ภายใต้เป้าหมายในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันของภูมิภาค (regional connectivity) ในอาเซียนภายใต้ “แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master plan on ASEAN connectivity 2025: MPAC) เป้าหมายและเครื่องมือรวมไปถึงแนวคิดพื้นฐานนั้นตั้งอยู่บนวิธีคิดแบบเน้นตลาดเป็นหลัก (market-oriented approach) ด้วยหลักคิดดังกล่าวทำให้ข้อเสนอและแนวทางการพัฒนาการสร้างความเชื่อมโยงนั้นเน้นไปเรื่องการพยายามสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการปรับปรุงกฎระเบียบระดับภูมิภาคให้เกิดการเชื่อมโยงของถนน รถไฟ เรือ เครื่องบิน ไฟฟ้า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามหากย้อนไปดูพัฒนาการที่อาเซียนพยายามสร้างความเชื่อมโยงจะพบว่า แต่เดิมนั้นเสาหลักของอาเซียนที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความเชื่อมโยงของภูมิภาคอยู่ภายใต้เสาหลักทางด้านเศรษฐกิจ แต่ต่อมาอาเซียนได้เปลี่ยนให้ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงเป็นประเด็นที่แยกออกมาต่างหาก ไม่ขึ้นอยู่กับเสาหลักด้านเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะมองว่าความเชื่อมโยงนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับมิติเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและความมั่นคง และประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย็น
แต่แม้ว่าอาเซียนจะพยายามทำให้ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงกลายเป็นประเด็นหลักแยกออกมาและทำให้เห็นว่าประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องแค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หน่วยงานวิจัยที่สนับสนุนข้อมูล หรือแผน MPAC ของอาเซียนที่ออกมาก็ยังคงเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจอยู่
อาเซียนออก MPAC มาครั้งแรกในปี ค.ศ. 2010 โดยในช่วงนั้นวิธีการคิดเน้นการเชื่อมโยงสามด้านคือ
- การเชื่อมโยงทางกายภาพ: เน้นการเชื่อมโยงของระบบการขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงาน
- การเชื่อมโยงเชิงสถาบัน: เน้นเรื่องการเปิดเสรีทางการค้า การเอื้ออำนวยความสะดวก การลงทุน การบริการ การข้ามแดน การเพิ่มศักยภาพ ความตกลงว่าด้วยการขนส่งในภูมิภาค และกรอบความตกลงว่าด้วยข้อตกลงร่วมกันของอาเซียน (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) ที่ว่าด้วยการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศของวิชาชีพต่างๆ
- การเชื่อมโยงของผู้คน: เน้นการศึกษา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว
ต่อมาเมื่ออาเซียนได้ปรับปรุง MPAC และเผยแพร่ออกมาในปี ค.ศ. 2015 และหวังว่าจะใช้ไปจนถึง ค.ศ. 2025 (หรือที่รู้จักกันว่า MPAC 2025) อาเซียนได้เปลี่ยนแปลวิธีคิดให้ MPAC เน้นการเชื่อมโยงโดยหันไปมอง “ประเด็น” ของความเชื่อมโยงมากขึ้น ซึ่งได้แก่
- โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
- นวัตกรรมดิจิทัล
- โลจิสติกส์ไร้รอยต่อ
- ความเป็นเลิศด้านกฎระเบียน
- การเคลื่อนย้ายของประชาชน
จะเห็นว่าแม้ว่าอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงให้ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงมีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ประเด็นเรื่องความมั่นคงก็ยังคงไม่ได้เป็นประเด็นเรื่องสำคัญหลักใหญ่ของการมองวิธีการพัฒนาความเชื่อมโยง
การระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ในปี ค.ศ. 2020 ทำให้เราต้องหันกลับมามองประเด็นเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง เราได้เห็นเหตุการณ์ที่แรงงานข้ามชาติที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศต้องเผชิญกับการปิดพรมแดน เช่น การที่แรงงานมาเลเซียที่ต้องไปทำงานที่สิงคโปร์ทุกวันต้องแห่กันสิงคโปร์เพราะสิงคโปร์จะปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค หรือแรงงานพม่ามารวมตัวกันเพื่อข้ามพรมแดนมายังไทยหากไทยปิดพรมแดนที่จังหวัดตาก หรือแรงงานลาวที่จะกลับประเทศเมื่อไทยจะปิดพรมแดนระหว่างไทยกับลาว
ปรากฏการณ์ COVID-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ทำให้เราต้องหันกลับมาคิดกับเรื่องความเชื่อมโยงของภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อพิจารณาในรายละเอียดของ MPAC 2025 แล้วจะพบว่า MPAC 2025 ก็ไม่ได้ระบุไว้ถึงประเด็นความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิม (non-traditional security) ไว้เลย มีเพียงก็แต่ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางโลกไซเบอร์เพียงจุดเดียว
COVID-19 เป็นภัยความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิมที่ต้องอาศัยกลไกระดับภูมิภาคในการจัดการ ประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงของภูมิภาค เพราะมันเกี่ยวทั้งเรื่องแรงงานข้ามชาติ การจัดการชายแดน การบริหาร การจัดการท่าเรือ สนามบิน ด่านชายแดน ระบบตรวจสุขภาพ การแบ่งข้อมูลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการขยะติดเชื้อซึ่งมาจากผู้ที่สวมใส่หน้ากากหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะข้ามแดน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนที่อาจติดเชื่อบนสินค้าหรือไปกับผู้ขนส่ง เป็นต้น
มิติการมองเรื่องความเชื่อมโยงของอาเซียนจึงต้องปรับวิธีคิดให้ชัดเจนเรื่องความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ว่าความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิมนั้นเกี่ยวกับการวางแผนการเชื่อมโยงของภูมิภาค และควรได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของ MPAC ที่จะปรับปรุงครั้งต่อไป
เพราะด้วยสถานการณ์ตอนนี้แล้ว อาเซียนกับหน่วยงานวิจัยต่างๆ อาจจะต้องผนวกเอานักวิชาการด้านความมั่นคงที่ศึกษาประเด็นความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิม ทั้งเรื่องโรคระบาด ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางพลังงาน การจัดการขยะติดเชื้อ หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไปร่วมเวทีเพื่อมองประเด็นความเชื่อมโยงกับความมั่นคงระหว่างประเทศ มากกว่าการเน้นการมองในเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
COVID-19 อาจทำให้อาเซียนเรียนรู้ว่าความเชื่อมโยงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป การพิจารณาเอาประเด็นเรื่องความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิมควรเป็นหนึ่งในแกนคิดหลักของของปรับปรุง MPAC ในครั้งถัดไป ซึ่งในความเป็นจริงกับสถานการณ์ตอนนี้คงต้องเร่งกลับมาคิดว่า หรือเราควรปรับปรุง MPAC ก่อนถึงปี ค.ศ. 2025 เสียด้วยซ้ำไป
----------
เกี่ยวกับผู้เขียน นรุตม์ เจริญศรี เป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่