Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก

สิ่งที่แม่เป็นกังวลใจมาตลอดในความเข้าใจถึง “ตัวตน” ของลูกเริ่มก่อแววให้เห็นขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ลูกอายุได้เกือบสามขวบแล้ว ซึ่งทุกวันแม่จะได้รับคำถามจากลูกมากมาย เช่น ทำไมแม่ไม่ใส่ห่วงที่คอ ทำไมกระเม (หมายถึงแขกที่มาเที่ยว) มาบ้านเราล่ะแม่ ฯลฯ

เมื่อวานนี้ก็เช่นกัน ลูกได้ใช้คำพูดด่า “มะจ่อ” ซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อ ด้วยคำว่า “พวกกะเหรี่ยงคอยาว” แม้จะเป็นคำพูดที่ดูจะไม่รุนแรงอะไร ในความชาชินของมะจ่อซึ่งใส่ห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ  แต่สำหรับแม่แล้ว คำด่าของลูกแสดงถึงความสับสนในตัวตนของลูกเอง

ข้อแรกคือ แม่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าลูกไปเอาคำด่านี้มาจากไหน  ลูกคงไม่ได้คิดเองในเมื่อลูกก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกระยันที่สวมห่วงทองเหลือง  แต่ลูกคงได้ยินได้ฟังมาจากเพื่อนที่โรงเรียนซึ่งมีหลายชนเผ่าเป็นเพื่อนร่วมชั้นอนุบาลของลูก

คำด่าของลูกที่ว่า ”พวกกะเหรี่ยงคอยาว” แสดงถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวก โดยที่ลูกหารู้ไม่ว่ามันหมายถึงตัวของลูกเองด้วย แม้ว่าแม่จะไม่ได้สวมห่วงทองเหลือง แต่ลูกก็อาศัยและเติบโตที่หมู่บ้านกระยัน และมีพ่อที่เป็นชาวกระยัน

ข้อที่สอง เมื่อแม่ถามว่าลูกรักพือพือ (หมายถึงย่า) ไหม ลูกก็ตอบว่ารัก แม่ถามลูกต่อว่าแล้วพือพือเป็นกะเหรี่ยงคอยาวหรือเปล่า ลูกก็ตอบว่าเป็น แม่จึงถามต่อไปอีกว่าแล้วลูกด่าว่าพือพือเป็นพวกกะเหรี่ยงคอยาวทำไม แม่ก็ได้เพียงความเงียบเป็นคำตอบจากลูก

คำตอบที่อยู่ในใจของแม่ก็คือ ความไร้เดียงสาของลูกนั่นเอง ที่ลูกจดจำคำพูดของคนอื่น แต่ลูกก็ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์ผู้หญิงชาวกระยันที่ใส่ห่วง โดยเฉพาะพือพือ ที่ลูกทั้งรักและติดหนึบมากยิ่งขึ้นตามวันและเวลาที่แม่ได้ห่างลูกออกไปทำงานในเมือง

บางครั้งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมการแสดงเต้นรำของผู้หญิงที่ใส่ห่วง  เสียงกลองเสียงฉิ่งครึกครื้น สนุกสนาน ลูกก็ยังมากระซิบแม่ว่าอยากใส่ห่วงที่คอเหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่แสดงการฟ้อนรำ  เพราะลูกยังไร้เดียงสา เช่นเด็กคนอื่นๆ ที่ร้องขอให้แม่ใส่ห่วงให้เหมือนกับแม่ของตนเอง

สาละวิน,ลูกรัก ในวันหนึ่ง เมื่อเด็กๆ รวมถึงลูกได้เติบโตขึ้น แม่กลัวว่าเพาะพันธุ์แห่งความรังเกียจที่คนอื่นมอบให้จะขยายสู่อาณาเขตของหัวใจลูก เช่น เด็กสาวรุ่นใหม่ที่ทอดทิ้งวัฒนธรรมการใส่ห่วง  ไปนุ่งยืน สวมชุดเกาะอก เมื่อพวกเขารู้ว่าสังคมตั้งข้อรังเกียจในวัฒนธรรมชนเผ่ากระยัน

แม่จึงพูดคุยปลูกฝังลูกเสมอว่า อย่าได้ตั้งข้อรังเกียจในวัฒนธรรมของตนที่มีอยู่ในสายเลือดของลูกครึ่งหนึ่ง แม่หวังว่าเพาะพันธ์แห่งความรังเกียจจะสูญสลายไป  อยากให้ลูกภูมิใจในความเป็นชนเผ่าของตนเอง ซึ่งแม่ต้องคอยเติมภูมิคุ้มกัน เพื่อวันข้างหน้าลูกจะได้ตอบผู้คนได้อย่างมั่นใจว่าลูกคือใคร  ไม่ปิดบัง “ตัวตน” ที่แท้จริงของตนเอง                            

แม่เคยพบเห็นชายหนุ่มหญิงสาวหลายคนที่มาจากชนเผ่าต่างๆ แต่พอได้รับการศึกษา หรือได้ออกมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ก็ลืมรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง และแยกตัวออกจากชุมชน ปิดบังว่าตัวเองเป็นชนเผ่าอะไร ลืมแม้กระทั่งภาษาที่พ่อแม่เคยปลูกฝัง

แม่ไม่ได้สอนให้ลูกแบ่งแยก แต่ขอให้ลูกยอมรับในความแตกต่าง และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความภาคภูมิใจในตัวเอง แม้ว่าเพาะพันธุ์แห่งความรังเกียจจะไม่หมดไปจากสังคมโดยง่าย ลูกก็ต้องสร้างการยอมรับจากคนอื่น   ด้วยการยอมรับตัวเองก่อน เพราะคนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะใช้ชีวิตได้

รักลูก
แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…