Skip to main content

สัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 59 ปีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

13 มิถุนายน 2551


 

...ในวาระนี้นอกจากจะรู้สึกถึงวันเกิดของคณะ(รัฐศาสตร์) แล้ว ก็อยากจะอวยพรท่านนายกฯ ในสังคมมุสลิมนั้นมีวิธีขอพรให้ผู้นำ และเขาบอกว่าวิธีขอพรให้ผู้นำนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องขอพรให้ต้อง ขอให้พระเป็นเจ้าเอื้ออำนวยให้ผู้ปกครองมีสติ สามารถดำเนินการปกครองของตัวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประโยชน์ของคนทั้งหลายทั้งปวง มีปัญญาเลือกทางเลือกที่ถูกต้อง ผมว่าอันนี้เป็นพรที่เราอยากจะให้กับท่านนายกรัฐมนตรีในวันเกิดของท่าน เสียดายที่นักข่าวโทรทัศน์ไปหมดแล้ว... ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวในตอนท้ายการสัมมนา

 

 

 

 

 

 

 

 

เกษียร เตชะพีระ

 

 

สิ่งที่จะพูดแบ่งออกเป็น 1.รูปธรรมความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้เป็นอย่างไร 2.รากเหง้าทางความคิดทางการเมืองของความขัดแย้งดังกล่าว 3.ฐานทางเศรษฐกิจสังคมซึ่งเป็นบริบทของความขัดแย้ง 4.ทางออกที่พอเป็นไปได้

 

1.รูปธรรมความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้เป็นอย่างไร

 

ความคิดรวบยอดของฝ่ายพันธมิตรฯ ตอนนี้ คือสิ่งที่พิภพ ธงไชยใช้คำว่า ยุทธศาสตร์นิติรัฐ ในคำให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ แทบลอยด์ และคอมเฟิร์มโดยชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ที่แม้จะร่วมกิจกรรมกับกลุ่มริบบิ้นสีขาวของ อ.ปริญญา (เทวานฤมิตรกุล) แต่ก็เห็นด้วยกับแนวคิดของฝ่ายพันธมิตรฯ และสิ่งที่พูดสอดคล้องกับแนวคิดของพิภพอย่างน่าสนใจ

 

พิภพพูดตรงไปตรงมาว่า กรณีจักรภพ เพ็ญแข หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไล่รัฐบาลสมัครเป็นแค่ยุทธวิธีที่ซื้อเวลาเพื่อเอาทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างหลักนิติรัฐนิติธรรมขึ้นในเมืองไทย ปัญหาหลักในสายตาของพิภพและชัยวัฒน์คือเรื่องคอร์รัปชั่น โดยทั้งสองได้วิพากษ์ลดค่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน มองว่านักเลือกตั้งบ้าอำนาจ อยู่ในเสื้อคลุมประชาธิปไตย ซื้อเสียงเข้ามา ทุจริตกินบ้านกินเมือง ประชาธิปไตยของฝ่ายพันธมิตรฯ ที่มีพิภพและชัยวัฒน์เป็นตัวแทน คือ เอ็นจีโอบวกตุลาการภิวัฒน์ มีสองอย่างนี้เท่ากับมีประชาธิปไตย

 

ฝ่ายตรงข้าม คือ ฝ่าย นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ) หรือจะรวมพรรคพลังประชาชนด้วยก็ได้ กลุ่มนี้ใช้ยุทธศาสตร์ที่ขอเรียกว่า ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย โดยดึงมาจากแนวคิดของอาจารย์ 2 ท่าน คือ อ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คณะศิลปศาสตร์ มธ. โดยเฉพาะ อ.พิชิต นั้นไปร่วมเคลื่อนไหวกับ นปก. และข้อเขียนของทั้งสองมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของ นปก. มาก

 

หากสังเหตุดูช่วงหลังคุณจักรภพ (เพ็ญแข) ใช้คำพูดที่แปลกไปจากแต่ก่อน หลายถ้อยคำฟังเหมือนอ่านงานอ.พิชิต เช่น หลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงประชามหาชนใช้เอง ความเสมอภาคทางการเมืองของประชาชนคือหนึ่งคนหนึ่งเสียง ปฎิเสธระบบอุปถัมภ์

 

หลังจากกุมรัฐบาลและสภาได้ การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นข้อเรียกร้องที่ตามมา โดยกลุ่มนี้ลดค่าปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงลงไป ในสายตาของ อ.พิชิต และ อ.สมศักดิ์ มองว่า ซื้อเสียงกันทุกพรรค ทุกประเทศก็มี คอร์รัปชั่นและฉ้อฉลอำนาจใครก็ทำ การละเมิดสิทธิก็จะมีมุมมองว่า ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงเท่าไรเมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดอื่นๆ พร้อมกันนั้นก็วิพากษ์โจมตีสิ่งที่เรียกว่า อำมาตยาธิปไตย ในเสื้อคลุมคนดีและในเสื้อคลุมความเป็นไทยแบบศักดินา เน้นความถูกต้องของนโยบายที่เป็นที่ต้อนรับยึดมั่นของประชาชน เช่น นโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ และให้ความสำคัญขั้นชี้ขาดของการได้อำนาจรัฐมาอย่างชอบธรรมผ่านการเลือกตั้ง โดยสรุป สำหรับ ฝ่าย นปก. และพรรคพลังประชาชน ประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง

 

2.รากเหง้าทางความคิดทางการเมืองของความขัดแย้ง

ข้อเสนอรูปธรรมทั้งสองอย่างมีรากแนวคิดปรัชญาการเมืองอยู่เบื้องหลัง นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่า เสรีประชาธิปไตย ซึ่งมาจากสองกระแสคิดที่มาคนละทาง คือ หลักการเสรีนิยมกับหลักการประชาธิปไตย ซึ่งมาสามัคคีกันในประวัติศาสตร์แล้วกลายเป็น Liberal Democracy และในระยะหลังของการเมืองโลก หลักการทั้งสองห่างออกจากกัน

 

หลักการเสรีนิยม มีจุดเน้นคือสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของบุคคลพลเมือง และหลักนิติธรรม มีทิศทางจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง มีเนื้อหาแสดงออกผ่านองค์ประกอบด้านรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตยซึ่งปกป้องคุ้มครองสิทธิของพลเมืองจากอำนาจรัฐ เน้นความจำเป็นที่สถาบันต่างๆ ต้องตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างซับซ้อน เพื่อป้องกันการผูกขาดฉวยใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้กุมตำแหน่งรัฐบาล มีนัยของการปกครองเพื่อประชาชน นักคิดปรัชญาที่อิงแนวคิดนี้ เช่น จอห์น ล็อค เจมส์ เมดิสัน ฯลฯ ตัวอย่างของหลักหมายอ้างอิง คือ ระบบการปกครองอเมริกันที่เกิดจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 1787

 

หลักการประชาธิปไตย จุดเน้นอยู่ที่ความเสมอภาคและอำนาจอธิปไตยของประชาชน ทิศทางกระจายอำนาจให้ประชาชน เนื้อหาแสดงออกผ่านองค์ประกอบด้านประชาชนของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมุ่งให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของและใช้อำนาจรัฐด้วยตนเองอย่างเสมอภาคกัน เน้นบทบาทของพลเมืองธรรมดาและการเข้าร่วมของมวลชนผ่านการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม สม่ำเสมอ และกระบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยรวมตัวจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง มีนัยของการปกครองโดยประชาชน นักคิดปรัชญาเบื้องหลัง ฌอง-ฌาค รุสโซ ตัวอย่างของหลักหมายอ้างอิง คือ ระบบการเมืองการปกครองฝรั่งเศสอันเกิดจากการปฎิวัติฝรั่งเศส ปี 1789

 

อาการของทั้งสองฝ่ายเป็นอาการตาบอดคนละข้างแล้วแยกขั้วปะทะ ระหว่าง Liberal กับ democracy ระหว่างพันธมิตร กับ พลังประชาชน บวก นปก. หากผลักไปถึงสุดโต่งของทั้งสองข้างจะได้สิ่งที่พร่องในทางตรงข้าม หากเน้นแต่เสรีนิยมอย่างเดียว เอาแต่ตรวจสอบ เอาแต่สิทธิเสรีภาพพลเมือง จะได้ liberal autocracy หรือ liberal semi-democracy ระบอบอัตตาประชาธิปไตยเสรี หรือระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเสรี ถ้าเน้นแต่ประชาธิปไตยสุดโต่ง ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพ อาจได้ illiberal หรือ authoritarian democracy ประชาธิปไตยไม่เสรี หรือประชาธิปไตยอำนาจนิยม

 

3.ฐานทางเศรษฐกิจสังคม-บริบทของความขัดแย้ง

ความขัดแย้งทางการเมืองนี้ ลึกๆ มาจากฐานชนชั้นที่ต่างกัน เรากำลังเป็นประจักษ์พยานการเคลื่อนย้ายอำนาจครั้งใหญ่จากกลุ่มชนชั้นนำเดิม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และคนชั้นกลางชาวเมือง ไปสู่กลุ่มทุนใหญ่โลกาภิวัตน์ และพันธมิตรชาวนา คนจนเมือง

ตั้งแต่ 2548 จนถึงปัจจุบันไม่ใช่แค่การทะเลาะกันเรื่องระบอบ ความคิด แต่เป็นการเคลื่อนย้ายอำนาจครั้งใหญ่จากพันธมิตรชนชั้นหนึ่งไปสู่พันธมิตรอีกชนชั้นหนึ่ง ฝ่ายหลังคือ ฝ่ายแดง หรือฝ่ายทักษิณมีจำนวนคะแนนเสียงและกำลังทุนเหนือกว่า ขณะที่ฝ่ายแรกยังคงอำนาจทางการเมือง อิทธิพลวัฒนธรรมและกำลังทัพมากกว่า ดุลกำลังยังค่อนข้างก้ำกึ่งในปัจจุบัน กระบวนการเคลื่อนย้ายอำนาจอาจยาวนานเป็น 5-10 ปี จนกว่ารูปแบบรัฐจะรอมชอมกันได้ลงตัว คือเป็นรูปแบบรัฐที่อนุญาตให้กลุ่มอำนาจใหม่เข้าครองอำนาจทางการเมือง แต่ก็ปรองดองรองรับให้กลุ่มอำนาจเก่ามีพื้นที่อำนาจอยู่ด้วยได้ในเวลาเดียวกัน การเมืองไทยจึงจะยังคงเต็มไปด้วยปัญหาความไม่มีเสถียรภาพและปกครองไม่ได้ แม้รัฐบาลจะมีความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้งก็ตาม

ในประวัติการเมืองไทยสมัยใหม่ ได้เกิดการเคลื่อนย้ายอำนาจครั้งใหญ่อย่างน้อย 3 รอบแล้ว โดยครั้งแรก กลางคริสศตวรรษที่ 19 ถึงคริสศตวรรษที่ 20 บริบทโลกคือระบอบอาณานิคมทางเศรษฐกิจ เราเปิดประเทศรับตะวันตก และเปิดการค้าเสรี สมัยสนธิสัญญาบาวริ่ง สมัยรัชกาลที่ 4 เกิดกลุ่มคนกระฎุมพีจีนอพยพและข้าราชการที่ศึกษาแบบตะวันตก การสร้างรัฐสมัยใหม่ของรัชกาลที่ 5 ถึงจุดหนึ่ง กลุ่มคนเกิดใหม่เหล่านี้เห็นว่าตัวเองไม่มีที่ทางในระบอบเก่าในแง่อำนาจ ก็รวมกลุ่มกันเป็นคณะราษฎร ปฎิวัติ 2475 โค่นสมบูรณาสิทธิราชย์เปลี่ยนเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ

 

รอบที่สอง 1960s-1970s เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่นำโดยตลาด และส่งเสริมโดยรัฐ นำไปสู่การลงทุนโดยตรงของต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่น อเมริกา สังคมเปลี่ยน เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา คือชนชั้นกลางในเมืองและนายทุนหัวเมืองต่างจังหวัด ถึงจุดหนึ่ง คนเหล่านี้ก็รู้สึกอึดอัดกับระบอบเก่า ในที่สุดก็ลุกฮือโค่นเผด็จการทหาร ทั้ง 2516 และ 2535 เมื่อผ่านการต่อสู้ 20 ปี ระบอบเปลี่ยน ได้ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา

 

รอบปัจจุบัน สมัยรัฐบาลชวนเมื่อปี 2535 มีการเปิดเสรีทางการเงิน โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ สังคมเกิดคน 2 กลุ่มขึ้นมา กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่รวยกระทันหัน คือ สามารถเกาะกระแสโลกาภิวัตน์ได้ กับกลุ่มที่แพ้ในโลกาภิวัตน์ เพราะเสียฐานทรัพยากร แต่ไม่มีความรู้เทคโนโลยี เพราะฉะนั้นกลุ่มหนึ่งคือชาวบ้านชนบท บวกคนจนคนชายขอบผู้ใช้แรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบของเมือง

 

ทักษิณและไทยรักไทย ก็คือตัวแทนทางการเมืองทั้งในแง่นโยบายและการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มๆ นี้ ที่รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 แล้วได้บทเรียนว่าใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ ต้องบริหารรัฐเองด้วย ปล่อยให้กลุ่มอื่นบริหารรัฐ เราเจ๊งได้ ต้องเข้าสู่อำนาจรัฐบริหารเอง โดยในกระบวนการเปลี่ยนระบอบเขากำลังเผชิญกับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

4.ทางออก

สำหรับทางออกจากความขัดแย้งนั้น ขั้นตอนแรก อย่าจินตนาการถึงสิ่งที่สุดโต่งตกขอบ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเมืองวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าการขัดแย้งรุนแรงแตกหัก หรือระบอบการเมืองที่ไม่มีพลังฝ่ายตรงข้ามดำรงอยู่ มันเป็นไปไม่ได้ ดูผลการเลือกตั้งปี 2547-2548 เรากำลังอยู่ในภาวะที่คนสิบกว่าล้านเลือกพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน เลือกภายใต้ คปค. ภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 และคนอีกสิบกว่าล้านที่ไปเลือกฝั่งตรงข้าม คุณจะทำให้คนสิบกว่าล้านหายไปได้ยังไง

 

ดังนั้นทั้งสองฝ่ายควรตั้งสติและเลิกบ้า ควรจินตนาการถึงอนาคตทางการเมืองที่พลังทั้งสองฝ่ายต้องดำรงอยู่ด้วยกัน คำถามคือ จะอยู่ด้วยกันแบบไหนที่เป็นไปได้และไม่ทำลายตัวสังคมไทยลงไป และจะทะเลาะกันอย่างสันติเพื่อไปสู่จุดนั้นอย่างไร เสนอว่า ต้องทำให้การเมืองเรื่องชนชั้นเป็นประชาธิปไตย เราปฎิเสธไม่ได้แล้วว่า สังคมไทยแยกขั้ว ฐานที่แท้จริงคือเรื่องชนชั้น มีความขัดแย้งทางชนชั้นเกิดขึ้นแล้ว ทำอย่างไรจะต่อสู้กันในฐานะเพื่อนร่วมชาติอย่างเป็นประชาธิปไตยได้

 

ข้อเสนอคือต้องเคารพรัฐธรรมนูญไทยฉบับวัฒนธรรม 4 มาตรา ไม่สนใจฉบับกระดาษเพราะแก้ได้ก็แก้อีกได้ คือ 1.กองทัพต้องไม่ใช้กำลังเข้าแทรกแซง ยุ่งเกี่ยวความขัดแย้งทางการเมือง 2.ไม่ดึงสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทำลายคู่ขัดแย้งทางการเมือง เราไม่ควรดึงสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่คนไทยต่างชนชั้น และต่างขั้วการเมืองยอมรับร่วมกันมาอยู่ข้างเราเท่านั้น แล้วบอกว่าฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่ เพราะมันจะไม่มีทางออกสันติ ถ้ามีคนแบบนั้นต้องฟ้องศาลไปตามกฎหมาย จนกว่าเราจะเปลี่ยนกฎหมาย ถ้าบ้านนี้เมืองนี้มีกฎหมายอยู่ และมีใครหมิ่นก็ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่อย่ามาปลุกให้ฆ่ากันกลางถนน

 

ถึงที่สุด ถ้าเราทะเลาะกันจนถึงจุดที่เราหาที่ลงไม่ได้ เราควรจะเก็บอะไรที่เป็นของชาติเอาไว้ เพื่อทำให้เราไม่ต้องฆ่ากันในวันนั้น พิทักษ์ปกป้องและขยับขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพ พิทักษ์ปกป้องและขยับขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ทั้งสองพื้นที่นี้ถูกทั้งสองฝ่ายขยี้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม

 

0 0 0 0

 

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

 

เมื่อพูดถึงความรู้ทางรัฐศาสตร์กับทางออกของการเมืองไทย มีข้อสังเกตว่า รัฐศาสตร์ไม่ค่อยเหมือนอย่างอื่น คือโดยตัวมันเองแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ใช้ความรู้นั้น นักรัฐศาสตร์มักเป็นชนคนละกลุ่มกับผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง เพราะฉะนั้นจึงถูกนำไปใช้จริงๆ ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับศาสตร์อื่นๆ อีกหลายสาขา ผู้ปฎิบัติกับผู้รู้เป็นคนๆ เดียวกัน เช่น จบนิติศาสตร์ เป็นทนายความก็ใช้กฎหมาย เรียนแพทย์แล้วก็เป็นแพทย์ ใช้ทุกวันก็ชำนาญขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เวลาพูดว่าความรู้ทางรัฐศาสตร์กับทางออกทางการเมืองไทย ผมคิดว่า นักรัฐศาสตร์มองเห็นหลายอย่าง แต่จะทำให้ผู้อื่นที่อยู่บนเวทีการเมืองเห็นด้วยหรือไม่นั้นเป็นปัญหาใหญ่กว่าเยอะ และถ้าเขาไม่เห็นด้วยเราก็ได้แต่อภิปรายต่อเท่านั้นเอง

 

แต่ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าตัวละครทางการเมืองไม่ได้รู้รัฐศาสตร์ หรือนักรัฐศาสตร์จะรู้ดีไปทุกเรื่อง บางทีผู้มีประสบการณ์ตรงอาจจะรู้มากกว่าเรา ปัญหาคือเมื่อขึ้นสู่เวทีอำนาจ ส่วนใหญ่มักไม่สามารถนำองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์มาใช้ได้ทั้งชุด เพราะไปติดพันอยู่กับความขัดแย้ง จุดยืนที่ต้องเอาชนะคู่แข่งขัน หรือคู่ปรปักษ์ เพราะฉะนั้นก็อาจใช้รัฐศาสตร์เฉพาะบางส่วน เช่น อ่านเฉพาะซุนวู หรือแมคคิอาเวลลี แต่ที่เอามาใช้ดูจะไม่สอดคล้องกับความรู้ทางอำนาจ ส่วนคนที่เรียนรัฐศาสตร์โดยตรงก็อาจจะไม่ได้รู้ทุกเรื่อง บางท่านเก็บข้อมูลไม่ได้หมด หรือวิเคราะห์ผิดพลาด

 

รัฐศาสตร์เองก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ ไม่ได้ตายตัว แบบสะเด็ดน้ำหมดจดเหมือนวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีระบบระเบียบพอสมควร เช่น ต้องศึกษาความเป็นจริง มองปัญหาโดยเห็นความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยต่างๆ เพราะการมองโลกแบบตัดตอน อาจเข้าใจได้ไม่ครบ

 

สุดท้าย สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในรัฐศาสตร์ตลอดเวลา คือ ต้องถือความผาสุกของส่วนรวมหรือผลประโยชน์ขององค์รวมเป็นจุดหมายสูงสุด ผมเองตอนหลังถือว่าตำรารัฐศาสตร์เล่มแรกไม่ใช่เพลโต แต่เป็น เต๋าเต๊กเก็ง ซึ่งบอกว่า การปกครองชั้นเยี่ยมคือการปกครองที่ผู้ถูกปกครองรู้สึกไม่ถูกปกครอง หรือ เพลโต ก็บอกว่าผู้ปกครองต้องปกครองเพื่อผลประโยชน์ของผู้อยู่ใต้ปกครองเท่านั้น

 

และถ้าผู้ปกครองท่านใด ยึดในจุดนี้ก็จะสรรเสริญว่าเป็นรัฐบุรุษ นั่นหมายความว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ในประวัติศาสตร์ ในสังคมที่แบ่งคนเป็นหลายหมู่หลายเหล่า พระเจ้าอโศกมหาราช ช่วง 300 ปีก่อน คริสตกาล เป็นกษัตริย์ชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่ มีบทบาทเผยแพร่พุทธศาสนา แต่ต้องดูแลคนศาสนาอื่นอีกเยอะแยะ ท่านประกาศว่า ห้ามราษฎรนำความแตกต่างทางด้านลัทธิความเชื่อมาเป็นข้อขัดแย้งกัน ต้องให้เกียรติคนที่มีศาสนาต่างกัน ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยความเคารพ

 

ต่อมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จักรพรรดิอัคบา แห่งราชวงศ์โมกุล ก็เช่นกัน ท่านเป็นมุสลิม แต่มีพระบรมราชโองการให้ศาสนาต่างๆ ปฎิบัติต่อกันด้วยความเคารพ กระทั่งถึงจุดหนึ่งพยายามจะคิดศาสนากลางขึ้นมาให้ทุกฝ่ายเข้ามาแชร์ความเชื่อ ทุกฝ่ายมีพื้นที่ ที่สำคัญคือต้องโต้แย้งด้วยเหตุผล ห้ามเอาจารีตที่เป็นความเชื่อมาทะเลาะกัน ต้องใช้เหตุใช้ผลเท่านั้น

 

ฉะนั้นจากสองตัวอย่างนี้เราจะพบว่า การใช้อำนาจที่ถูกต้อง จะต้องมุ่งไปที่การสร้างความสงบสุข หรือความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งจะได้มาด้วยวิธีเดียวเท่านั้น คือ เปิดพื้นที่ให้กับสมาชิกในชุมชนทางการเมือง มีที่อยู่ที่ยืนกันทุกฝ่าย อีกทั้งมีกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน สังคมไหนถ้าไม่มีพื้นที่ให้คนทุกหมู่เหล่า และไม่มีกติกาในการอยู่ร่วม มันยากมากที่จะสร้างสันติสุข ความสมดุล หรือความพอใจทางการเมืองให้เกิดขึ้น ไม่ช้าไม่นานก็จะมีความขัดแย้ง ซึ่งถ้าไม่แก้ไขจะนำไปสู่ความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา

 

ความพอใจทางการเมือง หรือความสมดุลทางการเมือง แต่ละยุคสมัยอาจจะไม่เหมือนกัน เช่น สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ผมเคยอ่านเอกสารข้อมูลพบว่า สิ่งที่เรียกว่าประเทศราช ที่เรามักนึกถึงประเทศหรือจังหวัดที่อยู่ห่างไกลศูนย์อำนาจ แต่สมัยอยุธยามีหลายเมืองเลยที่อยู่ภาคกลาง ต่อมาเมื่อศูนย์อำนาจเข้มแข็งขึ้นแล้วค่อยไปปกครองเอง แต่ในช่วงที่ยังมีอำนาจไม่ห่างกันมากวิธีลงตัวคือให้เขาปกครองตัวเอง คำว่าเป็นประเทศราช ไม่ใช่หมายความว่าเป็นเมืองขึ้นแบบฝรั่ง แต่หมายความว่า ยอมรับฐานะสูงกว่าของศูนย์อำนาจ ส่งสัญลักษณ์ของอำนาจเป็นดอกไม้เงินดอกไม้ทอง แต่กิจการภายในดูแลตัวเอง นี่เป็นการสร้างความสมดุลและเปิดพื้นที่ให้กับหลายๆ กลุ่มที่มาอยู่ร่วมผืนแผ่นดินเดียวกัน ซึ่งในยุคปัจจุบันเราอาจไม่มีสิ่งเหล่านี้ แต่ก็มีการกระจายอำนาจ การปกครองทางท้องถิ่น เพราะฉะนั้นความพอใจทางการเมือง หรือความสมดุลทางการเมืองมันขยับเคลื่อนไปได้ตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันไป

 

ในยุคปัจจุบัน ความพอใจทางการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นง่ายๆ เพียงเพราะชนชั้นนำแบ่งกันเป็นหัวเมืองชั้นเอก ประเทศราช หรือเป็นศูนย์อำนาจเท่านั้น โลกมันเปลี่ยนไปไกล ความพอใจนั้นต้องบวกรวมความพอใจของผู้อยู่ใต้การปกครอง หรือประชาชนเข้าไปด้วยเสมอ

 

ผมไม่เชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่อยากจะยุ่งกับการเมืองทุกวัน ไม่ว่าในสหรัฐฯ ยุโรป หรืออเมริกา แต่เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตมีทุกข์มีร้อน ต้องให้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองหรือประชาชนเข้าถึงกระบวนการตัดสินใจอันส่งผลกระทบถึงชีวิตเขา ถ้าเข้าไม่ถึงก็จะเป็นปัญหา เพราะปัญหาที่เขาเผชิญไม่ได้รับการแก้ไข แต่การเข้าถึงไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องไปยุ่งทุกเรื่อง เช่นกรณีจะเดินท่อก๊าซผ่านอำเภอจะนะ จะไปถามคนเชียงใหม่ คนเชียงราย แล้วบอกว่า คนเชียงใหม่เชียงรายเห็นด้วย คนจะนะต้องยอม อันนี้ไม่ถูก ต้องถามคนจะนะ คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนที่เกี่ยวข้องแต่ละประเด็นก็อาจจะแตกต่างกันไปและมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันไป

 

อย่างในเวลานี้จะพบว่ามีการชุมนุมทางการเมืองเกิดหลายจุด โดยไม่เกี่ยวกันเลย เช่น มีการชุมนุมของรถบรรทุกที่มีปัญหาเรื่องน้ำมันแพง มีการชุมนุมของชาวไร่กระเทียมที่มีปัญหาเรื่องกระเทียมถูก ล่าสุด เกษตรกรแถวอุ้มผาง เอาผักกาดขาวกับกะหล่ำปลีมาเทโรยถนนสายแม่สอดอุ้มผาง เพื่อสะท้อนความไม่พอใจและไม่มีโอกาสได้เข้าถึงกระบวนการตัดสินใจ ตอนที่ให้นำเข้าผักกาดขาวและกะหล่ำปลีได้ ทำให้สินค้าของเขาเหลือกิโลละ 1 บาท ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ในระบอบที่จะเรียกว่าอะไรก็ตามในเวลานี้ กระบวนการเข้าถึงการตัดสินใจอันส่งผลกระทบต่อชีวิตของตน ยังไม่เข้มแข็งพอ ยังไม่เปิดพื้นที่เพียงพอ ทำให้เกิดความไม่พอใจและต้องแสดงตัวตน หรืออำนาจของผู้ได้รับผลกระทบด้วยวิธีการอื่น

 

แต่ประเด็นที่ดีสำหรับชาวบ้านคือ ชาวบ้านจะคิดเฉพาะเรื่องที่กระทบผลประโยชน์ของตน ชีวิตของตน พอจบเรื่องนั้นก็กลับบ้านได้ แต่มันมีบางประเด็นที่เกิดเป็นวิกฤตอยู่ในประเทศไทยเวลานี้ กระทบทุกคนทั้งประเทศ ซึ่งถ้าไม่ปรึกษาคนทั้งหมดก็เป็นเรื่อง เช่น เมื่อไม่นานมานี้ ผู้กุมอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง พอเริ่มต้นตั้งรัฐบาลก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ใช่ของส่วนตัวของใคร เป็นของที่มีผลกระทบคนตั้งแต่เชียงรายถึงยะลา 63 ล้านคน แล้วอยู่ๆ จะไปแก้ไขเฉพาะความเห็นของคนหมู่น้อย ในแง่ทางรัฐศาสตร์ถือว่าล้ำหน้าไปหน่อย และอาจถือเป็นความผิดพลาดก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นกลุ่มที่ต่อต้านขึ้นมาก็มีความชอบธรรมในเบื้องแรก ที่จะเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างรวบรัดตัดความเช่นนั้น เป็นเรื่องที่เหมือนกับมองข้ามประชาชน

 

แต่เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายอีกระดับหนึ่ง ถึงจุดหนึ่งที่ทางฝ่ายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถอนญัตติ แล้วในเวลานี้อาจจะเป็นประเด็นที่เอาไปไว้ข้างหลังก่อน ยังไม่ใช่ประเด็นร้อนเหมือนกับเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ฝ่ายที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลได้ยกระดับข้อเรียกร้องไปถึงจุดที่เรียกว่า ขับไล่นายกฯ และรัฐบาล นี่ก็จะคล้ายๆ กับตอนที่กลุ่มจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะรวบรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ปรึกษาคนที่จะได้รับผลกระทบ เพราะรัฐบาลเป็นของที่ใช้สอยกันอย่างถ้วนหน้า จะต้องถามคนที่ใช้สอยรัฐบาลที่อื่นๆ ด้วย ว่าจะดีชั่วอย่างไรมีความคิดเห็นเช่นเดียวกันหรือไม่

 

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ทั้งสองฝ่ายมีข้อผิดพลาดในประเด็นนี้คล้ายๆ กัน คือไม่ได้ปรึกษาผู้ที่เกี่ยวข้อง พูดภาษาซ้ายเก่าก็คือล้ำหน้ามวลชน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เพราะจะนำไปสู่ความโดดเดี่ยวได้ ผมว่าปรากฎการณ์ที่เราเจอเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง คือ เราเจอคู่ขัดแย้งซึ่งกำหนดชะตากรรมประเทศชาติซึ่งโดดเดี่ยวทั้งสองฝ่าย

 

แล้วเราจะทำอย่างไรดี ถ้ารัฐศาสตร์ยังมีความหมาย ผมอยากให้ทุกฝ่ายกลับไปทำงานมวลชนใหม่ กลับไปถาม กลับไปคุย ไปทำให้คนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมว่าคิดเห็นยังไงกับประเด็นที่เป็นอยู่ บางกลุ่มบางฝ่ายอาจมีจุดยืนแน่นหนาที่ไม่ยอมเปลี่ยนเป็นอื่นแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำงานมวลชน เพราะการเมืองต้องเอาสิบสู้หนึ่งเสมอ เพราะเป็นเรื่องของฉันทานุมัติ ซึ่งฉันทานุมัติจะทำให้ความรุนแรงสลายไป หลักรัฐศาสตร์มันเป็นเช่นนี้

 

แต่ปัญหามีอย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่แรก นักรัฐศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ผู้ที่อยู่บนการเมืองก็อีกกลุ่มหนึ่ง เราก็ได้แต่บอกว่ามันควรเป็นเช่นนี้ เหมือนอย่างครั้งหนึ่งที่มาร์กซ์หรือเลนิน เคยพูดไว้ว่า นักปรัชญาอธิบายโลก แต่ประเด็นมันอยู่ที่เปลี่ยนโลก

 

ทั้งนี้ อยากเตือนทุกฝ่ายด้วยความรักและหวังดี ว่า จากการสังเกตของผม ความขัดแย้งที่ถึงขั้นวิกฤต จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความขัดแย้งหลายคู่ๆ เกิดในเวลาและสถานที่เดียวกัน ตัวอย่างตอน 14 ตุลา 16 มันไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนชั้นล่างกับอำนาจรัฐเท่านั้น ในหมู่ผู้กุมอำนาจรัฐก็ขัดแย้งกัน ถึงขั้นแตกหัก ตอนนั้นก็ข้าวสารแพง น้ำมันขึ้นราคา คนงานลำบากยากแค้น ชาวนากำลังสูญเสียที่ดิน ชนชั้นกลางก็หงุดหงิดกับค่าครองชีพ ขณะเดียวกันในกองทัพก็ขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ มาประจวบเหมาะกับความขัดแย้งระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นนำจะกลายเป็นความขัดแย้งที่เป็นวิกฤตใหญ่

 

เวลานี้เหมือนเมฆฝนตั้งเค้า ถ้าไม่เตรียมตั้งสติให้ดี อาจเกิดพายุใหญ่ได้ เพราะฉะนั้น ถามว่ารัฐศาสตร์ชี้ทางออกทางไปได้แค่ไหนนั้น ขึ้นกับสติสำนึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องมองภาพใหญ่เช่นนี้ให้ออก ไม่เช่นนั้นแล้ว มันก็จะคลี่คลายไปตามครรลองของมัน แต่ว่าผู้ที่ยังไม่เกี่ยวข้อง คือประชาชนส่วนใหญ่ ผมแนะนำให้เกี่ยวข้องบ้าง เพราะจะช่วยเป็นหมอนรองกระแทก เช่น ที่มานั่งอยู่ตรงนี้ มาแสดงความคิดความเห็น พอมีความคิดความเห็นหลากหลายขึ้น การจับขั้วก็มุมแดงมุมน้ำเงินก็จะค่อยๆ พร่าเลือนไป

 

เมื่อมองจากจุดยืนของรัฐศาสตร์ ที่อยากเห็นความผาสุกของคนทั้งหมด ผมไม่อยากเห็นความรุนแรง ไม่อยากเห็นจราจล มิคสัญญี หรือนองเลือดบนถนนราชดำเนินอีก ผมก็เช่นเดียวกับ อ.เกษียร คือเราเป็นทหารผ่านศึก และก็ไม่มีใครหน่ายสงครามเท่ากับนักรบที่เคยผ่านสมรภูมิ

 

 

 

0 0 0 0

 

 

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

การพูดอะไรในเวลานี้อยู่ในบรรยากาศของการแบ่งฝักฝ่าย เมื่อพูดแล้วก็จะต้องถูกผลักไปอยู่ข้างหนึ่งข้างใดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้นอกจากจะได้มีส่วนไปร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วยังถูกเชิญให้ไปชำระสิ่งที่ตัวเองทำด้วย ก็กำลังคิดอยู่ว่าจัดการอย่างไรกับปัญหานี้

 

วันนี้มีสิ่งที่ต้องพูดให้ชัด 3 เรื่อง คือ 1.กรอบของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในทางรัฐศาสตร์ 2. ปัญหาการเมืองไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองไทย 3.สถานการณ์ปัจจุบันและข้อเสนอ

 

1. ความเห็นต่อสถานะของรัฐธรรมนูญ

 

เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญในทางรัฐศาสตร์มี 3 ชนิด คือ 1) รัฐธรรมนูญมีมาเป็น 2000 ปี บางคนบอกว่าอริสโตเติลเป็นคนคิดคำว่า constitution (รัฐธรรมนูญ) ขึ้นมา รัฐธรรมนูญโบราณสมัยกรีกมุ่งสร้างรัฐที่ดี การปกครองที่ดี แต่ไม่มีองค์ประกอบดังปัจจุบัน ไม่มีหลักเรื่องการแยกอำนาจ ไม่มีเรื่องการเลือกตั้งแบบมีพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญแบบนี้จึงมีลักษณะเผด็จการ ซึ่งใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ถ้าใครสงสัยก็กลับไปดูธรรมนูญของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ธรรมนูญของถนอม กิตติขจร หรือแม้กระทั่งธรรมนูญของ รสช. และ คมช. ก็เป็นการปกครองที่ใช้ไม่ได้แล้ว

 

2) รัฐธรรมนูญแบบนี้มุ่งจำกัดอำนาจรัฐบาลให้น้อยลง มีเป้าหมายในการแยกอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มีการเลือกตั้ง เราอาจเรียกได้ว่าเป็นการเกิดขึ้นของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีปัญหาและวิวัฒนาการของมัน ซึ่งเรารับมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2475 เป็นต้นมา และไม่แน่ใจว่าปัจจุบันเรายังใช้อยู่หรือไม่ เพราะตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาสังคมได้เคลื่อนที่มาใช้รัฐธรรมนูญอีกแบบหนึ่งซึ่งเน้นหลักนิติรัฐ

 

3) ประชาธิปไตยตัวแทนที่มีหลักนิติรัฐเป็นการปกครองอีกชนิดหนึ่ง มีหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจ มีองค์กรทำหน้าที่กำกับ ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แนวคิดแบบนี้เกิดขึ้นภายหลัง ในยุโรปเกิดขึ้นไม่ถึง100 ปี เมืองไทยอาจจะเริ่มมา 10 ปี แต่ไม่แน่ใจว่าเข้าใจกันหรือไม่ เพราะผู้แทนฯ จำนวนมากก็ยังสงสัยว่าผ่านการเลือกตั้งเข้ามาแล้วยังต้องมาตรวจสอบอีก นี่เป็นปัญหาของสิ่งที่นำเข้ามาซึ่งสร้างความสับสนวุ่นวายในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจพอสมควรว่าใครควรถูกควบคุมโดยใคร เพราะอะไร เรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาอยู่ ส่วนหนึ่งก็เพราะคนจำนวนหนึ่งไม่อยากขึ้นศาล ไม่อยากถูกตรวจสอบ

 

2.ประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ต้นปี 2492 คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยังไม่ได้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์กบฏวังหลวง ได้มีโอกาสเจอศิษย์เก่าธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งในปีนั้น บางท่านถือปืนกลมาด้วยเพื่อไปยึดวังหลวง และความวุ่นวายของการเมืองไทยไม่ได้จบเพียงเท่านั้นยังดำเนินต่อเนื่องไปอีก มีคนบอกธรรมศาสตร์จะถูกทหารยึดคืน ยกเลิกผู้ประศาสน์การ ถ้ามีความจำทางประวัติศาสตร์มากพอจะเห็นว่า การเมืองไทยมีความขัดแย้งเป็นระยะๆ ทั้งในระดับผู้นำและมวลชนด้วย เรามีนายกรัฐมนตรีหลายคนต้องจบชีวิตต่างประเทศ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาสิ้นชีวิตที่ปีนัง ท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามสิ้นชีวิตที่ญี่ปุ่น อาจารย์ปรีดี (พนมยงค์) สิ้นชีวิตที่ฝรั่งเศส นี่ยังไม่พูดถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงต้องสละราชสมบัติไปอยู่ที่อังกฤษถึง 7 ปี ในระดับล่างก็เช่นเดียวกันถูกคุกคามเต็มไปหมด อาจารย์ธรรมศาสตร์หลายคนก็ถูกยิงตาย เช่น ทองเปลว ชลภูมิ เป็นต้น ยังไม่นับรวมเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ และอีกมากมาย

 

ดังนั้น ประชาธิปไตยอยู่คู่กับความขัดแย้งอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมันเอง ความรู้ทางรัฐศาสตร์ไม่ควรสอนว่ามันคือความสันติ และไม่มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยเหตุการณ์ใดเป็นที่ยุติเลย มองต่างมุมได้ทุกเหตุการณ์ เพียงแต่เราจะใจกว้างมองด้านบวกหรือลบของมันอย่างไร

 

3. สถานการณ์ปัจจุบันและทางออก

ความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2540 จนปัจจุบันนั้นมองได้เป็นเนื้อเดียวกัน การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการเคลื่อนการปกครองจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง จากเดิมที่ใช้ประชาธิปไตยตัวแทนเพียงอย่างเดียวมาใช้ระบบประชาธิปไตยตัวแทนบวกกับหลักนิติรัฐ การตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งตัวโครงสร้างระบบนั้นดีแต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ สถาบันย่อยๆ ที่ดำเนินการได้อย่างไม่เรียบร้อย ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง กระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2549

 

จนถึงวันนี้ความขัดแย้งเหล่านี้ยังดำรงอยู่ การเลือกตั้งเมื่อปี 2550 เป็นเพียงชะลอความขัดแย้งเท่านั้น เพราะคราวนี้ผู้นำตัดสินใจกลับมาในประเทศแทนที่จะอยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบที่ถูกวางมาแบบใหม่คงหลีกหนีไปต่างประเทศไม่ได้ ถ้ากระบวนการศาล หรือกระบวนการตรวจสอบจบสิ้นได้ถือว่าการเคลื่อนที่ของระบอบประชาธิปไตยของไทยก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็น่าจะเลิกศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระไปเลยดีกว่า แล้วย้อนหลังกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2521 หรือ 2534 ที่ใช้ระบบตัวแทน แบ่งแยกอำนาจสามฝ่ายคานอำนาจกันไปมา

 

ในความเห็นส่วนตัว นี่เป็นช่วงที่น่าท้าทาย ซึ่งเราคงต้องอยู่กับความขัดแย้งแบบนี้ไปสัก 4-5 ปี แม้ศาลจะตัดสินมาแล้ว ใจคนจำนวนมากก็คงยังไม่ยอม แต่คนต้องเรียนรู้ว่าประชาธิปไตยปัจจุบันต้องอยู่พร้อมกับระบบการทำงานของศาลด้วย

 

 

สุรชัย ศิริไกร

 

ทฤษฎีสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้องค์ความรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้งในสงครามมากกว่าทฤษฎีใด นักทฤษฎีความขัดแย้งกล่าวไว้ว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต้องดูที่รากเหง้าก่อนว่าเกิดจากอะไร ซึ่งเขาชี้ว่ารากเหง้าของปัญหาทั้งหลายเกิดจากแรงจูงใจ 3 อย่าง 1.ความต้องการของมนุษย์ในสิ่งจำเป็น (needs) 2.ความต้องการด้านค่านิยม 3.สถาบัน

ถ้าความขัดแย้งเกี่ยวข้องกับสองข้อหลังจะรุนแรงแน่นอน เพราะมนุษย์มักจะยึดถือค่านิยม วัฒนธรรมและสถาบันการเมืองที่ตนเองยึดถือโดยไม่ยอมแก้ไขง่ายๆ ถ้าเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก้ได้ง่าย ซึ่งแตกต่างกับความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ซึ่งแก้ไข ประนีประนอมกันได้ง่าย

 

ฉะนั้น ความขัดแย้งในปัจจุบันถ้าพูดชัดๆ ก็คือ รัฐบาลคุณสมัครกับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งขัดแย้งกันใน 2 ประเด็นหลัก 1.ทั้งสองฝ่ายมีมุมมองเรื่องประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน รัฐบาลคุณสมัครยังมองประชาธิปไตยแบบเก่า เป็นแบบตัวแทนมาจากการเลือกตั้งจะทำอะไรก็ได้ ขณะที่พันธมิตรฯ มีแนวคิดใหม่ที่บอกว่าประชาธิปไตยต้องมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาลตลอดเวลาและมีสิทธิประท้วงได้ เช่น เราจะเห็นว่าทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะสหรัฐ เมื่อประชาชนไม่พอใจรัฐบาลก็จะโหวตด้วยเท้า คือ เดินออกมาบนท้องถนนแล้วขับไล่รัฐบาลในช่วงสงครามเวียดนาม

 

แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่าคือ 2.ความขัดแย้งในเรื่องนโยบาย ฝ่ายรัฐบาลจะเห็นว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ฝ่ายพันธมิตฯ กลับเห็นว่ารัฐบาลกำลังทำหลายอย่างในการเปลี่ยนระบบจากระบบพระมหากษัตริย์ไปสู้ระบบประธานาธิบดี เสมือนว่ารัฐบาลสมัครกำลังเปลี่ยนความปกครอง จะจริงหรือไม่คงไม่พูดตรงนี้แต่อย่างน้อยมันเป็นข้อกล่าวหาโดยพยายามหาหลักฐานต่างๆ มามากมาย และมันกลายเป็นความขัดแย้งที่เป็นเรื่องค่านิยมไปแล้ว เป็นเรื่องสาหัส ซึ่งทำให้พันธมิตรไม่ยอมรอมชอมเนื่องจากมันเป็นการเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนค่านิยม อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่าคนจำนวนมากยังไม่ค่อยเชื่อ เปรียบเหมือนกับว่าคนเราเวลาเห็นอะไรลอยๆ ขึ้นมาจากภูเขา ก็เห็นว่าสวยดี ไม่เห็นมีอะไร เขาจึงไม่สนใจข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ว่ารัฐบาลไม่รับผิดชอบต่อประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่สนใจรัฐประหารอีกต่อไป แต่คนที่มีความรู้จะเห็นว่าควันที่ออกมาจากภูเขาเยอะขึ้นๆ เราอาจต้องหลบหนีไปห่างจากภูเขาไฟ แต่บางคนเห็นว่าถ้าเราหนีไป คนอื่นๆ ที่ไม่รู้เรื่อง สังคมทั้งสังคมจะพัง จึงต้องแสดงให้ประชาชนเห็นอันตราย การที่ประชาชนจำนวนมากไม่ค่อยแน่ใจเพราะหลักฐานยังไม่ชัดอย่างที่กล่าวหา

 

ความขัดแย้ง 2 ประเด็นนี้แตกต่างกันมาก จึงยากที่จะรอมชอมกันได้ ทางออกมีอยู่ 2 ทางคือ 1.ถ้าฝ่ายรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าล้มล้างระบอบก็ต้องยุติ ถ้าไม่ยุติ ไม่เช่นนั้นฝ่ายต่อต้านก็จะต่อต้านจนกว่าถ้าเขาไม่แพ้อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องแพ้ 2. ถ้ารัฐบาลมั่นใจว่าไม่ได้มีเจตจำนงเช่นนั้น ก็ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนโดยการประกาศว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายเช่นนั้น เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องมดเท็จ และพร้อมจะแก้ข้อกล่าวหาทั้งหมด เช่น จะไม่แก้รัฐธรรมนูญใน 2 ปีนี้ ไม่แทรกแซงกระบวนการศาล ไม่โยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับคดี

 

ปัจจัยตัวหนึ่งที่จะช่วยได้อย่างสำคัญคือ ประชาชนต้องออกมามีส่วนร่วมแสดงความเห็นด้วยว่าเห็นด้วยกับฝ่ายไหน เพื่อหยุดความขัดแย้งยืดเยื้อที่เกิดขึ้น

 

 

0 0 0 0

 

 

ตอบคำถาม (บางส่วน) ท้ายการสัมมนา

 

ถาม : ข้อที่ว่าไม่ให้ทุกฝ่ายดึงสถาบันมาเป็นเครื่องมือ แต่มีบางฝ่ายผลักคนอื่น อย่างเช่นวารสารฟ้าเดียวกันอยู่ข้างเดียวกับ ทักษิณ นปก. ทั้งที่ส่วนที่วิจารณ์สถาบัน ไม่จำเป็นต้องชอบทักษิณ ถามว่าพื้นที่ตรงนี้ควรจะหาที่ทางยังไง

 

 

เกษียร : คำวิจารณ์จากค่ายผู้จัดการหรือผู้นำพันธมิตรฯ บางคนที่ว่าหนังสือบางฉบับ หรือนักวิชาการบางคนมีทัศคติที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องรับฟังแล้วใช้วิจารณญาณ เพราะความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของพวกเขานั้น ไม่แน่ว่าจะตรงกับสังคมทั่วไป หรือเป็นเอกภาพเดียวกันทั้งประเทศไทย

ขอยก 2 กรณี ในพระราชดำรัส 25 เมษายน 2549 ขณะนั้นพันธมิตรฯ มีข้อเสนอขอพระราชทานนายกฯ เป็นผู้นำปฏิรูปการเมืองโดยอ้างมาตรา 7 ในพระราชดำรัสองค์นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบอกว่าทำไม่ได้ นั่นเป็นการปกครองแบบมั่ว เราอาจจะประมาณได้ว่า จากพระราชดำรัสองค์นั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับของพันธมิตรฯ ไม่ตรงกัน

 

นอกจากนั้นมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ซึ่งจำตัวเลขไม่ได้ เกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทที่คุณทักษิณฟ้องคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) ศาลตัดสินให้คุณสนธิแพ้และมีโทษจำคุก คำตัดสินบอกด้วยว่าศาลไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่คุณสนธิอ้างอิงสถาบันกษัตริย์มาใช้ในทางการเมืองเพื่อโจมตีคุณทักษิณ เราอนุมานจากกรณีนี้ได้เช่นกันว่าศาลกับของคุณสนธิเห็นไม่ตรงกันเรื่องนี้

 

เท่าที่พยายามศึกษาจากคำแถลงของคุณสนธิและของคุณคำนูณ (สิทธิสมาน) ซึ่งมีบทบาทมากในผู้จัดการ ลักษณะความเข้าใจหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของคุณสนธินั้นมีลักษณะพิเศษมาก ซึ่งไม่ทราบว่าถูกหรือผิด แต่น่าสนใจยิ่ง มีปัญหาจำนวนหนึ่ง มีข้อสังเกตจำนวนหนึ่ง ซึ่งเราต้องพูดกันยาว ดังนั้น พึงฟังข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างรอบคอบ ผมอยากจะเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้...ในเวลาที่เหมาะสม

 

ประการต่อมา ในพระราชดำรัส ก่อนวันพระราชสมภพวันที่ 5 ธันวาคม 2548 ช่วงนั้นมีคดีความที่รัฐบาลทักษิณและตำรวจจำนวนมากราวกับนัดหมายกันมาฟ้องคุณสนธิทั่วประเทศว่าหมิ่นฯ พระราชดำรัสวันนั้นพระองค์บอกว่า The King can do no wrong นั้นไม่ถูก แต่ The King can do wrong วิพากษ์วิจารณ์ได้ ทำให้รัฐบาลถอนฟ้องคดีหมิ่นของคุณสนธิทั้งหมด เราอาจอนุมานได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยหลักการแล้วทรงเห็นว่า สถาบันกษัตริย์หรือพระองค์เองนั้น can do wrong หรือสามารถวิจารณ์ได้

 

ประการต่อมา หลังรัฐประหารเป็นต้นมามีการแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์เยอะตามเว็บบอร์ดต่างๆ ทัศนะเหล่านั้นอาจเริ่มต้นด้วยจุดยืนทางการเมืองอันแตกต่างหลากหลายเกี่ยวกับระบอบการปกครอง ถ้าเป็นการวิจารณ์ด้วยเหตุผล บนพื้นฐานข้อเท็จจริงก็สมควรรับฟัง การวิจารณ์เหล่านั้นควรอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ที่ผมรับไม่ได้คือการวิจารณ์โดยดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ถูกวิจารณ์ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ผมรับไม่ได้จริงๆ ต่อให้คุณเกลียดเขาทางการเมืองแค่ไหน ก็ไม่มีสิทธิวิจารณ์อย่างดูหมิ่นไม่เป็นมนุษย์ เกินเลยไปถึงครอบครัวของเขา ไม่ว่าคนที่ถูกวิจารณ์จะเป็นอดีตนายกฯ หรือคนที่สูงกว่าอดีตนายกฯ คุณมีสติเป็นมนุษย์แต่คุณไม่ทำ แล้วเจ้าของเว็บทั้งหลายควรรับผิดชอบที่จะเขี่ยทัศนคติที่ดูหมิ่นความเป็นมนุษย์ของคนอื่นทิ้ง ผมอายแทนพวกคุณ พวกคุณปล่อยให้คน abuse เสรีภาพเพื่อดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น คุณไม่อายหรือ ปล่อยให้เขาใช้พื้นที่ของคุณยุยงความเกลียดชัง คุณบ้าหรือเปล่า (เน้นเสียงดัง)

 

 

ถาม : ในฐานะที่อาจารย์ชัยวัฒน์เขียนบทความเรื่องอารยะขัดขืน ตอนนี้พันธมิตกำลังอ้างเรื่องเดียวกัน อยากทราบว่าหลักการของอารยะขัดขืนของอาจารย์ เหมือนและแตกต่างอย่างไรกับของพันธมิตร

ชัยวัฒน์ : ประเด็นหลักคือ มันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่มีเป้าหมายและวิธีการเป็นอารยะ หมายความว่า บางครั้งเวลาเราเห็นว่ารัฐทำผิด และเรามีมาตรฐานความถูกอย่างอื่น เราอาจจะคัดค้านรัฐก็ได้ แต่วิธีการที่ทำต้องเป็นอารยะ คือต้องเปิดเผย ไม่ใช่ความรุนแรงซึ่งรวมถึงวาจาด้วย ในที่สุดแล้วเมื่อมันละเมิดกฎหมาย เมื่อรัฐจับก็ยอมรับผลของสิ่งที่เกิดขึ้น นี่เป็นเกมส์ของอารยะขัดขืน หมายความว่ามันเป็นสันติวิธีชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในกรอบของรัฐซึ่งใกล้ความเป็นประชาธิปไตย เช่น ในอังกฤษ อเมริกา และอาจจะไทยด้วยเหมือนกัน แต่ใช้ไม่ได้ในพม่า ก็ต้องไปดูว่าเขาเป็นไปตามเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่

 

 

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
 ทีมข่าวการเมืองข่าวเรื่องนิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์ ถูกแบน ในประเทศไทย ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของเอพี และเสตรทไทม์ ขณะที่ในเมืองไทย [1] ข่าวดังกล่าวไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลัก และเพิ่งมาปรากฏขึ้นในลักษณะของการตอบโต้จากทางการไทย ผ่าน.นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงบรรณาธิการนิตรสาร ดิ อิโคโนมิสต์  ระบุว่า....            "รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อมุมมองและทัศนคติของนิตยสารฉบับดังกล่าว ซึ่งลงบทความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย และตีความเหตุการณ์ต่างๆ ไปตามการคาดเดา…
หัวไม้ story
“ผมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นฝีมือของพวกฉวยโอกาส หากพันธมิตรฯจะทำก็ต้องเป็นตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี เพราะสามารถสร้างความเสียหายมากกว่า ได้ผลมากกว่า และสะใจมากกว่า ไม่อย่างนั้นจะเก็บไว้อย่างดีทำไม” สุริยะใส กตะศิลา, 5 ธ.ค. 2551  ทีมข่าวการเมือง   ภาพในตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาลหลังการชุมนุมยุติที่มาของภาพ: คุณ Me.....O กระดานข่าวพันทิพ ห้องราชดำเนินhttp://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P7288033/P7288033.html  
หัวไม้ story
"ถ้างวดนี้ มีการใช้ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง พี่น้องครับ พี่น้อง พ่อแม่พี่น้องทั่วประเทศไทย ต้องลุกฮือขึ้นมาแล้วให้เลือดนองแผ่นดิน"  ... "ผมจะบอกให้พวกสัตว์นรกรู้ ว่างวดนี้ถ้าประชาชนเขามา เขามาพร้อม ‘ของ' กันหมด" - สนธิ ลิ้มทองกุล 20 พ.ย. 2551 ทีมข่าวการเมืองประชาไท สนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับการอารักขาโดย ‘นักรบศรีวิชัย’ เมื่อ 26 ส.ค. 51 ที่มาของภาพ adaptorplug (CC)  
หัวไม้ story
  วันที่ 15 พฤศจิกายน คือวันประชุมสุดยอดผู้นำโลก 20 ชาติว่าด้วยเศรษฐกิจ ซึ่งถูกคาดหมายว่า จะเป็นการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการทางการเงินของโลกอีกครั้งหลังจากมันเคยเกิดขึ้นแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเศรษฐกิจโลกพังพาบลง จนนำมาสู้ระบบแลกเปลี่ยนเงินที่ชื่อว่า Bretton Woods SystemG20: "we must rethink we must rethink the financial system from scratch, as at Bretton Woods."นิโคลัส ซาร์โกซี ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสเป็นผู้เอ่ยประโยคนี้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา และนำมาสู่การกำหนดการประชุมสุดยอดผู้นำโลกที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. นี้
หัวไม้ story
โอบามากับสงครามสีผิวที่กำลังจะเปิดฉาก? ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งจบลงไปด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของบารัก โอบามา ผู้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นคนผิวสี คนแรกที่เดินเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดี โอบามา เป็นลูกผสมระหว่างแม่ซึ่งเป็นคนผิวขาว กับพ่อเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งไม่ได้ย่างเท้าลงบนแผ่นดินอเมริกาในฐานะทาส แต่เป็นนักศึกษา แม้จะไม่ใช่คนผิวดำ หรือลูกหลานแอฟริกันขนานแท้ ที่เติบโตขึ้นจากครอบครัวที่มีบรรพบุรุษเป็นทาส แต่บารัก โอบามา ก็ถูกจำจดในฐานะเป็นตัวแทนของคนผิวสีที่ได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะไม่ได้ผ่านประวัติศาสตร์ร่วมกับคนแอฟริกัน-อเมริกัน…
หัวไม้ story
แม้ว่าคนจนในประเทศไทย จะเลือกตาย ด้วยหวังให้การตายส่งเสียงได้มากกว่ายามที่พวกมีชีวิตอยู่ ทว่า ไม่ช้าไม่นาน ความทรงจำของสังคมก็เลือนรางลงไป แต่คนจนอย่างนวมทอง ไพรวัลย์ เลือกวิธีตาย และเลือกใช้การตายของเขาส่งเสียงดังและอยู่ยาวนาน อย่างน้อยก็ใน 2 ปีต่อมา เขายังไม่ถูกลืมเลือน
หัวไม้ story
ประชาไทขอนำเสนอคลิปวิดิโอ 'หลังทักษิณ' มุมมอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากคนใกล้ตัวที่บ้านเกิด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และบทวิเคราะห์การเมืองไทยหลังทักษิณ โดย รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
หัวไม้ story
  ทีมข่าวภาคใต้มายาภาพของการต่อสู้ทางการเมืองไทยในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถูกกล่าวว่าอ้างว่าเป็นสงครมมระหว่างภูมิภาค คือ ภาคใต้ กับภาคเหนือและภาคอิสาน แต่หากมองลึกลงไปในกระบวนการต่อสู้ของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคพลังประชาชน อาจพบว่าแท้จริงแล้วการพื้นที่ทางการเมืองระดับนำก็ยังคงเป็นของคนใต้อยู่เช่นเดิม
หัวไม้ story
จับตาการเดินทัพของพันธมิตรฯ จากคำปราศรัยของแกนนำชื่อ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ หลังประกาศทบทวนแนวทางสันติวิธี ระบุแกนนำทั้งหลายไม่กลัวตาย “แต่ถ้าพวกเราบางคนจะต้องตาย พี่น้องสัญญาอย่าง ต้องให้แผ่นดินนี้ ลุกขึ้นเป็นไฟให้ได้”
หัวไม้ story
  เมื่อพูดกันถึงเรื่องการปฏิรูปการเมืองก็ไม่แคล้วตามมาด้วย การแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง นับเป็นสิ่งที่สังคมไทยถนัดในการแก้ปัญหาการเมืองโดยการเขียนอะไรบางอย่างขึ้นมาบังคับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร กระทั่งแม้แต่นักกฎหมายมหาชนเองก็ยังแซวผู้เชี่ยวชาญในสาขาของตัวเองได้ว่า ประเทศไทยนั้นมีความเชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญที่สุดในโลกนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 กล่าวในรายการตอบโจทย์  ทางสถานีไทย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ว่าที่สุดแล้ววิกฤตของการเมืองไทยวันนี้มันก็เริ่มมาจากการแก้รัฐธรรมนูญที่ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอนั่นเองย้อนเหตุการณ์ให้ฟังอีกครั้งว่า…
หัวไม้ story
  พิณผกา งามสม   ในระหว่างที่การต่อสู้ทางการเมืองไทยยังคงถกเถียงกันเรื่องโมเดลการเมืองใหม่ การเมืองใหม่กว่า รวมถึงระบบโควตาและระดับความชอบธรรมของ ‘เสียง' การเมืองเพื่อนบ้านของไทยก็กำลังเข้มข้นอยู่บนหนทางเดิมๆ ตามระบอบรัฐสภาเมื่อนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซียประกาศว่าจะเขย่ารัฐบาลมาเลย์ให้ล่มเพื่อเปิดโอกาสในการจัดสรรที่นั่งในสภากันใหม่ โดยยึดเอาวันที่ 16 กันยายนเป็นวันดีเดย์ แรกทีเดียว หลายฝ่ายอาจคิดว่าเป็นเพียงการสร้างสีสันให้การรณรงค์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านอย่างที่เคยทำมาอย่าแข็งขัน เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า…
หัวไม้ story
  วิทยากร  บุญเรืองขณะที่ Frank Lampard ดาวเตะแข้งทองของทีม Chelsea พึ่งบรรลุข้อตกลงสัญญา 5 ปีที่มีมูลค่าสูงถึง 39.2 ล้านปอนด์ โดย Lampard จะได้รับค่า 151,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 3,775 ปอนด์ต่อชั่วโมง! แต่จากการสำรวจของ The Fair Pay Network และ Institute of Public Policy Research (IPPR) พบว่าพนักงานทำความสะอาด พ่อครัวแม่ครัว และแรงงานตัวเล็กๆ ทั้งหลาย ของสโมสรอย่าง Chelsea, Spurs, Arsenal, West Ham และ Fulham กลับได้รับค่าเหนื่อยจากสัญญาจ้างค่าแรงขั้นต่ำแค่ 5.52 ปอนด์ต่อชั่วโมงเท่านั้น