Skip to main content

สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร


ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว


เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต


แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง



มีผู้นำของชุมชนที่เราเลือกเอง เพื่อการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ และมองเห็นอนาคตลูกหลาน เราพร้อมจะสามัคคีและช่วยกันแก้ไขเมื่อเผชิญกับปัญหา


เรากินอยู่อย่างพอเพียง เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยตามจำนวนยาที่จำกัด เราพยายามสลัดความเคยชินในการยืนอยู่หน้าร้านขายของ แล้วลงมือจับจอบเสียมอาบเหงื่อต่างน้ำ เพื่อสร้างชุมชนที่มีชีวิต


คำโปรยหว่านที่มาจากส่วนราชการ เหมือนยาหอมที่เราสูดดมจนหลงใหล และถึงกับเคลิ้มฝันไปว่า เราจะได้สิทธิ์ที่เหนือไปกว่าทาสที่ยังรอคอยเศษอาหารจากนาย เราจะมีบัตรที่แสดงตัวตน เพื่อจะได้เดินไปใช้บริการโรงพยาบาลอย่างคนทั่วไป


เมื่อเรามีบัตรเราก็จะสามารถเดินทางไปทำงานเมื่อยามขัดสน และไม่ต้องคอยทำตามคำสั่งที่สั่งให้เราหันซ้ายหันขวา เพื่อแลกกับเศษเงินเพียงเล็กน้อยของใคร เราจะไม่ถูกจองจำไว้แต่ในกรง


เราจะเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง แต่สิ่งที่เราเผชิญกลับกลายเป็นเพียงหลุมพราง เราไม่ได้สิทธิ์เหนือใคร ไม่มีแม้แต่ถนนที่จะนำพานักท่องเที่ยวเข้ามาถึงหมู่บ้าน


เราไม่มีโซล่าเซลล์ โรงเรียน หรือสถานพยาบาล ที่เคยมีคนเขียนไว้ในอากาศ

เราเห็นสิทธิของเราปลิวไปมา กับการสำรวจซ้ำซากเพื่อทำบัตรที่ไม่ต่างไปจากใบไม้ในป่า

เรามีเพียงที่ดินหลังบ้านไว้ปลูกผักสองสามแปลง มีเพียงบ่อปลาที่ไม่มีแม้แต่น้ำ ฝูงกระต่ายและไก่ดำที่ล่องลอยเป็นลมปาก



ขณะที่เราฝันถึงหมูเต็มเล้า เราก็กำลังจะขาดอาหาร ไม่มีแม้ข้าวสารในยุ้งเหล็กกล้าที่บรรจงทำเอาไว้เพื่อใส่ความว่างเปล่า


เราขอให้ทางการสร้างถนนอีกเส้นที่เป็นของเราเพื่อจะได้มีรายได้จากการท่องเที่ยวบ้าง แต่เรากลับถูกปฏิเสธ

เราเพียรขุดถนนเองด้วยสองมือ แต่เราก็กลายเป็นศัตรูกับผู้เสียผลประโยชน์

เราเริ่มเจ็บป่วยหนักยิ่งขึ้นและไม่มีเงินพอไปหาหมอที่อยู่ไกลกว่าเดิม เราขาดรายได้ที่เคยได้ และกำลังสูญเงินที่สะสมมาตลอดชีวิต


เราถูกปิดล้อมไว้ในป่าใหญ่ นักท่องเที่ยวยังคงมาหาเราบ้างประปราย แต่เขาก็ยังคงจ่ายเงินเป็นค่าตั๋วที่เราไม่ได้รับส่วนแบ่ง

เรามืดแปดด้าน และหลายคนเริ่มสละเรือ “อุดมการณ์กินไม่ได้” เริ่มเข้ามาในหัวเรา คำตอบโต้ที่ว่า “แต่เราไม่ได้กินอุดมการณ์” นั่นก็ถูกเพียงครึ่งเพราะเราต้องกินข้าว


เราทำงานหนักเพื่อสร้างหมู่บ้านในฝันแต่เรามองไม่เห็นอนาคต

แล้วเราก็พ่ายแพ้ แตกพ่ายไม่เป็นขบวน เราคืนอนาคตที่เป็นสัญญาเพียงลมปากให้กับทางการ ทุกคนดิ้นรนเพื่อหาหนทางให้กับตัวเอง


บางคนกลับคืนสู่แหล่งจองจำเดิม แลกกับการมีชีวิตอยู่ ยอมถูกเยาะเย้ยและเสียเปรียบ กว่าอีกนานถ้าหากจะมีผู้กล้าลุกขึ้นมาปลุกระดมให้เรารบอีกครั้ง เราอาจไม่แน่ใจว่าบาดแผลที่ยังเป็นรอยสลักในชีวิตนี้จะจางหายไปบ้างแล้วหรือยัง


เราอาจจะถูกเล่าขานว่าขี้ขลาด รบไม่จริง ไม่ยอมสู้ อ่อนแอ หรือกระทั่งโง่เขลาบนซากสมรภูมิแห่งนี้ที่ไม่ได้จารึกถึงหยาดเหงื่อแรงงานที่เราเพียรหว่านโปรย
เสียงถอดถอนใจของผู้เฒ่าที่ยังฮึดสู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง คำปลอบประโลมใจถึงเส้นทางแห่งชัยชนะที่มองไม่เห็น จนถึงคราบน้ำตาของผู้พ่ายแพ้


แต่ทุกสิ่งจะชัดเจนเสมอเมื่อเราผ่านมาในเส้นทางกลับบ้านแห่งนี้


บ้านที่ครั้งหนึ่งเราเคยภูมิใจ ว่ามันเป็นบ้านของเราจริงๆ เพราะเราได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตสร้างมันขึ้นมาและปกป้องรักษาเอาไว้จนถึงที่สุด แม้ว่ามันจะเป็นเวลาที่แสนสั้นนักก็ตาม.




 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…