Skip to main content

ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอความคิดทางวิชาการในการประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม 2563 และอยากนำเอาประเด็นที่ได้นำเสนอไว้มาเขียนบอกเล่าให้ฟังต่อกัน

โจทย์ของการนำเสนอครั้งนี้คือประเด็นที่ได้รับมาว่า "มุมมองทางวิชาการเรื่อง Free and Open Indo-Pacific, BRI, อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และท่าทีของหน่วยความมั่นคงไทยต่อบทบาทสหรัฐฯ และจีน"

จากการได้รับโจทย์ดังกล่าว ผู้เขียนก็กลับมานั่งคิดว่าจะนำเสนอประเด็นอะไร จึงเริ่มจากการคิดว่า เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าวให้ตอบสนองความใคร่รู้ของหน่วยงานด้านความมั่นคง แนวทางในการวิเคราะห์จึงควรเป็นฐานคิดแบบสัจนิยมที่ตั้งรัฐและผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก เพื่อให้แนวในการวิเคราะห์ "ถูกจริต" กับสิ่งที่ผู้ฟังคาดหวังมากที่สุด และพยายามตอบคำถามให้ชัดที่สุด เพราะผู้ฟังเป็นสายปฏิบัติ ดังนั้นแนวทางการวิเคราะห์ก็จะเน้นสิ่งที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายและมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้มากที่สุด

ผู้เขียนเริ่มต้นจากการตั้งประเด็นว่า หากรัฐไทยต้องการทราบว่ารัฐไทยควรทำอย่างไรที่จะให้เกิดผลประโยชน์แห่งชาติ ผู้เขียนคิดว่าเราต้องเริ่มมองย้อนกลับไปหาประเด็นว่ารัฐไทยตั้งอยู่ใน "ระบบระหว่างประเทศ" (international order) แบบใดก่อน เพื่อเข้าใจว่าระบบดังกล่าวมีลักษณะแบบใด มันถูกสร้างขึ้นมาจากไหน แล้วระบบดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และภายในการเปลี่ยนแปลงนั้นรัฐไทยควรทำอย่างไร เพราะรัฐไทยเองก็อยู่กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค (subregion) และระดับภูมิภาค (region) ที่มีกรอบและกลไกต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยเช่นเดียวกัน

ระเบียบระหว่างประเทศที่มีอยู่ในโลกนั้นอาจจะมีหลายระดับและหลายชุด ระเบียบเรื่องการเมืองและความมั่นคง ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และระเบียบที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เฉพาะลงไป ระเบียบคือชุดของความสัมพันธ์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยตัวแสดงในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกันของสถาบัน บรรทัดฐาน และกลไกระหว่างประเทศที่ช่วยประคับประคองให้เกิดชุดความสัมพันธ์

ในกรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระเบียบมีความทับซ้อนกันอยู่หลายชุด ในระดับอนุภูมิภาคนั้น กลไกระหว่างประเทศที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้นั้นมีทั้งโครงการ GMS (ที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ) LMC (ที่มีจีนเป็นผู้นำ) และ LMI (ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ)

ในขณะที่ระดับภูมิภาคมีอาเซียนที่มีประเทศทั้งสิบเป็นผู้ขับเคลื่อนผ่านกลไกระดับภูมิภาค

แต่ปรากฏการณ์ที่สำคัญที่ผู้เขียนคิดว่ามีความสำคัญและกำลังเปลี่ยนวิธีการมองซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแนวทางการกำหนดนโยบายที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็คือการมีระเบียบที่ "คร่อมภูมิภาค" หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น "ภูมิภาคนิยมที่เชื่อมกัน" เพราะมีระเบียบที่ทับซ้อนชุดความสัมพันธ์ของภูมิภาคนิยมเอาไว้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้คือการที่มหาอำนาจพยายามสร้างชุดความสัมพันธ์และระเบียบใหม่ขึ้นมาครอบคร่อมภูมิภาคนิยมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดระเบียบใหม่ หรือเพื่อเชื่อมประสานระเบียบที่แตกต่างกันอยู่ให้เกิดระเบียบใหม่ขึ้นมา ซึ่งได้แก่ "Free and Open Indo-Pacific" (FOIPS) และ "Belt and Road Initiative" (BRI) ของจีน

ผู้เขียนขอเชื้อเชิญให้ผู้อ่านลองพิจารณาพัฒนาการของชุดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ระเบียบเปลี่ยนแปลงไปในระบบระหว่างประเทศสมัยใหม่ การที่แต่เดิมนั้นรัฐต่างคนต่างอยู่ จนพัฒนามาเป็นการมีความสัมพันธ์แบบทวิภาคีแต่ก็ยังแยกชุดความสัมพันธ์กันอยู่ดี จนมีความพยายามสร้างระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่หวังจะประสานระบบเศรษฐกิจต่างๆ ระดับโลกหรือข้ามภูมิภาค แต่ชุดความสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวก็ยากเกินไป เพราะประเทศที่อยู่ในความสัมพันธ์เหล่านั้นมีความแตกต่างกันมาก ทำให้เกิดปัญหาในการประสานความร่วมมือ และนำไปสู่การลดขนาดความสัมพันธ์ให้เป็นชุดที่เล็กลงและเน้นประเทศหรือพื้นที่ใกล้เคียงหรือที่เรียกว่าภูมิภาคนิยม และปัจจุบันก็เกิดความพยายามจะเชื่อมประสานภูมิภาคนิยมไว้ด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการสร้างชุดความคิดความเชื่อระหว่างประเทศแบบใหม่

ประเทศไทยอยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ประเทศมหาอำนาจสนใจ เราจะเห็นได้จากในปัจจุบันอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีความสัมพันธ์หลายชุดกับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจากในภาพยังไม่รวมไปถึงการที่อยู่ในชุด FOIPS และ BRI

FOIPS เป็นชุดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่าวประเทศที่คร่อมครอบภูมิภาคเอาไว้สองภูมิภาคคือพื้นที่ที่อยู่รอบมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นหากดูในแผนที่แล้วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียนจะอยู่ตรงกลางเพราะเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกไว้

FOIPS ถูกนำเสนอและเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดียอย่างมากในช่วงหลังนี้ งานวิชาการจากนักวิชาการของประเทศเหล่านี้ก็พยายามเสนอว่าประเทศของตนเองเป็นผู้คิดวิธีคิดเรื่องอินโดแปซิฟิกขึ้นมาก่อนประเทศอื่น จนกลายเป็นการแข่งขันการพยายามบอกว่าใครคิดถึงเรื่องนี้มาก่อนใคร

ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วว่า FOIPS เป็นระเบียบระหว่างประเทศชุดใหม่ที่ถูกมหาอำนาจสร้างและผลักดันให้กลายเป็นระเบียบใหม่ระหว่างประเทศ คำถามก็คือ FOIPS เน้นประเด็นและหลักการเรื่องอะไร หากเราดูจากภาพประกอบแล้วจะเห็นว่า FOIPS มีหลักการใหญ่ๆ อยู่หกประการ แต่สามประการแรกด้านบนนั้นมุ่งเน้นเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ ผ่านการค้า การพยายามเปิดพื้นที่ให้ประเทศต่างๆ รวมไปถึงจีน (inclusive) และการทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (ASEAN Centrality) ซึ่งเป็นการทำให้อาเซียนเป็นหลักของการประสานความร่วมมือ แทนที่ประเทศมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งจะมีอำนาจครอบงำเด่นชัด (Koga, 2019)

ในขณะที่อีกสามหลักการเป็นเรื่องการสร้างความสงบและระเบียงให้กับภูมิภาค

จากหกหลักการดังกล่าว สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ การพยายามทำให้ระเบียบของภูมิภาคเป็นแบบ "หลายขั้วอำนาจ" (multipolar) ซึ่งแตกต่างไปจากระเบียบระหว่างประเทศที่นักวิชาการเถียงและเสนอกันมาตลอดว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ระเบียบมีลักษณะเป็นแบบขั้วอำนาจเดียวที่สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางของอำนาจ แต่ต่อมานักวิชาการก็เริ่มเสนอว่า ในช่วงไม่นานมานี้ การเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจโลกได้เปลี่ยนไปสู่การมีหลายขั้วอำนาจมากขึ้น เพราะการที่จีนเริ่มมีอำนาจมากขึ้น (The Rise of China) หรือการที่ประเทศอื่นๆ เริ่มมีอำนาจมากขึ้น (The Rise of the Rest)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าระบบโลกเริ่มจะมีการพยายามเปลี่ยนเป็นหลายขั้วอำนาจมากขึ้น แต่ผู้เขียนก็ยังไม่แน่ใจว่าการที่ "ภาพ" ของหลายขั้วอำนาจมีมานั้น เป็นผลจากการทำงานของระเบียบที่สหรัฐฯ ได้สร้างขึ้นหรือไม่ เพื่อให้ภาพของการมีหลายขั้วอำนาจเป็นผลดีต่อระเบียบขั้วอำนาจเดียวของสหรัฐฯ กล่าวคือ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า สหรัฐฯ พยายามเผยแพร่ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจที่มีหลายขั้วมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่แท้จริงแล้วเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวในโลกเหมือนเดิมหรือเปล่า

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าประเทศมหาอำนาจพยายามสนับสนุนระเบียบผ่าน FOIPS แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าแต่ละประเทศเองก็มีจุดเน้นที่แตกต่างกันว่า สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดียให้ความสำคัญต่อประเด็นใน FOIPS อย่างไร และมองว่าประเด็นเหล่านี้จะช่วยเป็นสาขาหรือประเด็นของการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศได้อย่างไร โปรดพิจารณาภาพประกอบเปรียบเทียบแต่ละประเทศ

 

จากภาพด้านบน เราจะเห็นได้ว่าประเด็นจุดเน้นที่ประเทศมหาอำนาจมองว่าจะเป็นสาขาหรือแก่นของความร่วมมืออาจจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด แต่สิ่งที่เน้นเหมือนกันก็คือเรื่องของการสร้างความเชื่อมโยงหรือ connectivity

ประเด็นเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคดูเหมือนจะเป็นประเด็นหลักที่ประเทศมหาอำนาจให้ความสนใจ การเชื่อมโยงนี้ไม่ได้หมายถึงการเชื่อมโยงทางกายภาพผ่านถนน รถไฟ เครื่องบิน หรือท่าเรือเพียงอย่างเดียว การพัฒนาระบบการขนส่งเป็นเพียงหนึ่งด้านของความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาสาธารณูปโภคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาพลังงาน และการโทรคมนาคมเช่นเดียวกัน

หากเราดูจากตารางเปรียบเทียบกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่ประเทศมหาอำนาจเข้ามาให้ความช่วยเหลืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงแล้วก็จะเห็นได้ว่า ประเด็นเรื่องสาขาความร่วมมือนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปตามแต่มหาอำนาจต้องการเน้น แต่ประเด็นหลักที่ทุกกรอบความร่วมมือมีและเน้นเหมือนกันก็คือการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการสร้างความเชื่อมโยง

การสร้างความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาสาธารณูปโภคจึงเป็นประเด็นของการเมืองโลกสมัยใหม่ แม้ว่าความเป็นจริงแล้ว ประเด็นเรื่องการพัฒนาสาธารณูปโภคไม่เคยหายไปจากการเมืองเรื่องการพัฒนาเลย แต่มันก็ไม่ได้ถูกประกาศออกมาเป็นยุทธศาสตร์หลักในนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจเฉกเช่นที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

ในกรณีของ BRI ของจีนนั้นถูกประกาศเป็นแผนการพัฒนาการเชื่อมโยงเครือข่ายขนาดใหญ่ผ่านแขนงย่อยโครงการต่างๆ เช่นแขนงย่อยของโครงการ BRI ที่เชื่อมมากับอนุภูมิภาคุล่มแม่น้ำโขงก็เพื่อดึงเอาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ของจีน โดย BRI ของจีนดำเนินการผ่านแผนการยุทธศาสตร์ใหญ่และมี Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยระดมทุน และมีโครงการ LMC ที่จีนริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นอีกกลไกในการประสานความสัมพันธ์กับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระเบียบของภูมิภาคของ BRI และ LMC จึงเป็นการพยายามสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคผ่านการทำงานของกลไกเชิงสถาบันที่จีนออกแบบ โดยไม่อธิบายเน้นถึงขั้วอำนาจ แต่เน้นที่ประเด็นและสาขาของความร่วมมือมากกว่า

ในขณะที่ FOIPS ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดียแตกต่างออกไป เพราะเน้นการบอกว่าระบบระหว่างประเทศนั้นมีหลายขั้วอำนาจดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และกลไกการทำงานก็ดำเนินการผ่านกลไกและสถาบันระดับภูมิภาคหลายอย่าง เช่น การใช้ Expanded Partnership for Quality Infrastructure ของญี่ปุ่น โครงการ Blue Dot Network ของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภคผ่านการสมัครของหน่วยงานธุรกิจเอกชน ซึ่งหากโครงการไหนได้รับการอนุมัติก็จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

กล่าวมาถึงตรงนี้ ขอให้เราย้อนกลับไปพิจารณาประเด็นที่ผู้เขียนเริ่มต้นไว้ก็คือการพยายามตอบคำถามว่า ไทยจะหาทางคานอำนาจหรือแสวงหาผลประโยชน์แห่งชาติไว้ได้อย่างไร

ประเด็นนี้ผู้เขียนคิดว่าต้องตอบคำถามสามประการหลักก่อนคือ 

1. ไทยนิยามผลประโยชน์แห่งชาติเอาไว้อย่างไร

2. ไทยต้องการเล่นในระเบียบชุดไหน

3. มีประเด็นอะไรบ้างที่ไทยสามารถเข้าไปมีบทบาท ส่วนร่วม หรือนำในระเบียบเหล่านั้นได้

หากพิจารณาเอกสาร "นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564)" แล้ว จะพบว่ามีการนิยามผลประโยชน์แห่งชาติเอาไว้ว่า

1.การมีเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ
2.การดำรงอยู่อย่างมั่นคง ยั่งยืนของสถาบันหลักของชาติ
3.การดำรงอยู่อย่างมั่นคงของชาติและประชาชนจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ
4.การอยู่ร่วมกันในชาติอย่างสันติสุข เป็นปึกแผ่น มั่นคงทางสังคม ท่ามกลางพหุสังคมและการมีเกียรติ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
5.ความเจริญเติบโตของชาติ ความเป็นธรรม และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน
6.ความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางพลังงาน อาหาร
7.ความสามารถในการรักษาผลประโยชน์ของชาติภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ
8.การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ประสานสอดคล้องกันด้านความมั่นคงในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

และเมื่อพิจารณาจากเป้าหมายของไทยที่กำหนดไว้ว่า

การเมืองโลกมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่หลายขั้วอำนาจ โดยสหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญกับการท้าทายจากรัสเซียและจีน นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของขั้วอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจโลก คือ กลุ่ม BRICS ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งกำลังมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มมากขึ้นและมีท่าทีต้องการมีส่วนกำหนดกรอบกติกาของโลก โดยมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญในด้านเศรษฐกิจและ การเงินระหว่างประเทศซึ่งเป็นการท้าทายและสร้างดุลอำนาจใหม่ และมีแนวโน้มส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สภาพการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายด้วยความอ่อนตัว ในการกำหนดท่าทีเพื่อรักษาดุลยภาพทางความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ (เน้นโดยผู้เขียน)

จะเห็นว่าไทยเน้นการคานอำนาจและต้องการเล่นอยู่ในระเบียบที่มีหลายขั้วอำนาจ 

ดังที่ได้กล่าวไปว่า การนำเสนอนี้เป็นการนำเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการเสนอจากประเด็นและประสบการณ์วิจัยของผู้เขียนที่เน้นเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศในแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จึงเป็นเรื่องของการที่ไทยอาจจะใช้ประเด็นเรื่องต่อไปนี้ในการผลักดันหรือเล่นบทบาท

จากตารางจะเห็นว่า มีประเด็นต่างๆ ที่ไทยอาจจะเล่นบทบาทนำได้ และสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าไทยอาจจะยังไม่ได้เล่นมากนักก็คือการพยายามทำตัวเป็น "ผู้ประสานงานในการสร้างความรู้" โดยการประสานงานการจัดสัมมนาที่ไม่แบ่งแยกกันจัดกับประเทศมหาอำนาจ เพราะจากที่ผ่านมา ทางไทยเองมีการใช้การทูตความรู้จัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการพัฒนา BRI หรือ FOIPS กับประเทศมหาอำนาจแยกออกจากกัน โดยไม่ได้พยายามรวมเอาตัวแสดงทั้งหมดมาอยู่ในเวทีเดียว

ข้อเสนอที่สำคัญก็คือ ไทยอาจใช้ประเด็นเรื่องการขนส่ง ความเชื่อมโยงเข้ามาเป็นแกนหลัก เพราะเป็นประเด็นสาขาที่ทุกมหาอำนาจเห็นความสำคัญ แล้วไทยก็จัดงานสัมมนาเพื่อแสดงจุดยืนที่ต้องการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามา ผลของการจัดสัมมนาอาจจะไม่ใช่ผลเชิงนโยบาย หรือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ แต่เป็นการประกาศจุดยืนและแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อประเด็นและการคานอำนาจกันระหว่างประเทศ

โดยไทยอาจประสานงานจัดสัมมนาร่วมกับหน่วยงานอย่าง Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) ที่ตั้งอยู่ที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย เพราะ ERIA มีการผลักดันนโยบายไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน แต่ก็ต้องระวังการเข้าไปใกล้ชิดกับ ERIA เพราะ ERIA มีภาพที่ถูกมองว่าเป็นหน่วยงานที่ถูกญี่ปุ่นครอบงำ

สรุป

ผู้เขียนเริ่มต้นจากโจทย์ที่ต้องนำเสนอต่อหน่วยงานความมั่นคงว่าไทยจะคานอำนาจประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แห่งชาติของไทยได้อย่างไร ผู้เขียนเริ่มจากการชี้ให้เห็นว่าระเบียบระหว่างประเทศที่มีอยู่นั้นเป็นอย่างไร และพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาในลักษณะใด และประเด็นที่ระเบียบที่ทับซ้อนกันอยู่นี้คือการเน้นเรื่องของการเชื่อมโยง ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่า ด้วยระเบียบที่มีอำนาจมากที่สุดที่ทับซ้อนกันและเน้นประเด็นเรื่องการพัฒนาสาธารณูปโภคและความเชื่อมโยง ไทยน่าจะใช้โอกาสนี้ในการผลักดันประเด็นเรื่องการพัฒนาสาธารณูปโภคและการสร้างความเชื่อมโยงเป็นเวทีที่ทำให้มหาอำนาจมาคุยกัน โดยไม่ต้องหวังผลเรื่องวิชาการจากการประชุม แต่เป็นการแสดงจุดยืนของไทยในประเด็นความร่วมมือระดับภูมิภาคที่กำลังเป็นพื้นที่แข่งขันของมหาอำนาจกันอยู่

----------

เกี่ยวกับผู้เขียน นรุตม์ เจริญศรี เป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

----------

เอกสารอ้างอิง

นรุตม์ เจริญศรี. (2562). 10 ปีความสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น: จาก “ความสัมพันธ์ทวิภูมิภาค” สู่ “การเชื่อมโยงภูมิภาคาภิวัตน์”. วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, 10(1): 149-194.

นรุตม์ เจริญศรี. (2561). ภูมิภาคสาธารณูปโภคพัฒนาวิเทศคดี: บทบาทญี่ปุ่นกับการพัฒนาระบบการขนส่งระหว่างประเทศ และผลต่อภูมิภาคนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นรุตม์ เจริญศรี. (2560). การขนส่งระหว่างประเทศกับความมั่นคงใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. จุลสารความมั่นคงศึกษา, เล่มที่ 184.

นรุตม์ เจริญศรี. (2559). ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นกับการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน. จุลสารความมั่นคงศึกษา, เล่มที่ 175.

นรุตม์ เจริญศรี. (2553). ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง. จุลสารความมั่นคงศึกษา, เล่มที่ 86.

Gong, Xue. (2020). Non-Traditional Security Cooperation between China and South-East Asia: Implications for Indo-Pacific Geopolitics. International Affairs, 96(1): 29-48.

Harding, Brian. (2019). The Trump Administration’s Free and Open Indo-Pacific. Southeast Asian Affairs, Volume 2019, 61-67.

Koga, Kei. (2019). Japan’s “Free and Open Indo-Pacific” Strategy: Tokyo’s Tactical Hedging and the Implications for ASEAN. Contemporary Southeast Asia, 41(2): 286-313.

McGann, James G. (2020). 2019 Global Go To Think Tank Index Report. TTCSP Global Go To Think Tank Index Reports. 17.

Medcalf, Rory. (2019). An Australian Vision of the Indo-Pacific and What It Means for Southeast Asia. Southeast Asian Affairs, Volume 2019, 53-60.

Mukherjee, Rohan. (2019). Looking West, Acting East: India’s Indo-Pacific Strategy. Southeast Asian Affairs, Volume 2019, 43-51.

Satake, Tomohiko. (2019). Japan’s “Free and Open Indo-Pacific Strategy” and Its Implication for ASEAN. Southeast Asian Affairs, Volume 2019, 62-82.

 

บล็อกของ นรุตม์ เจริญศรี

นรุตม์ เจริญศรี
หากใครติดตามวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ เนื้อเรื่องภายในก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งกัน (bully) กันในสังคมเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของนักเรียนในโรงเรียน การกลั่นแกล้งกันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางตรง ทางอ้อม แล้วก็ส่งผลต่อจิตใจของเด็กวัยรุ่นอย่างมาก วรรณกรรมที่ออกมาก็สะท้อนภาพการ
นรุตม์ เจริญศรี
ภายใต้เป้าหมายในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันของภูมิภาค (regional connectivity) ในอาเซียนภายใต้ “แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master plan on ASEAN connectivity 2025: MPAC) เป้าหมายและเครื่องมือรวมไปถึงแนวคิดพื้นฐานนั้นตั้งอยู่บนวิธีคิดแบบเน้นตลาดเป็นหลัก (market-oriented app
นรุตม์ เจริญศรี
One of the main issues of 
นรุตม์ เจริญศรี
ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอความคิดทางวิชาการในการประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม 2563 และอยากนำเอาประเด็นที่ได้นำเสนอไว้มาเขียนบอกเล่าให้ฟังต่อกัน
นรุตม์ เจริญศรี
การเมืองระหว่างประเทศยังคงเป็นเรื่องของการต่อสู้กันของประเทศมหาอำนาจในการพยายามเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลในมิติต่างๆ ที่ผ่านมา นักวิชาการจำนวนมากได้เห็นปรากฏการณ์ของการที่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและญี่ปุ่นแข่งขันกันในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาระบบการเชื่อมโ
นรุตม์ เจริญศรี
(ไม่เปิดเผยเนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือ)
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรี
ประเทศสมาชิกของ CPTPP (ที่มา:
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
นรุตม์ เจริญศรี
อัตลักษณ์ทางการแข่งขันของประเทศเอสโตเนีย ระหว่าง ค.ศ.1991-2011 โดย สมพงค์ พรมสะอาด