Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก

 

ในยามเช้าที่สายหมอกยังไม่ทันจาง เราตื่นขึ้นด้วยเสียงเอะอะมะเทิ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง พวกเขาเดินมาพลางร้องเรียกไปพลาง เพื่อจะดูชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาหมายมั่นมาดู
\\/--break--\>

ชาวบ้านที่ยังไม่ทันแม้แต่จะตื่นมาหุงข้าวหุงแกง ต้องรีบออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งรีบเข้ามาเที่ยวเพื่อจะได้รีบไปที่อื่นให้ทันตามโปรแกรม

พือพือ (ย่า) ของลูกก็รีบลงมาตามเสียงเรียกทั้งที่เพิ่งจะตื่นนอน สายตายังไม่ทันปรับกับแสงสว่างก็ต้องถูกสาดด้วยแสงจ้าจากแฟลตกล้องถ่ายรูป

ชาวบ้านหลายคนบ่นเป็นภาษากระยันที่แม่พอจะเข้าใจได้ พวกเขาพูดคุยกัน และอยากให้แม่ไปพูดให้นักท่องเที่ยวหรือไกด์เข้าใจว่าควรจะเข้าหมู่บ้านหลังหกโมงเช้า และออกก่อนหกโมงเย็น

คงไม่ใช่นักท่องเที่ยวเพียงกลุ่มเดียว ที่มองเห็นชาวกระยันเป็นเพียงตุ๊กตาถ่ายรูปไร้ความรู้สึก ไร้หัวจิตหัวใจ เพราะยังมีนักท่องเทียวบางกลุ่มที่นึกจะเข้ามาในหมู่บ้านตอนไหนก็มา โดยลืมไปแล้วว่า หมู่บ้านของเราเป็นที่อยู่อาศัย ย่อมมีความเป็นส่วนตัว ย่อมต้องกิน ต้องหลับ ต้องนอน บางคนเห็นเรากำลังตักข้าวเข้าปาก ก็ยังมาขอถ่ายรูป

ชาวกระยันส่วนใหญ่จะอาบน้ำแต่งตัวในยามเช้าตรู่ เพราะจะมีเวลาและแสงสว่างมากพอที่จะขัดถูห่วงให้เป็นเงางาม กว่าตอนเย็นที่มืดเร็ว และต้องทำงานบ้านหลายอย่าง

พือพือ จะรู้สึกอายที่ต้องถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่ยังแต่งตัวไม่เสร็จ ซึ่งก็คงจะเป็นความรู้สึกของผู้หญิงธรรมดาทั่วไปที่ต้องรักสวยรักงาม รักความสะอาด แต่เมื่อนักท่องเที่ยวคะยั้นคะยอให้ถ่ายรูปด้วยให้ได้ พือพือก็จำยอม เพราะนักท่องเที่ยวมองเห็นความแปลกบนคอมากกว่าความรู้สึกของเจ้าของร่างกายที่กลายเป็นแค่หุ่นให้ถ่ายรูปด้วย

แม่หมายถึงแค่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ยังมีความเกรงใจอยู่บ้าง ซึ่งแม่เองก็เข้าใจนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดไกลๆ และยังต้องเดินทางกลับ ซึ่งพวกเขาจะต้องจัดสรรเวลาให้ลงตัว

ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งพวกเรายังถูกตั้งคำถามสองแง่สองง่าม จนถึงขั้นลามกอนาจารจากแขกผู้มาเยือน อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็ทำได้แค่บ่นเป็นภาษากระยัน แม่เคยถามถึงความรู้สึกของหญิงสาวชาวกระยันที่เคยถูกลวนลามทางคำพูดว่าทำไมถึงไม่ตอบโต้พวกเขา แม่ก็ได้รับคำตอบแต่เพียงว่า เพราะพวกเขามีความเกรงใจต่อแขกที่มาเที่ยว กลัวว่าหากตอบโต้ไปก็จะทำให้นักท่องเที่ยวที่มารู้สึกไม่ดีและไม่อยากมาเที่ยวอีก

คำตอบที่ได้ยิ่งทำให้แม่รู้สึกอดสูใจไม่น้อยเพราะนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่มีอันจะกิน และได้รับการศึกษาในระดับสูง แต่กลับไร้มารยาทกับผู้ที่ด้อยการศึกษาและถูกมองว่าด้อยวัฒนธรรมกว่าตนเอง เพียงแค่เห็นว่าเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว

ทั้งๆที่ต่างประเทศ เขาก็มีหมู่บ้านที่โชว์วัฒนธรรมเช่นชุมชนของเรา เช่นหมู่บ้านชาวอินเดียแดง (Acoma pueplo –sky city) ที่อเมริกา พวกเขาไม่ยอมให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ดวงไม่ดี โดยเฉพาะโบสถ์ที่เป็นเขตหวงห้าม หากจะถ่ายรูปก็จะต้องเสียค่าถ่ายรูปนอกเหนือไปจากค่าบัตรผ่านประตู เป็นต้น กฎเหล่านี้ล้วนถูกตั้งขึ้นโดยสิทธิของชุมชนเอง และนักท่องเที่ยวก็ต้องทำตามหากอยากจะมาเที่ยวชมในชุมชนของเขา

ชุมชนของเราก็น่าจะสามารถตั้งกฎให้กับนักท่องเที่ยวปฏิบัติได้เช่นกัน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว กฏเหล่านี้อาจไม่มีความสำคัญเลย หากคนในสังคม มองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในทุกชนชั้นเผ่าพันธุ์ ก็ย่อมจะใส่ใจในมารยาท ย่อมมีความเกรงใจ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ตามแบบแผนของสังคมที่พึงปฏบัติต่อกัน

ไม่ใช่มองพวกเขาเป็นเพียงวัตถุบางอย่างที่ใช้ประกอบการถ่ายรูป โดยไม่ได้ถามสักคำเลยว่า เขาเต็มใจที่จะถ่ายรูปด้วยหรือไม่ เจ้าของร่างกายอยากให้คุณมาโอบกอดหรือเปล่า อย่าให้ถึงขั้นต้องขึ้นป้ายตั้งกฎเหมือนต่างประเทศ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเอื้ออารี ชาวกระยันเองก็เป็นผู้มีน้ำใสใจจริง

สาละวินลูกรัก เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ไกลตัวลูกเลย ในวันที่แม่บันทึกถึงลูกนี้และในอนาคตอันใกล้ แม่ก็ได้แต่หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ลูกคือคลื่นลูกใหม่ของชุมชนของเรา แม่เชื่อว่าเด็กๆ รุ่นลูกหลายคนที่ได้รับการศึกษาในระบบ และจะถูกเปลี่ยนให้ได้รับสัญชาติไทยในอนาคต ก็คือผู้กุมอนาคตของชุมชนนั้นเอง

 

รักลูก
แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว