่าวเรื่องนิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์ ถูกแบน ในประเทศไทย ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของเอพี และเสตรทไทม์ ขณะที่ในเมืองไทย [1] ข่าวดังกล่าวไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลัก และเพิ่งมาปรากฏขึ้นในลักษณะของการตอบโต้จากทางการไทย ผ่าน.นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงบรรณาธิการนิตรสาร ดิ อิโคโนมิสต์  ระบุว่า....            "รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อมุมมองและทัศนคติของนิตยสารฉบับดังกล่าว ซึ่งลงบทความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย และตีความเหตุการณ์ต่างๆ ไปตามการคาดเดา…
หัวไม้ story
“ผมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นฝีมือของพวกฉวยโอกาส หากพันธมิตรฯจะทำก็ต้องเป็นตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี เพราะสามารถสร้างความเสียหายมากกว่า ได้ผลมากกว่า และสะใจมากกว่า ไม่อย่างนั้นจะเก็บไว้อย่างดีทำไม” สุริยะใส กตะศิลา, 5 ธ.ค. 2551  ทีมข่าวการเมือง   ภาพในตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาลหลังการชุมนุมยุติที่มาของภาพ: คุณ Me.....O กระดานข่าวพันทิพ ห้องราชดำเนินhttp://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P7288033/P7288033.html  
หัวไม้ story
"ถ้างวดนี้ มีการใช้ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง พี่น้องครับ พี่น้อง พ่อแม่พี่น้องทั่วประเทศไทย ต้องลุกฮือขึ้นมาแล้วให้เลือดนองแผ่นดิน"  ... "ผมจะบอกให้พวกสัตว์นรกรู้ ว่างวดนี้ถ้าประชาชนเขามา เขามาพร้อม ‘ของ' กันหมด" - สนธิ ลิ้มทองกุล 20 พ.ย. 2551 ทีมข่าวการเมืองประชาไท สนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับการอารักขาโดย ‘นักรบศรีวิชัย’ เมื่อ 26 ส.ค. 51 ที่มาของภาพ adaptorplug (CC)  
หัวไม้ story
  วันที่ 15 พฤศจิกายน คือวันประชุมสุดยอดผู้นำโลก 20 ชาติว่าด้วยเศรษฐกิจ ซึ่งถูกคาดหมายว่า จะเป็นการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการทางการเงินของโลกอีกครั้งหลังจากมันเคยเกิดขึ้นแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเศรษฐกิจโลกพังพาบลง จนนำมาสู้ระบบแลกเปลี่ยนเงินที่ชื่อว่า Bretton Woods SystemG20: "we must rethink we must rethink the financial system from scratch, as at Bretton Woods."นิโคลัส ซาร์โกซี ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสเป็นผู้เอ่ยประโยคนี้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา และนำมาสู่การกำหนดการประชุมสุดยอดผู้นำโลกที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. นี้
หัวไม้ story
โอบามากับสงครามสีผิวที่กำลังจะเปิดฉาก? ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งจบลงไปด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของบารัก โอบามา ผู้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นคนผิวสี คนแรกที่เดินเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดี โอบามา เป็นลูกผสมระหว่างแม่ซึ่งเป็นคนผิวขาว กับพ่อเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งไม่ได้ย่างเท้าลงบนแผ่นดินอเมริกาในฐานะทาส แต่เป็นนักศึกษา แม้จะไม่ใช่คนผิวดำ หรือลูกหลานแอฟริกันขนานแท้ ที่เติบโตขึ้นจากครอบครัวที่มีบรรพบุรุษเป็นทาส แต่บารัก โอบามา ก็ถูกจำจดในฐานะเป็นตัวแทนของคนผิวสีที่ได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะไม่ได้ผ่านประวัติศาสตร์ร่วมกับคนแอฟริกัน-อเมริกัน…
หัวไม้ story
แม้ว่าคนจนในประเทศไทย จะเลือกตาย ด้วยหวังให้การตายส่งเสียงได้มากกว่ายามที่พวกมีชีวิตอยู่ ทว่า ไม่ช้าไม่นาน ความทรงจำของสังคมก็เลือนรางลงไป แต่คนจนอย่างนวมทอง ไพรวัลย์ เลือกวิธีตาย และเลือกใช้การตายของเขาส่งเสียงดังและอยู่ยาวนาน อย่างน้อยก็ใน 2 ปีต่อมา เขายังไม่ถูกลืมเลือน
หัวไม้ story
ประชาไทขอนำเสนอคลิปวิดิโอ 'หลังทักษิณ' มุมมอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากคนใกล้ตัวที่บ้านเกิด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และบทวิเคราะห์การเมืองไทยหลังทักษิณ โดย รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
หัวไม้ story
  ทีมข่าวภาคใต้มายาภาพของการต่อสู้ทางการเมืองไทยในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถูกกล่าวว่าอ้างว่าเป็นสงครมมระหว่างภูมิภาค คือ ภาคใต้ กับภาคเหนือและภาคอิสาน แต่หากมองลึกลงไปในกระบวนการต่อสู้ของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคพลังประชาชน อาจพบว่าแท้จริงแล้วการพื้นที่ทางการเมืองระดับนำก็ยังคงเป็นของคนใต้อยู่เช่นเดิม
หัวไม้ story
จับตาการเดินทัพของพันธมิตรฯ จากคำปราศรัยของแกนนำชื่อ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ หลังประกาศทบทวนแนวทางสันติวิธี ระบุแกนนำทั้งหลายไม่กลัวตาย “แต่ถ้าพวกเราบางคนจะต้องตาย พี่น้องสัญญาอย่าง ต้องให้แผ่นดินนี้ ลุกขึ้นเป็นไฟให้ได้”
หัวไม้ story
  เมื่อพูดกันถึงเรื่องการปฏิรูปการเมืองก็ไม่แคล้วตามมาด้วย การแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง นับเป็นสิ่งที่สังคมไทยถนัดในการแก้ปัญหาการเมืองโดยการเขียนอะไรบางอย่างขึ้นมาบังคับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร กระทั่งแม้แต่นักกฎหมายมหาชนเองก็ยังแซวผู้เชี่ยวชาญในสาขาของตัวเองได้ว่า ประเทศไทยนั้นมีความเชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญที่สุดในโลกนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 กล่าวในรายการตอบโจทย์  ทางสถานีไทย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ว่าที่สุดแล้ววิกฤตของการเมืองไทยวันนี้มันก็เริ่มมาจากการแก้รัฐธรรมนูญที่ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอนั่นเองย้อนเหตุการณ์ให้ฟังอีกครั้งว่า…
หัวไม้ story
  พิณผกา งามสม   ในระหว่างที่การต่อสู้ทางการเมืองไทยยังคงถกเถียงกันเรื่องโมเดลการเมืองใหม่ การเมืองใหม่กว่า รวมถึงระบบโควตาและระดับความชอบธรรมของ ‘เสียง' การเมืองเพื่อนบ้านของไทยก็กำลังเข้มข้นอยู่บนหนทางเดิมๆ ตามระบอบรัฐสภาเมื่อนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซียประกาศว่าจะเขย่ารัฐบาลมาเลย์ให้ล่มเพื่อเปิดโอกาสในการจัดสรรที่นั่งในสภากันใหม่ โดยยึดเอาวันที่ 16 กันยายนเป็นวันดีเดย์ แรกทีเดียว หลายฝ่ายอาจคิดว่าเป็นเพียงการสร้างสีสันให้การรณรงค์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านอย่างที่เคยทำมาอย่าแข็งขัน เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า…
หัวไม้ story
  วิทยากร  บุญเรืองขณะที่ Frank Lampard ดาวเตะแข้งทองของทีม Chelsea พึ่งบรรลุข้อตกลงสัญญา 5 ปีที่มีมูลค่าสูงถึง 39.2 ล้านปอนด์ โดย Lampard จะได้รับค่า 151,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 3,775 ปอนด์ต่อชั่วโมง! แต่จากการสำรวจของ The Fair Pay Network และ Institute of Public Policy Research (IPPR) พบว่าพนักงานทำความสะอาด พ่อครัวแม่ครัว และแรงงานตัวเล็กๆ ทั้งหลาย ของสโมสรอย่าง Chelsea, Spurs, Arsenal, West Ham และ Fulham กลับได้รับค่าเหนื่อยจากสัญญาจ้างค่าแรงขั้นต่ำแค่ 5.52 ปอนด์ต่อชั่วโมงเท่านั้น