Skip to main content

แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา


คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ นั้นเป็นเพราะพื้นฐานครอบครัวเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้โทษตัวเองเลย แม่ก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นได้เลย


เมื่อแม่มีลูกอันเป็นที่รัก แม้จะถือกำเนิดในช่วงเวลาที่ไม่มีความพร้อมเสียทุกด้าน แต่แม่กับพ่อก็มีความรักในกันและกันมากพอที่ร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตของชีวิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ความทรงจำ ความเจ็บปวดที่แม่ได้รับในวัยเด็กจะเป็นอุทาหรณ์ให้แม่ระมัดระวังในการใช้ชีวิตคู่ การเลี้ยงดูลูกให้ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ในครอบครัวที่มีความอบอุ่นมั่นคง

แม้ว่าในช่วงที่คลอดลูกออกมาจนถึงวันนี้ แม่เป็นหนี้ผู้คนมากมายที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ เป็นทั้งหนี้น้ำใจ และหนี้ที่คิดได้เป็นตัวเงิน ในช่วงนั้นพ่อกับแม่ไม่มีรายได้เลย

ก่อนหน้านั้นในขณะที่แม่ตั้งท้องลูกได้ประมาณหกเจ็ดเดือน แม่ยังพอมีรายได้จากการไปขายของที่ “ถนนคนเดิน” ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนอยู่บ้าง แต่พอแม่ท้องแก่จนใกล้คลอดมากขึ้นแม่กับพ่อก็ตัดสินใจกลับมาพักที่บ้านอย่างเดิมเพื่อความปลอดภัยของลูกในท้อง

แม้ว่ารายได้ที่ได้จากการไปขายของที่ถนนคนเดินจะมากพอดู แต่มันก็หมดไปกับการวางรากฐานโครงสร้างบ้านใหม่ บนที่ดินจำนวนสามงานไม่ห่างไกลจากตัวเมืองมากนัก แม่คิดว่าในไม่ช้าไม่นานครอบครัวของเราคงต้องขยับขยายไปอยู่ที่นั่น เพราะเป็นที่ดินของเราจริงๆ ไม่ต้องอาศัยพึ่งใบบุญจากที่ดินของคนอื่นอยู่อย่างนี้

เมื่อกลับมาอยู่บ้าน แม่ก็เหมือนงอมืองอเท้าอยู่กับบ้าน ยิ่งเมื่อลูกคลอดออกมาแม่ก็มีหน้าที่อย่างเดียวคือดูแลลูก ส่วนพ่อนั้นก็ยังต้องไปเรียน กศน.ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่แม่ขอร้องแกมบังคับให้พ่อเห็นความสำคัญของการศึกษาต่อ เพราะวุฒิการศึกษาแค่ชั้นป.6 ในขณะนี้ของพ่อ ถ้าจะให้หางานทำก็คงไม่พ้นเป็นกรรมกรแบกหามอยู่กลางแดดเท่านั้น

พ่อของลูกเคยเปรยกับแม่ว่า ถ้าถึงที่สุดแล้วพ่อก็ยอมที่จะไปทำงานเป็นกรรมกรแบกปูนเหมือนชายหนุ่มหลายๆ คนในหมู่ที่ออกไปขายแรงงานกัน แม้ว่าชีวิตของพ่อจะไม่เคยทำงานหนักมาก่อน เพราะมีย่าคอยเลี้ยงดู เนื่องจากว่าพ่อมีครอบครัวของตัวเองเร็วเกินไป (ในขณะที่อายุเพียง 21 ปี) ซึ่งหากจะโทษก็คงต้องโทษบุพเพสันนิวาส แต่การมีครอบครัวเร็วก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อเขาจะไม่มีวิญญาณของการเป็นพ่อนะลูก

แม่เชื่อว่า เมื่อถึงเวลาที่วิกฤติจริงๆ แม่ด้วยซ้ำที่จะต้องพึ่งพาพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว แม้ว่าพ่อจะจบแค่ชั้นป.6 เทียบไม่ได้กับแม่ที่จบถึงปริญญาตรี ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิก็มีมากกว่าพ่อหลายเท่าตัว แต่แม่ก็ทำได้เพียงเป็นแม่ที่ดีเท่านั้น

แม่คิดว่าหากเป็นไปได้ แม่จะยืดเวลาในการให้นมลูกด้วยน้ำนมแม่ให้ได้อย่างน้อยสักหกเดือนก่อนที่จะหย่านมลูก เมื่อถึงตอนนั้นแม่จะต้องขวนขวายหางานทำ เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวของเรา

เขียนถึงตรงนี้ลูกอาจแปลกใจว่า เมื่อพ่อกับแม่ไม่มีรายได้เลยแล้วแล้วเอาอะไรกิน แม่ขอบันทึกอย่างสัตย์ซื่อเลยว่าแม่กับพ่อยังทำตัวเป็นเด็กเล็กๆ ที่ให้ย่าคอยดูแล

ย่าของลูกนั้นมีรายได้ที่เป็นเงินเดือนแต่ละเดือนซึ่งผู้หญิงชาวกระยันทุกคนที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจะได้รับเป็นค่าตอบแทนเพื่อแลกกับการเป็นหุ่นโชว์ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในหมู่บ้าน หากใครไม่อยู่ในหมู่บ้านนานๆ หรือถอดห่วงทองเหลืองออกจากคอก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทนนี้ เพราะห่วงทองเหลืองที่คอนี่แหละที่เป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเสียเงินเป็นค่าบัตรผ่านเข้ามาดู 

นอกจากเงินเดือนแล้วย่ายังมีรายได้จากการขายของที่ระลึกและโปสการ์ดรูปถ่ายของตัวเองอีกเล็กน้อย แม้จะเป็นรายได้เพียงน้อยนิดเทียบไม่ได้กับรายได้ที่แม่ได้รับเมื่อครั้งที่ยังทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ แต่รายได้ของย่าก็สามารถจุนเจือครอบครัวที่ประกอบไปด้วย ลูกสาวหนึ่งคน ลูกชายสามคน และลูกสะใภ้ (คือแม่) อีกคน เป็นการเพิ่มภาระในขณะที่รายได้เท่าเดิม

แม่คิดเสมอว่าเมื่อถึงเวลาที่แม่พอจะขยับขยายทำงานมีรายได้บ้างแล้ว แม่ก็จะชดใช้คืนให้กับย่าแม้ย่าจะไม่รับเป็นตัวเงิน แม่กับพ่อก็จะทำนุบำรุงย่าให้ดีที่สุด ดังที่ย่าได้ทำนุบำรุงครอบครัวเราในยามนี้

แม่จะพยายามหางานที่ไม่ห่างไกลจากลูกมากนัก ในวันที่ลูกยังต้องการอ้อมกอดของแม่ เพื่อที่แม่จะมีให้ลูกเสมอ แต่หากวันใดที่ลูกเติบโตขึ้น มีเพื่อนมีคนรักที่พร้อมจะมอบอ้อมกอดให้กับลูก แม่ไม่รู้ว่าถึงวันนั้นสาละวินยังต้องการอ้อมกอดของแม่เหมือนเดิมหรือเปล่า

รักลูก
แม่

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…