ก่อนจะไปพูดเรื่องอื่น อาจจะมีคนสงสัยอยู่พอประมาณว่าทุนการศึกษาบ้าอะไรส่งคนไปเรียนที่ประเทศคอสตาริกา (อะไรนะ? แองโกล่า! อะไรนะ? อันดอร์ร่า! ไม่ใช่ ก็บอกว่าคอสตาริกา! -- นี่คือปฏิกิริยาที่ได้รับจากผู้คนเวลาบอกว่าจะไปเรียนหนังสือที่คอสตาริกา หรืออีกประเภทก็จะทำตาลอยๆ ถามเสียงค่อยๆ ว่า "มันอยู่ส่วนไหนของโลกอ่ะ") สาเหตุที่ต้องไปเรียนที่ฟิลิปปินส์และคอสตาริกานั้นเป็นเพราะว่าทุนการศึกษานี้เป็นโปรแกรมร่วมระหว่างสองมหาวิทยาลัยคือ Ateneo De Manila และ The University for Peace โดยมี Nippon Foundation เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือสร้างคนทำงานชาวเอเชียในองค์กรระดับนานาชาติ เพราะแม้ว่าประชากรในทวีปเอเชียจะเท่ากับเศษสองส่วนสามของประชากรโลก แต่เมื่อพิจารณาบทบาทของคนทำงานชาวเอเชียในระดับนานาชาติก็ยังถือว่ามีไม่มากนัก
ลักษณะโปรแกรมนั้นถูกออกแบบมาโดยเอเชียเพื่อเอเชียของเอเชีย เริ่มจากคอร์สภาษาอังกฤษที่มะนิลา (ยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับคะแนนไอเอลส์และโทเฟลของคุณ มีทั้งแบบ 6 เดือนและ 2 เดือน) ถ้ามีปัญญาผ่านคอร์สภาษาอังกฤษที่มะนิลานี้ก็จะได้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่คอสตาริกา โดยมีให้เลือกตามใจชอบ 11 สาขา อันได้แก่
Environmental Security and Governance
Environmental Security and Governance - Specialization in Climate Change and Security (CCS)
International Law and Human Rights
International Law and the Settlement of Disputes
Media, Peace and Conflict Studies
Sustainable Natural Resource Management
Responsible Management and Sustainable Economic Development
Sustainable Urban Governance and Peace
และเมื่อจบคอร์สที่ University for Peace (เรียกสั้นๆ ว่า UPEACE) แล้ว ทุกคนต้องกลับมาที่มะนิลาอีกรอบเพื่อเรียนวิชาที่เหลือโดยเน้นการสร้างสันติภาพในบริบทเอเชีย และหลังจากนั้น นักเรียนทุนทุกคนต้องฝึกงานในประเทศไหนก็ได้ในทวีปเอเชีย (ยกเว้นประเทศตัวเอง) อีกประมาณสามเดือน เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาอย่างโหดร้ายทารุณแต่ก็น่าจะตอบโจทย์การสร้างผู้ปฏิบัติงานชาวเอเชียในองค์กรนานาชาติได้ (เรียบจบแล้วจะมาบอกอีกทีว่าโหดขนาดนี้มันตอบโจทย์ได้หรือไม่ได้!) แต่ข้อดีของทุนนี้คือมันเป็นทุนเต็ม ซึ่งหมายความว่าคนเรียนไม่ต้องออกอะไรเลย นอกจากค่าเอกสารและค่าใช้จ่ายบางอย่างที่รวมกันไม่เกินหมื่น ในขณะที่ตั๋วเครื่องบินไปกลับฟิลิปปินส์-คอสตาริการาคาร่วมแสน มองมุมไหนก็คุ้ม :)
รายละเอียดของทุนในปีการศึกษา 2013-14 ตามไปดูได้ที่ http://www.upeace.org/academic/spec_masters/alp.cfm
มหาวิทยาลัยทั้งสองอาจจะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังในเมืองไทย (อย่าว่าแต่โด่งดัง เรียกว่าไม่รู้จักเลยดีกว่า เพราะกพ.ไม่รับรองปริญญาจาก UPEACE นะจ๊ะ) แต่ Ateneo De Manila นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นมหา'ลัยอีลีตในฟิลิปปินส์ เพื่อนปินอยนายหนึ่งถึงกับกล่าวให้ฟังว่า "If you have brain and money, you go to Ateneo, if you have brain but no money, you go to UP" ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฟิลิปปินส์ Noynoy Aquino ก็เป็นศิษย์เก่าที่นี่ และ Noynoy นั้นเคยเป็นลูกศิษย์ของ Gloria Arroyo ที่ Ateneo ก่อนที่ศิษย์และครูต้องมาฟาดฟันกันในสนามการเมือง
ส่วน UPEACE เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นในปี 1980 ตามมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ "เพื่อให้มีสถาบันการศึกษานานาชาติสำหรับสันติภาพ และเพื่อจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมเจตนารมณ์เพื่อความเข้าอกเข้าใจ, การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในมวลหมู่มนุษยชาติ ตามที่ได้ประกาศไว้ในกฏบัตรสหประชาชาติ" แต่ถ้าถามว่าทำไม UN ต้องแถไปตั้งมหา'ลัยอยู่ที่คอสตาริกา ให้คนทำหน้างงเวลาบอกว่าจะไปเรียน อันนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่แน่ใจในเหตุผล แต่เกร็ดน่าสนใจบางประการเกี่ยวกับประเทศนี้คือคอสตาริกาเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศในโลกที่ปราศจากกองทัพและกองกำลังทหารทุกชนิด
และบล็อกชื่อเรียกยากอย่างเซอร์เรียลนี้ ข้าพเจ้าคาดหวังให้มันเป็นบันทึกการเดินทางไปตามหาปริญญาโท ณ อีกซีกโลกหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยรู้จัก (ถ้าไม่ถูกส่งกลับเพราะตกภาษาอังกฤษอ่ะนะ!) นอกจากใบปริญญาและความรู้, ผู้คน เรื่องเล่า และเรื่องราวที่พบเจอระหว่างทางก็เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยากทำหล่นหายไปจากความทรงจำ ข้าพเจ้าเชื่อว่า, วิธีการหนึ่งที่จะทำให้ความทรงจำมีอายุยืนยาวก็คือการเขียนถึงความทรงจำเหล่านั้น, ทำให้มันมีชีวิตเป็นของตัวเอง.