Skip to main content

สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร


ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว


เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต


แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง



มีผู้นำของชุมชนที่เราเลือกเอง เพื่อการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ และมองเห็นอนาคตลูกหลาน เราพร้อมจะสามัคคีและช่วยกันแก้ไขเมื่อเผชิญกับปัญหา


เรากินอยู่อย่างพอเพียง เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยตามจำนวนยาที่จำกัด เราพยายามสลัดความเคยชินในการยืนอยู่หน้าร้านขายของ แล้วลงมือจับจอบเสียมอาบเหงื่อต่างน้ำ เพื่อสร้างชุมชนที่มีชีวิต


คำโปรยหว่านที่มาจากส่วนราชการ เหมือนยาหอมที่เราสูดดมจนหลงใหล และถึงกับเคลิ้มฝันไปว่า เราจะได้สิทธิ์ที่เหนือไปกว่าทาสที่ยังรอคอยเศษอาหารจากนาย เราจะมีบัตรที่แสดงตัวตน เพื่อจะได้เดินไปใช้บริการโรงพยาบาลอย่างคนทั่วไป


เมื่อเรามีบัตรเราก็จะสามารถเดินทางไปทำงานเมื่อยามขัดสน และไม่ต้องคอยทำตามคำสั่งที่สั่งให้เราหันซ้ายหันขวา เพื่อแลกกับเศษเงินเพียงเล็กน้อยของใคร เราจะไม่ถูกจองจำไว้แต่ในกรง


เราจะเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง แต่สิ่งที่เราเผชิญกลับกลายเป็นเพียงหลุมพราง เราไม่ได้สิทธิ์เหนือใคร ไม่มีแม้แต่ถนนที่จะนำพานักท่องเที่ยวเข้ามาถึงหมู่บ้าน


เราไม่มีโซล่าเซลล์ โรงเรียน หรือสถานพยาบาล ที่เคยมีคนเขียนไว้ในอากาศ

เราเห็นสิทธิของเราปลิวไปมา กับการสำรวจซ้ำซากเพื่อทำบัตรที่ไม่ต่างไปจากใบไม้ในป่า

เรามีเพียงที่ดินหลังบ้านไว้ปลูกผักสองสามแปลง มีเพียงบ่อปลาที่ไม่มีแม้แต่น้ำ ฝูงกระต่ายและไก่ดำที่ล่องลอยเป็นลมปาก



ขณะที่เราฝันถึงหมูเต็มเล้า เราก็กำลังจะขาดอาหาร ไม่มีแม้ข้าวสารในยุ้งเหล็กกล้าที่บรรจงทำเอาไว้เพื่อใส่ความว่างเปล่า


เราขอให้ทางการสร้างถนนอีกเส้นที่เป็นของเราเพื่อจะได้มีรายได้จากการท่องเที่ยวบ้าง แต่เรากลับถูกปฏิเสธ

เราเพียรขุดถนนเองด้วยสองมือ แต่เราก็กลายเป็นศัตรูกับผู้เสียผลประโยชน์

เราเริ่มเจ็บป่วยหนักยิ่งขึ้นและไม่มีเงินพอไปหาหมอที่อยู่ไกลกว่าเดิม เราขาดรายได้ที่เคยได้ และกำลังสูญเงินที่สะสมมาตลอดชีวิต


เราถูกปิดล้อมไว้ในป่าใหญ่ นักท่องเที่ยวยังคงมาหาเราบ้างประปราย แต่เขาก็ยังคงจ่ายเงินเป็นค่าตั๋วที่เราไม่ได้รับส่วนแบ่ง

เรามืดแปดด้าน และหลายคนเริ่มสละเรือ “อุดมการณ์กินไม่ได้” เริ่มเข้ามาในหัวเรา คำตอบโต้ที่ว่า “แต่เราไม่ได้กินอุดมการณ์” นั่นก็ถูกเพียงครึ่งเพราะเราต้องกินข้าว


เราทำงานหนักเพื่อสร้างหมู่บ้านในฝันแต่เรามองไม่เห็นอนาคต

แล้วเราก็พ่ายแพ้ แตกพ่ายไม่เป็นขบวน เราคืนอนาคตที่เป็นสัญญาเพียงลมปากให้กับทางการ ทุกคนดิ้นรนเพื่อหาหนทางให้กับตัวเอง


บางคนกลับคืนสู่แหล่งจองจำเดิม แลกกับการมีชีวิตอยู่ ยอมถูกเยาะเย้ยและเสียเปรียบ กว่าอีกนานถ้าหากจะมีผู้กล้าลุกขึ้นมาปลุกระดมให้เรารบอีกครั้ง เราอาจไม่แน่ใจว่าบาดแผลที่ยังเป็นรอยสลักในชีวิตนี้จะจางหายไปบ้างแล้วหรือยัง


เราอาจจะถูกเล่าขานว่าขี้ขลาด รบไม่จริง ไม่ยอมสู้ อ่อนแอ หรือกระทั่งโง่เขลาบนซากสมรภูมิแห่งนี้ที่ไม่ได้จารึกถึงหยาดเหงื่อแรงงานที่เราเพียรหว่านโปรย
เสียงถอดถอนใจของผู้เฒ่าที่ยังฮึดสู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง คำปลอบประโลมใจถึงเส้นทางแห่งชัยชนะที่มองไม่เห็น จนถึงคราบน้ำตาของผู้พ่ายแพ้


แต่ทุกสิ่งจะชัดเจนเสมอเมื่อเราผ่านมาในเส้นทางกลับบ้านแห่งนี้


บ้านที่ครั้งหนึ่งเราเคยภูมิใจ ว่ามันเป็นบ้านของเราจริงๆ เพราะเราได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตสร้างมันขึ้นมาและปกป้องรักษาเอาไว้จนถึงที่สุด แม้ว่ามันจะเป็นเวลาที่แสนสั้นนักก็ตาม.




 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว