Skip to main content

5 กันยายน 2550
ยามเช้า,

ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่

เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว

เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่

“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม ชาวบ้านอยากทราบว่าบ้านเก่าที่อยู่นี้เขาจะรื้อย้ายไปที่ใหม่ด้วยได้ไหม”

“ผมคิดว่าอันไหนที่ชาวบ้านคิดว่ามันจำเป็นและสำคัญต้องเอาไปด้วย ก็ขนย้ายกันไป เราจะมีรถและอส.ไว้ให้บริการ แต่น่าจะเอาเฉพาะส่วนที่จำเป็นไปก่อนจะดีกว่านะครับ ถ้าย้ายบ้านไปทั้งหลังเกรงว่ารถจะขนหลายรอบ หรืออาจใช้เวลาหลายวัน”

“แต่ชาวบ้านเขาคิดว่าบ้านก็เป็นสมบัติที่เขาลงทุนสร้างมา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆนะคะกว่าจะเปลี่ยนจากเพิงกระท่อมมาเป็นบ้านที่มั่นคงแข็งแรง เขาก็อยากจะรื้อย้ายไปด้วย ถ้าหากว่าทางการอนุญาต เพราะบ้านที่ทางจังหวัดสร้างไว้ บอกตามตรงมันเล็กมาก ไม่พออาศัยสำหรับครอบครัวที่มีลูกมากถึง 4-5 คน หรอกคะ ฉันอยากให้ข้อคิดเห็นปลัดฯ อีกอย่างก็คือ ฉันคิดว่าถ้าปลัดฯอนุญาตให้เขารื้อบ้านเก่าไปได้ ชาวบ้านก็จะได้ไม่ต้องไปลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพื่อต่อเติมบ้าน เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรป่าไม้และยังผิดกฎหมายอีกด้วย สู้ให้เขาเอาไม้เก่าๆ ไปต่อเติมจะดีกว่านะคะ”

“ผมเข้าใจครับ เรื่องนี้ก็มีเหตุผลอยู่แต่ เกรงว่าจะไม่สามารถย้ายกันไปหมดได้ภายในวันเดียว เอาอย่างนี้แล้วกันนะครับ ถ้าชาวบ้านอยากจะย้ายไม้บ้านไปจริงผมก็จะอนุญาตให้หนึ่งวัน ในวันที่ย้ายคือ วันที่ 10 กันยายน แต่อันนี้ผมบอกได้เพียงคำพูดเท่านั้นนะครับ ไม่สามารถออกเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรได้ เพราะคุณก็รู้เรื่องไม้มันเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐหลายส่วน หากให้ทำหนังสือขออนุมัติ ก็ต้องใช้เวลานานคงไม่ทันกาล”

แม้จะไม่เป็นทางการแต่ฉันก็ยังเชื่อใจปลัดฯ ถ่ายเทคำสั่งที่ได้ยินมาว่าสามารถขนย้ายไม้บ้านเก่าไปหมู่บ้านใหม่ได้ และบ้านทุกหลังที่ตัดสินใจย้ายก็พังพาบลงในพริบตา

ความจริงที่หมู่บ้านห้วยปูแกง ทางจังหวัดมีงบประมาณสร้างบ้านไว้รอผู้ที่ย้ายมาใหม่ หลังละ 5,000 บาท แต่งบประมาณเพียงเท่านี้ จึงสร้างได้เพียงบ้านเพิงไม้ไผ่หลังคามุงใบตองตึง มีห้องนอน,ห้องนั่งเล่นและห้องน้ำอย่างละหนึ่งห้อง

มองไปไม่ต่างจากเถียงนาบ้านคนเมืองสักเท่าไร เพียงแต่เถียงนาจะอยู่โล่งๆ กลางนาเพียงหลังเดียว แต่บ้านเพิงที่สร้างไว้รองรับชาวบ้านจากสองหมู่บ้าน กลับยืนเรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบกว่า 30 หลัง

ยามบ่าย,

ฝนโปรยสายอ้อยอิ่ง เมฆครึ้มอากาศทึมเทาเด็กๆต่างไปโรงเรียนกันหมดแล้ว เหลือเพียงเด็กเล็กและทารกที่ยังต้องการการเอาใจใส่ใกล้ชิดจากพ่อและแม่

คนหนุ่มบางคนหยิบคันเบ็ดเดินล่องไปตามลำธาร บ้างหันหน้าเข้าป่าแบกจอบไปขุดตุ่นแบกปืนไปยิงนกล่าสัตว์ในป่าที่คุ้นเคย

หมู่บ้านเงียบกริบนานๆ มีเสียงงัดแงะตะปูออกจากแผ่นไม้ แม่เฒ่ากระยันนั่งถอนใจปั่นด้ายซึมเซาข้างๆ กองไม้

นักท่องเที่ยวบางตากว่าเดือนที่แล้วมาก คนไทยอาจจะพอรู้ข่าวคราวการโยกย้ายจึงไม่ค่อยแน่ใจว่ายังเปิดให้เข้ามาเที่ยวหรือไม่ แต่กรุ๊ปทัววร์ฝรั่งที่มีไกรด์นำทางก็ยังเดินทางเข้ามาเที่ยวอยู่ประปราย

แม่ (ของสามี) ถามขึ้นกับฉันเบาๆ ว่ายายเป็ง (นายทุน) จะให้เงินเดือนย้อนหลังกับคนที่ย้ายหรือเปล่า เพราะสองเดือนก่อนอ้างว่าไม่มีนักท่องเที่ยวก็เลยติดค้างชาวบ้านไว้ แต่ทุกๆปีก็จ่ายคืนให้ ฉันตอบว่าไม่รู้หรอก อันนี้ชาวบ้านก็ต้องรวมตัวกันพูดกับยายเอง

เงิน 1,500 บาท ที่นายทุนให้เป็นค่าตอบแทนแก่หญิงสาวกระยันที่สวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ นับตั้งแต่ย่างเท้าเข้ามาในประเทศไทย แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำ การเงินผันผวนเช่นไร แต่ก็ยังไม่มีการขึ้นเงินเดือนให้พวกเธอสักครั้ง

ถึงกระนั้นเงินจำนวนน้อยนิดนี้ ก็ยังสามารถจุนเจือครอบครัวในหุบเขาได้อย่างปกติสุขเรื่อยมา เพราะพวกเธอไม่รู้จักการเรียกร้องต่อรอง หากเป็นโรงงานใหญ่ในเมือง คงถูกประท้วงขึ้นค่าแรงไปนานแล้วหากสวัสดิการที่ได้ไม่พอกับค่าเหนื่อย

picture

ยามเย็น,

เด็กๆ กลับมาจากโรงเรียนคืนชีวิตชีวาให้กับหมู่บ้านอีกครั้ง บ้างจับกลุ่มกันเขียนตารางบนดินเล่นตาเขย่ง บ้างขึงหนังยางเล่นโดดเชือก ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเช่นทุกวัน ลูกของฉันก็พลอยยิ้มร่าหัวเราะเสียงดังที่มีพี่ๆมาหยอกล้อเล่นหลังจากอยู่เหงาๆกับแม่และย่าลำพังทั้งวัน

โรงเรียนและเพื่อนๆ คือสิ่งที่เด็กๆ ทั้งโลกควรจะได้รับ เมื่อถึงเวลาที่ย้ายจริงๆ เด็กที่นี่จะต้องย้ายจากโรงเรียนในระบบประถมศึกษา ไปเรียนต่อในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน และสูญเสียเพื่อนบางคน พบเจอกับเพื่อนใหม่ อยู่บ้านใหม่บ้าน แปลกทั้งสถานที่และผู้คน

แต่ดูเหมือนจะไม่มีเด็กคนไหนกังวลถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึงพวกเขา ต่างจากผู้ใหญ่ที่จะสารพัดกังวลไว้ล่วงหน้า ด้วยคำถามที่ชาวบ้านฝากฉันไว้ถามต่อหน่วยงานภาครัฐมากมาย

“เขาจะให้ถนนไหม ,เขาจะให้โซล่าเซลล์หรือเปล่า แล้วเงินเดือนล่ะ ฯลฯ”

ฉันถอนใจกับตัวเองเบาๆ เก็บคำถามเหล่านี้ไว้ก่อนจะดีกว่ารอวันถึงตาจนจริงๆ วันนั้นวิกฤติอาจเป็นโอกาส สามารถเปลี่ยนชาวบ้านที่แตกแยกให้สามัคคีกันได้ เปลี่ยนชุมชนอ่อนแอให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เปลี่ยนจากผู้ยอมจำนน ให้เป็นผู้มีอำนาจต่อรอง

การเดินทางยังอีกยาวไกล และคำตอบยังรอคอยอยู่ข้างหน้า.

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…