Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก

สิ่งที่แม่เป็นกังวลใจมาตลอดในความเข้าใจถึง “ตัวตน” ของลูกเริ่มก่อแววให้เห็นขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ลูกอายุได้เกือบสามขวบแล้ว ซึ่งทุกวันแม่จะได้รับคำถามจากลูกมากมาย เช่น ทำไมแม่ไม่ใส่ห่วงที่คอ ทำไมกระเม (หมายถึงแขกที่มาเที่ยว) มาบ้านเราล่ะแม่ ฯลฯ

เมื่อวานนี้ก็เช่นกัน ลูกได้ใช้คำพูดด่า “มะจ่อ” ซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อ ด้วยคำว่า “พวกกะเหรี่ยงคอยาว” แม้จะเป็นคำพูดที่ดูจะไม่รุนแรงอะไร ในความชาชินของมะจ่อซึ่งใส่ห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ  แต่สำหรับแม่แล้ว คำด่าของลูกแสดงถึงความสับสนในตัวตนของลูกเอง

ข้อแรกคือ แม่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าลูกไปเอาคำด่านี้มาจากไหน  ลูกคงไม่ได้คิดเองในเมื่อลูกก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกระยันที่สวมห่วงทองเหลือง  แต่ลูกคงได้ยินได้ฟังมาจากเพื่อนที่โรงเรียนซึ่งมีหลายชนเผ่าเป็นเพื่อนร่วมชั้นอนุบาลของลูก

คำด่าของลูกที่ว่า ”พวกกะเหรี่ยงคอยาว” แสดงถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวก โดยที่ลูกหารู้ไม่ว่ามันหมายถึงตัวของลูกเองด้วย แม้ว่าแม่จะไม่ได้สวมห่วงทองเหลือง แต่ลูกก็อาศัยและเติบโตที่หมู่บ้านกระยัน และมีพ่อที่เป็นชาวกระยัน

ข้อที่สอง เมื่อแม่ถามว่าลูกรักพือพือ (หมายถึงย่า) ไหม ลูกก็ตอบว่ารัก แม่ถามลูกต่อว่าแล้วพือพือเป็นกะเหรี่ยงคอยาวหรือเปล่า ลูกก็ตอบว่าเป็น แม่จึงถามต่อไปอีกว่าแล้วลูกด่าว่าพือพือเป็นพวกกะเหรี่ยงคอยาวทำไม แม่ก็ได้เพียงความเงียบเป็นคำตอบจากลูก

คำตอบที่อยู่ในใจของแม่ก็คือ ความไร้เดียงสาของลูกนั่นเอง ที่ลูกจดจำคำพูดของคนอื่น แต่ลูกก็ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์ผู้หญิงชาวกระยันที่ใส่ห่วง โดยเฉพาะพือพือ ที่ลูกทั้งรักและติดหนึบมากยิ่งขึ้นตามวันและเวลาที่แม่ได้ห่างลูกออกไปทำงานในเมือง

บางครั้งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมการแสดงเต้นรำของผู้หญิงที่ใส่ห่วง  เสียงกลองเสียงฉิ่งครึกครื้น สนุกสนาน ลูกก็ยังมากระซิบแม่ว่าอยากใส่ห่วงที่คอเหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่แสดงการฟ้อนรำ  เพราะลูกยังไร้เดียงสา เช่นเด็กคนอื่นๆ ที่ร้องขอให้แม่ใส่ห่วงให้เหมือนกับแม่ของตนเอง

สาละวิน,ลูกรัก ในวันหนึ่ง เมื่อเด็กๆ รวมถึงลูกได้เติบโตขึ้น แม่กลัวว่าเพาะพันธุ์แห่งความรังเกียจที่คนอื่นมอบให้จะขยายสู่อาณาเขตของหัวใจลูก เช่น เด็กสาวรุ่นใหม่ที่ทอดทิ้งวัฒนธรรมการใส่ห่วง  ไปนุ่งยืน สวมชุดเกาะอก เมื่อพวกเขารู้ว่าสังคมตั้งข้อรังเกียจในวัฒนธรรมชนเผ่ากระยัน

แม่จึงพูดคุยปลูกฝังลูกเสมอว่า อย่าได้ตั้งข้อรังเกียจในวัฒนธรรมของตนที่มีอยู่ในสายเลือดของลูกครึ่งหนึ่ง แม่หวังว่าเพาะพันธ์แห่งความรังเกียจจะสูญสลายไป  อยากให้ลูกภูมิใจในความเป็นชนเผ่าของตนเอง ซึ่งแม่ต้องคอยเติมภูมิคุ้มกัน เพื่อวันข้างหน้าลูกจะได้ตอบผู้คนได้อย่างมั่นใจว่าลูกคือใคร  ไม่ปิดบัง “ตัวตน” ที่แท้จริงของตนเอง                            

แม่เคยพบเห็นชายหนุ่มหญิงสาวหลายคนที่มาจากชนเผ่าต่างๆ แต่พอได้รับการศึกษา หรือได้ออกมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ก็ลืมรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง และแยกตัวออกจากชุมชน ปิดบังว่าตัวเองเป็นชนเผ่าอะไร ลืมแม้กระทั่งภาษาที่พ่อแม่เคยปลูกฝัง

แม่ไม่ได้สอนให้ลูกแบ่งแยก แต่ขอให้ลูกยอมรับในความแตกต่าง และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความภาคภูมิใจในตัวเอง แม้ว่าเพาะพันธุ์แห่งความรังเกียจจะไม่หมดไปจากสังคมโดยง่าย ลูกก็ต้องสร้างการยอมรับจากคนอื่น   ด้วยการยอมรับตัวเองก่อน เพราะคนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะใช้ชีวิตได้

รักลูก
แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เมื่อคืนเรานั่งดูรูปถ่ายเก่าๆ ที่เราไปเที่ยวกันมา นับตั้งแต่ครั้งแรกที่แม่พาลูกเดินทางไกล จากแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ ตอนนั้นลูกเพิ่งอายุได้เจ็ดเดือนเศษ  มีรูปตอนไปเที่ยวสวนสัตว์และเที่ยวงานพืชสวนโลก 2008 ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ สวยราวกับภาพถ่ายต่างเมืองที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่เมืองไทย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   เมื่อคืนลูกมีไข้ขึ้นสูง แม้เช้านี้อาการไข้ของลูกจะลดลงแล้วแต่ตัวลูกก็ยังอุ่นๆ เหมือนเครื่องอบที่เพิ่งทำงานเสร็จใหม่ๆ แม่จึงตัดสินใจให้ลูกขาดโรงเรียนอีกหนึ่งวัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก หากมีคำถามจากใครสักคนถามแม่ว่า เดือนไหนของปีที่รู้สึกว่ายาวนานกว่าเดือนอื่นๆ คำตอบของแม่อาจจะแตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ เพราะแม่คิดว่าเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุดเป็นเดือนที่แม่รู้สึกว่ายาวนานกว่าทุกๆเดือน
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก  นานแล้วที่แม่ไม่ได้หอมกลิ่นดอกเหงื่อ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เราได้ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อติดตั้งน้ำประปาหลวง ทำให้บ้านของเราที่เคยแห้งแล้งกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ดอกเหงื่อที่เกิดจากการจับจอบเสียมเพื่อขึ้นแปลงผักและปลูกต้นไม้เล็กๆน้อยๆ ทำให้แม่มีความสุข เจริญอาหาร และอารมณ์ดีขึ้นไม่น้อย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ในชีวิตอีกบทหนึ่งก็คือ เมื่อมีพบก็ต้องมีการลาจาก และบางครั้งลูกก็อาจจะต้องเจอกับการพลัดพลาดจากบางสิ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก สิ่งที่แม่เป็นกังวลใจมาตลอดในความเข้าใจถึง “ตัวตน” ของลูกเริ่มก่อแววให้เห็นขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ลูกอายุได้เกือบสามขวบแล้ว ซึ่งทุกวันแม่จะได้รับคำถามจากลูกมากมาย เช่น ทำไมแม่ไม่ใส่ห่วงที่คอ ทำไมกระเม (หมายถึงแขกที่มาเที่ยว) มาบ้านเราล่ะแม่ ฯลฯ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก  ในยามเช้าที่สายหมอกยังไม่ทันจาง เราตื่นขึ้นด้วยเสียงเอะอะมะเทิ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง พวกเขาเดินมาพลางร้องเรียกไปพลาง เพื่อจะดูชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาหมายมั่นมาดู
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่แม่อยากจะเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องความรักระหว่างพ่อกับแม่ ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกแตกต่างไปจากคนอื่นๆในสังคม
เจนจิรา สุ
เชียงใหม่ยามเช้าที่อาเขต พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาและกำลังจะจากเมืองใหญ่ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางความเจริญในภาคเหนือของประเทศ