Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก

 

ในยามเช้าที่สายหมอกยังไม่ทันจาง เราตื่นขึ้นด้วยเสียงเอะอะมะเทิ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง พวกเขาเดินมาพลางร้องเรียกไปพลาง เพื่อจะดูชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาหมายมั่นมาดู
\\/--break--\>

ชาวบ้านที่ยังไม่ทันแม้แต่จะตื่นมาหุงข้าวหุงแกง ต้องรีบออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งรีบเข้ามาเที่ยวเพื่อจะได้รีบไปที่อื่นให้ทันตามโปรแกรม

พือพือ (ย่า) ของลูกก็รีบลงมาตามเสียงเรียกทั้งที่เพิ่งจะตื่นนอน สายตายังไม่ทันปรับกับแสงสว่างก็ต้องถูกสาดด้วยแสงจ้าจากแฟลตกล้องถ่ายรูป

ชาวบ้านหลายคนบ่นเป็นภาษากระยันที่แม่พอจะเข้าใจได้ พวกเขาพูดคุยกัน และอยากให้แม่ไปพูดให้นักท่องเที่ยวหรือไกด์เข้าใจว่าควรจะเข้าหมู่บ้านหลังหกโมงเช้า และออกก่อนหกโมงเย็น

คงไม่ใช่นักท่องเที่ยวเพียงกลุ่มเดียว ที่มองเห็นชาวกระยันเป็นเพียงตุ๊กตาถ่ายรูปไร้ความรู้สึก ไร้หัวจิตหัวใจ เพราะยังมีนักท่องเทียวบางกลุ่มที่นึกจะเข้ามาในหมู่บ้านตอนไหนก็มา โดยลืมไปแล้วว่า หมู่บ้านของเราเป็นที่อยู่อาศัย ย่อมมีความเป็นส่วนตัว ย่อมต้องกิน ต้องหลับ ต้องนอน บางคนเห็นเรากำลังตักข้าวเข้าปาก ก็ยังมาขอถ่ายรูป

ชาวกระยันส่วนใหญ่จะอาบน้ำแต่งตัวในยามเช้าตรู่ เพราะจะมีเวลาและแสงสว่างมากพอที่จะขัดถูห่วงให้เป็นเงางาม กว่าตอนเย็นที่มืดเร็ว และต้องทำงานบ้านหลายอย่าง

พือพือ จะรู้สึกอายที่ต้องถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่ยังแต่งตัวไม่เสร็จ ซึ่งก็คงจะเป็นความรู้สึกของผู้หญิงธรรมดาทั่วไปที่ต้องรักสวยรักงาม รักความสะอาด แต่เมื่อนักท่องเที่ยวคะยั้นคะยอให้ถ่ายรูปด้วยให้ได้ พือพือก็จำยอม เพราะนักท่องเที่ยวมองเห็นความแปลกบนคอมากกว่าความรู้สึกของเจ้าของร่างกายที่กลายเป็นแค่หุ่นให้ถ่ายรูปด้วย

แม่หมายถึงแค่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ยังมีความเกรงใจอยู่บ้าง ซึ่งแม่เองก็เข้าใจนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดไกลๆ และยังต้องเดินทางกลับ ซึ่งพวกเขาจะต้องจัดสรรเวลาให้ลงตัว

ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งพวกเรายังถูกตั้งคำถามสองแง่สองง่าม จนถึงขั้นลามกอนาจารจากแขกผู้มาเยือน อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็ทำได้แค่บ่นเป็นภาษากระยัน แม่เคยถามถึงความรู้สึกของหญิงสาวชาวกระยันที่เคยถูกลวนลามทางคำพูดว่าทำไมถึงไม่ตอบโต้พวกเขา แม่ก็ได้รับคำตอบแต่เพียงว่า เพราะพวกเขามีความเกรงใจต่อแขกที่มาเที่ยว กลัวว่าหากตอบโต้ไปก็จะทำให้นักท่องเที่ยวที่มารู้สึกไม่ดีและไม่อยากมาเที่ยวอีก

คำตอบที่ได้ยิ่งทำให้แม่รู้สึกอดสูใจไม่น้อยเพราะนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่มีอันจะกิน และได้รับการศึกษาในระดับสูง แต่กลับไร้มารยาทกับผู้ที่ด้อยการศึกษาและถูกมองว่าด้อยวัฒนธรรมกว่าตนเอง เพียงแค่เห็นว่าเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว

ทั้งๆที่ต่างประเทศ เขาก็มีหมู่บ้านที่โชว์วัฒนธรรมเช่นชุมชนของเรา เช่นหมู่บ้านชาวอินเดียแดง (Acoma pueplo –sky city) ที่อเมริกา พวกเขาไม่ยอมให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ดวงไม่ดี โดยเฉพาะโบสถ์ที่เป็นเขตหวงห้าม หากจะถ่ายรูปก็จะต้องเสียค่าถ่ายรูปนอกเหนือไปจากค่าบัตรผ่านประตู เป็นต้น กฎเหล่านี้ล้วนถูกตั้งขึ้นโดยสิทธิของชุมชนเอง และนักท่องเที่ยวก็ต้องทำตามหากอยากจะมาเที่ยวชมในชุมชนของเขา

ชุมชนของเราก็น่าจะสามารถตั้งกฎให้กับนักท่องเที่ยวปฏิบัติได้เช่นกัน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว กฏเหล่านี้อาจไม่มีความสำคัญเลย หากคนในสังคม มองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในทุกชนชั้นเผ่าพันธุ์ ก็ย่อมจะใส่ใจในมารยาท ย่อมมีความเกรงใจ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ตามแบบแผนของสังคมที่พึงปฏบัติต่อกัน

ไม่ใช่มองพวกเขาเป็นเพียงวัตถุบางอย่างที่ใช้ประกอบการถ่ายรูป โดยไม่ได้ถามสักคำเลยว่า เขาเต็มใจที่จะถ่ายรูปด้วยหรือไม่ เจ้าของร่างกายอยากให้คุณมาโอบกอดหรือเปล่า อย่าให้ถึงขั้นต้องขึ้นป้ายตั้งกฎเหมือนต่างประเทศ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเอื้ออารี ชาวกระยันเองก็เป็นผู้มีน้ำใสใจจริง

สาละวินลูกรัก เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ไกลตัวลูกเลย ในวันที่แม่บันทึกถึงลูกนี้และในอนาคตอันใกล้ แม่ก็ได้แต่หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ลูกคือคลื่นลูกใหม่ของชุมชนของเรา แม่เชื่อว่าเด็กๆ รุ่นลูกหลายคนที่ได้รับการศึกษาในระบบ และจะถูกเปลี่ยนให้ได้รับสัญชาติไทยในอนาคต ก็คือผู้กุมอนาคตของชุมชนนั้นเอง

 

รักลูก
แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…