Skip to main content

นรุตม์ เจริญศรี
คณะรัฐศาสตร์ฯ ม.เชียงใหม่

การเลือกตั้งของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2017 นั้นสะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งของพรรค LDP ในสังคมญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผลจากการยุบสภาของ Abe เนื่องจากประเด็นทางการเมืองหลายประเด็น BBC (2017a) ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่ามูลเหตุที่ทำให้ Abe ยุบสภาเพราะ Abe เผชิญกับปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาที่ว่า Abe ใช้อิทธิพลเพื่อที่จะช่วยเหลือเพื่อนของเขาเปิดมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งใหม่ เขายังถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มที่มีความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง อีกทั้ง Abe ยังถูกกล่าวหาว่าพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นเพื่อให้สามารถมีกองทัพได้ และเขาก็ยังต้องเผชิญกับข้อถกเถียงที่เขาพยายามเสนอกฎหมาย Anti-Terror Law (BBC 2017a) ข้อกล่าวหาเหล่านี้ทำให้ความนิยมของตัว Abe ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับมือกับวิกฤติเกาหลีเหนือ (BBC 2017a, Osaki 2017) ทำให้ Abe ตัดสินใจยุบสภาเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งว่าเห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินนโยบายของเขาหรือไม่


นาย Abe Shinzo (ภาพจาก Wikipedia)

การเลือกตั้งครั้งนี้ LDP ต้องต่อสู้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อท้าทายบทบาทของ LDP ที่ครองอำนาจในการเมืองญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน พรรคประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น (Constitutional Democratic Party of Japan: CDPJ หรือ Rikken Minshuto ในภาษาญี่ปุ่น) ก็เพิ่งถูกตั้งขึ้นและก็ได้รับความนิยมอย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีชื่อว่าพรรคแห่งความหวัง (Party of Hope หรือ Kibo no To ในภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งถูกตั้งโดย Koike Yuriko ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียว มาแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นเดียวกัน


นาย Edano Yukio หัวหน้าพรรค CDPJ (ภาพจาก Wikipedia)

พรรค CDPJ เสนอนโยบายต่อต้านการพลังงานนิวเคลียร์ ต่อต้านการขึ้นภาษี และต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 (The Mainichi 2017)


นาง Koike Yuriko หัวหน้าพรรค Party of Hope (ภาพจาก Wikipedia)

พรรค Party of Hope เสนอนโยบายที่แตกต่างไปจาก LDP อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ การจัดการประเด็นเรื่องการรับเด็กเข้าโรงเรียนก่อนอนุบาล การจัดการสายไฟฟ้าที่ยุ่งเหยิงในประเทศ การจัดการรถไปในประเทศที่แออัด การพยายามเสนอประเด็น Second-Hand Smoke การจัดการประเด็นการทารุณสัตว์ การจัดการอาหารเสีย และการจัดการกับโรคไข้ละอองฟาง (Hay Fever) การ เป็นต้น (Mealey 2017)

ผลการเลือกตั้ง (ข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2017 เวลาก่อนเที่ยงคืน) พรรค LDP และพรรคร่วมได้คะแนนเสียงที่พอจะทำให้มีที่นั่งในสภาได้กว่า 312 ที่นั่งในสภา (จากที่นั่งทั้งหมด 465 ที่นั่งในสภาล่าง) ซึ่งผลนี้ทำให้พรรค LDP สามารถครองที่นั่งได้มากกว่า 2 ใน 3 ของสภา (BBC 2017b) โดยคิดเป็นร้อยละ 61.08 ในขณะที่พรรค CDPJ ได้ที่นั่งร้อยละ 11.83 และพรรค Party of Hope ได้ไปร้อยละ 10.75 ส่วนที่เหลือเป็นพรรคอื่นๆ

Mealey (2017) วิเคราะห์ว่า แม้ว่าวิกฤติต่างๆ ที่ Abe ต้องเผชิญจนทำให้เขาต้องยุบสภานั้น แต่ด้วยตัวเลือกที่มีอยู่ ทำให้ประชากรญี่ปุ่นไม่มีตัวเลือกมากนัก และท้ายที่สุดก็ยังเลือก LDP เหมือนเดิม

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ​Japan Times (2017) ได้นำเสนอข้อมูลว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้มีจำนวนของผู้หญิงที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภาเพิ่มขึ้น ผลของการเลือกตั้งในครั้งนี้ ผู้หญิงจำนวน 47 คนได้รับการเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในสภา ซึ่งมากกว่าผลของการเลือกตั้งของรัฐบาลก่อนที่มีผู้หญิง 45 คน กระนั้นก็ตาม สัดส่วนของผู้หญิงก็ยังมีจำนวนที่น้อย สัดส่วนของผู้หญิงที่มีไม่มากนี้ทำให้ญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 165 ของโลกในการมีตัวแทนผู้หญิงในสภา ซึ่งถือเพียงเป็นประมาณร้อยละ 9 ในสภาเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าปากีสถานหรือซีเรียเสียอีก (Japan Times 2017)

ผลของการเลือกตั้งนี้ท้าทายบทบาท และทำให้เราต้องจับตาความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายภายใต้ LDP อีกครั้ง โดยประเด็นทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเผชิญใหญ่ๆ นั้นประกอบไปด้วย

·      การแก้ไขรัฐธรรมนูญ: ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นเป็นประเด็นที่ยืดเยื้อมายาวนาน เพราะมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้จำกัดอำนาจและบทบาททางการทหารของญี่ปุ่น ความคับแคบของบทบาทของกองกำลังป้องกันประเทศของญี่ปุ่นที่รัฐธรรมนูญดังกล่าวอนุญาตให้มี ทำให้บทบาททางด้านการทหารของญี่ปุ่นในการที่จะหากองทัพมาปกป้องตนเองนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองของญี่ปุ่น เพราะข้อถกเถียงในสังคมญี่ปุ่นเองต่อความพยายามมีกองทัพนั้นถูกนำมาสู่สาธารณะและถกเถียงกันเป็นวงกว้าง Abe พยายามเสนอให้ญี่ปุ่นมีกองทัพที่จะสามารถไปปฏิบัติการในต่างประเทศได้เมื่อถึงเหตุการณ์ที่จำเป็น

 

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 9

Article 9. Aspiring sincerely to an international peace based on justice and order, the Japanese people forever renounce war as a sovereign right of the nation and the threat or use of force as means of settling international disputes. In order to accomplish the aim of the preceding paragraph, land, sea, and air forces, as well as other war potential, will never be maintained. The right of belligerency of the state will not be recognized. 

 

·      ปัญหาเกาหลีเหนือ: หนึ่งในปัญหาความมั่นคงที่อยู่ใกล้ชิดกับประเทศญี่ปุ่นอย่างมากก็คือปัญหาเกาหลีเหนือ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ทดลองยิงขีปนาวุธไปเหนือประเทศญี่ปุ่นหลายครั้ง เสถียรภาพความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่นถูกสั่นคลอนด้วยการดำเนินนโยบายที่น่าหวาดกลัวของเกาหลีเหนือ การเลือกตั้งของญี่ปุ่นในครั้งนี้ Abe เน้นย้ำถึงการพยายามที่จะจัดการกับวิกฤติของเกาหลีเหนืออย่างมาก ประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นในหัวข้อที่ได้กล่าวไปแล้ว เพราะด้วยเล็งเห็นว่าญี่ปุ่นมีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งกองทัพขึ้นมาเพื่อที่จะมีบทบาทในการป้องกันตนเองจากภัยที่อยู่ใกล้ตัว (BBC 2017b)

·      การปฏิรูปเศรษฐกิจ: ประเด็นการแก้ไขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่สำคัญอย่างมากต่อพรรค LDP นโยบาย Abenomics ของญี่ปุ่นที่ Abe เริ่มใช้มานั้นได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคเอกชน Sadayuki Sakakibara ประธานกลุ่ม Keidanren กล่าวว่าผลของการเลือกตั้งที่ประชาชนยังคงเลือกพรรค LDP นั้นสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังคงมีความหวังต่อนโยบาย Abenomics ของรัฐบาลว่าจะเป็นกลไกที่จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ต่อไป (Yuda 2017) กลุ่ม Keidanren ยังสะท้อนประเด็นต่อรัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นว่า สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญก็คือการจัดการกับเงินเฟ้อและการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป (Yuda 2017) อีกทั้งยังควรพยายามปรับปรุงความปลอดภัยของสังคม การแก้ไขเสถียรภาพทางการเงิน และการเพิ่มอัตราการเกิดในสังคมญี่ปุ่น (NHK World 2017)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรค LDP จะได้รับเสียงข้างมาก แต่จำนวนผู้มาลงคะแนนเสียงกลับมาเพียงประมาณร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยกว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่มาลงคะแนนเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป (Mealey 2017) ผลการสำรวจของ Asahi พบว่าผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงอายุระหว่าง 18-29 นั้น ร้อยละ 41 มีความชื่นชอบ Abe ในขณะที่จำนวนผู้ที่ชื่นชอบพรรค Party of Hope อยู่ที่ร้อยละ 13 และชอบ CDPJ อยู่ที่ร้อยละ 6 (Mealey 2017)

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของญี่ปุ่นนี้สะท้อนประเด็นที่สำคัญในสังคมญี่ปุ่นในเรื่องการจัดการปัญหาเกาหลีเหนือ และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น ปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการพยายามเพิ่มบทบาทของกองทัพของญี่ปุ่นในกิจการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาวิกฤติเกาหลีเหนือที่อยู่ข้างประเทศนั้นส่งผลให้เกิดการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้ แม้ว่าประเด็นดังกล่าวจะถูกถกเถียงอย่างมากในสังคม แต่ดูเหมือนว่าประชาชนก็ยังคงเลือกที่จะสนับสนุนแนวทางของ Abe ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่แน่นอนว่าเส้นทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 นั้นจะยังอยู่ในเส้นทางที่ยากลำบากต่อไปในการเมือง เพราะข้อถกเถียงไม่เพียงแต่เป็นประเด็นเรื่องงบประมาณเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องปรัชญาของการดำเนินนโยบายและบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่สังคมยังหาทางลงไม่ได้ ดังที่เห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นของ Asahi พบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 37 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่กว่าร้อยละ 40 ไม่เห็นด้วยกับความพยายามดังกล่าว (Maresca 2017) นอกเหนือไปจากกระแสสังคมแล้ว การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญยังต้องได้รับความเห็นชอบจากสภามากกว่า 2 ใน 3 อีกทั้งการลงประชามติ ประชาชนยังต้องมีความเห็นข้างมากที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เงื่อนไขทั้งภายในสภาและจากประชามติทำให้กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดอีกต่อไป เพราะ Abe เองได้เคยประกาศไว้ว่าจะพยายามหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ก่อนปี ค.ศ.2020

ปัญหาเกาหลีเหนือมิใช่เพียงปัญหาเดียวที่สังคมญี่ปุ่นกำลังเผชิญ ปัญหาเศรษฐกิจ การจ้างงาน ปากท้องของประชาชนก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ท้าทายบทบาทของรัฐบาลอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมา Abe ได้ดำเนินนโยบาย Abenomics ที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปฏิรูปนโยบายทางด้านการเงิน การคลัง การปรับปรุงโครงสร้างราชการต่างๆ การสนับสนุนบทบาทของสตรีในระบบเศรษฐกิจ นโยบาย Abenomics ก็ยังคงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้มากน้อยขนาดไหน เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจนี่เองก็น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะเรียกคะแนนและการสนับสนุนจากประชาชนญี่ปุ่นต่อพรรค LDP ต่อไป

จนถึงตอนนี้เราคงต้องรอดูต่อไปว่า รัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นนี้จะเริ่มพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นต่อไปอย่างไร และความพยายามนี้จะได้รับกระแสสนับสนุนหรือกระแสต่อต้านจากสังคม พรรคการเมือง กลุ่มธุรกิจเอกชน หรือภาคประชาสังคมอย่างไร เพราะประเด็นนี้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน ซึ่งส่งผลต่อทั้งการเมืองภายในประเทศญี่ปุ่น และบทบาทของญี่ปุ่นในสังคมระหว่างประเทศ

           

เอกสารอ้างอิง

ABC. (2017). Japanese Prime Minister Shinzo Abe Scores Major Victory in National Elections. Accessed October 23, 2017, from http://www.abc.net.au/news/2017-10-23/japans-abe-set-to-win-election-results-show/9074768.

BBC. (2017a). Japan’s Snap Election Explained. Accessed October 2017, 23, from http://www.bbc.com/news/world-asia-41329669.

BBC. (2017b). Japan PM Shinzo Abe Promises to Handle North Korea Threat. Accessed October 23, 2017, from http://www.bbc.com/news/world-asia-41717219.

Japan Times. (2017). Japan’s Election Results Show Women Making Little Progress Despite Abe’s Landslide Victory. Accessed 2017 October, 23, from https://www.japantimes.co.jp/news/2017/10/23/national/politics-diplomacy/japans-election-results-show-women-making-little-progress-despite-abes-landslide-victory/#.We4EEBOCx-U.

Maresca, Thomas. (2017). Japan’s Shinzo Abe Wins Big in Parliament with Tough North Korea Policy. Accessed October 2017, 23, from https://www.usatoday.com/story/news/world/2017/10/22/japans-abe-claims-landslide-tough-north-korea-policy/788412001/.

Mealey, Rachel. (2017). Japan Election: Shinzo Abe and His Policies are Unpopular, So Why are Voters Set to Stick with Him?. Accessed October 23, 2017, from http://www.abc.net.au/news/2017-10-21/does-shinzo-abes-popularity-in-polls-reflect-lack-of-choice/9071862.

NHK World. (2017). Keidanren Reaction to Election Results. Accessed October 2017, 23, from https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20171023_10/.

Osaki, Tomohiro. (2017). Abe Claims Victory as Powerful Endorsement, May Seek Re-Election Next Month. Accessed October 23, 2017, from https://www.japantimes.co.jp/news/2017/10/23/national/politics-diplomacy/abe-claims-victory-powerful-endorsement-may-seek-re-election-next-month/#.We4B-hOCx-U.         

The Mainichi. (2017). CDPJ to Challenge Ruling Camp with Antinuclear, No-Tax Hike Pledges. Accessed October 23, 2017, from https://mainichi.jp/english/articles/20171008/p2g/00m/0fp/003000c

Yuda, Masayuki. (2017). Abe’s Victory Welcomed By Business Lobbies. Accessed October 23, 2017, from https://asia.nikkei.com/Spotlight/Japan-s-election/Abe-s-victory-welcomed-by-business-lobbies

บล็อกของ นรุตม์ เจริญศรี

นรุตม์ เจริญศรี
หากใครติดตามวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ เนื้อเรื่องภายในก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งกัน (bully) กันในสังคมเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของนักเรียนในโรงเรียน การกลั่นแกล้งกันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางตรง ทางอ้อม แล้วก็ส่งผลต่อจิตใจของเด็กวัยรุ่นอย่างมาก วรรณกรรมที่ออกมาก็สะท้อนภาพการ
นรุตม์ เจริญศรี
ภายใต้เป้าหมายในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันของภูมิภาค (regional connectivity) ในอาเซียนภายใต้ “แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master plan on ASEAN connectivity 2025: MPAC) เป้าหมายและเครื่องมือรวมไปถึงแนวคิดพื้นฐานนั้นตั้งอยู่บนวิธีคิดแบบเน้นตลาดเป็นหลัก (market-oriented app
นรุตม์ เจริญศรี
One of the main issues of 
นรุตม์ เจริญศรี
ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอความคิดทางวิชาการในการประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม 2563 และอยากนำเอาประเด็นที่ได้นำเสนอไว้มาเขียนบอกเล่าให้ฟังต่อกัน
นรุตม์ เจริญศรี
การเมืองระหว่างประเทศยังคงเป็นเรื่องของการต่อสู้กันของประเทศมหาอำนาจในการพยายามเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลในมิติต่างๆ ที่ผ่านมา นักวิชาการจำนวนมากได้เห็นปรากฏการณ์ของการที่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและญี่ปุ่นแข่งขันกันในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาระบบการเชื่อมโ
นรุตม์ เจริญศรี
(ไม่เปิดเผยเนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือ)
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรี
ประเทศสมาชิกของ CPTPP (ที่มา:
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
นรุตม์ เจริญศรี
อัตลักษณ์ทางการแข่งขันของประเทศเอสโตเนีย ระหว่าง ค.ศ.1991-2011 โดย สมพงค์ พรมสะอาด