Skip to main content
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ


หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย

 

  

 

ฉันและสามี เดินทางมาที่นี่แม้จะไม่บ่อยครั้งนักด้วยหนทางที่แสนจะทุรกันดาร แต่ทุกครั้งที่ได้เห็นภาพของผู้คนที่เบียดเสียดยัดเยียดใช้ชีวิตเพื่อรอบางสิ่งและหลายหลายชีวิตอยู่อย่างไร้จุดหมาย ยังคงตรึงตาติดใจให้ไม่อาจลืมเลือน จึงหาโอกาสเดินทางมาพบปะผู้คนที่นี่อยู่เสมอ


ครั้งนี้เรามาเยี่ยมญาติ ก่อนหน้านั้นญาติของเราหลายครอบครัวได้อาศัยในหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวบ้านใหม่ในสอย พวกเขาตัดสินใจทิ้งหมู่บ้านข้างนอก ยอมรับสถานภาพของผู้ลี้ภัยทางการสู้รบด้วยความเต็มใจ เพื่อเลือกสู่เส้นทางแห่งเสรีภาพที่ประเทศที่สามพร้อมจะหยิบยื่นให้


นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่พวกเขาจะมีสิทธิ์เลือก เมื่อครั้งหนึ่งหลายครอบครัวได้ตัดสินใจผิดพลาด โดยการเลือกย้ายครอบครัวไปอยู่ "หมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากระเหรี่ยง (ประด่อง) เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน" ตามคำชักชวนของทางราชการ แต่แล้วก็พบว่าหลายสิ่งไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้


มะแทะวัย 58 ปี บัดนี้ร่างกายซูบผอมทรุดโทรม ผมยาวที่เคยม้วนเก็บอย่างเรียบร้อยปล่อยสยายรุ่มร่ามไร้ความสนใจ ด้วยเธอได้ถอดห่วงสีทองที่เคยใส่มาค่อนชีวิต จึงดูเหมือนว่าลำคอนั้นยืดยาวเรียวเล็กและเปาะบางอย่างน่ากลัว แม่เฒ่ารินน้ำให้เราสองคนด้วยมือที่ดูสั่นเทาเล็กน้อย


เรานั่งกันอยู่หน้าบ้านที่เล็กและแคบ มองลงไปสุดขั้นบันไดเห็นแม่หมูตัวใหญ่ใกล้คลอด นอนร้องครวญคราง กลิ่นและควันจากเพื่อนบ้านที่ห่างออกไปไม่กี่วา ตลบอบอวลทั่วทั้งบริเวณ

"แม่สบายดีไหม" ฉันเอ่ยถามด้วยความรู้สึกห่อเหี่ยวแต่แกล้งฝืนน้ำเสียงให้สดใส พลางใสหมากและพูที่ซื้อมาฝากไปทางแม่เฒ่า

"สบายดี ไม่ป่วยไม่ไข้อะไร" เธอพูดพลางแกะห่อหมากพูตรงหน้า เหม่อมองออกไปทางผู้คนที่พลุกพล่านบนถนนหน้าบ้าน

"ดูแม่ผอมไปนะ ถอดคอแล้วไปไหนมาไหนสะดวกหรือเปล่า เห็นว่าแม่และลูกๆ สมัครไปประเทศที่สามด้วย"


แม่เฒ่าถอดถอนใจ ก่อนจีบหมากพลูใส่ปาก เมื่อฉันพูดถึงประเทศที่สาม ความหวังเดียวที่ครอบครัวคิดว่าจะได้ลืมตาอ้าปาก ตามคำบอกเล่าของคนอื่นๆ ที่เล่าต่อๆ กันมาว่า ญาติของตนที่ได้ไปประเทศที่สามส่งข่าวมาถึงว่าอยู่สุขสบายกว่าเดิมมากมาย ทำให้ผู้คนที่เคยอยู่อย่างไร้จุดหมายเริ่มมีความหวังริบรี่กว่าหิ้งห้อยในคืนเดือนหงาย


"แม่ก็รออยู่อย่างเดียว ไม่คิดอะไรแล้ว อยากไปประเทศที่สาม ลูกๆ จะได้สบายกันเสียที" แม่เฒ่าที่มีลูกสาวและลูกชายรวมกันเจ็ดคน ยังเหลืออีกสี่คนที่ยังไม่พ้นอก ล้วนอยู่ในวัยหนุ่มสาวที่ใฝ่ฝันถึงอนาคตบนดินแดนแห่งใหม่ เป็นแรงกระตุ้นให้แม่เฒ่าคล้อยตามอย่างง่ายดาย


ฉันเองไม่แน่ใจสักนิดว่า ดวงเทียนที่ริบหรี่เช่นแม่เฒ่าจะส่องแสงได้นานถึงเวลาแห่งตะวันอบอุ่นจะฉายลงมาทันหรือไม่ ความหวังที่เรืองรอง เส้นทางกลับมืดบอดตรงกันข้าม ไม่มีใครรู้ได้ว่า ครอบครัวใดที่มือของพระเจ้าจะยื่นเข้ามาช่วยให้สมความปรารถนา


โครงการส่งผู้ลี้ภัยทางการเมืองและผู้อพยพ ไปประเทศที่สามนั้น ฉันเองก็ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเขามีวิธีการในการคัดเลือกส่งคนไปอย่างไร รู้เพียงแต่ว่า UNDP ได้เริ่มโครงการดังกล่าวกับศูนย์ผู้พักพิงฯ และศูนย์อพยพต่างๆ ในประเทศไทยที่มีจำนวนกว่าสิบแห่ง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2548

ในจำนวนผู้คนราวสองแสนคน มีผู้ที่ได้เดินทางไปแล้วกว่าสองหมื่นคน หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว ในแต่ละปีจะมีผู้ถูกเลือกไม่ถึงสามเปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ลี้ภัยฯและผู้อพยพทั้งหมดของประเทศเท่านั้น

แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ลี้ภัยฯ ว่าจะอยากสมัครขอไปประเทศที่สามหรือไม่ เพราะหลายครอบครัวมีความเข้าใจในโลกใหม่ที่ว่านั้นไม่เท่ากัน


ฉันเคยได้ยินโจ๊ักที่เล่าต่อๆ กันมาเรื่องประเทศที่สามว่า มีคนถามพ่อเฒ่าคนหนึ่งว่าอยากไปประเทศที่สามหรือไม่ พ่อเฒ่าคนนั้นถามกลับมาว่า ประเทศที่สามมีหน่อไม้หรือเปล่า ถ้าไม่มีหน่อไม้พ่อเฒ่าก็จะไม่ไป


ประเทศที่สามเช่น อเมริกา, ฮอลแลนด์ ซึ่งยอมรับภาระดูแลกลุ่มคนดังกล่าว จะจัดสวัสดิการเช่นที่อยู่อาศัยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มยารักษาโรค และปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่เคยได้สัมผัสข้าวของเหล่านั้นมาทั้งชีวิต ไม่นับถึงการได้มีเสรีภาพ ได้รับสัญชาติ และโอกาสการเดินทาง การทำงาน จนถึงการศึกษาเป็นแรงจูงใจทำให้หลายคน โดยเฉพาะหนุ่มสาวใฝ่ฝันถึงการเดินทางไปประเทศที่สาม จนไม่ได้ทบทวนถึงผลกระทบอื่นที่เป็นด้านลบ


ในขณะที่คนวัยใกล้ฝั่งอย่างแม่เฒ่ากระยัน ที่มีสังคมวัฒนธรรมที่เชื่อมร้อยหล่อเลี้ยงวิถีชีวิต อาจจะต้องใช้ทั้งชีวิตที่เหลือในการปรับตัว


หากแม่เฒ่า-พ่อเฒ่าเหล่านั้น ได้เป็นผู้รับเลือกแล้ว จะต้องใช้เวลาอีกสักกี่ปีที่จะนานพอให้เธอและเขา ชาชินกับสภาพอากาศ อาหารการกิน สังคมรอบตัว และระบบวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเดิมราวหน้ามือกับหลังมือ


หรือชีวิตที่สดใสของลูกหลาน จำต้องแลกมากับชีวิตที่เหลืออยู่ของพวกเขา.


บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…