Skip to main content

5 กันยายน 2550
ยามเช้า,

ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่

เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว

เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่

“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม ชาวบ้านอยากทราบว่าบ้านเก่าที่อยู่นี้เขาจะรื้อย้ายไปที่ใหม่ด้วยได้ไหม”

“ผมคิดว่าอันไหนที่ชาวบ้านคิดว่ามันจำเป็นและสำคัญต้องเอาไปด้วย ก็ขนย้ายกันไป เราจะมีรถและอส.ไว้ให้บริการ แต่น่าจะเอาเฉพาะส่วนที่จำเป็นไปก่อนจะดีกว่านะครับ ถ้าย้ายบ้านไปทั้งหลังเกรงว่ารถจะขนหลายรอบ หรืออาจใช้เวลาหลายวัน”

“แต่ชาวบ้านเขาคิดว่าบ้านก็เป็นสมบัติที่เขาลงทุนสร้างมา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆนะคะกว่าจะเปลี่ยนจากเพิงกระท่อมมาเป็นบ้านที่มั่นคงแข็งแรง เขาก็อยากจะรื้อย้ายไปด้วย ถ้าหากว่าทางการอนุญาต เพราะบ้านที่ทางจังหวัดสร้างไว้ บอกตามตรงมันเล็กมาก ไม่พออาศัยสำหรับครอบครัวที่มีลูกมากถึง 4-5 คน หรอกคะ ฉันอยากให้ข้อคิดเห็นปลัดฯ อีกอย่างก็คือ ฉันคิดว่าถ้าปลัดฯอนุญาตให้เขารื้อบ้านเก่าไปได้ ชาวบ้านก็จะได้ไม่ต้องไปลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพื่อต่อเติมบ้าน เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรป่าไม้และยังผิดกฎหมายอีกด้วย สู้ให้เขาเอาไม้เก่าๆ ไปต่อเติมจะดีกว่านะคะ”

“ผมเข้าใจครับ เรื่องนี้ก็มีเหตุผลอยู่แต่ เกรงว่าจะไม่สามารถย้ายกันไปหมดได้ภายในวันเดียว เอาอย่างนี้แล้วกันนะครับ ถ้าชาวบ้านอยากจะย้ายไม้บ้านไปจริงผมก็จะอนุญาตให้หนึ่งวัน ในวันที่ย้ายคือ วันที่ 10 กันยายน แต่อันนี้ผมบอกได้เพียงคำพูดเท่านั้นนะครับ ไม่สามารถออกเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรได้ เพราะคุณก็รู้เรื่องไม้มันเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐหลายส่วน หากให้ทำหนังสือขออนุมัติ ก็ต้องใช้เวลานานคงไม่ทันกาล”

แม้จะไม่เป็นทางการแต่ฉันก็ยังเชื่อใจปลัดฯ ถ่ายเทคำสั่งที่ได้ยินมาว่าสามารถขนย้ายไม้บ้านเก่าไปหมู่บ้านใหม่ได้ และบ้านทุกหลังที่ตัดสินใจย้ายก็พังพาบลงในพริบตา

ความจริงที่หมู่บ้านห้วยปูแกง ทางจังหวัดมีงบประมาณสร้างบ้านไว้รอผู้ที่ย้ายมาใหม่ หลังละ 5,000 บาท แต่งบประมาณเพียงเท่านี้ จึงสร้างได้เพียงบ้านเพิงไม้ไผ่หลังคามุงใบตองตึง มีห้องนอน,ห้องนั่งเล่นและห้องน้ำอย่างละหนึ่งห้อง

มองไปไม่ต่างจากเถียงนาบ้านคนเมืองสักเท่าไร เพียงแต่เถียงนาจะอยู่โล่งๆ กลางนาเพียงหลังเดียว แต่บ้านเพิงที่สร้างไว้รองรับชาวบ้านจากสองหมู่บ้าน กลับยืนเรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบกว่า 30 หลัง

ยามบ่าย,

ฝนโปรยสายอ้อยอิ่ง เมฆครึ้มอากาศทึมเทาเด็กๆต่างไปโรงเรียนกันหมดแล้ว เหลือเพียงเด็กเล็กและทารกที่ยังต้องการการเอาใจใส่ใกล้ชิดจากพ่อและแม่

คนหนุ่มบางคนหยิบคันเบ็ดเดินล่องไปตามลำธาร บ้างหันหน้าเข้าป่าแบกจอบไปขุดตุ่นแบกปืนไปยิงนกล่าสัตว์ในป่าที่คุ้นเคย

หมู่บ้านเงียบกริบนานๆ มีเสียงงัดแงะตะปูออกจากแผ่นไม้ แม่เฒ่ากระยันนั่งถอนใจปั่นด้ายซึมเซาข้างๆ กองไม้

นักท่องเที่ยวบางตากว่าเดือนที่แล้วมาก คนไทยอาจจะพอรู้ข่าวคราวการโยกย้ายจึงไม่ค่อยแน่ใจว่ายังเปิดให้เข้ามาเที่ยวหรือไม่ แต่กรุ๊ปทัววร์ฝรั่งที่มีไกรด์นำทางก็ยังเดินทางเข้ามาเที่ยวอยู่ประปราย

แม่ (ของสามี) ถามขึ้นกับฉันเบาๆ ว่ายายเป็ง (นายทุน) จะให้เงินเดือนย้อนหลังกับคนที่ย้ายหรือเปล่า เพราะสองเดือนก่อนอ้างว่าไม่มีนักท่องเที่ยวก็เลยติดค้างชาวบ้านไว้ แต่ทุกๆปีก็จ่ายคืนให้ ฉันตอบว่าไม่รู้หรอก อันนี้ชาวบ้านก็ต้องรวมตัวกันพูดกับยายเอง

เงิน 1,500 บาท ที่นายทุนให้เป็นค่าตอบแทนแก่หญิงสาวกระยันที่สวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ นับตั้งแต่ย่างเท้าเข้ามาในประเทศไทย แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำ การเงินผันผวนเช่นไร แต่ก็ยังไม่มีการขึ้นเงินเดือนให้พวกเธอสักครั้ง

ถึงกระนั้นเงินจำนวนน้อยนิดนี้ ก็ยังสามารถจุนเจือครอบครัวในหุบเขาได้อย่างปกติสุขเรื่อยมา เพราะพวกเธอไม่รู้จักการเรียกร้องต่อรอง หากเป็นโรงงานใหญ่ในเมือง คงถูกประท้วงขึ้นค่าแรงไปนานแล้วหากสวัสดิการที่ได้ไม่พอกับค่าเหนื่อย

picture

ยามเย็น,

เด็กๆ กลับมาจากโรงเรียนคืนชีวิตชีวาให้กับหมู่บ้านอีกครั้ง บ้างจับกลุ่มกันเขียนตารางบนดินเล่นตาเขย่ง บ้างขึงหนังยางเล่นโดดเชือก ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเช่นทุกวัน ลูกของฉันก็พลอยยิ้มร่าหัวเราะเสียงดังที่มีพี่ๆมาหยอกล้อเล่นหลังจากอยู่เหงาๆกับแม่และย่าลำพังทั้งวัน

โรงเรียนและเพื่อนๆ คือสิ่งที่เด็กๆ ทั้งโลกควรจะได้รับ เมื่อถึงเวลาที่ย้ายจริงๆ เด็กที่นี่จะต้องย้ายจากโรงเรียนในระบบประถมศึกษา ไปเรียนต่อในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน และสูญเสียเพื่อนบางคน พบเจอกับเพื่อนใหม่ อยู่บ้านใหม่บ้าน แปลกทั้งสถานที่และผู้คน

แต่ดูเหมือนจะไม่มีเด็กคนไหนกังวลถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึงพวกเขา ต่างจากผู้ใหญ่ที่จะสารพัดกังวลไว้ล่วงหน้า ด้วยคำถามที่ชาวบ้านฝากฉันไว้ถามต่อหน่วยงานภาครัฐมากมาย

“เขาจะให้ถนนไหม ,เขาจะให้โซล่าเซลล์หรือเปล่า แล้วเงินเดือนล่ะ ฯลฯ”

ฉันถอนใจกับตัวเองเบาๆ เก็บคำถามเหล่านี้ไว้ก่อนจะดีกว่ารอวันถึงตาจนจริงๆ วันนั้นวิกฤติอาจเป็นโอกาส สามารถเปลี่ยนชาวบ้านที่แตกแยกให้สามัคคีกันได้ เปลี่ยนชุมชนอ่อนแอให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เปลี่ยนจากผู้ยอมจำนน ให้เป็นผู้มีอำนาจต่อรอง

การเดินทางยังอีกยาวไกล และคำตอบยังรอคอยอยู่ข้างหน้า.

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เมื่อคืนเรานั่งดูรูปถ่ายเก่าๆ ที่เราไปเที่ยวกันมา นับตั้งแต่ครั้งแรกที่แม่พาลูกเดินทางไกล จากแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ ตอนนั้นลูกเพิ่งอายุได้เจ็ดเดือนเศษ  มีรูปตอนไปเที่ยวสวนสัตว์และเที่ยวงานพืชสวนโลก 2008 ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ สวยราวกับภาพถ่ายต่างเมืองที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่เมืองไทย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   เมื่อคืนลูกมีไข้ขึ้นสูง แม้เช้านี้อาการไข้ของลูกจะลดลงแล้วแต่ตัวลูกก็ยังอุ่นๆ เหมือนเครื่องอบที่เพิ่งทำงานเสร็จใหม่ๆ แม่จึงตัดสินใจให้ลูกขาดโรงเรียนอีกหนึ่งวัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก หากมีคำถามจากใครสักคนถามแม่ว่า เดือนไหนของปีที่รู้สึกว่ายาวนานกว่าเดือนอื่นๆ คำตอบของแม่อาจจะแตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ เพราะแม่คิดว่าเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุดเป็นเดือนที่แม่รู้สึกว่ายาวนานกว่าทุกๆเดือน
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก  นานแล้วที่แม่ไม่ได้หอมกลิ่นดอกเหงื่อ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เราได้ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อติดตั้งน้ำประปาหลวง ทำให้บ้านของเราที่เคยแห้งแล้งกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ดอกเหงื่อที่เกิดจากการจับจอบเสียมเพื่อขึ้นแปลงผักและปลูกต้นไม้เล็กๆน้อยๆ ทำให้แม่มีความสุข เจริญอาหาร และอารมณ์ดีขึ้นไม่น้อย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ในชีวิตอีกบทหนึ่งก็คือ เมื่อมีพบก็ต้องมีการลาจาก และบางครั้งลูกก็อาจจะต้องเจอกับการพลัดพลาดจากบางสิ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก สิ่งที่แม่เป็นกังวลใจมาตลอดในความเข้าใจถึง “ตัวตน” ของลูกเริ่มก่อแววให้เห็นขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ลูกอายุได้เกือบสามขวบแล้ว ซึ่งทุกวันแม่จะได้รับคำถามจากลูกมากมาย เช่น ทำไมแม่ไม่ใส่ห่วงที่คอ ทำไมกระเม (หมายถึงแขกที่มาเที่ยว) มาบ้านเราล่ะแม่ ฯลฯ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก  ในยามเช้าที่สายหมอกยังไม่ทันจาง เราตื่นขึ้นด้วยเสียงเอะอะมะเทิ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง พวกเขาเดินมาพลางร้องเรียกไปพลาง เพื่อจะดูชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาหมายมั่นมาดู
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่แม่อยากจะเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องความรักระหว่างพ่อกับแม่ ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกแตกต่างไปจากคนอื่นๆในสังคม
เจนจิรา สุ
เชียงใหม่ยามเช้าที่อาเขต พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาและกำลังจะจากเมืองใหญ่ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางความเจริญในภาคเหนือของประเทศ