Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก

สิ่งที่แม่เป็นกังวลใจมาตลอดในความเข้าใจถึง “ตัวตน” ของลูกเริ่มก่อแววให้เห็นขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ลูกอายุได้เกือบสามขวบแล้ว ซึ่งทุกวันแม่จะได้รับคำถามจากลูกมากมาย เช่น ทำไมแม่ไม่ใส่ห่วงที่คอ ทำไมกระเม (หมายถึงแขกที่มาเที่ยว) มาบ้านเราล่ะแม่ ฯลฯ

เมื่อวานนี้ก็เช่นกัน ลูกได้ใช้คำพูดด่า “มะจ่อ” ซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อ ด้วยคำว่า “พวกกะเหรี่ยงคอยาว” แม้จะเป็นคำพูดที่ดูจะไม่รุนแรงอะไร ในความชาชินของมะจ่อซึ่งใส่ห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ  แต่สำหรับแม่แล้ว คำด่าของลูกแสดงถึงความสับสนในตัวตนของลูกเอง

ข้อแรกคือ แม่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าลูกไปเอาคำด่านี้มาจากไหน  ลูกคงไม่ได้คิดเองในเมื่อลูกก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกระยันที่สวมห่วงทองเหลือง  แต่ลูกคงได้ยินได้ฟังมาจากเพื่อนที่โรงเรียนซึ่งมีหลายชนเผ่าเป็นเพื่อนร่วมชั้นอนุบาลของลูก

คำด่าของลูกที่ว่า ”พวกกะเหรี่ยงคอยาว” แสดงถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวก โดยที่ลูกหารู้ไม่ว่ามันหมายถึงตัวของลูกเองด้วย แม้ว่าแม่จะไม่ได้สวมห่วงทองเหลือง แต่ลูกก็อาศัยและเติบโตที่หมู่บ้านกระยัน และมีพ่อที่เป็นชาวกระยัน

ข้อที่สอง เมื่อแม่ถามว่าลูกรักพือพือ (หมายถึงย่า) ไหม ลูกก็ตอบว่ารัก แม่ถามลูกต่อว่าแล้วพือพือเป็นกะเหรี่ยงคอยาวหรือเปล่า ลูกก็ตอบว่าเป็น แม่จึงถามต่อไปอีกว่าแล้วลูกด่าว่าพือพือเป็นพวกกะเหรี่ยงคอยาวทำไม แม่ก็ได้เพียงความเงียบเป็นคำตอบจากลูก

คำตอบที่อยู่ในใจของแม่ก็คือ ความไร้เดียงสาของลูกนั่นเอง ที่ลูกจดจำคำพูดของคนอื่น แต่ลูกก็ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์ผู้หญิงชาวกระยันที่ใส่ห่วง โดยเฉพาะพือพือ ที่ลูกทั้งรักและติดหนึบมากยิ่งขึ้นตามวันและเวลาที่แม่ได้ห่างลูกออกไปทำงานในเมือง

บางครั้งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมการแสดงเต้นรำของผู้หญิงที่ใส่ห่วง  เสียงกลองเสียงฉิ่งครึกครื้น สนุกสนาน ลูกก็ยังมากระซิบแม่ว่าอยากใส่ห่วงที่คอเหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่แสดงการฟ้อนรำ  เพราะลูกยังไร้เดียงสา เช่นเด็กคนอื่นๆ ที่ร้องขอให้แม่ใส่ห่วงให้เหมือนกับแม่ของตนเอง

สาละวิน,ลูกรัก ในวันหนึ่ง เมื่อเด็กๆ รวมถึงลูกได้เติบโตขึ้น แม่กลัวว่าเพาะพันธุ์แห่งความรังเกียจที่คนอื่นมอบให้จะขยายสู่อาณาเขตของหัวใจลูก เช่น เด็กสาวรุ่นใหม่ที่ทอดทิ้งวัฒนธรรมการใส่ห่วง  ไปนุ่งยืน สวมชุดเกาะอก เมื่อพวกเขารู้ว่าสังคมตั้งข้อรังเกียจในวัฒนธรรมชนเผ่ากระยัน

แม่จึงพูดคุยปลูกฝังลูกเสมอว่า อย่าได้ตั้งข้อรังเกียจในวัฒนธรรมของตนที่มีอยู่ในสายเลือดของลูกครึ่งหนึ่ง แม่หวังว่าเพาะพันธ์แห่งความรังเกียจจะสูญสลายไป  อยากให้ลูกภูมิใจในความเป็นชนเผ่าของตนเอง ซึ่งแม่ต้องคอยเติมภูมิคุ้มกัน เพื่อวันข้างหน้าลูกจะได้ตอบผู้คนได้อย่างมั่นใจว่าลูกคือใคร  ไม่ปิดบัง “ตัวตน” ที่แท้จริงของตนเอง                            

แม่เคยพบเห็นชายหนุ่มหญิงสาวหลายคนที่มาจากชนเผ่าต่างๆ แต่พอได้รับการศึกษา หรือได้ออกมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ก็ลืมรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง และแยกตัวออกจากชุมชน ปิดบังว่าตัวเองเป็นชนเผ่าอะไร ลืมแม้กระทั่งภาษาที่พ่อแม่เคยปลูกฝัง

แม่ไม่ได้สอนให้ลูกแบ่งแยก แต่ขอให้ลูกยอมรับในความแตกต่าง และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความภาคภูมิใจในตัวเอง แม้ว่าเพาะพันธุ์แห่งความรังเกียจจะไม่หมดไปจากสังคมโดยง่าย ลูกก็ต้องสร้างการยอมรับจากคนอื่น   ด้วยการยอมรับตัวเองก่อน เพราะคนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะใช้ชีวิตได้

รักลูก
แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว