Skip to main content

ภายใต้เป้าหมายในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันของภูมิภาค (regional connectivity) ในอาเซียนภายใต้ “แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master plan on ASEAN connectivity 2025: MPAC) เป้าหมายและเครื่องมือรวมไปถึงแนวคิดพื้นฐานนั้นตั้งอยู่บนวิธีคิดแบบเน้นตลาดเป็นหลัก (market-oriented approach) ด้วยหลักคิดดังกล่าวทำให้ข้อเสนอและแนวทางการพัฒนาการสร้างความเชื่อมโยงนั้นเน้นไปเรื่องการพยายามสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการปรับปรุงกฎระเบียบระดับภูมิภาคให้เกิดการเชื่อมโยงของถนน รถไฟ เรือ เครื่องบิน ไฟฟ้า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามหากย้อนไปดูพัฒนาการที่อาเซียนพยายามสร้างความเชื่อมโยงจะพบว่า แต่เดิมนั้นเสาหลักของอาเซียนที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความเชื่อมโยงของภูมิภาคอยู่ภายใต้เสาหลักทางด้านเศรษฐกิจ แต่ต่อมาอาเซียนได้เปลี่ยนให้ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงเป็นประเด็นที่แยกออกมาต่างหาก ไม่ขึ้นอยู่กับเสาหลักด้านเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะมองว่าความเชื่อมโยงนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับมิติเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและความมั่นคง และประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย็น

แต่แม้ว่าอาเซียนจะพยายามทำให้ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงกลายเป็นประเด็นหลักแยกออกมาและทำให้เห็นว่าประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องแค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หน่วยงานวิจัยที่สนับสนุนข้อมูล หรือแผน MPAC ของอาเซียนที่ออกมาก็ยังคงเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจอยู่

อาเซียนออก MPAC มาครั้งแรกในปี ค.ศ. 2010 โดยในช่วงนั้นวิธีการคิดเน้นการเชื่อมโยงสามด้านคือ

  1. การเชื่อมโยงทางกายภาพ: เน้นการเชื่อมโยงของระบบการขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงาน
  2. การเชื่อมโยงเชิงสถาบัน: เน้นเรื่องการเปิดเสรีทางการค้า การเอื้ออำนวยความสะดวก การลงทุน การบริการ การข้ามแดน การเพิ่มศักยภาพ ความตกลงว่าด้วยการขนส่งในภูมิภาค และกรอบความตกลงว่าด้วยข้อตกลงร่วมกันของอาเซียน (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) ที่ว่าด้วยการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศของวิชาชีพต่างๆ
  3. การเชื่อมโยงของผู้คน: เน้นการศึกษา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

ต่อมาเมื่ออาเซียนได้ปรับปรุง MPAC และเผยแพร่ออกมาในปี ค.ศ. 2015 และหวังว่าจะใช้ไปจนถึง ค.ศ. 2025 (หรือที่รู้จักกันว่า MPAC 2025) อาเซียนได้เปลี่ยนแปลวิธีคิดให้ MPAC เน้นการเชื่อมโยงโดยหันไปมอง “ประเด็น” ของความเชื่อมโยงมากขึ้น ซึ่งได้แก่

  1. โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
  2. นวัตกรรมดิจิทัล
  3. โลจิสติกส์ไร้รอยต่อ
  4. ความเป็นเลิศด้านกฎระเบียน
  5. การเคลื่อนย้ายของประชาชน

จะเห็นว่าแม้ว่าอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงให้ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงมีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ประเด็นเรื่องความมั่นคงก็ยังคงไม่ได้เป็นประเด็นเรื่องสำคัญหลักใหญ่ของการมองวิธีการพัฒนาความเชื่อมโยง

การระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ในปี ค.ศ. 2020 ทำให้เราต้องหันกลับมามองประเด็นเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง เราได้เห็นเหตุการณ์ที่แรงงานข้ามชาติที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศต้องเผชิญกับการปิดพรมแดน เช่น การที่แรงงานมาเลเซียที่ต้องไปทำงานที่สิงคโปร์ทุกวันต้องแห่กันสิงคโปร์เพราะสิงคโปร์จะปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค หรือแรงงานพม่ามารวมตัวกันเพื่อข้ามพรมแดนมายังไทยหากไทยปิดพรมแดนที่จังหวัดตาก หรือแรงงานลาวที่จะกลับประเทศเมื่อไทยจะปิดพรมแดนระหว่างไทยกับลาว

ปรากฏการณ์ COVID-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ทำให้เราต้องหันกลับมาคิดกับเรื่องความเชื่อมโยงของภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อพิจารณาในรายละเอียดของ MPAC 2025 แล้วจะพบว่า MPAC 2025 ก็ไม่ได้ระบุไว้ถึงประเด็นความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิม (non-traditional security) ไว้เลย มีเพียงก็แต่ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางโลกไซเบอร์เพียงจุดเดียว

COVID-19 เป็นภัยความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิมที่ต้องอาศัยกลไกระดับภูมิภาคในการจัดการ ประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงของภูมิภาค เพราะมันเกี่ยวทั้งเรื่องแรงงานข้ามชาติ การจัดการชายแดน การบริหาร การจัดการท่าเรือ สนามบิน ด่านชายแดน ระบบตรวจสุขภาพ การแบ่งข้อมูลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการขยะติดเชื้อซึ่งมาจากผู้ที่สวมใส่หน้ากากหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะข้ามแดน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนที่อาจติดเชื่อบนสินค้าหรือไปกับผู้ขนส่ง เป็นต้น

มิติการมองเรื่องความเชื่อมโยงของอาเซียนจึงต้องปรับวิธีคิดให้ชัดเจนเรื่องความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ว่าความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิมนั้นเกี่ยวกับการวางแผนการเชื่อมโยงของภูมิภาค และควรได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของ MPAC ที่จะปรับปรุงครั้งต่อไป

เพราะด้วยสถานการณ์ตอนนี้แล้ว อาเซียนกับหน่วยงานวิจัยต่างๆ อาจจะต้องผนวกเอานักวิชาการด้านความมั่นคงที่ศึกษาประเด็นความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิม ทั้งเรื่องโรคระบาด ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางพลังงาน การจัดการขยะติดเชื้อ หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไปร่วมเวทีเพื่อมองประเด็นความเชื่อมโยงกับความมั่นคงระหว่างประเทศ มากกว่าการเน้นการมองในเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

COVID-19 อาจทำให้อาเซียนเรียนรู้ว่าความเชื่อมโยงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป การพิจารณาเอาประเด็นเรื่องความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิมควรเป็นหนึ่งในแกนคิดหลักของของปรับปรุง MPAC ในครั้งถัดไป ซึ่งในความเป็นจริงกับสถานการณ์ตอนนี้คงต้องเร่งกลับมาคิดว่า หรือเราควรปรับปรุง MPAC ก่อนถึงปี ค.ศ. 2025 เสียด้วยซ้ำไป

----------

เกี่ยวกับผู้เขียน นรุตม์ เจริญศรี เป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บล็อกของ นรุตม์ เจริญศรี

นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรีคณะรัฐศาสตร์ฯ ม.เชียงใหม่
นรุตม์ เจริญศรี
เวลาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ บ่อยครั้ง หน้าด้านซ้ายถัดจาก
นรุตม์ เจริญศรี
ผมเริ่มต้นเขียน blog นี้ด้วยความสนใจต่อประเด็นองค์ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภูมิภาคนิยม และภูมิภาคศึกษา จึงอยากเริ่มเขียนและสนทนากับผู้สนใจในประเด็นที่คล้ายๆกัน ผมใช้เวลาคิดอยู่หลายวันว่าจะเริ่มต้นเขียนหัวข้ออะไรเป็นหัวข้อเปิด ซึ่งจะได้เชื่อมโยงต่อไปยัง