Skip to main content

กลายเป็นภาพที่คุ้นตา เรื่องที่คุ้นหูไปแล้ว สำหรับการออกมาเดินขบวนยื่นข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มต่างๆ ในวันกรรมกรสากล (หรือวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันเมย์เดย์) จนบางคนอาจชาชินกับสิ่งที่เกิดขึ้น "ก็เห็นเดินกันทุกปี" "เรียกร้องกันทุกปี" อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่าการที่มีข้อเรียกร้องอยู่ทุกปีนั้น สะท้อนถึงการคงอยู่ของ ปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข' ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มไหน เมื่อลองกลับไปดูข้อเสนอของปีที่แล้ว เทียบกับปีก่อน และปีก่อนๆ ก็จะเห็นว่า ไม่สู้จะต่างกันสักเท่าใด

 

ดัน พ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงาน

การจะทำงานให้เป็นไปด้วยความราบรื่นนั้น นอกจากตัวงานและผู้ร่วมงานแล้ว ความปลอดภัยในการทำงานก็คงเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองกลับยังไม่มีองค์กรอิสระที่จะคอยดูแลเรื่องการป้องกันความปลอดภัยโดยตรง จะมีก็เพียงการตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้ว เช่น กองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นที่วิจารณ์กันถึงอำนาจที่ทับซ้อนกันอยู่ในที คือ เป็นทั้งผู้วินิจฉัยโรค และเป็นทั้งผู้จ่ายเงินเสียเอง

สภาเครือข่ายฯได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจัดทำร่างนโยบายด้านสุขภาพความปลอดภัยของแรงงาน เห็นว่าระบบบ้านเรายังล้าหลังมาก ซ้ำยังไม่มีนโยบายทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แพทย์ทั่วไปไม่ทำการวินิจฉัยโรค คนป่วยจากงานจึงไม่ได้รับสิทธิ์ เพราะการวินิจฉัยโรคไปอยู่ในกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นทั้งผู้วินิจฉัยโรค และจ่ายเงินในองค์กรเดียวกัน

เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะลักษณะการผูกขาดอำนาจในการจัดการดูแลปัญหาอยู่ในมือรัฐ เมืองไทยขาดแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้ เนื่องจากไม่มีนโยบาย หน่วยงานทำงานซ้ำซ้อนแต่ขาดประสิทธิภาพ ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างกรมกองกระทรวง เจ้าหน้าที่น้อย ยังขาดทัศนคติความรับผิดชอบรู้ไม่เท่าทันนายจ้างหรือสถานประกอบการ ระบบที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อประโยชน์มากนัก แก่ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมของคนงานอย่างแท้จริง ฉะนั้นการบริหารจัดการเรื่องนี้ของรัฐมีลักษณะอนุรักษ์นิยมเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้รู้ดีที่สุดคิดว่ากองทุนใหญ่โตคือผลสำเร็จ ไม่คำนึงถึงชีวิตคนงานที่มีความเสี่ยงต่อเครื่องจักรและสารพิษจากการทำงานทุกเสี้ยววินาที

ด้วยระบบที่มีอยู่ยังล้าหลัง เน้นแต่การจ่ายเงินทดแทนแถมยังสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ตั้งมากมาย เพราะเป็นการลดสถิติการเจ็บป่วย คนงานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ ต้องเกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดเวลา 10 กว่าปี จึงมีการผลักดันองค์กรอิสระในด้านการบริการความปลอดภัยมาร่วม 7 ปีแล้วกับรัฐบาลชุดนี้ (ชุด พล.อ.สุรยุทธ์) ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันฯ ผ่านการพิจารณาสำนักกฤษฎีกา กลับกลายเป็นร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยเฉยๆ ที่ไม่เป็นอิสระในการบริหารงานจากภาครัฐ แบบเบญจภาคี คือมีฝ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ ผู้ถูกผลกระทบ และนักวิชาการผู้เชี่ยว ไม่มีระบบทำงานที่ครบวงจร ป้องกันดูแลรักษา ฟื้นฟู ทดแทน ขาดอำนาจการตรวจสอบสถานประกอบการและขาดการโอนเงินกองทุนทดแทนมาอยู่ในสถาบันใหม่ตามข้อเสนอฉบับขบวนการแรงงานและภาคประชาชน

 

 

สมบุญ สีคำดอกแค อดีตผู้นำสหภาพแรงงานโรงงานทอผ้ากรุงเทพ ทั้งยังเป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย และประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนงานที่เจ็บป่วยอีกจำนวนหนึ่งในราวปี 2536 ที่หวังจะรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การต่อสู้ทางคดี และการดำรงชีวิต บอกเล่าถึงความสำคัญของคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานตามกลไกของ "สถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ" กับสำนักข่าวประชาธรรม

ที่มา: สมบุญ สีคำดอกแค : เปิดโลกกฎหมาย โรคจากการทำงาน'

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ผู้ใช้แรงงานได้ร่วมกันผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ซึ่งร่วมกันร่างขึ้นอีกครั้ง เพื่อหวังว่า จะก่อตั้ง "สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน" ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับการดูแลของกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้ใช้แรงงานร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย โดยที่สถาบันนี้จะมีหน้าที่พัฒนาการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย จัดการทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาวินิจฉัยโรค และพิจารณาการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย โดยขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อประชาชน ให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... นี้ (ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม เพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมาย)

ผ่าโครงสร้างประกันสังคม

กองทุนประกันสังคมนั้น นับเป็นกองทุนขนาดใหญ่ โดยขณะนี้มีเม็ดเงิน 522,868 ล้านบาท [1] ผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน และคาดกันว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก เมื่อมีการขยายไปยังบุคคลกลุ่มต่างๆ อย่างไรก็ตาม มักมีข้อเสนอให้ "ผ่าโครงสร้างประกันสังคม" อยู่เนืองๆ ด้วยสัดส่วนการจ่ายเงิน นายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง ขณะที่รัฐจ่าย 2.75% แต่ผู้ประกันตนกลับไม่ค่อยจะมีส่วนร่วมกับกองทุนสักเท่าใด ทั้งในด้านนโยบายและการตัดสินใจว่า เงินในกองทุนถูกนำไปใช้อย่างไร และส่วนใดบ้าง ขณะที่รัฐบาลซึ่งร่วมสมทบเพียงเล็กน้อยกลับมีสัดส่วนอยู่ในบอร์ดมากกว่า (ดูสัดส่วนคณะกรรมการประกันสังคม[2])

ในเรื่องนี้ วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เสนอให้กรรมการไตรภาคีมาจากการเลือกตั้ง โดยใช้อัตราส่วนสมาชิกสหภาพแรงงาน 50 คน ต่อ 1 เสียง และต้องเปิดโอกาสให้กรรมการของสหภาพแรงงานทุกแห่งมีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง

แรงงานข้ามชาติ ข้ามอคติ

เมื่อปลายปีที่แล้ว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ เรื่อง คุณูปการของแรงงานย้ายถิ่นต่อประเทศไทย ของ ดร.ฟิลิป มาร์ติน สำนักงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยผลการศึกษาระบุว่า ในปี 2550 ประเทศไทยมีแรงงานรวมประมาณ 36 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานข้ามชาติอยู่ราว 1.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาติส่วนมากจะทำงานประเภทที่ใช้ทักษะต่ำในสาขาเกษตร ประมง ก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงภาคบริการ อาทิ คนทำงานบ้าน

ทั้งนี้ จากสมมติฐานว่าผู้อพยพมีจำนวน 1.8 ล้านคน ซึ่งคาดการณ์ว่ามีรายได้ 2 พันล้านดอลลาร์ ต่อปี หรือ 70,000 พันล้านบาท (1 ดอลลาร์ต่อ 35 บาท) จากการคำนวณรายได้เฉลี่ย 1,125 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (40,000 บาทต่อปี) หากแรงงานดังกล่าวใช้จ่ายเงินครึ่งหนึ่งของรายได้ คือ 1 พันล้านดอลลาร์ จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ GDP จำนวน 2 พันล้านดอลลาร์ จากการเพิ่มในการหมุนเวียนของค่าเงินทีเดียว

โดยที่แรงงานข้ามชาติได้รับค่าแรงเพียงครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น [3]

แรงงานข้ามชาติคือผู้มีส่วนร่วมสร้างจีดีพี 2% คิดเป็นเงินประมาณหมื่นล้านบาทขึ้นไป นี่ยังไม่รวมรายได้ของแรงงานข้ามชาติที่ใช้ในประเทศไทย โดยคิดเป็น 75% ของรายได้ของแรงงานข้ามชาติใช้ในประเทศไทย พวกเขาส่งเงินกลับน้อยเพราะช่องทางส่งกลับน้อย

 

ข้อมูลจาก: สารคดีเรื่อง "สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย"

จัดทำโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท

จากตัวเลขข้างต้น จะพบว่า แม้เศรษฐกิจจะต้องการน้ำพักน้ำแรงจากแรงงานข้ามชาติ แต่ก็ดูเหมือนนโยบายของรัฐจะไม่นำพาต่อการเข้ามาทำงานอย่าง "ถูกกฎหมาย" ของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ โดยจะเห็นว่า แม้ว่ารัฐบาลมีนโยบายเปิดให้แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนแรงงานเพื่อขออนุญาตทำงาน เรียกว่า ทร.38/1 โดยในปี 2551 นี้เปิดให้คนที่เคยมี ทร.38/1 แล้วแต่ไม่ได้ต่ออายุ มายื่นจดทะเบียนใหม่ ช่วง 21 ม.ค.-19 ก.พ. ปีนี้ แต่แรงงานข้ามชาติก็ไปจดทะเบียนน้อยมาก แค่ราว 5,000 คน เพราะแรงงานข้ามชาติ 1.ส่วนใหญ่ไม่รับรู้ข้อมูล 2.เอกสารที่ใช้ประกอบการขอรับ ทร.38/1 ยังไม่มีความชัดเจน บัตรเดิมก็ถูกนายจ้างริบไว้ จำข้อมูลไม่ได้ 3.การขอใช้เวลานาน ต้องทำหลายรอบ 4.หลายพื้นที่มีขบวนการนายหน้าช่วยประสานงานดำเนินการคิดค่าใช้จ่ายสูง 6,000 - 15,000 บาท แรงงานไม่สามารถแบกรับภาระการค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ 5.ระยะเวลาสั้นเกินไป

อดิศร เกิดมงคล International Rescue Committee (IRC) กล่าวว่า จริงๆ แล้วกลไกรัฐไม่เคยมีกลไกจัดการเรื่องการย้ายถิ่น มีแต่เรื่องหาแรงงานมาทดแทน ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีมิติการย้ายถิ่นมาจัดการ

แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก แต่ก็มีนโยบายกีดกันเขา โดยรัฐไทยมองเรื่องนโยบายนี้สองแง่ แง่หนึ่งมองว่าเป็นปัญหาเรื่องคนหลบหนีเข้าเมือง ไม่ให้ออกนอกเขต หรือเปลี่ยนนายจ้าง มองว่าไม่ใช่แรงงานทั่วไปอย่างที่เข้าใจกัน ต้องอยู่ในการกักกัน แต่ให้ทำงานได้ชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับ สอง อยากได้แรงงานราคาถูก พอเศรษฐกิจไทยพยายามเป็นประเทศอุตสาหกรรม ก็มีการดึงเอาแรงงานภาคเกษตรไปเยอะมาก ทำให้ความต้องการแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น สองแนวคิดดังกล่าวไปด้วยกันได้ จึงมีการใช้แรงงานราคาถูก ภายใต้การควบคุม โดยอ้างความมั่นคง จะเห็นว่านโยบายที่เกิดขึ้นไม่ได้พูดถึงการคุ้มครองแรงงานเลย

อดิศร กล่าวว่า สิ่งที่รัฐสร้างขึ้นเรื่องความมั่นคงเป็นการสร้างพรมแดนในตัวคน เราถูกทำให้เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติไม่ใช่พวกเรา หรือเหมือนไม่ใช่มนุษย์ เหมือนเครื่องจักรที่พังแล้วโยนทิ้ง เห็นได้ชัดในกรณีประกาศสมุทรสาคร เพราะสิ่งที่ทำให้ความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นคือ วัฒนธรรม การมีตัวตนของตัวเองในการดำรงชีวิต หรือเช่นกรณีที่บอกว่า ไม่รับแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์แล้ว

 

เขาแสดงความเห็นว่า เคยคิดว่าเรื่องความมั่นคงจะซาไป แต่รัฐกลับใช้แนวคิดแบบนี้ส่งผ่านสื่อ ย้ำว่าแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหานำโรคติดต่อเข้ามาก่ออาชญากรรม สร้างมายาคติขึ้น ทั้งนี้มีงานวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหา ในช่วงปี 45-46 เปรียบเทียบการก่ออาชญากรรม พบว่า คนไทยในพื้นที่ก่ออาชญากรรมมากกว่าแรงงานข้ามชาติ เกือบ 60% และคดีส่วนใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ คือ หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย

สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหา อดิศร เสนอว่า ในแง่นโยบาย รัฐต้องมิติการย้ายถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาไม่มีเลย ที่สำคัญคือต้องหาความสมดุลของสิทธิ ความมั่นคงและเศรษฐกิจให้สมดุลกัน และที่เสนอมานานก็คือ นิยามคำว่าความมั่นคง องค์กรที่จัดการเรื่องนี้กระจายเกินไป เพราะเรื่องคุ้มครองแรงงานควรคุ้มครองแรงงานทุกคน แต่แรงงานข้ามชาติไปติดที่ ตม. ยังไม่มีการสร้างกลไกให้ทำงานร่วมกัน อาจเป็นกรรมการระดับชาติอิสระเพื่อจัดการบริหารได้เป็นระบบ และเข้าใจปัญหาแรงงานข้ามชาติอย่างแท้จริง เช่น การเตรียมล่าม

สอง ปรับความเข้าใจ การศึกษาของเรากับแรงงานข้ามชาติให้เข้าใจกันมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ นโยบายหลายอย่างกันคนออกจากกัน ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร หรือต้องการอะไรกันแน่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างพื้นที่สนทนา ทำงานร่วมกัน ซึ่งกลไกสำคัญคือสหภาพแรงงาน เพราะมีผู้ใช้แรงงานเป็นตัวหลัก จะเห็นปัญหาร่วมกันคล้ายกัน และถ้าสร้างได้จะขยายไปสู่กระบวนการอื่นในสังคมไทยได้

ที่มา: แรงงานนอกระบบ' และ แรงงานข้ามชาติ': เรารู้จักกันแค่ไหน

เสริมทักษะแรงงานไทยในต่างแดน

ขณะที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนแรงงานบางประเภทที่แรงงานไทยไม่ทำ แรงงานไทยบางส่วนก็เข้าไปทำงานทดแทนในส่วนที่ประเทศอื่นๆ ขาดแคลนเช่นกัน แรงงานประเทศอื่นไม่ทำเช่นกัน ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานหญิง ซึ่งไปทำงานแม่บ้านที่ฮ่องกง ได้เสนอว่า แม้พวกเขาจะเดินทางไปทำงานที่ฮ่องกง แต่ก็ต้องการกลับเข้ามาในประเทศ ดังนั้น พวกเขาจึงอยากให้ภาครัฐจัดให้มีอาชีพรองรับแรงงานที่กลับมาทำงานที่ประเทศไทย โดยจัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ด้านการวางแผนงานการประกอบอาชีพในอนาคต ไปอบรมให้กับแรงงานในต่างประเทศ จัดศูนย์ข้อมูลอาชีพและตำแหน่งงานที่เอื้อต่อทักษะของแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีทางเลือกที่จะได้ทำงานอยู่ใกล้ครอบครัว รวมทั้งทำให้อาชีพแม่บ้านในเมืองไทย มีสัญญาการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย และมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐหาแนวทางให้แรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ได้มีส่วนร่วมในโครงการกองทุนประกันสังคม โดยให้เหตุผลว่า ที่สุดแล้วแรงงานทุกคนต้องกลับมาประเทศไทย รวมทั้งจัดตั้งองค์กรช่วยเหลือครอบครัวของแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของแรงงานในการตั้งใจทำงาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องบุตรของตน

รวมทั้งเสนอให้ภาครัฐต้องกำหนดอัตราจัดเก็บค่าบริการของบริษัทจัดหางานในประเทศไทยให้ชัดเจน และควบคุมการเก็บค่าบริการอย่างเข้มงวด มีกฎหมายลงโทษอย่างจริงจัง และจัดสรรงบประมาณประจำปี ให้กับกลุ่มองค์กรที่ทำงานให้กับแรงงานไทยในฮ่องกง เพื่อส่งเสริมโอกาสให้แรงงานได้ช่วยเหลือแรงงานด้วยกัน และสร้างเครือข่ายภาครัฐที่เข้มแข็ง รวมถึงมีนโยบายที่ชัดเจน ที่จะสนับสนุนแรงงานที่ออกไปทำงานยังต่างประเทศ และให้ความสำคัญในการส่งเสริมการนำเงินตราเข้าประเทศจากแรงงานเหล่านั้น

เพิ่มความมั่นคงให้แรงงานนอกระบบ

สารคดีเรื่อง "สถานการณ์แรงงานนอกระบบในประเทศไทย" จัดทำโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ให้ข้อมูลว่า แรงงานนอกระบบจำนวน 22.5 ล้านคน จากแรงงานทั้งสิ้น 36.3 ล้านคนนั้น เป็นผู้ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้าน ล้านบาท หรือราวร้อยละ 43 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับทำงานที่ขาดความมั่นคง ไม่ได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยงและมีอันตรายต่อสุขภาพ เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคมและบริการอื่นๆ ของรัฐ และไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวต่อรองได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ได้ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานนอกระบบเอาไว้ และในขณะเดียวกันก็ไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะคุ้มครองแรงงานนอกระบบได้ จึงมีการร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ....ขึ้น ขณะที่กระทรวงแรงงานก็ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.. ...ขึ้นมาประกบ โดยที่ผ่านมา มีการแก้ไขปรับปรุงร่างทั้งสองแล้วหลายครั้ง แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ [4]

โดยนางสุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ แสดงความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผลักดันกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ผ่าน โดยที่ผ่านมา ได้ปรับให้เข้ากับของกระทรวงแรงงาน แต่ก็มีความแตกต่าง เช่น ประเด็นค่าแรงที่เป็นธรรม การดูแลเรื่องอาชีวอนามัย

นางสุจิน เล่าว่า ที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบ เข้าถึงหลักประกันสังคมอย่างเดียวคือ 30 บาทฯ แต่ 30 บาทฯ ไม่มีมิติเรื่องอาชีวอนามัยในหลักประกันสุขภาพ จึงควรส่งเสริมและดูแลสุขภาพเกี่ยวกับอาชีวอนามัยของคนทำงาน โดยออกกฎระเบียบในระดับท้องถิ่น ว่าต้องดูแลเรื่องอาชีวอนามัยกับแรงงานนอกระบบด้วย นอกจากนี้ อยากได้สิทธิประโยชน์เหมือนแรงงานในระบบ เพราะงานที่รับไปทำที่บ้านก็คืองานเช่นเดียวกับที่ในระบบทำ แต่พอออกไปถึงชุมชนแล้ว กลับไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งค่าแรง สิทธิประโยชน์ จึงอยากให้รัฐบาลดูแลแรงงานนอกระบบเสมอภาคกับแรงงานในระบบ

 

ข้อเรียกร้องวันกรรมกร

2550

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ให้รัฐบาล คือ

1.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)

2.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)

3.ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542

กลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนแปดพันคนจากสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจประเทศไทย ยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อ

1.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 5(3) จ้างเหมาค่าแรงโดยลูกจ้างเหมาค่าแรงจะต้องได้ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์เท่ากับลูกจ้างในระบบจ้างปกติของสถานประกอบการนั้นๆ 2.ขอให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยเพิ่มมาตรา 52 เรื่องการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน เป็นองค์กรทางวิชาชีพ 3.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 4.ขอให้ปรับอัตราค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามอัตราเงินเฟ้อและให้ปรับเงินในอัตราเดียวทั้งประเทศ และให้ควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ

5.ขอให้ประกาศยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 6.ขอให้ประกาศกฎหมายที่ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้านสามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ในเขตพื้นที่ซึ่งตนอาศัยหรือทำงานอยู่ได้ 7.ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดตั้งโรงพยาบาลของตนเอง เพื่อบริการการรักษาแก่ผู้ประกันตน 8.ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุไม่ว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ ขอให้ สปส.รักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนฟรี ไม่ต้องไปใช้โครงการ 30 บาท และ 9.ขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ร่วมกับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างทั้ง 11 สภาฯ กับ 1 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ติดตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ยื่นในวันนี้ พร้อมทั้งให้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ เป็นเลขานุการ

2549

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 10 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมัน 2.ให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม โดยยึดหลักมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กำหนดไว้วันละ 233 บาท

 

3.รัฐบาลต้องเร่งออกพ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ฉบับของขบวนการแรงงานที่เป็นองค์กรอิสระ 4.ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอนุสัญญาขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลเกือบทั่วโลกให้การรับรอง ยกเว้นประเทศไทย เพื่อเป็นหลักประกันกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในการคุ้มครองสิทธิคนงานทุกประเภทในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

 

5.รัฐบาลต้องเร่งถอนพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับรัฐบาลออกจากกฤษฎีกา 6.ให้รัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมาย 7.ให้รัฐบาลและสำนักงานประกันสังคมเร่งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่มีปัญหาทั้งฉบับ เช่น มาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ให้ขยายความคุ้มครองไปยังแรงงานนอกระบบ ภาคเกษตร และผู้ใช้แรงงานที่ติดเชื้อเอชไอวี

8.การทำสัญญาข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคี พหุภาคี และนานาชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน สังคม ประเทศชาติ ซึ่งรัฐบาลต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทำตามประชามติตามรัฐธรรมนูญ 9.ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาลูกจ้างที่ประสบภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิ โดยให้กองทุนประกันสังคมอนุมัติงบประมาณเพื่อให้ปล่อยกู้แก่ลูกจ้างที่ประสบภัยดังกล่าว

และ 10.ให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนจัดสรรงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กประถมวัยในย่านอุตสาหกรรม ชุมชน โดยออกเป็นกฎหมายพร้อมจัดสรรงบประมาณให้และให้องค์กรแรงงาน ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

2548

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ร่วมกับเครือข่ายประชาธิปไตย 42 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้อง 11 ข้อ คือ 1. ให้รัฐบาลหยุดขาย หรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 2. ให้รัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภค 3. ให้รัฐบาลผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 233 บาท 4. ให้รัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยของแรงงานในสถานประกอบการทุกแห่ง 5. ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ILO) ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การรับรองแล้ว ยกเว้นประเทศไทย 6. ให้รัฐบาลยกเลิกการจ้างงานเหมาช่วง หรือเหมาค่าแรงในสถานประกอบการ 7. ให้รัฐบาลเร่งนำร่าง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่สภา 8. ให้รัฐบาลและสำนักงานประกันสังคม เร่งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่มีปัญหาทั้งฉบับ 9. ทบทวนการทำสัญญาข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีผลกระทบต่อแรงงาน 10. ให้รัฐบาลแก้ปัญหาลูกจ้างที่ประสบปัญหาจากคลื่นยักษ์สึนามิ และ11. ให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กปฐมวัย

 

 

000000

 

อ้างอิง

[1] ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2551 จากสรุปผลการบริหารกองทุนประกันสังคมประจำไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2551

[2] มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการประกันสังคม" ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวง การคลัง ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่าย นายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละห้าคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และเลขาธิการเป็น กรรมการและเลขานุการ

พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

[3] ชี้แรงงานข้ามชาติสร้าง ศก.ไทย แต่ไม่ได้รับการดูแล ซ้ำนโยบายด้านความมั่นคงจำกัดการแสดงออกทางวัฒนธรรม

[4] พลวัตแรงงานนอกระบบ: การผลักดันการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน

 

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
 ทีมข่าวการเมืองข่าวเรื่องนิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์ ถูกแบน ในประเทศไทย ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของเอพี และเสตรทไทม์ ขณะที่ในเมืองไทย [1] ข่าวดังกล่าวไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลัก และเพิ่งมาปรากฏขึ้นในลักษณะของการตอบโต้จากทางการไทย ผ่าน.นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงบรรณาธิการนิตรสาร ดิ อิโคโนมิสต์  ระบุว่า....            "รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อมุมมองและทัศนคติของนิตยสารฉบับดังกล่าว ซึ่งลงบทความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย และตีความเหตุการณ์ต่างๆ ไปตามการคาดเดา…
หัวไม้ story
“ผมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นฝีมือของพวกฉวยโอกาส หากพันธมิตรฯจะทำก็ต้องเป็นตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี เพราะสามารถสร้างความเสียหายมากกว่า ได้ผลมากกว่า และสะใจมากกว่า ไม่อย่างนั้นจะเก็บไว้อย่างดีทำไม” สุริยะใส กตะศิลา, 5 ธ.ค. 2551  ทีมข่าวการเมือง   ภาพในตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาลหลังการชุมนุมยุติที่มาของภาพ: คุณ Me.....O กระดานข่าวพันทิพ ห้องราชดำเนินhttp://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P7288033/P7288033.html  
หัวไม้ story
"ถ้างวดนี้ มีการใช้ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง พี่น้องครับ พี่น้อง พ่อแม่พี่น้องทั่วประเทศไทย ต้องลุกฮือขึ้นมาแล้วให้เลือดนองแผ่นดิน"  ... "ผมจะบอกให้พวกสัตว์นรกรู้ ว่างวดนี้ถ้าประชาชนเขามา เขามาพร้อม ‘ของ' กันหมด" - สนธิ ลิ้มทองกุล 20 พ.ย. 2551 ทีมข่าวการเมืองประชาไท สนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับการอารักขาโดย ‘นักรบศรีวิชัย’ เมื่อ 26 ส.ค. 51 ที่มาของภาพ adaptorplug (CC)  
หัวไม้ story
  วันที่ 15 พฤศจิกายน คือวันประชุมสุดยอดผู้นำโลก 20 ชาติว่าด้วยเศรษฐกิจ ซึ่งถูกคาดหมายว่า จะเป็นการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการทางการเงินของโลกอีกครั้งหลังจากมันเคยเกิดขึ้นแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเศรษฐกิจโลกพังพาบลง จนนำมาสู้ระบบแลกเปลี่ยนเงินที่ชื่อว่า Bretton Woods SystemG20: "we must rethink we must rethink the financial system from scratch, as at Bretton Woods."นิโคลัส ซาร์โกซี ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสเป็นผู้เอ่ยประโยคนี้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา และนำมาสู่การกำหนดการประชุมสุดยอดผู้นำโลกที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. นี้
หัวไม้ story
โอบามากับสงครามสีผิวที่กำลังจะเปิดฉาก? ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งจบลงไปด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของบารัก โอบามา ผู้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นคนผิวสี คนแรกที่เดินเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดี โอบามา เป็นลูกผสมระหว่างแม่ซึ่งเป็นคนผิวขาว กับพ่อเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งไม่ได้ย่างเท้าลงบนแผ่นดินอเมริกาในฐานะทาส แต่เป็นนักศึกษา แม้จะไม่ใช่คนผิวดำ หรือลูกหลานแอฟริกันขนานแท้ ที่เติบโตขึ้นจากครอบครัวที่มีบรรพบุรุษเป็นทาส แต่บารัก โอบามา ก็ถูกจำจดในฐานะเป็นตัวแทนของคนผิวสีที่ได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะไม่ได้ผ่านประวัติศาสตร์ร่วมกับคนแอฟริกัน-อเมริกัน…
หัวไม้ story
แม้ว่าคนจนในประเทศไทย จะเลือกตาย ด้วยหวังให้การตายส่งเสียงได้มากกว่ายามที่พวกมีชีวิตอยู่ ทว่า ไม่ช้าไม่นาน ความทรงจำของสังคมก็เลือนรางลงไป แต่คนจนอย่างนวมทอง ไพรวัลย์ เลือกวิธีตาย และเลือกใช้การตายของเขาส่งเสียงดังและอยู่ยาวนาน อย่างน้อยก็ใน 2 ปีต่อมา เขายังไม่ถูกลืมเลือน
หัวไม้ story
ประชาไทขอนำเสนอคลิปวิดิโอ 'หลังทักษิณ' มุมมอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากคนใกล้ตัวที่บ้านเกิด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และบทวิเคราะห์การเมืองไทยหลังทักษิณ โดย รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
หัวไม้ story
  ทีมข่าวภาคใต้มายาภาพของการต่อสู้ทางการเมืองไทยในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถูกกล่าวว่าอ้างว่าเป็นสงครมมระหว่างภูมิภาค คือ ภาคใต้ กับภาคเหนือและภาคอิสาน แต่หากมองลึกลงไปในกระบวนการต่อสู้ของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคพลังประชาชน อาจพบว่าแท้จริงแล้วการพื้นที่ทางการเมืองระดับนำก็ยังคงเป็นของคนใต้อยู่เช่นเดิม
หัวไม้ story
จับตาการเดินทัพของพันธมิตรฯ จากคำปราศรัยของแกนนำชื่อ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ หลังประกาศทบทวนแนวทางสันติวิธี ระบุแกนนำทั้งหลายไม่กลัวตาย “แต่ถ้าพวกเราบางคนจะต้องตาย พี่น้องสัญญาอย่าง ต้องให้แผ่นดินนี้ ลุกขึ้นเป็นไฟให้ได้”
หัวไม้ story
  เมื่อพูดกันถึงเรื่องการปฏิรูปการเมืองก็ไม่แคล้วตามมาด้วย การแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง นับเป็นสิ่งที่สังคมไทยถนัดในการแก้ปัญหาการเมืองโดยการเขียนอะไรบางอย่างขึ้นมาบังคับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร กระทั่งแม้แต่นักกฎหมายมหาชนเองก็ยังแซวผู้เชี่ยวชาญในสาขาของตัวเองได้ว่า ประเทศไทยนั้นมีความเชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญที่สุดในโลกนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 กล่าวในรายการตอบโจทย์  ทางสถานีไทย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ว่าที่สุดแล้ววิกฤตของการเมืองไทยวันนี้มันก็เริ่มมาจากการแก้รัฐธรรมนูญที่ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอนั่นเองย้อนเหตุการณ์ให้ฟังอีกครั้งว่า…
หัวไม้ story
  พิณผกา งามสม   ในระหว่างที่การต่อสู้ทางการเมืองไทยยังคงถกเถียงกันเรื่องโมเดลการเมืองใหม่ การเมืองใหม่กว่า รวมถึงระบบโควตาและระดับความชอบธรรมของ ‘เสียง' การเมืองเพื่อนบ้านของไทยก็กำลังเข้มข้นอยู่บนหนทางเดิมๆ ตามระบอบรัฐสภาเมื่อนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซียประกาศว่าจะเขย่ารัฐบาลมาเลย์ให้ล่มเพื่อเปิดโอกาสในการจัดสรรที่นั่งในสภากันใหม่ โดยยึดเอาวันที่ 16 กันยายนเป็นวันดีเดย์ แรกทีเดียว หลายฝ่ายอาจคิดว่าเป็นเพียงการสร้างสีสันให้การรณรงค์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านอย่างที่เคยทำมาอย่าแข็งขัน เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า…
หัวไม้ story
  วิทยากร  บุญเรืองขณะที่ Frank Lampard ดาวเตะแข้งทองของทีม Chelsea พึ่งบรรลุข้อตกลงสัญญา 5 ปีที่มีมูลค่าสูงถึง 39.2 ล้านปอนด์ โดย Lampard จะได้รับค่า 151,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 3,775 ปอนด์ต่อชั่วโมง! แต่จากการสำรวจของ The Fair Pay Network และ Institute of Public Policy Research (IPPR) พบว่าพนักงานทำความสะอาด พ่อครัวแม่ครัว และแรงงานตัวเล็กๆ ทั้งหลาย ของสโมสรอย่าง Chelsea, Spurs, Arsenal, West Ham และ Fulham กลับได้รับค่าเหนื่อยจากสัญญาจ้างค่าแรงขั้นต่ำแค่ 5.52 ปอนด์ต่อชั่วโมงเท่านั้น